เสียงจาก “แกนนำชาวบ้านเสื้อแดง” หลังกลับบ้าน ถึงรัฐบาล
หลังเหตุการณ์ความรุนแรงสงบลง กระแสปฏิรูปประเทศ-สร้างความปรองดองกำลังเดินหน้าต่อ รวมทั้งประเด็นลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมในสังคม ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าจุดประกายขึ้นมาจากข้อเรียกร้องของชาวบ้านเสื้อแดง
“ลุงไม่ชอบการปฏิวัติรัฐประหาร เพราะฝังใจที่พ่อถูกสั่งประหารชีวิต เพียงเพราะออกไปเก็บผักหาเลี้ยงปากท้องลูกเมีย ช่วงที่มีปล้นสะดมในเขตอีสานใต้ปี 2500 ทำให้รู้สึกต่อต้านบ้านเมืองที่เผด็จการและสังคมที่ไม่เป็นธรรม จึงเข้าร่วมกระบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยมาโดยตลอด นี่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่ง”
แกนนำชาวบ้านเสื้อแดงคนหนึ่งจาก จ.ศรีษะเกษ เล่าเหตุผลที่เข้าร่วมชุมนุม และกล่าวว่าก่อนมีการปะทะกันรุนแรง ตนและชาวบ้านส่วนหนึ่งทยอยกลับบ้านไปก่อนแล้วเพราะเป็นช่วงฤดูทำนา แต่บางส่วนยังปักหลักชุมนุมและนำมาซึ่งความสูญเสีย เขาสะท้อนความรู้สึกว่าชาวบ้านเสื้อแดงยังเครียดแค้นตกค้างอยู่ โดยเฉพาะญาติผู้เสียชีวิต และยิ่งคลางแคลงต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่กำลังเกิดขึ้นซึ่งรัฐบาลยังคง ปฏิเสธว่าไม่ได้ฆ่าประชาชน และจำนวนไม่น้อยที่ความขัดแย้งลุกลามในชุมชนระหว่างกลุ่มคนที่คิดเห็นต่าง กัน
“ชุมชนเมืองเห็นได้ชัดเพราะการแบ่งฝักฝ่ายชัดเจนกว่าในชนบท ส่วนหนึ่งคิดว่ารัฐบาลฆ่าประชาชน ส่วนหนึ่งเข้าข้างรัฐบาลเพราะมองว่านโยบายสนองความต้องการ และส่วนน้อยที่เห็นว่าทหารปกป้องประชาชน”
แกนนำชาวบ้านเสื้อแดงจากศรีษะเกษ ให้ความเห็นต่อแนวทางปฏิรูปที่กำลังเป็นกระแสสังคมว่ารัฐต้องไม่ใช้นโยบาย ชี้นำให้ทำตาม ซึ่งพิสูจน์มา 30-40 ปีแล้วว่าไม่ได้ผล ต้องให้ชาวบ้านร่วมกำหนดนโยบาย รัฐหนุนงบประมาณ และสำคัญที่สุดคือทำให้เกิดประชาธิปไตยที่ไม่ริดรอนสิทธิ ชาวบ้านสามารถเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมได้อย่างไม่ถูกปิดกั้น
“วันนี้รัฐแก้ปัญหาปลายเหตุใช้กฎหมายปราบปรามประชาชน ไม่ได้มองต้นตอของการชุมนุมแบ่งสีแบ่งข้างว่ามาจากไหน ถ้ามองย้อนไปลึกๆแล้วแก้ให้ถูกจุด การปฏิรูปก็จะดีตามที่ควรเป็น” แกนนำ ชาวบ้านเสื้อแดง ศรีษะเกษ กล่าว
ไม่ต่างกับแกนนำชาวบ้านเสื้อแดงจากขอนแก่นอีกคน ซึ่งอยู่บนเวทีย่อยที่บ่อนไก่ในช่วงที่มีการสลายการชุมนุม เปิดเผยว่าทันทีที่รัฐสลายม็อบ ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ไม่พอใจอย่างหนัก
