“คืนอำนาจจัดการสุขภาพชุมชน” กับเภสัชกรดีเด่น “ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร”
เมื่อ “ยา” กลายเป็นสินค้า บริการสาธารณสุขในระบบเป็นเรื่องที่คนจนเข้าถึงยาก “หมอพื้นบ้าน” และ “สมุนไพรท้องถิ่น” เป็นการคืนอำนาจพึ่งพิงตนเองด้านสุขภาพของชาวบ้าน โต๊ะข่าวเพื่อชุมชนค้นคำตอบจาก “ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร” เจ้าของรางวัลเภสัชกรดีเด่น
2 รางวัลที่ได้รับสำหรับบุคคลเดียวกันคือ “เภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม” จากมูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม กับ “บุคคลดีเด่นของชาติด้านแพทย์แผนไทย” จากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผลจากการสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านยาสมุนไพรและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับสังคม รวมถึงส่งคืนคุณค่าให้กับท้องถิ่นในการพึ่งพิงตนเองด้านสุขภาพ โต๊ะข่าวเพื่อชุมชนจึงสัมภาษณ์เจ้าของรางวัล “ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร” หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
อยากให้พูดถึงบทบาทของ “เภสัชกร” กับการพัฒนาสังคม
เภสัชกรจะมีศักยภาพเชิงวิชาการ รู้ว่ายามีข้อจำกัดอย่างไร ป่วยเป็นอะไรจึงใช้ยานี้ ตอนที่เรียนปริญญาโทด้านการบริหารสาธารณสุขมูลฐานและปริญญาเอกด้านมนุษยวิทยาการแพทย์ ดิฉันรู้สึกว่าเม็ดยากลายเป็นเครื่องมือเอาเปรียบประชาชน ชาวบ้านไม่มีทางรู้ว่าเม็ดยานั้นคืออะไร ทำเองไม่ได้ ขณะที่สมุนไพรทำเองได้เพราะไม่มีต้นทุน
จึงคิดว่า “นี่แหล่ะคือเครื่องมือคืนอำนาจให้ประชาชนพึ่งตนเองได้อย่างน้อยก็ระดับหนึ่ง” ไม่ได้บอกว่าไม่พึ่งเทคโนโลยีนะ เพราะมันคือพัฒนาการมนุษย์ แต่เลือกใช้ให้เหมาะสมและไม่เป็นเครื่องมือในการเอาเปรียบมนุษย์ คือเราเห็นช่องว่างชนชั้นและคิดว่าความรู้ที่มีจะช่วยให้สังคมพัฒนาได้ สมุนไพรจะช่วยชาวบ้านได้ เกิดเป็นแนวคิดว่าจะทำอย่างไรให้ความรู้เหล่านี้กระจายไปสู่ชุมชน
อะไรคือจุดเริ่มต้นที่เข้ามาทำงานเรื่องสมุนไพรและหมอยาพื้นบ้าน
ได้มีโอกาสไปเจอพ่อเฒ่าแม่เฒ่าที่เป็นหมอยา มุมมองเราเปลี่ยนไป เห็นความยิ่งใหญ่ของภูมิปัญญาไทยที่เชื่อมโยงกับความหลากหลายทางชีวภาพ รู้สึกถึงอีกโลกหนึ่งที่ร่ำรวยแต่คนรุ่นใหม่มองไม่เห็นคุณค่า ลึกลงไปกว่านั้นคือพ่อหมอแม่หมอมีมุมมองต่อพืชพรรณที่นอกเหนือจากการเป็นวัตถุ แต่ต้นไม้คือจุดเล็กๆของธรรมชาติที่ไม่ใช่แค่การเอาใบมาทำยา
ที่ถามว่าทำไมถึงสนใจ ก็เพราะการมีประสบการณ์ร่วมประกอบกับปัญหาการนำเข้ายา เรื่องสิทธิบัตรที่เอาเปรียบ โดยคนที่มีเทคโนโลยีมากกว่าแล้วไม่รู้ว่าความเป็นธรรมอยู่ไหน ฉะนั้นแนวทางที่ต้องสู้จึงไม่ใช่การทำซีแอลยา แต่ใช้ภูมิปัญญามาดูแลสุขภาพ
ในการลงไปช่วยเปิดพื้นที่ให้ชุมชนผลิตยาสมุนไพรเองได้ เป็นอย่างไร
