“เอ็นนู ซื่อสุวรรณ” เมื่อเรื่องเกษตรแยกไม่ได้จากภัยพิบัติ
ซากไม้ยางพาราที่กองทับถมจำนวนมาก จากเหตุการณ์อุทกภัยทางภาคใต้ กลายเป็นประจักษ์พยานได้หรือไม่ว่าการทำการเกษตร ปลูกพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่ลาดชันบนภูเขา กลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้ภัยพิบัติรุนแรงมากขึ้น
แม้ข้อสงสัยดังกล่าว จะได้รับการยืนยันจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้วว่า การรุกพื้นที่ป่าปลูกยางพาราเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดธรณีพิบัติ
แต่ทว่าในทัศนะของผู้คร่ำหวอดในวงการเกษตรและยางพารา อย่าง นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ อดีตผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) และประธานเครือข่ายปฏิรูปเพื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกร ในคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป จะเห็นต่างหรือสอดคล้องอย่างไรต่อเรื่องเหล่านี้
ท่านมองธรณีพิบัติในภาคใต้อย่างไร /สาเหตุใช่หรือไม่ ที่เกิดจากการเปลี่ยนพื้นที่ภูเขาเป็นพื้นที่เกษตร
(อืม)...ผมคิด ว่าน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่เข้ามาเสริม เพราะหากสังเกตจะเห็นว่า ภูเขาทางภาคใต้จะมีลักษณะไม่สูงมากนัก อีกทั้งยังประกอบด้วยดินเป็นส่วนใหญ่ มีหินแซมอยู่เล็กน้อย โดยปกติแล้ว ภูเขาเนื้อดินจะอยู่ได้ ด้วยเพราะมีต้นไม้ยึดเกาะ ทั้งผิวดินและใต้ดิน
แต่ปรากฏว่า ระยะหลังพื้นที่เกษตรไม่เพียงพอ คนเกิดเยอะขึ้น ทำให้มีการรุกเข้าไปทำเกษตรบริเวณพื้นที่ลาดชันบนภูเขา เพื่อปลูกไม้ที่มีราคา อย่างเช่น ยางพาราและปาล์ม อีกทั้งเมื่อปลูกไม้ที่มีราคา ชาวบ้านก็กลัวว่าจะมีต้นไม้อื่นขึ้นมาแทรก จึงมักจะถางหญ้า ต้นไม้ขนาดเล็กที่ยึดเกาะดินออกไปเสียหมด ทำให้หน้าดินถูกทำลาย
“ผมเปรียบอย่างนี้แล้วกัน เหมือนกับคนที่มีผมหนาๆ เมื่อถูกตัดสั้นเกรียน เวลาโดนน้ำ น้ำก็ไหลอย่างง่ายดาย ยิ่งในช่วงที่น้ำมากผิดปกติ พอไม่มีตัวคุ้มกัน น้ำจึงลงไปที่ดินเต็มๆ จนกระทั่งดินรับน้ำไม่ไหว ในที่สุดหน้าดินก็ไหลลงมา พร้อมกับต้นไม้ที่มีรากสั้น อย่างที่เราเห็นในภาพข่าวว่า ต้นไม้ไหลบ่าลงมาทั้งต้น อีกทั้งยังมีแค่ 1-2 ชนิดเท่านั้น ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาส่วนหนึ่งที่ทำให้ธรณีพิบัติได้โดยง่าย"
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายส่งเสริมให้มีการปลูกยาง ?
