เสียงจากชนบทถึงชาวบ้านเสื้อแดง “วอนกลับบ้านดีกว่าสูญเสีย”
สองเดือนม็อบเสื้อแดง กระทั่งรัฐบาลตัดสินใจกระชับพื้นที่ เกิดการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ชุมนุม และกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่าไอ้โม่งซุ่มยิง ความจริงที่เกิดขึ้นคือความสูญเสียเลือดเนื้อคนไทย และแม้ว่าที่สุดวันนี้(19 พ.ค.) แกนนำ นปช.ลงเวทีมอบตัวในภาวะคับขัน แต่ความรุนแรงกลับทวีและกระจายตัวเป็นจราจลทั่วกรุงจนรัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวส์ ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าวโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนขอส่งเสียงเรียกร้องจากชาวบ้านในพื้นที่ถึงชาวบ้านเสื้อแดงให้รักษาชีวิตอันมีค่าพาตัวเองและครอบครัวกลับชนบท
ในบรรดาความขัดแย้งที่นำมาสู่การชุมนุม นปช. เสียงจากชาวบ้านรากหญ้าชนบทที่เรียกร้องความเป็นธรรมทางสังคมเป็นเพียงหนึ่งเดียวที่ได้รับการยอมรับและขานรับจากทุกฝ่ายในสังคม จนกำลังนำไปสู่เส้นทางปฏิรูปสังคม ขณะเดียวกันในความรุนแรงที่ถึงขีดสุดในวันนี้มีชาวบ้านจำนวนมากตกอยู่ท่ามกลาง “สงครามกลางเมือง” ล่าสุดเมื่อแกนนำประกาศสลายการชุมนุม-ยอมมอบตัว ชาวบ้านส่วนใหญ่ทยอยลงทะเบียนเตรียมกลับภูมิลำเนา คนอีกส่วนยังคงเดินหน้าชนและร่วมอยู่ในจราจลทั่วกรุง
โต๊ะข่าวเพื่อชุมชน สัมภาษณ์นานาทัศนะของแกนนำชาวบ้านเพื่อส่งต่อข้อคิดและความห่วงใยจากรากหญ้าในชุมชนสู่รากหญ้าพลัดถิ่น และชวนให้กลับบ้านในชนบท..
ศักดิ์ณรงค์ หัสคุณ แกนนำชุมชนเข้มแข็งบ้านท่าหลวงบน จ.จันทบุรี เสนอมุมมองว่า ประชาชนมีสิทธิแสดงออกไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของการแก้ไขความเดือดร้อน หรือความภักดีกับใคร แต่สุดท้ายการเดินหน้าต่อสู้ต้องอยู่ในขอบเขต อย่าถลำตนจนคิดว่าถอยไม่ได้ ถ้าคิดจะถอยย่อมทำได้เสมอไม่ว่าจะเป็นผู้ชุมนุมหรือรัฐบาล
“ลองถามกลับทั้ง 2 ฝ่ายว่าชัยชนะที่อยู่บนกองเลือดกับการแพ้ไม่มีการสูญเสียแบบไหนดีกว่ากัน ชาวบ้านอย่างผมอยู่นอกวงล้อมบริโภคเพียงข่าวข้างเดียวไม่อาจรู้ว่าเหตุการณ์จริงเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่ผมอยากให้สังคมรับรู้คือเราอยากให้ทุกฝ่ายยุติการทำร้ายและถอยออกมาเพื่อหาทางลงที่เหมาะสมกว่าเอาชีวิตเข้าแลก เหตุการณ์วันนี้เหมือนต่างคนต่างมีอารมณ์โกรธ จนนำมาซึ่งการทำร้ายและสูญเสีย เจรจาคงไม่เป็นผลเพราะในถ้อยคำยังมีอาวุธที่คอยฆ่ากัน
{mosimage} ศักดิ์ณรงค์ ยังคงเชื่อมั่นว่าวิถีวัฒนธรรมความเป็นไทยที่รักสงบนั้นยังมีอยู่โดยภาพรวม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงวูบหนึ่งของความขาดสติเท่านั้น และเมื่อใดที่ชาวบ้านเสื้อแดงกลับมาจากการชุมนุมคืนสู่ชนบท ชุมชนก็ต้องพร้อมที่จะต้อนรับ ขณะเดียวกันชุมชนก็ควรสร้างกฎระเบียบหรือเกราะป้องกันใหม่ เพราะที่ผ่านมาการปล่อยให้คนไม่กี่คนมาคอยดูแลได้สร้างบทพิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถทำให้ดีอย่างที่ต้องการ จึงเกิดช่องว่างที่ทำให้คนจนถูกเอารัดเอาเปรียบ ส่วนในระดับประเทศคนที่จะขึ้นมาเป็นแกนหลักในการปฏิรูปคงต้องมีความชัดเจนและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายมากกว่านี้
“แต่ตอนนี้เหมือนไฟที่กำลังลามมาถึงตัว ถ้าไม่กระโดดลงน้ำก็ตายอย่างเดียว หนทางที่ดีคือควรรักษาชีวิตไว้ ถ้าต้องการให้ปัญหาที่เรียกร้องไปนั้นได้รับการแก้ไขจริงค่อยไปสู้ใหม่ ชีวิตเราไม่ได้เกิดมาเพื่อประท้วงหรือเล่นเกมนี้ แต่เพื่อสร้างคุณธรรมและทำให้สถานะความเป็นอยู่ดีขึ้น ซึ่งถ้าเราไม่สร้างให้เกิดกับตัวก่อนก็ไม่มีทางจะสร้างสังคมได้ วีรบุรุษไม่จำเป็นต้องแลกด้วยเลือดเนื้อเสมอไป” ศักดิ์ณรงค์ กล่าว
