นักวิชาการ-เครือข่ายชาวนา วิพากษ์ยุทธศาสตร์ข้าวแห่งชาติ แนะประเด็นปิดช่องโหว่
นักวิชาการและเครือข่ายเกษตรกรรมวิพากษ์ยุทธศาสตร์ข้าว 10 ปีกระทรวงเกษตรฯ เครือข่ายชาวนาอีสานมองเป็นเรื่องดีที่เริ่ม แต่ยังไม่ได้ดังใจ แนะถ่ายทอดองค์ความรู้สู่แปลงนา –เพิ่มบทบาทชุมชนพัฒนาพันธุ์ข้าว ไม่เชื่อมาตรฐาน GAP กระทรวงพาผู้บริโภคปลอดภัย ส่วนเครือข่ายชาวนาใต้ชี้ปลูกข้าวชนิดเดียวในพื้นที่ทำลายวิถีชาวนา นักวิชาการแนะพัฒนาเกษตรกรรมต้องควบคู่ปฏิรูปที่ดินและจัดการน้ำ ทุกอย่างควรเริ่มจากแผนชุมชนสู่ยุทธศาสตร์ชาติ
ตามที่ที่ประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีมติผ่านร่างยุทธศาสตร์ข้าวไทย ฉบับที่ 2 ปี 2554-2558 ซึ่งสาระสำคัญคือการสร้างความเข้มแข็งให้ชาวนาไทย โดยมีเป้าหมายคงพื้นที่เพาะปลูก 62 ล้านไร่, พัฒนาพันธุ์ข้าวอย่างน้อย 12 สายพันธุ์ใหม่ให้ต้านทานโรคและแมลง ทนทานต่อสภาพแวดล้อม, เพิ่มผลผลิตต่อไร่ 10% และทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง 15%, จัดระบบปลูกข้าวใหม่เพื่อให้ใช้น้ำน้อยอย่างมีประสิทธิภาพ, พัฒนาระบบการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีโดยใช้ศูนย์ข้าวชุมชนเป็นกลไกในการขับเคลื่อน, พัฒนาเรื่องการตลาด, ส่งเสริมระบบปลูกข้าว GAP และส่งเสริมโรงสีข้าวพัฒนาการผลิต GMP ที่ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น รวมถึงกำหนดเขตส่งเสริมการผลิตข้าวตามศักยภาพของพื้นที่
นายอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน กล่าวกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชน ว่าภาพรวมยุทธศาสตร์การเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน โดยให้ศูนย์ข้าวชุมชนมีบทบาทในการกระจายพันธุ์พืชมีส่วนดีอยู่ แต่สิ่งที่ยังขาดไปคือการทำให้ชุมชนรู้จักค้นหาศักยภาพของข้าวไทยด้วย เนื่องจากยังมีพันธุ์ข้าวพื้นบ้านอีกจำนวนมากที่สามารถนำไปพัฒนาให้เป็นข้าวพันธุ์ดีและเหมาะสมกับสภาพภูมินิเวศของแต่ละพื้นที่ สิ่งที่ควรเพิ่มเติมในยุทธศาสตร์นี้คือการถ่ายทอดองค์ความรู้จากห้องทดลองสู่แปลงนา ให้เกิดความร่วมมือระหว่างนักวิชาการข้าวกับเกษตรกร โดยท้ายที่สุดคือทำให้ชาวนาสามารถปรับปรุงผสมพันธุ์ข้าวได้เอง
“มิติที่จะทำให้เราแพ้เวียดนามคือการประยุกต์งานจากนักวิทยาศาสตร์ลงใส่มือเกษตร ถ้าชาวบ้านรู้ว่าต้องผสมพันธุ์ข้าวอย่างไร การออกแบบแปลงทดลองควรทำอย่างไร มีอะไรที่ทำแล้วผิดพาดหรือคาดเคลื่อนที่สามารถเรียนรู้ได้จากความรู้พื้นฐานที่นักวิจัยตั้งต้นไว้ หากรัฐทำได้เช่นนี้คิดว่าการคิดค้นศักยภาพข้าวไทยจะพัฒนาไปอีกมาก ”
นายอุบล กล่าวต่อไปว่า การลดต้นทุนเป็นเรื่องที่ดีและควรทำให้ได้ เนื่องจากข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียนจะทำให้โอกาสตกอยู่ในมือผู้ค้า และข้าวไทยก็จะเป็นเหมือนสินค้าที่วางบนแผงไม่ต่างจากเวียดนาม ฉะนั้นถ้าต้นทุนการผลิตสูงกว่าก็ไม่มีทางที่จะแข่งขันชนะได้ สิ่งที่ควรทำคือส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน ที่สำคัญอีกประการคือส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้าว เพราะเท่าที่ผ่านมาไทยยังอ่อนด้อยเรื่องนี้มาก