“เรากลับบ้านด้วยความแค้นฝังใจว่ารัฐทำกับเราเหมือนไม่ใช่คน เราเข้าใจว่าพ่อค้าแม่ค้าที่ราชประสงค์เดือดร้อน แต่พวกเราก็เดือดร้อน และไม่เข้าใจว่าทำไมต้องใช้ความรุนแรงขนาดนี้ ตอนนี้บางคนคิดขนาดว่าน่าจะแบ่งแยกภาคอีสานแล้วตัดขาดกันไปเลย”
แกนนำชาวบ้านเสื้อแดงจากขอนแก่น กล่าวว่า ในชุมชนของตนตอนนี้ไม่มีการปะทะทางความคิด เพราะคนส่วนใหญ่เป็นเสื้อแดงทำให้อีกฝ่ายไม่กล้ามีปากเสียง และมองว่าแผนปรองดองทำได้ยาก เพราะชาวบ้านไม่ศรัทธารัฐบาลอีกแล้ว แม้จะอภิปรายในสภาสวยหรูแค่ไหน
“รัฐโหดร้ายกับเราเหลือเกิน ยากปรองดอง จะส่งนักจิตวิทยา นักสังคม หรือลงมาให้ข่าวสารอะไร เราก็ไม่ต่อต้านหรอก แต่ไม่เชื่อ มันแตกจนไม่สามารถก่อรูปใหม่แล้ว”
เขากล่าวว่า ถ้ารัฐจะทำให้ชาวบ้านเสื้อแดงยอมรับ ต้องแสดงความจริงใจด้วยการยุบสภา แล้วหาคนกลางมาเป็นรัฐบาลไปจนกว่าสังคมจะเข้ารูปเข้ารอย
“ยุบสภาไปแล้วตั้งรัฐบาลแห่งชาติ แล้วตั้งสภาคู่ขนานให้มีหน้าที่ปฏิรูปประเทศในทุกๆด้านจากนั้นอีก 2-3 ปีค่อยจัดเลือกตั้งใหม่ แล้วร่างรัฐธรรมนูญใหม่”
ขณะที่นายทัตพล ไม้สูงเนิน แกนนำชาวบ้านเสื้อแดง จ.ร้อยเอ็ด เล่าว่า ในชุมชนของตนยังมีการจับกลุ่มพูดคุยถึงเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งบางคนต้องสูญเสียญาติพี่น้อง บางส่วนได้รับบาดเจ็บ รวมถึงจิตใจที่ยากเยียวยา หลายคนยังพูดคุยถึงแนวทางการต่อสู้ โดยเฉพาะคนที่สูญเสียยิ่งโกรธแค้นเพราะรู้สึกว่ารัฐบาลโยนความผิดให้กลุ่ม ผู้ชุมนุมหรือผู้ก่อการร้าย เขาบอกว่าการต่อสู้ของชาวบ้านยังไม่สิ้นสุด เพราะเป้าหมายที่ต้องการคือเรียกร้องประชาธิปไตยและลดคำว่าสองมาตรฐาน ซึ่งยังไม่เกิดขึ้น
“ถ้าพูดว่าที่ผ่านมาเราอาจผิดพลาดหรืออะไรก็ยอมรับฟังได้ แต่การพูดว่ารัฐบาล ทหารไม่ได้ทำ ขณะที่ญาติพี่กับน้องนั่งอยู่ด้วยกัน แล้วพี่ตาย น้องที่ไม่ตายเห็นว่าใครเป็นคนฆ่า แบบนี้ต้องหยิบขึ้นมาพูด ไม่ใช่รับฟังจากสื่อด้านเดียว ปล่อยให้รัฐปัดความรับผิดชอบไม่ได้”
แกนนำชาวบ้านเสื้อแดงจากร้อยเอ็ด เล่าต่อว่า ตอนนี้พวกเขากลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ชุมชนเองก็ช่วยเหลือเยียวยากันตามประสาชาวบ้าน โดยเฉพาะบุคคลที่สูญเสีย ส่วนที่รัฐบอกจะลงไปสร้างความเข้าใจและฟื้นฟูเร่งด่วน ไม่แน่ใจว่าชาวบ้านจะรับได้แค่ไหน จริงๆแล้วชาวบ้านไม่ต้องการเห็นความรุนแรง เพียงต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมเท่านั้น สำหรับการเยียวยาในพื้นที่ที่เห็นบ้างตอนนี้ เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มอบเงินค่าทำศพ ค่ารักษาพยาบาล ซึ่งช่วยเหลือได้ระดับหนึ่งแต่ทดแทนความรู้สึกที่เสียไปไม่ได้
ทัตพล กล่าวว่า จากบาดแผลที่เกิดขึ้นคงสร้างความปรองดองยาก แต่ไม่ถึงขั้นทำไม่ได้ ถ้ารัฐบาลจริงใจควรยุติการให้ข่าวสร้างภาพ เพราะยิ่งเป็นการทำร้ายจิตใจชาวบ้านเสื้อแดง
