เอ็นจีโอ-ชาวบ้านชี้โฉนดชุมชนรัฐไม่ตอบโจทย์ปัญหา – ไม่เชื่อ กม.ภาษีที่ดิน
ประเด็นปัญหาหนึ่งที่ชาวบ้านรากหญ้าหยิบยกสู่การปฏิรูปสังคมคือ การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน โต๊ะข่าวเพื่อชุมชนสำรวจความคิดเห็นคนทำงาน เครือข่ายปฏิรูปที่ดินมองร่างระเบียบสำนักนายกฯเรื่องโฉนดชุมชน ยังอิงกับกฏหมายเดิมและระเบียบกระทรวง ยากปฏิบัติ สมัชชาคนจนบอกยังไม่ตอบโจทย์ใหญ่และไม่เชื่อกฏหมายภาษีที่ดินเดินหน้าดี เครือข่ายป่าชุมชนแนะสำรวจที่ดินเขตป่าทั่วประเทศให้กรรมสิทธิ์คนอยู่กับป่ามาก่อน พอช.มองโฉนดชุมชนเป็นพื้นฐานความยั่งยืนคนรากหญ้า
ในแนวทางปฏิรูปประเทศไทยที่รัฐบาลประกาศ โดยเน้นสร้างความเป็นธรรมทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาความยากจน ประเด็นปัญหาหนึ่งของชาวบ้านรากหญ้าที่นำเสนอสู่การปฏิรูปคือการแก้ไขปัญหาป่าไม้และที่ดินทำกิน ซึ่งก่อนหน้านั้นคณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน (การกระจายการถือครองที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน) ซึ่งมีสาระสำคัญคือ การกำหนดนิยาม “โฉนดชุมชน” เป็นหนังสืออนุญาตให้ชุมชนร่วมกันบริหารจัดการและใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมีหน้าที่ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามเงื่อนไข พร้อมกับจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) ภายใน 60 วัน และกำหนดพื้นที่นำร่องไม่น้อยกว่า 30 แห่ง นอกนี้ยังมีมติเห็นชอบหลักการจัดทำกฎหมายภาษที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยปรับปรุงจากภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ให้เป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรมและพัฒนาที่ดินรกร้าง โดยยกเว้นเกษตรกรที่มีที่ดินทำการเกษตรเป็นของตนเองและผู้ที่มีที่อยู่อาศัยขนาดเล็ก ซึ่งรายได้จากภาษีดังกล่าวจะนำไปสู่การจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินให้รัฐจัดสรรให้ผู้ไม่มีที่ทำกินต่อไป
และล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนแห่งชาติ ภาคประชาชนได้นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาป่าไม้ที่ดินแก่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ข้อเสนอดังกล่าวให้มีการจัดการที่ดินโดยชุมชนท้องถิ่น โดยจัดโครงสร้างระบบดูแลใหม่ให้เป็นโฉนดแบบเดียวแต่มีเงื่อนไขเฉพาะที่ดินแต่ละประเภท จัดทำเป็นแผนที่การถือครองใช้ประโยชน์ที่ดิน 500 ตำบล 70 จังหวัด
{mosimage} โต๊ะข่าวเพื่อชุมชน ได้สำรวจความคิดเห็นของคนทำงานพัฒนาชุมชนที่คลุกคลีกับปัญหาป่าไม้ที่ดินในประเด็นข้างต้น รวมทั้งข้อเสนอสู่การปฏิรูปเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาป่าไม้ที่ดินอย่างแท้จริง
นางสาวพงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) กล่าวว่า โฉนดชุมชนมีหลักการเบื้องต้นที่ดีในการรับรองสิทธิประชาชนให้จัดการที่ดิน แต่ประเด็นที่น่าห่วงคือในระเบียบดังกล่าวระบุไว้ชัดถึงการปฏิบัติที่ต้องอิงกับระเบียบของกระทรวงหรือกฎหมายเดิมที่มีอยู่ เช่น กฎหมายป่าไม้ ซึ่งหากพรรคร่วมรัฐบาลหรือกระทรวงต่างๆไฟเขียวเดินหน้าจัดสรรพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การดูแลให้ชาวบ้านก็ไม่มีปัญหา แต่หากสัญญาณดังกล่าวไม่เกิดขึ้นแม้รัฐจะพูดเชิงนโยบาย มีหนังสือรับรองสิทธิอย่างไร แต่เจ้าของกระทรวงไฟแดงก็หมายความว่าระเบียบตัวนี้ใช้การไม่ได้ในทางปฏิบัติ
“เราเชื่อว่าโฉนดชุมชนจะเป็นความสำเร็จของรัฐในการปฏิรูปที่ดินซึ่งเป็นพื้นฐานของปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนที่ถูกพูดถึงมานาน แต่ก็ต้องดูต่อไปว่ารัฐบาลจะมีความสามารถในการบังคับใช้ระเบียบในพื้นที่เหล่านั้นหรือไม่”
ผู้ประสานงาน คปท. ยังกล่าวถึงการจัดตั้งคณะกรรมการประสานเพื่อให้มีโฉนดชุมชน(ปจช.) ว่าต้องมีความหลากหลายและมีที่มาอย่างเป็นธรรม เนื่องจากระเบียบตัวนี้ให้อำนาจของ ปจช. ซึ่งล่อแหลมมาก ดังนั้นในการคัดสรรองค์กรภาคประชาชนที่จะเข้ามามีส่วนร่วมเป็นครึ่งหนึ่งในคณะทำงานต้องระมัดระวังไม่ให้สังกัดอยู่ภายใต้พรรคการเมืองหรือระบบอุปถัมภ์ ทั้งนี้เครือข่ายฯ เห็นว่าในช่วง 3 ปีแรก ควรเลือกจากประชาชนที่มีประสบการณ์การทำโฉนดชุมชนในพื้นที่ก่อน และยังได้เสนอพื้นที่นำร่องไปประมาณ 40 แห่ง ส่วนประเด็นที่พยายามเสนอแต่หลุดไปคือการจัดสรรพื้นที่เอกชนที่รกร้าง ซึ่งหากนำมาทำโฉนดชุมชนจะเป็นการรักษาพื้นที่เกษตรกรรมไว้ได้อีกมาก
“โฉนดชุมชนในแบบที่ชาวบ้านใฝ่ฝันคือเอกสารที่ระบุกรรมสิทธิ์ร่วมในการทำประโยชน์และการทำให้เป็นพื้นที่คุ้มครองเกษตรกรรมแบบยั่งยืน เป็นเอกสารสิทธิ์เพียงใบเดียวที่ไม่ขายออกไปข้างนอก แต่จะขายให้ธนาคารกองทุนที่ดินชุมชนเพื่อรักษาให้พื้นที่เป็นที่ของชุมชนตลอดไป ”
นางสาวพงษ์ทิพย์ ยังกล่าวถึงนโยบายภาษีที่ดินว่า เป็นสิ่งที่ควรทำให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เพราะขณะนี้การถือครองที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในมือคนรวยที่ไม่ต้องแบกรับภาระต้นทุนใดๆ ขณะที่คนจนจำนวนมากไม่มีที่ดินทำกิน ดังนั้นมาตรการเดียวที่สามารถทำได้ในสังคมที่มีกฎเรื่องการจำกัดการถือครองคือการเก็บภาษีให้คนมีมากเสียมาก มองว่าจุดเริ่มต้นไปในทิศทางที่ดี แต่ต้องมาดูว่าจะเกิดจริงในทางปฏิบัติได้หรือไม่ เพราะเรื่องนี้มักถูกง้างจากกลุ่มทุนตลอดมา