เช่นเดียวกับ อนุชา ทุมสุข แกนนำยุติธรรมชุมชนบ้านใหม่ไทย จ.สระแก้ว แสดงทัศนะว่าไม่ควรมีการใช้อาวุธเข่นฆ่ากันให้ตายในสังคมชาวพุทธ ไม่ว่าจากรัฐบาลหรือกลุ่มผู้ชุมนุม ส่วนการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าซึ่งเป็นทางออกของชาวบ้านเสื้อแดง ควรจะยินยอมให้รัฐส่งกลับบ้าน แล้วมาฟื้นฟูจิตใจที่มีบาดแผลก่อน เรื่องอื่นค่อยคิดต่อไป สำหรับแนวทางสร้างความสมานฉันท์ในชุมชนควรใช้ผู้อาวุโสเป็นแกนกลางเชื่อมประสานความเข้าใจ, สร้างการรวมกลุ่มเพื่อให้เกิดพลังที่เข้มแข็งจากภายในชุมชน และสุดท้ายคือรัฐบาลต้องมีแนวทางแก้ปัญหาที่ตรงจุดและระมัดระวังแบบบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น
“พื้นเพของคนบ้านนอกนับถือผู้อาวุโสเป็นต้นทุน ไม่ว่าจะทะเลาะกันอย่างไร บุคคลเหล่านี้จะช่วยไกล่เกลี่ยได้สำเร็จเกือบทุกครั้ง ถ้าเริ่มที่การเยียวยาจิตใจ สู่การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนพร้อมๆ กันการการหนุนเสริมจากรัฐบาล ชุมชนคงสมานฉันท์ได้ในไม่ช้า” อนุชา กล่าวด้วยความหวัง
{mosimage} ส่วน อัมพร แพทย์ศาสตร์ แกนนำชุมชนเปร็ดใน จ.ตราด ตั้งคำถามต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าสภาพที่คนบางส่วนยังยืนยันจะสู้อยู่นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไร แต่ประเด็นที่น่าห่วงตอนนี้คือความปลอดภัยในชีวิต ที่พ่วงไปถึงชุมชนกรุงเทพฯที่ได้รับผลกระทบไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน ที่อยู่อาศัย และที่สำคัญคือสภาพจิตใจที่หวาดระแวง
“สิ่งที่ควรทำในวันนี้คือการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่มีอำนาจซึ่งควรระมัดระวังในแนวทางที่เดินมา ขณะที่ประชาชนควรย้อนกลับไปทบทวนว่าสิ่งที่ทำนั้นขัดหรือแย้งต่อกฎหมายหรือไม่"
ส่วนแนวทางเชื่อมแผลร้าวลึกให้ชาวบ้านเสื้อแดงที่กลับจากการชุมนุม อัมพร กล่าวว่า ต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและไม่ปล่อยให้ใครเข้ามาชี้นำ โดยผู้นำชาวบ้านจะต้องเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่จะเสริมสร้างความเข้าใจตรงนี้ให้เกิดขึ้น โดยต้องมีความเป็นกลาง ยุติธรรม มีข้อมูลที่ถูกต้อง
ในประเด็นผลกระทบที่เกิดกับชุมชนเมือง สมร เข่งสมุทร ผู้ใหญ่บ้านขุนสมุทรจีน สะท้อนภาพว่า ไม่คิดว่าสงครามกลางเมืองเช่นนี้จะเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และส่งผลให้ชาวชุมชนกรุงเทพฯซึ่งบางส่วนก็มีรากเหง้าเป็นชาวชนบทที่เข้ากรุงหวังพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดี แต่ตอนนี้กลับต้องอดอยากมากกว่าคนที่อยู่บ้านนอกเสียอีก
“คนที่น่าสงสารไม่แพ้ผู้ชุมนุมคือคนกรุงเทพฯ เพราะไม่เพียงแต่ขาดระบบสาธารณูปโภค แต่ยังต้องหวาดระแวงจากเสียงปืนและระเบิดที่ยังไม่มีทีท่าจะสงบ ตรงนี้ทั้ง 2 ฝ่าย รวมถึงพวกเราที่เป็นคนไทยทุกคนควรจะคิดได้แล้วว่าจะทำอย่างไรให้กลับมารักกัน เห็นอกเห็นใจกัน เหมือนที่เราทำมาได้เป็นร้อยสองร้อยปี”
สมร ทิ้งท้ายว่าที่สุดปัญหาต้องมีทางลง ติดตรงที่ว่าทางลงนั้นจะสวยงามพอที่จะทำให้ประเทศชาติอยู่รอด ประชาชนไม่ต้องล้มตาย แล้วกลับมาเป็นประเทศไทยที่เคยดีมาตลอดได้อย่างไร.
ภาพประกอบจาก www.kradarndum.com, www.facebook.com By Na Natamon, www.news.sanook.com