“พ่อผาย สร้อยสระกลาง” ชีวิตไม่ธรรมดาก่อนมาเป็นปราชญ์เศรษฐกิจพอเพียง
เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการส่งเสริมปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เชิดชู “พ่อผาย สร้อยสระกลาง” เป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปี 2553 โดยจะได้รับพระราชทานโล่ในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และเงินทุนเกียรติยศอีก 50,000 บาท ในวาระโอกาสนี้ จึงขอนำพาไปรู้จักปราชญ์ชาวบ้านแห่งภาคอีสานท่านนี้
รู้จัก “พ่อผาย สร้อยสระกลาง” ปราชญ์อีสาน-ปราชญ์แผ่นดิน
“พ่อผาย สร้อยสระกลาง” แห่งบ้านสระคูณ ต.โคกล่าม อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ปัจจุบันมีวัย 80 ปี เป็นแบบอย่างการทำเกษตรกรรมผสมผสาน ที่นำเอาประสบการณ์อันยาวนานมาขยายแนวคิดจากผืนไร่นาสู่หมู่บ้าน จากหมู่บ้านสู่องค์กรชุมชนต่างๆ สู่การรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายขยายผลในวงกว้าง
ด้วยการเริ่มต้นของพ่อผาย บ้านสระคูณเกือบทุกครอบครัวทำเกษตรผสมผสาน ขุดสระเลี้ยงปลา ปลูกผลไม้ ปลูกผัก ทำนาข้าว เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ในที่นา ทำให้ชาวบ้านลดค่าใช้จ่าย และมีรายได้เสริมอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังจุดประกายให้เกิดเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในนาม “กลุ่มอีโต้น้อย” ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกหลายหมู่บ้าน เพื่อขยายแนวคิดและรูปธรรมการพึ่งตนเองด้วยเกษตรผสมผสาน มีการระดมทุนช่วยเหลือซึ่งกันและกันในกลุ่ม รวมถึงการฟื้นฟูประเพณีต่างๆของชุมชน
ทุกวันนี้บ้านของ “พ่อผาย” เป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรผสมผสานซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงพัฒนาชุมชน พ่อผายยังร่วมเป็นแกนนำวางหลักสูตรวิทยากรกระบวนการเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่การพึ่งตนเองและพึ่งพากันเอง หรือ วปอ.ภาคประชาชน ซึ่งมีเนื้อหาและองค์ความรู้ให้ศึกษาหลายอย่าง เช่น 1.การทำเกษตรผสมผสาน ขุดสระ เลี้ยงปลา ทำนา ปลูกพืชผักสวนครัวและผลไม้ 2.การจัดทำบุญประทายข้าวเปลือกสู่การเป็นธนาคารข้าว 3.การฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมชุมชน 4.กลุ่มหม่อนไหม 5.การรักษาพื้นบ้าน นวดแผนโบราณ 6.การเพาะพันธุ์ปลา 7.กองทุนข้าว 8.กองทุนหมุนเวียนในหมู่บ้าน 9.กลุ่มผู้เลี้ยงปลา
ชีวิตที่ไม่ธรรมดาก่อนจะมาเป็นปราชญ์ชาวบ้าน
{mosimage} “แม่ไปไฮ่หมกไข่มาหา แม่ไปนาหมกไข่ปลามาป้อน แม่เลี้ยงหม่อนอยู่ป่าสวนหม่อน”
เป็นเพลงกล่อมลูกๆของแม่ ที่พ่อผายยังจำได้ขึ้นใจและมีผลต่อการใช้ชีวิตกระทั่งปัจจุบัน
