รอยทางสร้างสรรค์ของชาวนาภาคใต้ พลิกฟื้นอู่ข้าวอู่น้ำเดิม
ในขณะที่กระทรวงเกษตรฯ เพิ่งผ่านร่างยุทธศาสตร์ข้าว วางเป้าพื้นที่เพาะปลูก 62 ล้านไร่ พัฒนา 12 สายพันธุ์ใหม่ และเทคโนโลยี เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน สร้างความเข้มแข็งให้ชาวนาไทย เตรียมจับมือกระทรวงพานิชย์ฯ ทำการตลาด โต๊ะข่าวเพื่อชุมชนพาไปพบกับอีกมิติจากฐานราก ความพยายามพลิกฟื้นผืนดินใต้ที่เคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำสำคัญของประเทศ ทั้งความภูมิใจของชาวนาพื้นบ้านที่รักษาพันธุ์ข้าวพื้นเมือง และนาข้าวในโรงแรมห้าดาวที่น้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมากอบกู้ธุรกิจและช่วยเหลือชาวบ้าน
น้อยคนรู้ว่าภาคใต้เคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำทำนาที่สำคัญของประเทศ จังหวัดที่ปลูกข้าวมากที่สุดคือ นครศรีธรรมราช รองลงมาคือ พัทลุง สงขลา สุราษฎร์ธานี ปัตตานี แต่ปัจจุบันที่นาหลายแห่งถูกทิ้งร้าง พันธุ์ข้าวท้องถิ่นค่อยๆสูญหาย จาก 307 สายพันธุ์ 20 ปีก่อน พบเพียง 122 สายพันธุ์ ที่ยังปลูกอยู่เพียง 21 สายพันธุ์ เพราะการปลูกข้าวพันธุ์ส่งเสริมเพื่อสนองความต้องการของตลาด หรือเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นการปลูกพืชเศรษฐกิจ พืชพลังงาน สิ่งก่อสร้างรองรับนักท่องเที่ยว
สิ่งที่เครือข่ายชาวนาปักษ์ใต้เหล่านี้ทำ อาจสวนกระแสหลัก แต่เป็นความเชื่อมั่นว่า “เมื่อในน้ำยังมีปลา ในนายังมีข้าว” ความสุขก็จะกลับคืนมาสู่คนปักษ์ใต้
วิถีชีวิตตามแนวพระราชดำริที่โรงแรมนา ชุมพร
ผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้ “ชุมพร คาบาน่า รีสอร์ท” น้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงประยุกต์ใช้กับธุรกิจ จนเกิดรูปธรรมที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเข้ามาอยู่ในโรงแรมหรู อาทิ แปลงสมุนไพร ผักปลอดสารพิษ ฟาร์มไก่ โรงปุ๋ยอินทรีย์ โดยเฉพาะนาข้าวที่เกิดจากกระแสพระราชดำรัส “ขอให้ชาวชุมพรอย่าลืมเรื่องการปลูกข้าวไว้บริโภค”
ปี 2543 วริสสร รักษ์พันธุ์ เจ้าของโรงแรม จึงเริ่มทำแปลงนาอินทรีย์ปลูกข้าวในโรงแรม โดยนำ “เหลืองประทิว” ข้าวพื้นเมืองพันธุ์ดีที่มีชื่อเสียงที่สุดของชุมพรแต่กำลังจะสูญพันธุ์มาปลูก และยังเผยแพร่แนวคิดไปสู่ชุมชนรอบๆโรงแรม โดยรับซื้อข้าวที่ปลูกโดยไม่ใช้สารเคมีเข้ามาสีเองใช้ในโรงแรม จนปัจจุบันมีชาวนาเข้าร่วมโครงการ 20 แปลง 200-300 ไร่
ปัจจุบันชุมพร คาบาน่า รีสอร์ท เป็น “ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและกสิกรรมธรรมชาติ เพลิน” และสร้างเครือข่ายชาวบ้านทำเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษ โดยเข้าไปช่วยจัดการเรื่องการตลาด ส่วนหนึ่งรับซื้อไว้บริการแขกในโรงแรม ที่เหลือก็หาตลาดภายนอกให้
{mosimage} เส้นทางความสุขจากข้าวในโรงแรมนา นอกจากเป็นจุดเด่นทางธุรกิจดึงดูดนักท่องเที่ยว เกื้อหนุนชุมชนรอบข้าง ยังรักษาพันธุ์ข้าวพื้นเมือง และจุดประกายวิถีชีวิตชาวนาอินทรีย์ให้คงอยู่
ความภูมิใจของชาวนาบางแก้ว พัทลุง
"..สำหรับข้าวสังข์หยดนี้ข้าพเจ้าเพิ่งได้ไปพบที่จังหวัดพัทลุงเมื่อ 2 ปีที่แล้ว และข้าพเจ้าได้นำกลับมาที่พระตำหนักทักษิณฯ แล้วหุง พบว่าข้าวนี้อร่อย.."
กระแสพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทำให้ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุงปลูกข้าวพันธุ์สังข์หยดในฟาร์มตัวอย่างตามแนวพระราชดำริที่ อ.บางแก้วปี 2543 ข้าวสังข์หยดที่ปลูกในพื้นที่จะนุ่มอร่อย น้ำตาลน้อย เหมาะกับคนรักสุขภาพ จึงได้ขึ้นทะเบียนเป็น“ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง” เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้ผลิต ปี 2547 จังหวัดยังได้กำหนดให้เป็น 1 ใน 3 พันธุ์ข้าวส่งเสริม
บางแก้วนอกจากเคยเป็นพื้นที่ทำนาหลักยังเป็นแหล่งรวมข้าวพื้นเมืองพันธุ์ดีจำนวนมาก อาทิ “สังข์หยด” ที่คนสมัยก่อนปลูกไว้เป็นของกำนัลแก่ผู้ใหญ่ที่นับถือหรือใช้หุงทำบุญ, “ข้าวหัวนา”ที่อ่อนนุ่มอร่อย, “ข้าวหอมจันทร์”ที่หอมอร่อย, “ข้าวกอและ” ที่แข็งกินอยู่ท้อง
ชาวบางแก้ว ไม่ต่างจากชาวนาส่วนใหญ่ที่หันมาปลูกข้าวสนองตลาด ใช้พันธุ์ข้าวส่งเสริม เครื่องจักร ปุ๋ยเคมี ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง พึ่งพิงกลไกตลาด ขาดทุน ทยอยทิ้งร้างที่นาไปเป็นแรงงานโรงงานหรือหันไปปลูกยางพารา ข้าวพื้นบ้านและวิถีภูมิปัญญาเดิมจึงค่อยๆเลือนหาย
แต่ปี 2547 ชาวนา 17 ครอบครัวได้รวมตัวกันเป็น“กลุ่มบ้านเรียนรู้เกษตรธรรมชาติ” อนุรักษ์วัฒนธรรมคนทำนาและรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่หลงเหลืออยู่ 12 สายพันธุ์มาปลูกในแปลงนารวมธรรมชาติเพื่อเป็นการสาธิต-อนุรักษ์สายพันธุ์ และกระจายปลูกในกลุ่มผู้ที่สนใจ
“ผู้เฒ่าผู้แก่และลูกหลานมาเล่าสู่กันฟังว่าทำไมข้าวบางแก้วเมื่อก่อนกินอร่อยมีชื่อเสียง มันค่อยๆหายไป ทำอย่างไรให้กลับคืนมา เริ่มจากตามหาว่าข้าวบางแก้วมีพันธุ์อะไรบ้าง แล้วก็ตามหาพันธุ์ที่ยังหลงเหลืออยู่มาปลูก ได้ภูมิปัญญาจากผู้เฒ่าผู้แก่มาใช้ เช่น การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ดี”
จักรกฤษณ์ สามัคคี ประธานกลุ่มเรียนรู้เกษตรกรรมธรรมชาติบางแก้ว บอกว่า ข้าวพื้นบ้านไม่ค่อยมีโรคและแมลง ปรับตัวดีต่อสภาพพื้นที่ ทนแล้งทนน้ำกว่าข้าวพันธุ์ส่งเสริม การปลูกข้าวพื้นบ้านหลายๆพันธุ์ยังให้ผลผลิตไม่พร้อมกันทำให้ลงแขกช่วยแรงกันได้ไม่ต้องใช้เครื่องจักร ชาวนาสมัยก่อนยังนอบน้อมต่อธรรมชาติ มีพิธีกรรมกตัญญูต่อแม่โพสพ มีการแลกเก็บข้าวเพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ที่จะนำไปปลูกในปีต่อไป และเป็นการรักษาพันธุ์ดั้งเดิมไว้
ตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหาร
{mosimage} เอกชัย อิสระทะ ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ ให้ภาพว่าในเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ มีชาวนาอินทรีย์ที่ปลูกข้าวพื้นบ้าน 100 กว่าคนบนพื้นที่ 200-300 ไร่ เช่น ชาวนาทะเลน้อย พัทลุง, รัตภูมิ เทพา สะบ้าย้อย สงขลา, ระโนด สทิงพระ สิงหนคร ทุ่งไม้ไผ่ นครศรีธรรมราช, หนองจิก ปัตตานี, นาโยง ตรัง, ไชยา สุราษฏร์ธานี