ผมมองว่า....ไม่ต้องมีใครไปส่งเสริม เขาก็ปลูกกันอยู่แล้ว เพราะยางมีราคาดี อีกอย่างหนึ่งภาคใต้ก็ทำยางทำปาล์มมาตั้งแต่ดั้งเดิม เมื่อราคายางและปาล์มเพิ่มสูงผิดปกติชนิดที่ว่า ปลูกอะไรก็สู้ยาง สู้ปาล์มไม่ได้ จึงทำให้ชาวบ้านเร่งปลูกยางจำนวนมาก แต่เนื่องจากพื้นที่ราบไม่มีเหลือ จึงต้องขยับขึ้นไปเพาะปลูกบนภูเขา
“ทางราชการก็ประกาศไว้อย่างชัดเจนว่า พื้นที่ลาดชันระดับใดที่ไม่ควรใช้ทำการเกษตร แต่ชาวสวน ชาวไร่ไม่เชื่อ เพราะคิดว่า เหตุการณ์ภัยพิบัติไม่น่าเกิดขึ้นได้ เพราะอยู่มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่ายันพ่อแม่ก็ไม่เคยเกิดภัยพิบัติ ชาวบ้านลืมนึกไปว่า ภาวะโลกร้อน จะยิ่งทำให้ภัยธรรมชาติเกิดขึ้นเรื่อยๆ จากที่ฝนไม่ตกก็จะตกหนัก จากที่ไม่เคยหนาวก็จะหนาวสั่น
สำหรับผมมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเมื่อมนุษย์รุกธรรมชาติมาก วันหนึ่งธรรมชาติก็ต้องเอาคืน อีกอย่างหนึ่งคนที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ก็ไม่เคยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง”
(นิ่งคิด)... หากเกษตรกรเชื่อในหลวง ปัญหาดังกล่าวคงบรรเทาและไม่รุนแรงเช่นนี้ เพราะในหลวงทรงสอนให้ปลูกหญ้าแฝก ปลูกพืชห่มดิน คลุมดิน รวมทั้งปลูกไม้รากลึกเป็นแนวป้องกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเราไม่สามารถหยุดยั้งการปลูกพืชบนภูเขาได้
“ถึงแม้ว่าจำนวนคน จำนวนปากท้องจะมากขึ้น ทำให้ต้องหารายได้เพิ่ม กระทั่งต้องรุกเข้าไปทำเกษตรบนภูเขา ผมมองว่า การรุกจะต้องเป็นไปอย่างชาญฉลาดและรู้จักป้องกันตัว เพราะไม่เช่นนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะรุนแรง”
ดูเหมือนว่า โลก ณ วันนี้การเกษตรจะเกี่ยวข้องกับภัยพิบัติอย่างแยกไม่ได้
(ตอบทันที) ใช่ครับ ผมเคยเสนอให้กับรัฐบาล เกือบทุกรัฐบาลแล้วว่า ไทยจะต้องมีการทำประกันความเสี่ยง นั่นคือ ประกันภัยพิบัติ ประกันภัยธรรมชาติ
เพราะที่ผ่านมาเวลาเกิดเหตุการณ์ใหญ่ๆ จะพบว่า ชาวบ้านเสียหายหนัก อย่างสวนยางพารา กรีดได้ทุกวัน มีรายได้ทุกวัน แต่พอล้มหมดต้องใช้เวลาปลูกอีก 7-8 ปี ส่วนปาล์มใช้เวลาประมาณ 3-4 ปีกว่าจะฟื้นคืน
การประกันความเสี่ยงดังกล่าวจึงเป็นเรื่องจำเป็น เนื่องจากเกินความสามารถของชาวบ้าน ฉะนั้น รัฐบาลต้องรีบทำระบบดังกล่าวให้มากขึ้น
เหตุการณ์ธรณีพิบัติครั้งนี้ ถึงขั้นต้องจัดโซนพื้นที่เพาะปลูกหรือไม่ อย่างไร