เพราะครอบครัวยากจน เด็กชายผายจึงมีโอกาสได้เรียนแค่ชั้น ป. 4 ก็ต้องออกมาเป็นลูกจ้างเลี้ยงวัว ต่อมาไม่นานพ่อแม่ก็เสียชีวิตลง ด้วยอายุเพียง 15 ปีจึงมีภาระต้องดูแลน้องอีก 3 คน ด้วยผืนนามรดก 10 ไร่
เมื่ออายุ 17 มีโอกาสบวชเรียนและสอบได้นักธรรมโท แล้วสึกออกมาแต่งงานกับแม่ลา และได้เป็นผู้ใหญ่บ้านสระคูณ ด้วยคะแนนศรัทธาท่วมท้นจากชาวบ้าน พ่อผายนำเพลงกล่อมเด็กที่จำขึ้นใจของแม่เป็นแนวคิดแนวทางแก้ปัญหาปากท้องคนชนบท เพราะเกือบทุกครัวเรือนล้วนทอผ้า พ่อผายจึงใช้ที่ดินสาธารณะของชุมชน 400 ไร่พาชาวบ้านปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และยังตั้งกองทุนสวัสดิการบ้านสระคูณ
จุดเปลี่ยนทางความคิดอีกครั้งเกิดขึ้นในปี 2525 ภัยแล้งจัดทำให้เกิดปัญหาปากท้องในพื้นที่ พ่อผายเกิดความคิดว่าต้องช่วยตัวเองก่อนแล้วจึงกลับมาช่วยชาวบ้าน จึงกู้เงิน ธกส.ไปซื้อที่แล้วถางป่าปลูกข้าวโพดต่างอำเภอ ปีแรกได้ราคาดีแต่ผลผลิตไม่ดี ปีที่สองผลผลิตมากแต่ราคาต่ำเพราะไม่มีอำนาจต่อรอง
ประสบการณ์ครั้งนั้นสอนบทเรียนว่า ความโลภอยากรวยสร้างหนี้ ทำลายสิ่งแวดล้อม และยังทำลายครอบครัว สังคม เพราะการละถิ่นฐาน พ่อผายนั่งสมาธิเพื่อหาทางออก จนคิดได้ว่าต้องกลับมาตั้งหลักบ้านเกิด
จงเป็นชาวนาที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีและมีความสุข
ด้วยภาพฝันที่ผู้คนรักใคร่สามัคคี ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ พ่อผายตั้งมั่นว่า “จะไม่เอาเงินเป็นตัวตั้ง แต่จะเอางานและความสุขเป็นตัวตั้ง” จึงขายที่บางส่วนใช้หนี้ ธกส.จนหมด และเริ่มต้นทำเกษตรผสมผสาน
“เราเป็นชาวนา จะไปเป็นนายอำเภอ ไปเป็นหมอย่อมฝืนธรรมชาติ น่าจะเป็นชาวนาที่มีเกียรติมีศักดิ์ศรี และที่สำคัญมีความสุข”
ความสุขที่ว่าของพ่อผายคือ มีหลักประกันชีวิตครบถ้วน มีสุขภาพกายและใจแข็งแรง มีครอบครัวอบอุ่น มีชุมชนเข้มแข็ง มีสิ่งแวดล้อมดี มีอิสรภาพ มีความภาคภูมิใจและเข้าถึงธรรมะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพึ่งตนเองและพึ่งพากันเอง
พ่อผายใช้เวลา 8 เดือน ใช้จอบขุดดินปั้นสระด้วยมือเพียงลำพัง ด้วยภาพฝันที่จะมีต้นไม้หลายชนิดรายรอบสระ โดยไม่ฟังคำทัดทานของเมียที่เห็นว่าที่ดินมีน้อยน่าจะเอาไว้ทำนา แกยังดั้นด้นไปเรียนวิชาเลี้ยงปลาที่ขอนแก่นกลับมาพร้อมลูกปลา 1,000 ตัว และแล้วเมื่อผลผลิตเป็นปลาตัวโตๆพ่อผายก็สามารถขยายแนวร่วมในครอบครัวได้ จากครอบครัวก็กลายเป็นทั้งชุมชนบ้านสระคูณที่ขุดบ่อเลี้ยงปลาทำเกษตรผสมผสาน
จากโรงเรียนชุมชนอีสาน สู่ วปอ.ภาคประชาชน