“ประเด็นการคงพื้นที่มองว่าติดอยู่ที่เงื่อนไขสุดท้ายคือราคาขาย เพราะตราบใดที่พืชเศรษฐกิจชนิดอื่นมีราคาที่สูงกว่าโอกาสเสี่ยงที่ชาวนาจะเปลี่ยนวิถีการเพาะปลูกก็มีมาก รัฐอาจต้องควบคุมหรือมีมาตรการที่เหมาะสมและโปร่งใส ส่วนการส่งเสริมระบบปลูกข้าว GAP หรือการปลูกข้าวโดยใช้สารเคมีในระดับที่ปลอดภัยนั้นผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะมาตรฐานหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรฯ ไม่มีเครดิตในสายตาผู้บริโภคและตลาดต่างประเทศ เป็นมาตรฐานการใช้สารเคมีที่ไม่มีใครมั่นใจว่าปลอดภัย” นายอุบล กล่าว
นายเอกชัย อิสระทะ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ กล่าวว่า หากมองเชิงหลักการพัฒนาพันธุ์ข้าวและระบบปลูกข้าวค่อนข้างดี แต่ทั้งนี้ควรดำเนินการโดยให้ชาวนาหรือเกษตรกรรายย่อยเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่การพัฒนาแบบเดี่ยวที่ทำเพียงนักวิจัยหรือรัฐ ส่วนการกำหนดเขตส่งเสริมการผลิตข้าวตามศักยภาพพื้นที่ ไม่น่าจะเป็นผลดีนัก เพราะวิถีของชาวนาภาคใต้แบบดั้งเดิมจะปลูกข้าวหลายชนิดในทุ่งเดียว
“ชาวนาภาคใต้ปลูกข้าวอย่างน้อย 3-4 สายพันธุ์ในทุ่งเดียว เพราะแต่ละสายพันธุ์มีระยะเก็บเกี่ยวไม่เท่ากัน ทำให้กระบวนการเก็บเกี่ยวมีช่องว่างมีแรงงานที่ทำแบบหมุนเวียนได้ หากใช้พื้นที่วัดศักยภาพและเลือกปลูกข้าวเพียงชนิดเดียว อาจประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ที่น่าห่วงกว่านั้นคือไม่สอดคล้องกับวิถีชาวนาและความหลากหลายในวิถีวัฒนธรรมอาจหายไปในระยะยาว”
นายสุรสม กฤษณะจูฑะ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวถึงข้อดียุทธศาสตร์ข้าวฯ ว่าที่ผ่านมาในสังคมเกษตรกรรมพบปัญหาผลผลิตต่างๆมากมาย การมีแนวทางพัฒนาการเกษตรแบบองค์รวมถือว่าดี แต่ควรมีแผนย่อยที่หลากหลายและสอดรับกับสภาพปัญหาในพื้นที่ด้วย หมายความว่าแผนที่ทำขึ้นควรเริ่มจากแผนชุมชนที่ชาวบ้านจัดการกันเอง มีการจัดลำดับความสำคัญของปัญหาที่สนองต่อพื้นที่ นำสู่แผนระดับภาค และกำหนดยุทธศาสตร์ระดับประเทศ ซึ่งทั้งหมดต้องสอดคล้องและตอบโจทย์การพัฒนาที่เหมาะสม
“การปฏิรูปภาคเกษตรกรรมต้องเดินคู่ไปกับการปฏิรูปที่ดิน และจัดระบบการจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ ปัญหาสำคัญคือชาวนามักถูกจำกัดด้วยโครงสร้างทางปัจจัยการผลิตที่ทำให้ไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ ดังนั้นแผนยุทธศาสตร์เพียงอย่างเดียวอาจแก้ปัญหาหรือพัฒนาวงการข้าวไทยไม่ได้ทั้งหมด ทุกอย่างจึงควรเดินหน้าสอดคล้องและสัมพันธ์กันบนพื้นฐานของการสร้างความเป็นธรรม นายสุรสม กล่าว