“อุบล อยู่หว้า” ถามถึง “สภาเกษตรแห่งชาติ” เริ่มต้นที่ซื้อเสียง ความหวังอยู่ตรงไหน?
สภาเกษตรกรแห่งชาติ ที่คนรากหญ้ารอคอยมานาน ล่าสุดเลือกตั้งผู้แทนระดับหมู่บ้าน-ตำบล กำลังไปสู่ตัวแทนอำเภอ จังหวัด ประเทศ อีกด้านมีเสียงสะท้อนการซื้อสิทธิ์ขายเสียงไม่ต่างจากการเมืองระดับชาติ ไปร่วมสอดส่องสถานการณ์และมองอนาคตเกษตรกรไทยวันนี้ที่ยังน่าห่วง
................................
ชาญวิทย์ อร่ามวิทย์ ในรายการ “เส้นทางประชาธิปไตย” FM 102.5 สัมภาษณ์ “อุบล อยู่หว้า” นักพัฒนาเอกชนที่คร่ำหวอดกับชาวบ้าน ปัจจุบันเป็นประธานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน โต๊ะข่าวเพื่อชุมชนขอเรียบเรียงมุมมองที่น่าสนใจจากชนบทและภาคเกษตรกรรมไทย รวมทั้งทัศนะ “พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ” มานำเสนอ….
พี่น้องชาวบ้านในชนบท ปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง?
ชนบทก็เปลี่ยนไปมากมาย นักวิชาการบางคนอาจเรียกว่าสังคมหลังชาวนา คือยังทำการผลิตการเกษตรแต่ใช้เทคโนโลยีที่ไม่ต่างจากเมืองมากนัก อาจเห็นลูกหลานชาวบ้านใช้มือถือ ใช้อินเทอร์เน็ต กินอาหารและมีปฏิสัมพันธ์แบบเมืองมากขึ้น การเกษตรผลิตด้วยเครื่องจักร ใช้แรงงานน้อย ขาดแคลนแรงงาน
นักวิชาการส่วนหนึ่งเรียกว่าครอบครัวแหว่งกลางมากขึ้น หมายความว่าคนหนุ่มสาวก็ไปทำงานในเมืองเป็นส่วนใหญ่ คนในวัย 40-50 ปีก็ไม่อยู่บ้าน มีคนแก่และเด็กเลย ครอบครัวลักษณะนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
การปรับตัวการผลิตมีขนาดใหญ่ขึ้น ถ้าขนาดใหญ่ขึ้นโดยคนท้องถิ่นมีความพร้อมดูเป็นเรื่องที่ดี แต่มันกลับใหญ่ขึ้นโดยบริษัทการเกษตรกรหรือบริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุน การเปลี่ยนแปลงเป็นไปทิศทางนี้
เกี่ยวกับ พ .ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นอย่างไรบ้าง?
รัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดไว้ ในมาตรา 47 วรรค 8 ระบุให้ตรากฎหมายสภาเกษตรกรแห่งชาติภายใน 1 ปี แต่ก็ใช้ล่วงเลยมา 3 ปี กฎหมายนี้จึงออกมามีผลบังคับใช้เมื่อ พ.ย.53
ขณะที่ยกร่างรัฐธรรมนูญคงเห็นว่ามีความจำเป็นที่เกษตรกรต้องมีองค์กรของตนเอง ที่จะทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิประโยชน์อันพึงได้ อันนี้เป็นหลักการเชิงอุดมคติมากทีเดียว แต่ว่าในความเป็นจริงทุกครั้งที่จะเกิดกฎหมายเกี่ยวกับเกษตรกรต้องบอกว่ามันเสียวสยอง บางทีเกิดมาคนอื่นซิวไป บางทีเกิดมาด้วยเนื้อหาที่ภาคอื่นในสังคมจ้องจะฮุบ บางครั้งไม่มีดีกว่า ถ้ามีแล้วถูกนำไปใช้ประโยชน์ เป็นเรื่องน่าเศร้า
ก่อนหน้านี้หลายปีก่อน ก็มีนักการเมืองพยายามผลักดันกฎหมายนี้ แต่ถูกโจมตีว่าทำให้นายทุน
อันนั้นเป็นกฎหมายนายทุนชัดเจน เจตนารมณ์คือการจัดโซนนิ่งคือการควบคุมเกษตรกร ควบคุมการใช้พื้นที่เพื่อให้เป็นไปตามศักยภาพความเหมาะสมของการลงทุน เช่น เขตนี้ทำอ้อย เขตนี้ทำนา น่าจะไปถึงการโซนนิ่งพันธุ์ข้าวด้วยซ้ำ ถ้าเป็นความประสงค์ของฝ่ายทุน สมมติต้องการตั้งโรงงานแป้งมันสำปะหลังขนาดใหญ่ขนาดร้อยล้านพันล้าน ก็ต้องให้รัศมีในพื้นที่นั้นปลูกมัน กฎหมายนี้ไปในทำนองนั้น แต่ถูกต่อต้านมากมายจากขบวนการเกษตรกร โดยกฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นในสมัยนายอานันท์ ปันยารชุน คล้ายๆว่ามีสภาอุตสาหกรรม หอการค้าก็จะมีสภาการเกษตร ก็จะกลายเป็นนายทุนใหญ่ๆไปนั่งอยู่
ได้ยินว่ามีการสู้กันทางความคิดให้ออกมาเป็นกฏหมายสภาเกษตรกร ฉบับปัจจุบัน
ผมนั่งฟังคำอธิบายจากกลุ่มคนที่อยู่ในการยกร่างกฎหมายฉบับนี้กับชาวบ้าน หลายต่อหลายครั้ง รวมทั้งเวทีรับฟังความเห็นในช่วงที่มีการยกร่าง คำอธิบายก็คือ พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติจะเป็นเหมือนบ้านหลังใหม่ของเกษตรกร เป็นองค์กรของเกษตรกรชาวนาชาวไร่รายย่อยที่เฝ้ารอมาหลายสิบปี เพื่อเป็นตัวแทนในการปกป้องผลประโยชน์ เป็นปากเป็นเสียงของเกษตรกรอย่างแท้จริง
ตอนผ่านกฎหมายมีอุปสรรคเยอะไหม เนื้อหาที่ออกมาเป็นไปตามเจตนารมณ์หรือไม่?
พี่น้องชาวบ้านอยากให้เป็นกฎหมายของเกษตรกรรายย่อยจริงๆ เพราะว่าเกษตรกรรายใหญ่มีเวทีมีช่องทางของตนเอง ทั้งสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม หรือแม้ส่งคนเข้าไปนั่งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล กลุ่มเกษตรรายใหญ่ก็ทำอยู่แล้ว จึงมีข้อวิตกเกี่ยวกับความหมายของเกษตรกร ซึ่งในกฎหมายนี้คือ “ผู้ทำการเกษตรและมีรายได้จากการเกษตร” ซึ่งอาจเป็นใครก็ได้