{mosimage} ด้วยความคิดอยากช่วยเหลือชาวบ้านให้นำพาชีวิตพ้นวิกฤติ พ่อผาย ร่วมมือกับ พ่อคำเดื่อง ภาษี และครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ ตั้ง “โรงเรียนชุมชนอีสาน” ขยายแนวคิดและรูปธรรมการพึ่งพิงตนเองของเกษตรกร ต่อมาเกิดการรวมตัวเป็นเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสาน ทำภารกิจร่วมนำแนวทางดังกล่าวไปช่วยแก้วิกฤติชาติ มีการสร้างหลักสูตร “วิทยากรกระบวนการเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่การพึ่งตนเอง” หรือ วปอ.ภาคประชาชน โดยการมีส่วนร่วมของบรรดาผู้นำชาวบ้าน และนักพัฒนาที่สนใจ จัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สร้างปัญญา ศึกษาดูงานพื้นที่ต้นแบบ โดยตั้งเป้าหมาย 1 ล้านครอบครัวพึ่งตนเองด้วยเศรษฐกิจพอเพียง
พ่อผายสรุปความสุขตามแนวทางและรูปธรรมนี้ คือ 1.เศรษฐกิจดีขึ้น จากรายจ่ายที่ลดลงรายได้เพิ่มขึ้น เหลือกินเหลือแจกเหลือขาย 2.สิ่งแวดล้อมดีขึ้น จากดินดีน้ำดี มีไม้ยืนต้น ไม้ใช้สอย ผักผลไม้ปลอดสารพิษ 3.สุขภาพดีขึ้น กินได้นอนหลับไม่มีหนี้ มีสมุนไพรเป็นอาหารและยา 4.ปัญญาดีขึ้น จากการเรียนรู้พึ่งตนเองและพึ่งพิงกัน 5.สังคมดีขึ้น มีเพื่อนกว่า 200 หมู่บ้านใน 7 จังหวัดที่ชวนกันคิดดีทำดีเพื่อสังคม
และนี่คือบทสรุปของคำว่า “ชาวนาที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และมีความสุข”
คือปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาเศรษฐกิจพอเพียงประจำปี 2553 “พ่อผาย สร้อยสระกลาง”
นายยุคล ลิ้มแหลมทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เปิดเผยว่า นอกจากปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีคุณสมบัติคือ เป็นเกษตรกรที่มีภูมิปัญญา เป็นต้นแบบการสร้างสรรค์และพัฒนารูปธรรมเศรษฐกิจพอเพียง อีกทั้งเผยแพร่ขยายผลเกิดประโยชน์ในวงกว้าง กระทรวงฯยังจะพิจารณาคัดเลือกปราชญ์เกษตรของแผ่นดินในสาขาอื่นๆต่อไป
ได้แก่ ปราชญ์เกษตรผู้ทรงภูมิปัญญาและมีคุณูปการต่อภาคการเกษตรไทย โดยกำหนดคุณสมบัติว่า ต้องเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรให้เป็นที่ประจักษ์ รวมทั้งนำองค์ความรู้ ประสบการณ์ ผลงานเผยแพร่ขยายผลงานจนเกิดประโยชน์ต่อวงการอย่างโดดเด่นในระดับประเทศ
ปราชญ์เกษตรดีเด่น ต้องมีคุณสมบัติคือ เป็นเกษตรที่มีภูมิปัญญา สร้างสรรค์พัฒนาผลงาน นวัตกรรม และเทคโนโลยีการเกษตรในสาขาพืช สัตว์ ประมง รวมทั้งนำไปเผยแพร่ขยายผล
ปราชญ์เกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่าย ต้องเป็นผู้นำชุมชนและเครือข่ายที่มีผลงานสร้างสรรค์พัฒนาสังคมการเกษตร ทั้งระดับสังคมและเครือข่าย และเผยแพร่จนเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อภาคการเกษตรไทย
ทั้งนี้โต๊ะข่าวเพื่อชุมชนจะติดตาม และนำเสนอในลำดับต่อๆไป เพื่อร่วมเชิดชูเกียรติปราชญ์เกษตรของแผ่นดินประจำปี 2553 .