เตือนสติสังคมต่างสีกับ “พระไพศาล วิสาโล” เจ้าของรางวัลศรีบูรพา 2553
“ความขัดแย้งระหว่างคนต่างสีเป็นมากกว่าการต่อสู้ระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ และพวกกับฝ่ายตรงข้าม การที่คนระดับรากหญ้าจำนวนมากร่วมสนับสนุนไม่ใช่เพราะอำนาจเงินเท่านั้นแต่เพราะไม่พอใจกับสภาพเศรษฐกิจการเมืองที่เป็นอยู่”
คือปาฐกถาของพระนักพัฒนา ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติปลายปีก่อน ก่อนถึงวันนี้ที่เครือข่ายองค์กรสันติวิธีมาร่วมกันวาดแผนที่เดินทางออกจากวิฤติการเมืองไทย ไม่ให้เกิดสงครามกลางเมือง ร่วมเตือนสติสังคมกับ พระไพศาล วิสาโล ภิกษุรูปแรกที่ได้รับ “รางวัลศรีบูรพา”
จากนักเคลื่อนไหวทางสังคม สู่พระนักพัฒนารูปแรกที่ได้รางวัลศรีบูรพา
ไพศาล วงศ์วรวิสิทธิ์ เป็นชาวกรุงเทพฯ เกิดเมื่อ พ.ศ.2500 ช่วงเหตุการณ์สำคัญทางสังคมการเมืองไทย 6 ตุลาคม 2519 เขาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นนักเคลื่อนไหวที่ร่วมในกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม แสดงจุดยืนการต่อสู้แบบอหิงสา จนมีการล้อมปราบภายในมหาวิทยาลัย และถูกคุมขังในเรือนจำ 3 วัน
ปี 2526 ตัดสินใจออกบวชเรียนกรรมฐานจากหลวงพ่อเทียน จิตตฺสุโภ แล้วจำพรรษที่วัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ ศึกษาธรรมกับหลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ จนถึงปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต
นอกจากบทบาทพระที่อบรมพัฒนาจริยธรรม พระไพศาล วิสาโล ยังเป็นประธานเครือข่ายพุทธิกา กรรมการมูลนิธิโกมลคีมทอง มูลนิธิสุขภาพไทย มูลนิธิสันติวิถี สถาบันสันติศึกษา สถาบันวิจัยและพัฒนา และสภาสถาบันอาศรมศิลป์ ซึ่งล้วนเป็นองค์กรที่มีบทบาทพัฒนาสังคม
ท่านยังเป็นนักเขียนที่มีผลงานต่อเนื่องในบรรณพิภพ ทั้งงานเขียนและงานแปลจำนวนมาก เล่มล่าสุดคือ ลงหลักปักธรรม ซึ่งรวมรวมบทความที่เขียนในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา
เตือนสติสังคม : ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน ต้องมีเมตตา ยอมรับความต่าง
"การได้เป็นศิษย์ตถาคต ดำเนินตามพระพุทธองค์ มีผู้คนให้ความเคารพนับถือ นับว่าเป็นเกียรติสูงสุดแล้ว แต่การบวชเป็นพระเพียงรูปก็หาใช่สิ่งสูงสุด หากแต่ความสำเร็จที่ประเสริฐ นั่นคือการเอาชนะกิเลสตัวเอง กิเลสภายในของเรา”
เป็นบางส่วนของบทสัมภาษณ์ นสพ.คมชัดลึก วันนี้เนื่องในวาระที่ได้รับรางวัลศรีบูรพา นอกจากความหมาย “ความเป็นพระ” ท่ามกลางสถานการณ์ทางสังคมการเมืองปัจจุบันที่รุ่มร้อนรุนแรง ท่านยังแสดงจุดยืนชัดเจนเตือนสติสังคมให้หยุดคิด และร่วมเรียกร้องหาสันติว่า..
“อาตมาถือเป็นหน้าที่ เมื่อสังคมขัดแย้งแตกแยกขนาดนี้ หลักธรรมพุทธศาสนาเท่านั้นที่จะหยุดได้ เพราะจริงๆปัญหาเริ่มที่ความไม่สงบสุขในใจ ใจที่วุ่นวายเป็นทุกข์เกิดมาแต่เหตุ 3 อย่าง ตัณหา คือผลประโยชน์ พอมากเข้าทำให้สำนึกต่อส่วนรวมเลือนหาย มานะ คือสำคัญตัวว่าดีเหนือกว่า และ ทิฐิ ความใจแคบ ยึดติดถือมั่นในความคิดตน เสื้อเหลืองเสื้อแดงเกิดขึ้นมาจากเหตุนี้
เมื่อมันรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น จึงต้องออกมาเตือนสติกัน ให้ผู้คนตระหนักว่าความรุนแรงนั้นนำความรุนแรงมาสู่ทุกฝ่าย ไม่มีฝ่ายไหนชนะ สุดท้ายบ้านเมืองก็ย่อยยับสูญสิ้นไป”
กิจกรรมภาวนาเพื่อสันติภาพ การบิณฑบาตรความรุนแรง การรณรงค์ไม่เอาสงครามกลางเมือง กำแพงศิลป์สันติภาพ ฯลฯ ล้วนเป็นความพยายามเพื่อเตือนสติผู้คนให้มั่นคงในสันติวิธี ของ เครือข่ายสันติวิธี ที่พระไพศาล วิสาโล มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้ง ท่านให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ว่า..
