ระดมสมองแผนวิทยาศาสตร์แห่งชาติ วางเป้า 10 ปีพัฒนายั่งยืน สังคม ชุมชน เกษตร สุขภาพ
เวทีระดมความคิดจัดทำแผนวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งชาติระยะ 10 ปี วางเป้าส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม เกษตร สุขภาพ สวทน.ชี้ต้องผลิตบัณฑิตเฉพาะด้านเพิ่ม นำนวัตกรรมรองรับปัญหาสังคมผู้สูงอายุ-วิกฤติแรงงาน-ขาดแคลนอาหาร ปลัด วท.เผยชุมชนสนใจร่วมโครงการหมู่บ้านวิทย์ฯเกินเป้า ก.เกษตรฯ เผยนำเกษตรกรรายย่อยเข้าระบบมาตรฐานอาหารไทยแข่งขันนานาชาติ
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) จัดสัมนาเชิงปฏิบัติการ “STI 2 U สู่สังคมอยู่ดีมีสุข-วิทยาศาสตร์สร้างคน เทคโนโลยีสร้างชาติ นวัตกรรมสร้างความเจริญ” เพื่อระดมความคิดเห็นนำไปสู่การจัดทำนโยบายและแผนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ(พ.ศ. 2553-2562) ที่เหมาะสมกับการพัฒนาประเทศ
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เลขาธิการ สวทน. กล่าวถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ว่าหลายประเทศที่พัฒนาแล้วกำหนดให้เป็นนโยบาย เช่น ในสหรัฐอเมริกา อดีตประธานาธิบดีจอห์น ฟิตซ์เจอรัลด์ เคนเนดี สนับสนุนให้นักบินไปเหยียบดวงจันทร์ นายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีคนปัจจุบันก็ประกาศส่งเสริมให้นักวิทยาศาสตร์ไปถึงดาวอังคาร สำหรับประเทศไทย สวทน.ได้ทำโครงการ “STI 2 U สู่สังคมอยู่ดีมีสุข-วิทยาศาสตร์สร้างคน เทคโนโลยีสร้างชาติ นวัตกรรมสร้างความเจริญ” ส่งเสริมให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าถึงคนทุกภาคส่วน อาทิ ผู้นำทางชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
“แนวทางการพัฒนาประเทศคงไม่ได้หมายถึงการทำแผน และการใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีในกิจกรรมอุตสาหกรรม หรือภูมิปัญญาชาวบ้านเท่านั้น แต่รากที่หยั่งลึงลงไปคือการที่ประเทศจะมีวิสัยทัศน์ มีแรงบันดาลใจมีเป้าหมายใหญ่ๆ ที่จะทำให้สังคมมีจุดร่วมเดียวกัน สามารถเดินทางไปพร้อมๆกัน”
{mosimage} ดร.พิเชฐ กล่าวว่าในอนาคตจะเกิดสงครามแย่งชิงคนเก่งของโลก ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาดึงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านทั่วโลกไปอยู่ในประเทศของตัวเองได้ถึง 42.5% ขณะที่ประเทศอัฟริกา-อินเดียมีความยากจน ขาดแคลนและหิวโหย ดังนั้นจึงต้องร่วมกันหาทางป้องกันการขาดแคลนอาหารให้น้อยที่สุด หรือถ้าคิดแบบทุนนิยมก็ต้องผลิตอาหารในปริมาณมากเพื่อป้อนคนทั้งโลก สำหรับประเทศไทยน่าเป็นห่วงว่าเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุซึ่งสัมพันธ์กับวิกฤติด้านแรงงานและการขาดแคลนอาหาร ซึ่งวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจะมีบทบาทช่วยบรรเทาปัญหาเหล่านี้ได้
“ก็เป็นที่กังวลว่าในประเทศไทยปัจจุบันเรามีวัยแรงงาน 6 คนที่จะดูแลผู้สูงวัย 1 ท่าน ในอีก 20 ปีข้างหน้าตามคาดการของสภาพัฒน์ฯ คือปี 2570 เราจะเหลือแรงงานที่จะอุ้มชูผู้สูงวัยเพียง 3 คน คำถามคือแรงงานน้อยลง แต่ว่าปากท้องเท่าเดิมหรือมากขึ้น เราจะเอาตัวรอดได้อย่างไร ผมว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเข้ามาเพิ่มโปรดักของวัยแรงงานได้ในลักษณะต่างๆ”