ต้องยอมรับว่ากฎหมายนี้เป็นของรัฐบาลนี้ โดยกลุ่มที่มีบทบาทหลักคือพรรคชาติไทยพัฒนา แม้ว่าตอนเสนอเข้ารัฐสภาจะมีหลายร่าง แต่ร่างหลักคือร่างของรัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีคณะทำงานของพรรคชาติไทยพัฒนาเป็นผู้ยกร่าง
ตัวหนังสือในกฎหมายผมดูแล้วทุกมาตรา เจตนารมณ์กฎหมายคือสภาเกษตรกรเป็นองค์กรที่จัดทำแผนแม่บทการเกษตรแห่งชาติแบบมีส่วนร่วม แล้วนำไปเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเข้า ครม.ให้ความเห็นชอบว่าจะดำเนินการได้หรือไม่ แค่ไหนอย่างไร และนายกรัฐมนตรีต้องตอบไปที่สภาฯภายใน 30 วัน ในกฎหมายนี้ยังบอกไปถึงเนื้อหาของแผนแม่บทการเกษตรแห่งชาติว่าต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง เช่น พันธุกรรมพืช สัตว์ ประมง การวิจัย การดูแลความเป็นธรรมเรื่องราคา สิ่งเหล่านี้ต้องอยู่ในแผนแม่บท ตัวหนังสือเขียนไว้ค่อนข้างดีทีเดียว
คือตัวสภาไม่มีอำนาจในการสั่งการใครแต่สามารถทำงานวิชาการร่วมกับสถาบันวิชาการ ทำวิจัย สร้างการเรียนรู้กับสังคม และเคลื่อนไหว ถ้าสมมติว่าผลผลิตการเกษตรบางตัวมีปัญหาราคาตกต่ำจากข้อตกลงการค้าเสรี สภาเกษตรกรก็มีอำนาจหน้าที่ไปศึกษาผลกระทบ แล้วทำข้อเสนอกับรัฐหรือเรียนรู้กับสังคมเพื่อผลักดันให้รัฐบาลปฏิบัติการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของเกษตรกรได้ เรียกว่าเป็นอำนาจแบบอ่อน ไม่ใช่อำนาจสั่งการแต่เป็นอำนาจที่จะเคลื่อนไหวสังคม ซึ่งโดยหลักการทางกฎหมายเขียนไว้ค่อนข้างดี
ฟังดูคล้ายๆสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแหงชาติ แต่เน้นไปที่ประเด็นการเกษตร
ใช่ ที่สำคัญคือองค์ประกอบเป็นเกษตรกร ซึ่งการได้มาขององค์ประกอบของสภาจะมี 2 ระดับเท่านั้น คือสภาเกษตรกรระดับชาติและจังหวัด ระดับชาติมีสมาชิก 99 คน คือตัวแทนจังหวัดละ 1 คน ผู้ทรงคุณวุฒิพืช สัตว์ ประมง ซึ่งมาจากการเลือกของผู้แทนจังหวัด แล้วก็ประธานที่เลือกกันเอง ส่วนระดับจังหวัดก็มาจากตัวแทนระดับอำเภอละ 1 คน ให้เป็นไปตามจำนวนอำเภอ แต่ถ้าจังหวัดใดมีน้อยกว่า 21 คน ให้เพิ่มจำนวนให้ได้ 21 คนต่อจังหวัด นี่คือหลักการ ซึ่งที่ผ่านมาได้เลือกตั้งตัวแทนระดับหมู่บ้าน ตำบลเรียบร้อยแล้ว เดือน เม.ย.นี้จะเลือกระดับอำเภอ
บรรยากาศการเลือกตั้งสภาเกษตรกรในพื้นที่ เป็นอย่างไรบ้าง?