เออ...ผมว่าถ้ายาง ปาล์มราคาดี จะไปจำกัดการปลูกก็เป็นเรื่องยากลำบาก อีกทั้งยังเป็นการฝืนความรู้สึกของชาวบ้าน ผมจึงคิดว่า การสร้างภูมิคุ้มกันจึงเป็นทางออกที่ดีกว่า นอกจากนี้จะต้องมีการจัดโซนพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อเตือนชาวบ้านว่า พื้นที่ที่เสี่ยงภัยมาก อย่าเข้าไปเพาะปลูก เพราะไม่คุ้ม เสียหายมหาศาลทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ขณะที่พื้นที่เสี่ยงปานกลาง จะต้องจัดการอย่างไร ปลูกพืชอะไรแซม ส่วนพื้นที่เสี่ยงน้อยก็ปล่อยให้ชาวบ้านดูแลด้วยตนเอง
“เราต้องรีบรณรงค์ สร้างความเข้าใจ หาวิธีสร้างภูมิคุ้มกัน โดยใช้หลักการของในหลวง ซึ่งผมคิดว่าด้านการเกษตรในหลวงทรงทำไว้หมดแล้ว เพียงแต่ว่า ไม่มีใครนำมารณรงค์อย่างจริงจัง แต่ที่นี่เมื่อเกิดวิกฤตขึ้น เราก็ควรใช้เป็นโอกาส โดยรัฐบาลต้องเข้าไปดูแลให้ความรู้ เซ็ดระบบให้ดี รวมทั้งสร้างระบบแก้ปัญหาระยะยาว ระยะกลางด้วย ไม่ใช่ทำแต่ระยะสั้นเช่นนี้”
ภัยพิบัติทางภาคใต้ถือเป็นบทเรียน แต่เรามักลืมง่าย ไม่ได้นำสิ่งเหล่านี้มาสร้างระบบป้องกันใหม่ ซึ่งผมคิดว่า นอกจากชาวบ้านต้องทำแล้ว รัฐบาลต้องช่วยด้วย ช่วยสร้างระบบประกันภัยดังกล่าว ส่วนท้องถิ่น เมื่อได้รับการกระจายอำนาจจากรัฐบาล ก็ต้องทำหน้าที่ดูแล แนะนำ ส่งเสริมให้มีการปลูกพืชที่มีรากลึกยึดเกาะดินและเหมาะกับสภาพพื้นที่ เรื่องเหล่านี้มีงานวิจัยอยู่มาก แต่ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวยังจำกัดอยู่ในวงแคบ ไม่กระจายสู่ชาวบ้าน
ในภาพรวม ประเทศไทยถึงเวลาต้องปฏิรูประบบเกษตรหรือไม่
แน่นอน ผมคิดว่าถึงเวลาที่บ้านเราควรจะต้องปรับระบบ แต่ที่นี่ จะไปใช้วิธีจัดระบบแบบบังคับคงไม่ได้ เพราะบ้านเราเป็นประชาธิปไตย แต่ต้องจัดระบบให้ความรู้ พร้อมกับชี้ให้เห็นว่า การทำเกษตรต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ความสูงชัน ประเภทของพืชให้ครบทุกด้าน แต่เนื่องจากบังเอิญว่า บ้านเรา "กรม" ที่ดูแลด้านดินก็ให้ความรู้เรื่องดินอย่างเดียว "กรม" ที่ทำด้านพืชก็ให้ความรู้เรื่องพืชอย่างเดียว ไม่ได้มีการบูรณาการ โดยเอาพื้นที่เป็นหลัก แต่กลับไปเอาประเด็น เอาประเทศเป็นหลัก
“การปฏิรูประบบเกษตร ในความคิดผมจึงต้องเป็นไปโดยเอาพื้นที่เป็นหลัก จัดให้เหมาะกับพื้นที่ เหมาะกับวัฒนธรรม ซึ่งหากเรากระจายสิ่งเหล่านี้ให้ชาวบ้านได้เรียนรู้ น่าจะเป็นการสร้างโอกาสที่ดี”
ไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศกสิกรรม แต่ทำไมการเพาะปลูก กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของภัยพิบัติ
(อืม นิ่งคิด)...คงเป็นเพราะว่า โชคดีที่บรรพบุรุษเลือกที่ตั้งประเทศได้ดี โอกาสเกิดไต้ฝุ่น แผ่นดินไหว หรือภัยพิบัติต่างๆ ในประเทศเราจึงเกิดขึ้นน้อย ทำให้คนในประเทศใจเย็น ซึ่งหากไปดูประเทศที่เกิดภัยพิบัติบ่อยครั้ง อย่างเช่นประเทศญี่ปุ่น เขาจะคิดกันหนัก รู้จักป้องกันตัว