“ที่เราพยายามทำก็ช่วยเตือนสติทุกฝ่ายทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไปด้วย อย่างน้อยผู้ที่ไม่ได้อยู่ในความขัดแย้งคือประชาชนทั่วไปก็อยากให้มีสติ มีความอดทน และถ้าเสียงของเราดังไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ชุมนุมด้วยก็ยิ่งดีไปใหญ่ อาตมาคิดว่าตราบใดที่ทุกฝ่ายยังใช้สันติวิธีกันอยู่ มีสติ มีความอดกลั้น คิดถึงประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นหลักก็ไม่มีอะไรที่ต้องเป็นห่วง อาจมีการกระทบกระทั่งกันบ้างก็เป็นธรรมดาของการชุมนุม แต่หวังว่าจะไม่มีความรุนแรง”
ทางออกระยะยาว : ต้องแก้หนึ่งรัฐสองสังคม ลดช่องว่างเมืองกับชนบท
ในปาฐกถาที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ปลายปี 2552 ก่อนที่เหตุการณ์ทางการเมืองจะรุ่มร้อนรุนแรง จนมีเสียงเรียกร้องให้ก้าวพ้นความไม่มีสี และใช้สติพิจารณานำสังคมสู่สันติ
พระไพศาล วิสาโล กล่าวถึงความขัดแย้งทางการเมืองแบบแบ่งฝ่ายและเผชิญหน้ากันอย่างชัดเจนว่ามีแนวโน้มจะอยู่คู่สังคมไทยไปอีกนาน เพราะภาพที่ปรากฏไม่ใช่เพียงความขัดแย้งระหว่างบุคคลแต่เกิดจากโครงสร้างสังคมเศรษฐกิจที่ร้าวฉาน ซึ่งคนไทยมักมองปัญหาแค่ระดับบุคคลจึงมองไม่เห็นทางออก ความขัดแย้งระหว่างคนต่างสีเป็นมากกว่าการต่อสู้ระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ และพวกกับฝ่ายตรงข้าม การที่คนระดับรากหญ้าจำนวนมากร่วมสนับสนุนไม่ใช่เพราะอำนาจเงินเท่านั้นแต่เพราะไม่พอใจกับสภาพเศรษฐกิจการเมืองที่เป็นอยู่
ท่านบอกว่า มีไม่กี่ประเทศในโลกที่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างคนในชาติมากเท่าไทยจนเรียกได้ว่าเป็น “หนึ่งรัฐสองสังคม” ซึ่งเป็นรากเหง้าความขัดแย้งในปัจจุบัน คนระดับล่างที่ยากจนถูกทอดทิ้งจากรัฐส่วนใหญ่อยู่ในชนบทได้รับผลประโยชน์น้อยมากจากการพัฒนาตลอด 50 ปีที่ผ่านมา มิหนำซ้ำยังถูกแย่งชิงทรัพยากรจากชนบทไปสนับสนุนเมือง คนเหล่านี้จึงหันไปพึ่งผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นกลายเป็นฐานเสียงให้เจ้าพ่อได้เป็น ส.ส. เป็นรัฐมนตรี และนโยบายประชานิยมที่หยิบยื่นผลประโยชน์ลงไปให้ชนบทและคนยากไร้ จึงเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ชาวบ้านชนบทและคนจนเมืองจำนวนมากยังสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ
พระไพศาล บอกว่า ทางออกที่ท้าทายของสังคมไทยที่บ้านเมืองแตกแยกมีการเผชิญหน้า และพร้อมใช้ความรุนแรงทุกฝ่าย การเทศนาสั่งสอนหรือเรียกร้องให้คนไทยปรองดองกันมีความหมายน้อยมาก เอกภาพและความสามัคคีของคนในชาติจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างคือลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างเมืองกับชนบท คนจนกับคนรวย เปิดโอกาสให้มีการเข้าถึงทรัพยากรของรัฐอย่างเท่าเทียม มีกลไกการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม ปฏิรูปที่ดินและปฏิรูปภาษีอย่างจริงจัง สิ่งเหล่านี้เป็นทางออกระยะยาวให้เกิดสังคมสมานฉันท์
ส่วนมาตรการระยะสั้นระยะกลางก็ต้องเร่งสร้างกลไกเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งอย่างสันติ มีเวทีต่อรองที่เท่าเทียม ทำให้กระบวนการยุติธรรมเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย มีสื่อกลางเพื่อส่งเสริมความเข้าใจซึ่งกันและกัน
พระไพศาล วิสาโล ชี้ทางออกเฉพาะหน้าท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันว่า สังคมต้องมีสติ มีเมตตา เพื่อไม่ให้ความขัดแย้งบานปลายไปสู่ความรุนแรง ส่วนระยะยาวแล้วต้องแก้ที่รากเหง้าของปัญหาคือโครงสร้าง “หนึ่งรัฐสองสังคม” ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท
และเกียรติยศสำหรับนักคิดนักเขียนผู้มีคุณูปการต่อสังคม "รางวัลศรีบูรพาปี 2553" นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งบนเส้นทางของพระนักพัฒนาที่มีบทบาทเตือนสติและสร้างปัญญาให้แก่สังคมไทยมาโดยตลอด .
ภาพประกอบบางส่วน จากเครือข่ายพุทธิกา.