พอเริ่มต้นเลือกตัวแทนหมู่บ้าน ซื้อเสียงเลย ผมเช็คแล้วทุกที่ที่ผมไป รับรู้ตั้งแต่ยโสธร สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ซื้อเสียงในหมู่บ้าน เสียงละ 500 เราว่าไม่น่ามีผลประโยชน์อะไร แต่ก็เกิดการซื้อเสียง มันอย่างไรกัน ผมว่าบ้านเราการซื้อเสียงกลายเป็นวัฒนธรรมในการเอาชนะไปแล้ว
ผมพยายามทำความเข้าใจกับคนที่ตัดสินใจซื้อเสียง ปรากฏว่าบางคนไม่ได้อ่านกฎหมายเลยสักมาตรา แต่ต้องการอาชนะ และมักมีสายสัมพันธ์กับวัฏรจักรการเมือง อาจเป็นหัวคะแนนของ สส.หรือ สจ. เวลาลงเลือกตั้งก็ไปหาลูกพี่ อาจได้เงินมารวมกับเงินตัวเองสมทบกันแล้วนำไปดำเนินการ โดยที่เนื้อหาในกฎหมายไม่ศึกษาเลยซักตัว เกิดการซื้อเสียงตั้งแต่ระดับหมู่บ้านแล้ว ระดับตำบลหนักขึ้นอีกมีการประชุมเดินสายล็อบบี้ เพราะเป็นขั้นตอนเลือกกันเองเจาะจงได้เลย ล็อบบี้ครึ่งหนึ่งก็ได้แล้ว
ในพื้นที่ที่ผมติดตามอยู่ที่ยโสธร ซื้อเสียงประมาณ 2,000 บาท เลี้ยงเหล้าอีกหนึ่งวง บางพื้นที่อย่างแถวร้อยเอ็ด หนักกว่านั้นวงเงินซื้อเสียงถึง 4,000 -5,000 บาท นี่ขนาดตำบล พอพูดถึงระดับจังหวัดก็มีการพูดกันแล้วว่าคนนั้นจะเป็นตัวแทนจังหวัด ซึ่งก็โยงใยพรรคการเมืองระดับชาติที่เป็นสส.ในจังหวัดนั้นๆ เหมือนคนที่ตั้งท่าจะเป็นตัวแทนจังหวัดก็นั่งรอยู่
ถ้าคิดง่ายๆ ด้วยความหวาดระแวง ระดับตำบลหลักพัน ตัวแทนจังหวัดอาจหลักหมื่นหลักแสน
เป็นไปได้ อาจไม่ถึงเสียงละแสนแต่หลายหมื่นรวมๆคงใช้เงินหลายแสนมานั่งใน 99 คนในสภาเกษตรกรแห่งชาติ อันนี้ทำให้กังวลว่าถ้าเริ่มต้นเป็นลำไม้ไผ่เหลาลงไปจะเป็นอะไร คือองค์กรที่จะเป็นบ้านหลังใหม่ของเกษตรกร ที่ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้ ลองคิดดูว่าแค่เริ่มต้นการก่อรูปองค์กรด้วยการซื้อเสียงแบบนี้ ต่อไปจะทำอะไร ตั้งความหวังได้ยากเต็มที รู้สึกเศร้าใจกับการมีกฎหมายของเกษตรกร ที่จะกลายเป็นองค์กรที่รับใช้ทุนรับใช้กลุ่มผลประโยชน์ที่จะมากินหัวเกษตรกรด้วยกันเอง
สู้ไม่มียังดีกว่า เห็นความมืดมน เห็นความเสี่ยง เห็นชะตากรรมเกษตรกรที่ดำเนินการโดยองค์กรนี้ ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่ามาจากน้ำมือเกษตรกรเองด้วย ที่เลือกกันมาโดยวัฒนธรรมการเอาชนะคะคานด้วยเงินซึ่งกลายเป็นวัฒนธรรมของประชาธิปไตยเสียแล้ว
การควบคุมโดย กกต .ตั้งแต่การเลือกตั้งระดับชาติ มาถึงการเลือกเกษตรกรแห่งชาติ มีผลบ้างรึป่าว?