“ชาวนาไม่ใช่อาชีพแต่เป็นวิถีชีวิต เกษตรกรภาคใต้ที่อยู่รอดได้ในวิกฤติราคาผลผลิตตกต่ำ เพราะมีข้าวกิน คือทำทั้งสวนทั้งนา มีทางออกหลายรูปแบบ เช่น สวนสมรม สวนผู้เฒ่า สวนดุซง สวนผสมผสานที่เป็นฐานที่มั่นเดิมของคนใต้บวกกับวิถีนา การที่รัฐส่งเสริมให้ปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน เป็นพืชเศรษฐกิจหลัก เกษตรกรรายย่อย 10-20 ไร่ไม่สามารถอยู่รอดได้ถ้าไม่มีวิถีนาช่วย”
เอกชัยบอกว่า ความอยู่รอดของชาวนาคือ ต้องกำหนดอนาคตเองได้ เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและจัดการผลผลิตได้เอง รัฐต้องทบทวนนโยบายที่ปล่อยให้พืชพลังงานรุกพื้นที่นา
“โจทย์อีกข้อคือการรักษาพันธุกรรมข้าว ตอนนี้บางแก้วสะสมไว้ 12 สายพันธุ์ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกมีอยู่ 20 สายพันธุ์ ต้องเอามาแลกเปลี่ยนกันให้กระจายไปในทุกพื้นที่ภาคใต้”
ส่วน ดร.ปาริชาติ วิสุทธิสมาจาร คณะจัดการสิ่งแวดล้อม ม.สงขลานครินทร์วิทยาเขตหาดใหญ่ ตั้งประเด็นว่าทำอย่างไรจะคงพื้นที่ปลูกข้าวที่เหลืออยู่ไว้ ให้ชาวนาอยู่ได้ ให้ข้าวมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค เช่น ที่บางแก้วพื้นที่ปลูกข้าวหายไปกว่าครึ่งจาก 2 หมื่นกว่าไร่ แต่ชาวบ้านก็รวมกลุ่มกันอนุรักษ์ข้าวพื้นบ้าน ทำนาอินทรีย์ ทำให้ผู้บริโภครู้จักข้าวบางแก้ว เป็นต้นแบบการแก้ปัญหาเกษตรกรรายย่อยซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของภาคใตัให้รวมกลุ่มกันได้และมีอำนาจต่อรอง
ดร.ปาริชาติ กล่าวว่า การอนุรักษ์พันธุ์ข้าวจะนำไปสู่การรักษาวัฒนธรรมคนกับข้าว ทำให้สังคมไทยมีความมั่นคงทางอาหาร รัฐต้องสนับสนุนอาชีพชาวนาจริงจังหลังจากละเลยมานาน
ส่วนข้อเสนอเชิงนโยบาย คือให้เชื่อมโยงเครือข่ายชาวนาภาคใต้ขับเคลื่อนอนุรักษ์พันธุ์ข้าว, สร้างต้นแบบนาอินทรีย์, รวบรวมภูมิปัญญาข้าว, รักษาพื้นที่นาที่เหลืออยู่ไว้ และให้รัฐสนับสนุนอาชีพชาวนาและผลักดันข้าวเป็นความมั่นคงทางอาหารของชาติ
การเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายกระแสหลักเป็นเรื่องยาก แต่ทุกการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆล้วนเริ่มจากกลุ่มคนเล็กๆที่ร่วมหาทางออกจากทุกขภาวะ โรงแรมนา และชาวนาบางแก้ว จึงเป็นรูปธรรมที่จุดประกายสุขภาวะให้คนเห็นว่า “ในน้ำยังมีปลา ในนายังมีข้าว” เป็นความสุขของคนใต้” .
ภาพประกอบจาก : http://www.food4change.in.th และ http://www.nakaintermedia.com
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)