{mosimage} นายสวาท อุปฮาด ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน กล่าวว่า โฉนดชุมชนมีข้อจำกัดเฉพาะชุมชนที่มีลักษณะเป็นองค์กรชุมชนที่เกิดจากการรวมกลุ่มและมีความพร้อม แต่หากมองในภาพกว้างโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีปัญหาคาบเกี่ยวกับเรื่องเอกสารสิทธิ์ซึ่งมีอยู่อีกมากนั้น การแก้ปัญหาด้วยวิธีดังกล่าวยังไม่สามารถตอบโจทย์ที่เป็นภาพใหญ่ของปัญหาป่าไม้ที่ดินได้
“สำหรับกฎหมายภาษีที่ดิน เรามองว่าเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าสามารถทำได้จะถือเป็นแบบอย่างหนึ่งในการปฏิรูปประเทศ เพราะที่ดินจำนวนมากที่อยู่ในมือกลุ่มทุนจะถูกปล่อยให้รัฐมาดำเนินการจัดสรรให้เกษตรกรรายย่อยได้อีกเยอะ แต่ผมเองยังไม่เชื่อมั่นและยังไม่เห็นทิศทางว่าจะออกมาในรูปแบบไหน เพราะโครงสร้างอำนาจขณะนี้ยังห่างไกลเกินกว่าที่ประชาชนจะหยิบจับได้” นายสวาท กล่าว
นายจักรพงศ์ ธนวรพงศ์ ผู้ประสานงานสมาคมป่าชุมชนอีสาน กล่าวว่า โฉนดชุมชนไม่ใช่คำตอบในการแก้ปัญหา เพราะการประกาศโฉนดชุมชนหมายความว่าชาวบ้านต้องยอมรับว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของรัฐ ทั้งที่ความจริงแล้วพื้นที่นั้นเป็นที่ดินของชุมชนที่อยู่มาก่อน อีกทั้งภาคราชการหรือกระทรวง กรม บางแห่ง ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐ จึงเป็นเรื่องของวาทกรรมที่ใช้หาเสียงเพื่อปลุกกระแสให้สังคมเข้าใจว่ารัฐได้แก้ไขปัญหาที่ดินแล้ว ทั้งที่ชุมชนไม่เคยเห็นผลในเชิงรูปธรรมเลย
“สิ่งที่ควรทำคือการสำรวจที่ดินชุมชนในเขตป่าทั่วประเทศ แล้วค่อยกำหนดแนวทางให้ชุมชนที่อยู่มาก่อนมีสิทธิในพื้นที่ดังกล่าว ส่วนชุมชนที่เข้ามาอยู่หลังการประกาศเราก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องจำกัดสิทธิในการอยู่และหามาตรการมารองรับต่อไป ซึ่งทั้ง 2 ทางนี้ควรเดินหน้าไปพร้อมๆ กัน”
นางพรรณทิพย์ เพชรมาก ผู้ช่วย ผอ. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กล่าวว่า เห็นด้วยกับร่างระเบียบสำนักนายกฯ และแนวทางที่ออกมาเพราะโฉนดชุมชนเป็นพื้นฐานที่สามารถต่อยอดสู่การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นระบบน้ำ การเกษตรกรรมยั่งยืน หรือการพัฒนาเรื่องกองทุนที่ดินที่มีความสำคัญต่อการขยายพื้นที่ชุมชน
“เชื่อว่าแนวทางนี้จะทำให้ชุมชนดูแลกันเองได้และจะเป็นฐานทุนที่สำคัญในการพัฒนาระบบชุมชนพึ่งตนเอง ส่วนประเด็นข้อกังวลว่าการออกเป็นระเบียบนายกรัฐมนตรีจะมีปัญหาหรือไม่นั้น มองว่ากฎหมายอะไรก็ตามที่ออกมาล้วนมีช่องว่างหรือปัญหาที่ต้องปรับปรุงแก้ไขทั้งสิ้น ถ้ามัวแต่รอสุดท้ายก็จะไม่มีการเริ่มต้น” ผู้ช่วย ผอ.พอช. กล่าว
ในวันที่ 20 พ.ค.นี้ นายกรัฐมนตรีบอกจะมีการตั้งสมัชชาปฏิรูปประเทศ และได้ข้อสรุปกลไกที่จะเดินหน้าการแก้ปัญหาคนรากหญ้า ต้องติดตามกันต่อไปว่าทิศทางการแก้ไขปัญหาป่าไม้ที่ดินชุมชน จะเดินไปสู่การปฏิบัติอย่างไร .
ภาพประกอบจาก www.rd1677.com, www.pixpros.net, www.student.nkw.ac.th