การควบคุมมันไม่มีผลอะไรหรอก คือการซื้อขายเสียงแทบจะอยู่ในวิถีชุมชนปกติ ทุกหมู่บ้านจะมีหัวคะแนนใหญ่ ตัวแทนกับนักการเมือง ก็จะถือเงินก้อนใหญ่เข้าไป แล้วก็มีหัวคะแนนย่อย ที่เป็นวงศาคณาญาติ คนที่จะรับเงินก็เป็นญาติทั้งนั้น แทบจะไม่รู้ว่าซื้อเสียงตอนไหน คุยกันสองสามทีก็เรียบร้อย เป็นระบบอุปถัมภ์ที่มาจากความใกล้ชิด
แถวบ้านผมเขาเดินไปเลยมีบอดี้การ์ดเดินไปด้วยตอนกลางวันนะ เพื่อคอยดูว่ามีคนแอบถ่ายรูปหรือเปล่า ยกมือไหว้แล้วเอาแบงค์พันหนีบไว้ในมือ พอเขาเอามือไปจับก็ปล่อยแบงค์พันไป อันนี้คือการเลือกตั้งในท้องถิ่น ระดับเทศบาลเขาก็จะซื้อกันแบบนี้ ผมไม่เคยเห็นเจ้าหน้าที่ กกต.มาถ่ายรูปหรือทำอะไรเลย อาจจะมีบ้างในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งระดับประเทศที่มีการแข่งขันกันมากๆ เขาจะไปจ้าง ตชด.ต่างถิ่นมา แล้วก็ปิดหมู่บ้าน สมมตินาย ก.ซื้อเสียงเสร็จแล้ว เขาก็เอา ตชด.ที่จ้างมาเฝ้าเพื่อทำให้เห็นว่ามีคนที่รู้กฎหมายเข้ามาตรวจสอบ ก็ควบคุมให้คนอื่นไม่ได้ซื้อเสียงอันนี้ผมเคยเห็น แต่จะมาดูแลเป็นปกติเพื่อป้องกันการซื้อเสียงผมยังไม่เคยเห็นเลย
ที่ซื้อเสียงแล้วไม่ได้รับเลือกก็มี จะเป็นชุมชนที่ผู้นำได้ทำงานทางความคิด เคลื่อนไหวกันหนักพอสมควร มันก็มีชุมชนแบบนี้แต่ไม่เยอะ แต่ผมก็หวังให้มีกลไกเพื่อติดตั้งเชื่อมโยงให้ให้พี่น้องรับรู้ว่าการซื้อเสียงส่งผลเสียกับตัวเองยังไง ต่องบประมาณชาติยังไง แต่ตรงนี้ไม่รู้จะเริ่มยังไงและไม่รู้ว่าใครจะทำ
ถ้ามองในแง่ดีที่มีอยู่บ้าง สภาเกษตรกรจะกระจายอำนาจในการต่อรองได้มากกว่าเดิมไหม?
เอาจังหวัดใหญ่อย่างสกลนครนี่ น่าจะมีเกือบ 2,000 หมู่บ้าน หมายความว่ามีคนถูกเลือกเข้ามาเกือบ 2,000 คน ทีนี้ถ้าตั้งสภาเกษตรกรระดับชาติได้แล้ว แล้วสภาระดับชาติออกแบบการทำงานที่จะไปสร้างการมีส่วนร่วมจากข้างล่างขึ้นมาจริงๆ มีแผนว่าเขาควรจะทำอะไร ถ้าไปคิดมาจากข้างล่างและมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากจากองค์กรต่างๆ มันก็จะถ่วงดุล มันจะแสดงสิทธิ์ ผมตั้งความหวังไว้อย่างนั้นนะ ถึงแม้บางคนจะเป็นฐานจากนักการเมืองหรือนายทุน ถ้าไม่รับข้อเสนอของหมู่บ้าน ไม่ทำตามความต้องการของชาวบ้าน ก็จะถูกตีโต้ตายไปเอง
แล้วในบทเฉพาะการของกฎหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ ทำหน้าที่รักษาการกองเลขาฯ 2 ปีและช่วงเวลานี้ให้ตั้งสภาฯ ตั้งสำนักงานฯ ซึ่งถ้ากระทรวงเกษตรฯจริงใจ ผมว่าไม่น่าจะต้องใช้เวลานานถึง 2 ปี เพราะเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีและประสบการณ์ของเกษตรกรไปถึงไหนแล้ว
เวลามีองค์กรอะไรขึ้นมาใหม่ๆ ก็จะมีคนจากหน่วยงานเก่าๆพยายามเข้าไปยึดพื้นที่