“ถ้ารัฐบอกว่ากำลังจะปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาชาวบ้านรากหญ้าซึ่งเป็นข้อเรียก ร้องของพวกเรา ต้องทำให้เป็นรูปธรรม วางแผนเป็นระบบให้เกิดขึ้นได้จริง ไม่ใช่ภาพฝัน”
ส่วนนายหนุ่ม แกนนำชาวบ้านเสื้อแดงจาก จ.กาฬสินธุ์ บอกว่า ชาวบ้านที่กลับคืนสู่ชุมชนส่วนใหญ่ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมรัฐจึงปิดหูปิดตา ประชาชนเหมือนเผด็จการซ่อนรูปประชาธิปไตย ให้ข้อมูลข่าวสารเพียงด้านเดียวเหมือนพวกเขาไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาต่อสู้อีกในวันข้าง หน้าหรือเปล่า
“พวกเราแพ้และถูกตั้งข้อหาหนักเกินไป ทั้งที่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีนัยยะแฝงอย่างเห็นชัดและถูกบีบบังคับให้เกิด การปะทะอย่างเลี่ยงไม่ได้”
แกนนำชาวบ้านเสื้อแดง จ.กาฬสินธุ์ บอกว่า ตอนนี้ชาวบ้านในพื้นที่เชื่อข้อมูลปากต่อปากจากผู้ที่ไปชุมนุมมากกว่ารัฐ และที่พวกเขาเห็นชัดตอนนี้คือรัฐกำลังเยียวยาพ่อค้าแม่ค้า ไม่ได้พูดถึงชาวบ้านที่ทำไร่ทำนาซึ่งบาดเจ็บทั้งกายและใจไม่ต่างกัน
“ระยะเร่งด่วนรัฐต้องซื้อใจชาวบ้านด้วยกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม ถ้าสร้างความไว้ใจไม่ได้ก็อย่าพูดถึงปฏิรูปประเทศเลย เพราะขณะนี้ความเกลียดชังขยายไปทุกพื้นที่ เฉพาะในหมู่บ้านผม ใครที่ใส่เสื้อประชาธิปัตย์แทบเข้าหมู่บ้านไม่ได้แล้ว ทั้งที่ปกติคนชนบทรักสามัคคี แต่เหตุการณ์มันทำให้คนทะเลาะกัน ส่วนระยะยาวต้องแก้ปัญหาปากท้องพื้นฐาน เช่น ที่ทำกินที่อยู่อาศัย การบังคับใช้กฎหมาย การศึกษา สาธารณสุข เพื่อปลดล็อคความเหลื่อมล้ำให้ได้”
แกนนำชาวบ้านเสื้อแดงจากกาฬสินธุ์ ทิ้งท้ายว่า แม้ชาวบ้านจะมีภาพความรักในตัวบุคคลหรืออดีตนายกฯทักษิณ ก็ไม่ได้หมายความว่าหากรัฐบาลทำดีแล้วจะลบภาพนั้นออกไปไม่ได้ สิ่งที่เขาต้องการเห็นจากรัฐบาลมากที่สุดคือความจริงใจในการแก้ปัญหาที่ สั่งสมและตกผลึกในใจคนชนบทมานาน อย่ามีเพียงนิติรัฐแต่ไร้นิติธรรม การปรองดองลอยๆไม่เป็นรูปธรรมย่อมไม่เป็นผล เชื่อว่าถ้าทุกอย่างเดินเข้าสู่กระบวนการที่จริงใจ ความเกลียดชังจะลดลง
เสียงสะท้อนจากแกนนำชาวบ้านเสื้อแดงกลับบ้านเหล่านี้ เป็นมุมมองอีกด้านหนึ่งที่นำมาเสนอ บนพื้นฐานความเชื่อว่าสังคมควรจะเคารพในความหลากหลายของกันและกัน เริ่มจากการเปิดรับข้อมูลอีกด้าน ที่แม้จะคัดค้านในความรู้สึกหรือความเชื่อที่หลายคนมีอยู่ ซึ่งน่าจะช่วยเป็นปลาสเตอร์สมานแผลสดๆให้พอทุุเลาเบาบางลงได้บ้าง ในทิศทางเดินที่อย่างน้อยหลายคนเห็นร่วมว่าต้อง "ปรองดอง"!.