เลขาธิการ สวทน. กล่าวต่อไปว่า บัณฑิตในประเทศไทยที่จบด้านวิทยาศาสตร์มีเพียง 25% เท่านั้น ซึ่งในอนาคตจะส่งเสริมให้มีการผลิตบัณฑิตในสาขานี้เพื่อรองรับการพัฒนาสังคมที่ขยายตัวขึ้น นอกจากนี้ สวทน.ยังจะจัดประชุมระดมความคิดเห็นตามมหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่างๆอีก 7 ครั้ง เพื่อระดมความคิดเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วนเพื่อนำไปสู่การจัดทำนโยบายและแผนวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่สามารถเข้าถึงความต้องการที่แท้จริงของประชาชน
ดร.สุจินดา โชติพาณิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ กล่าวถึง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมกับการพัฒนาประเทศในอีก 1 ทศวรรษ ว่านโยบายและแผนที่จะเกิดขึ้นต้องตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศ ซึ่งถือเป็นภารกิจหลักที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2551 โดยหลักสำคัญต้องเพิ่มขีดความสามารถทางด้านเกษตรกรรม เช่น เพิ่มผลผลิต พัฒนาสายพันธุ์ดีที่ต้านทานโรค ลดการใช้สารเคมีเพื่อสุขภาพ นอกจากนี้ต้องสนับสนุนผลิตภัณฑ์ชุมชนหรือสินค้าโอทอป และใช้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นจุดแข็งในการพัฒนาเพื่อสู้กับนานาประเทศ
“ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบทางการแข่งขันทั้งศักยภาพด้านภูมิศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ หรือความหลากหลายด้านวัฒนธรรมประเพณี ในแต่ละกลุ่มจังหวัดยังมีความโดดเด่นเฉพาะตัวที่สามารถพัฒนาขีดความสามารถได้อีก ดังนั้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงต้องเข้าไปมีส่วนในการพัฒนาสังคม ชุมชน ท้องถิ่น ฟื้นฟูพื้นที่ที่ตกต่ำและเสื่อมโทรม การลดการกระจุกตัวของความเจริญในเมืองใหญ่”
{mosimage} ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ ยังกล่าวอีกว่า โครงการหมู่บ้านวิทยาศาสตร์ที่ตั้งเป้าว่าจะขยายเพิ่มอีก 150 แห่งในปีนี้ ได้รับการตอบรับจากชาวบ้านเป็นอย่างดีทำให้มีหมู่บ้านใหม่ๆที่เข้าร่วมเกือบ 200 แห่งแล้ว ซึ่งมีประมาณ 30 แห่ง ที่ให้ความสำคัญกับการทำเกษตรธรรมชาติโดยใช้ปุ๋ยอินทรียร์เป็นพิเศษ
นายสุรเดช ฉายะเกษตริน รองปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า การพัฒนาสังคมจะต้องครอบคลุมทั้ง 10 ด้าน คือการมีงานทำและรายได้ การพัฒนาด้านครอบครัว สุขภาพอนามัย การศึกษา ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม สิทธิและความเป็นธรรม สังคมวัฒนธรรม การสนับสนุนทางสังคม และการเมือง ธรรมภิบาล หรือความมั่นคงทางสังคม ซึ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 เน้นการเจริญเติบโตที่สมดุล เศรษฐกิจพอเพียง และการอยู่ดีมีสุขถ้วนหน้า โดยมุ่งการพัฒนาชุมชนสังคมอย่างมั่นคง
นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กล่าวว่า จุดแข็งของเกษตรกรไทยคืออาหารมีความหลากหลาย และรัฐก็ให้ความสำคัญเรื่องอาหารปลอดภัย แต่เกษตรกรรายย่อยยังเข้าสู่ระบบมาตรฐานน้อย ซึ่งยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรฯ จะทำให้ผลผลิตของเกษตรกรมีคุณภาพมากขึ้นโดยยึดหลักผู้บริโภคปลอดภัย เกษตรกรไทยมั่งคั่งด้วยการสนับสนุนการพัฒนาเชิงคุณภาพรายสินค้าพืช ประมง และปศุสัตว์ พร้อมทั้งสนับสนุนผู้ผลิตเข้าสู่ระบบมาตรฐาน ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างระบบอาหารศึกษาเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ ตลอดจนสร้างความมั่นใจในมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารไทยให้นานาประเทศยอมรับ .