นี่คือปัญหา เพราะว่าการเมืองระดับชาติไม่เคยห่างจากองค์กรเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรก็โดนเข้าไปแทรกแซง มันทำให้องค์กรพวกนั้นเต็มไปด้วยการต่อสู้ช่วงชิงทางการเมืองอันนี้ผมก็ได้แต่หวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้นกับสภาเกษตรกร
ในมุมมองคนทำเครือข่ายเกษตรทางเลือก เห็นประเด็นอะไรที่สภาเกษตรกรแห่งชาติต้องปรับหรือแก้
เรื่องที่เกษตรเครือข่ายทางเลือกทำอยู่เวลานี้คือพันธุกรรม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ความมั่นคงทางอาหาร เป็นตัวกำหนดเทคโนโลยีการผลิต เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญมาก ขณะเดียวกันก็เป็นสินค้าที่มีมูลค่าหลายพันล้านในประเทศเรา เพราะฉะนั้นกลุ่มธุรกิจพยายามช่วงชิง ลองคิดเล่นๆว่าถ้าชาวนาเลิกพึ่งตัวเองแล้วบริษัททำเมล็ดพันธุ์ขายกิโลละ 25 บาท เม็ดเงินมันมหาศาล เมล็ดพันธุ์หลายอย่างบริษัทก็ทำให้เป็นหมันด้วย
ผมหวังว่าเราต้องคุยให้ชัดถึงทิศทางเรื่องนี้ ทำให้เกษตรกรเข้มแข็งมีอำนาจเหนือปัจจัยการผลิต ให้อำนาจอยู่กับครอบครัวเกษตรกรและองค์กรเกษตรกรอย่างชัดเจน เรื่องศูนย์ผลิตพันธุ์ข้าว ศูนย์ขยายพันธุ์ข้าวที่มีอยู่ 13 แห่งทั่วประเทศ เรื่องการรักษาที่นา บางที่มีที่นาเกือบพันไร่ บริษัทเอกชนอยากได้เหลือเกิน นี่เป็นเรื่องทิศทางนโยบายที่ต้องทำให้ชัดเจนว่าพันธุกรรมต้องถูกอนุรักษ์และรักษาประโยชน์ คนแม่วางต้องกินข้าวดอย คนราษีไศลต้องกินข้าวในนาน้ำท่วม ไม่ใช่เอาข้าวพันธุ์นึงมาบอกว่าต้องปลูกพันธุ์นี้ทั่วประเทศ
นอกจากประเด็นพันธุกรรม มีเรื่องนโยบายการเกษตรยั่งยืนก็ได้ ผมไม่ได้ปฎิเสธว่ามีเกษตรเคมี แต่ก็มีออแกนิกที่เติบโตปีละประมาณ 20% มันไม่มีอะไรชัดเจน ได้แต่สร้างวาทะกรรม รัฐยังคงเอางบประมาณภัยพิบัติไปซื้อสารเคมีแจกเกษตรกร กรมหนึ่งบอกปลูกหญ้าแฝกก็ทำเกษตรยั่งยืนแล้ว กรมนึงเอาลูกปลาไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติก็บอกว่าทำเกษตรอินทรีย์แล้ว มันไม่มีเอกภาพทางนโยบาย ไม่มีพลังต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเกษตรที่จะไปสู่ความยั่งยืน
หน่วยงานภาครัฐมองเกษตรเป็นสินค้ารายตัวที่จะส่งออก แต่ไม่ได้มองที่ตัวเกษตรกร ในกระบวนการนี้อาจนำไปสู่การกดขี่ของคนอีกส่วนอยู่ อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำให้ชัดเจนทางนโยบายว่ากับเกษตรยั่งยืน เกษตรอินทรีย์ สถานะทางนโยบายและองค์กรที่จะทำหน้าที่สนับสนุนเรื่องนี้อย่างจริงจัง ต้องทำซะที อย่างออสเตรเลียเขาให้การอุดหนุนว่าถ้าคุณจะเปลี่ยนจากเคมีมาอินทรีย์ จะได้การสนับสนุนเอเคอร์ละเท่าไหร่ มีการวิจัยจุลินทรีย์ทำทุกอย่างที่ทำได้ ไม่ใช่ปล่อยไว้ แล้วสร้างกระแสด้วยการบอกว่าเกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติ แต่ไม่ได้ทำอะไร
เกษตรพันธสัญญาตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่ของเกษตรกรอยู่ใช่ไหม?