อีกอย่างหนึ่ง โลกในทุกวันนี้ คิดถึงแต่เรื่องเงินมากเกินไป มองว่าอะไรดี ให้เงินเร็ว ก็ปลูกหมด ฉะนั้น เมื่อยาง ปาล์มสามารถตอบโจทย์ได้ ชาวบ้านก็รีบคว้าไว้ โดยไม่คำนึงถึงเศรษฐกิจพอเพียง การทำเกษตรเพื่อกินเพื่ออยู่ก่อน จากนั้นส่วนที่เหลือค่อยทำเพื่อหารายได้เสริม
หลังจากสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ แต่ชาวบ้านยังดื้อแพ่งเข้าไปทำเกษตรปลูกบนภูเขาที่ลาดชันอีกล่ะ
ช่วยไม่ได้ (เสียงหนักแน่น) คงเหมือนกับกรณีเมาไม่ขับ
แต่ทั้งนี้ในพื้นที่เสี่ยงภัยมาก อาจมีการใช้กฎหมายเข้าไปควบคุม ส่วนพื้นที่เสี่ยงภัยปานกลางก็ใช้วิธีการรณรงค์ และในพื้นที่เสี่ยงภัยน้อยก็ให้ช่วยตนเอง นอกจากการแบ่งพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ว จะต้องมีมาตรการป้องกันและบรรเทาปัญหา รวมทั้งให้คำแนะนำว่า แต่ละพื้นที่ควรทำอะไร อย่างไร การบังคับทีเดียวเป็นไปได้ยาก ฉะนั้น ต้องให้ความรู้ความเข้าใจกับชาวบ้านเพิ่มขึ้นด้วย
คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ได้มีการพูดถึงเรื่องการเกษตรกับภัยพิบัติหรือไม่
ผมในฐานะประธานเครือข่ายปฏิรูปเพื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกร ในคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป กำลังเตรียมประชุมหารือถึงการวางโครงสร้างว่า จะต้องมีการปฏิรูปอะไรบ้าง ซึ่งแน่นอนว่า ภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรจะเป็นหัวข้อหนึ่งที่จะต้องถกเถียงกันว่า เราจะทำอะไรได้บ้าง
โดยเริ่มจาก 1.ข้อมูล ซึ่งเป็นฐานที่ระบุว่า พื้นที่ใดเสี่ยงภัยมากน้อยอย่างไร 2.ต้องมีความรู้ที่เชื่อมโยงกับข้อมูลว่า จะมีวิธีป้องกัน หรือแก้ไขอย่างไร และ3.ใครบ้างที่เป็นผู้เกี่ยวข้อง
ความรู้จะไปลงที่ไหน ใช่ตัวเกษตรกรหรือไม่ รวมทั้งจะต้องกระจายให้ถูกอาชีพ ขณะเดียวกันจะต้องกระจายไปสู่หมู่บ้านหรือหน่วยงานท้องถิ่น
นอกจากนี้ กระทรวงหรือสถาบันวิชาการที่เกี่ยวข้องกับผลวิจัย ข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่เพียงพอหรือไม่ ถ้าไม่พอจะทำเพิ่มได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นแนวทางเบื้องต้นที่จะต้องคิดร่วมกัน เพื่อกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ในการทำงาน ไม่ใช่ปล่อยให้คนใดคนหนึ่งทำ
“การจัดการเกษตรกับภัยพิบัติจะถูกบรรจุอยู่ในคณะกรรมการเครือข่ายปฏิรูป ภาคเกษตร โดยเบื้องต้นจะมีการกำหนดกรอบว่า แต่ละเรื่องจะมีการทำงานอย่างไร จากนั้นจะมอบหมายให้คณะย่อยไปลงรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นจะมีการสรุปและบรรจุไว้ในวาระการประชุมสมัชชาปฏิรูปครั้งที่ 2 อย่างแน่นอน”