เกษตรพันธะสัญญาเป็นประเด็นที่ไปอยู่ในคณะกรรมการปฎิรูปของท่านอานันท์(ปันยารชุน) เพราะเห็นว่าเป็นการถูกเอารัดเอาเปรียบโดยที่สังคมไม่รับรู้ ทั้งคนปลูกอ้อย ไก่ ปลากระชัง ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีระบบเกษตรพันธะสัญญาที่แทบจะล้ำหน้าที่สุดแล้วก็ว่าได้ คนทั่วไปรู้ว่าการทำเกษตรแบบนี้เกษตรกรไม่ต้องแบกรับภาระ แต่หารู้ไม่ว่า เนื้อในของมันเกษตรกรขาดทุนไม่ได้กำไร เฉลี่ยออกมาแล้วมีรายได้แค่ค่าแรงขั้นต่ำ ขณะที่บริษัทไม่ต้องแบกรับภาระความเสี่ยงต่อสวัสดิการใดๆ
เช่น เลี้ยงปลาในกระชัง บริษัทที่ให้ผลิตไม่ต้องแบกภาระดูแลรักษาแหล่งน้ำสาธารณะที่เขากำลังหาประโยชน์ ไม่ต้องรับผิดชอบสวัสดิภาพแรงงาน ขี้ของปลา เศษอาหาร ที่อยู่ในแหล่งน้ำ ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร แต่เขาได้ขายลูกปลาพันธุ์ปลา และสามารถควบคุมตลาดได้อีก อันนี้เป็นหลุมดำที่ น่าจะต้องให้ผู้บริโภคและสังคมได้ร่วมรับรู้และหาทางออกร่วมกัน เพราะว่าทุกครั้งที่เรากินไก่ย่าง หรือปลานิล เราจะกินความอยุติธรรมเข้าไป บอกว่าเรากินไก่ถูก แต่บนความถูกมันเกิดความอยุติธรรมกับคนอีกกลุ่มหนึ่งอยู่
วันนี้คนเมือง คนชนบทต้องทำงานร่วมกันอย่างไร ที่จะพัฒนางานด้านนี้
การเกษตรไม่ใช่เรื่องของเกษตรกรฝ่ายเดียว อยู่ที่เราจะเลือกว่าจะให้สังคมเป็นแบบไหน เราจะให้สังคมนี้เป็นระบบอาหารแบบใด ถ้าคุณเชื่อว่าอาหารที่มาจากบริษัทใหญ่เป็นอาหารปลอดภัย ความเชื่อของคุณเริ่มเป็นปัญหาแล้ว เป็นปัญหากับตัวคุณเอง เป็นปัญหากับสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย ฉะนั้นการเกษตรเป็นเรื่องของสังคมโดยรวมว่าเราจะสร้างให้สังคมเป็นแบบไหน จึงเกี่ยวข้องกับตัวเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ถ้าเราอยากได้อาหารดี สภาพแวดล้อมที่ดี อยากให้ให้เกษตรกรได้รับความเป็นธรรม อยากให้เกษตรกรทำเกษตรแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่เรานั่งเฉยๆไม่ทำอะไรเลย มันคงไม่ใช่แน่ๆ มันต้องมาเริ่มปรึกษาหารือและทำอะไรซักอย่าง .