วัฒนธรรมที่ชาวบ้านใช้สมุนไพรคือแค่นำมากินง่ายๆ แต่ในเชิงสรรพคุณความเป็นยาต้องอาศัยองค์ความรู้ และจะให้ชุมชนผลิตยาสมุนไพรใช้เองได้ต้องทำอย่างมีกระบวนการและครบวงจร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเราลงไปทำงานร่วมกับชุมชนในลักษณะคอนแทคฟาร์มมิ่ง คือสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มกัน ตั้งแต่ปลูกในลักษณะเกษตรอินทรีย์ ให้ความรู้โดยส่งนักวิชาการลงไปดูตั้งแต่การปลูก เก็บเกี่ยว ควบคุมคุณภาพวัตถุดิบ จนถึงกระบวนการแปรรูปง่ายๆ เช่น ลูกประคบหรือยาที่ใช้บ่อยๆในชีวิตประจำวัน แล้ววัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้ก็ส่งให้โรงพยาบาล
ตอนแรกถูกตั้งคำถามมากว่ามีผลประโยชน์หรือเปล่า แต่ชาวบ้านรักและเชื่อมั่นเรามาก ตอนจัดประชุมครั้งแรกชาวบ้าน 200 กว่าคนบอกว่าจะเดินตามเกษตรอินทรีย์ จนถึงวันนี้แม้เราจะโตช้าและเหนื่อยมาก แต่โตมาพร้อมกับชาวบ้าน ด้วยแรงศรัทธา ซึ่งไม่ใช่เรื่องการส่งเสริมแบบที่รัฐเอาเงินมาให้ทำ
อยากให้ช่วยมองเส้นทาง “ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย” ในบ้านเรา
แพทย์แผนไทยมีมาพร้อมสังคมไทย แต่การเข้ามาของแพทย์แผนตะวันตก ทำให้เราทิ้งของดีๆที่มีอยู่เกือบทั้งหมด หมอแผนไทยกลายเป็นหมอเถื่อน ยอมรับแต่หมอสมัยใหม่ที่ผ่านใบประกอบโรคศิลป์ หมอพื้นบ้านที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้หายเกือบเกลี้ยง เหลือแค่หมอภาคกลางที่ยกให้เป็นแพทย์แผนโบราณ แต่ถูกทอดทิ้งให้หากินเอง กระทั่งมีประกาศนโยบายสาธารณสุขมูลฐานเพื่อพัฒนาประเทศ ซึ่งบอกว่าสุขภาพจะดีไม่ได้ถ้าประชาชนยังพึ่งแต่ยาแผนปัจจุบันที่ส่วนใหญ่นำเข้า จึงเป็นเหมือนการเปิดพื้นที่ครั้งแรกในการฟื้นยาสมุนไพรและแพทย์พื้นบ้าน
แต่สวนสมุนไพรที่ชาวบ้านไปรดน้ำตามนโยบายมีไม่กี่ตัว บางตัวชาวบ้านแทบไม่ได้ใช้ ไม่นานนโยบายนี้ก็ค่อยๆฝ่อไป จนปี 2546 ก็เกิดกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จึงมีโครงสร้างชัดเจน มีข้าราชการประจำ ก็พยายามไปฟื้นฟูความรู้ขึ้นมา แต่ปัญหาคือหมอพื้นบ้านรุ่นเก่าๆตายไปหมดแล้ว ที่เหลือก็มีแต่หมอรุ่นหลังที่รู้สมุนไพรแค่ไม่กี่ตัว แพทย์แผนไทยที่ใช้จริงๆก็ไม่มี
แล้วจากปัจจุบัน น่าจะก้าวต่อไปในทิศทางไหน อย่างไร
ตอนนี้เริ่มเป็นรูปร่างขึ้นมาก เหลือแค่การเติมเนื้อใน คือช่วงแรกสมุนไพรดูเหมือนจะเหมาะกับคนจน แต่ตอนนี้ทั่วโลกหันกลับมาสนใจ เกิดกระแสการแพทย์ทางเลือก สมุนไพรไม่ใช่เรื่องล้าสมัยแต่กลายเป็นสินค้าในตลาดโลก แต่ท่ามกลางกระแสนี้ข้างในมันกลวงมาก เพราะองค์ความรู้ที่หลากหลาย คนส่วนใหญ่ตามเก็บไม่ทัน ก้าวต่อไปคงต้องส่งเสริมตรงนี้
ภาพที่ออกมาเริ่มมีกรม แต่จริงๆควรกระทรวงด้วยซ้ำ มีโรงพยาบาล วิทยาลัยแพทย์แผนไทย ซึ่งตอนนี้มีแล้วแต่เราช้ากว่าประเทศอื่นร้อยปี ความรู้ที่นำไปสอนก็เอามาจากการอ่าน มีคนที่รู้จริงน้อยมาก สำคัญที่สุดคือการคืนพันธุ์สมุนไพร และกลับไปสร้างองค์ความรู้ให้ชาวบ้านกลับมาทำยากินใช้เอง ไม่ใช่ถูกหลอกให้ไปซื้อน้ำโน่นน้ำนี่ เพราะรู้แค่สมุนไพรดี แต่ไม่รู้ว่ากินอย่างไร
ในส่วนที่ทำอยู่คือการตั้งศูนย์เรียนรู้ภาคประชาชน ให้ชาวบ้านเข้าไปเรียนรู้ช่วงเสาร์-อาทิตย์ มีเก๊ะยา สอนทำยา call center รับปรึกษาปัญหาสุขภาพ-สมุนไพร มีศูนย์แลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ ที่เป็นโมเดลอยู่ตอนนี้คือที่อภัยภูเบศร และพยามทำต่อที่เมืองเลยซึ่งมีการรวมกลุ่มและเป็นแหล่งพันธุ์สำคัญ กับที่นราธิวาส งานเหล่านี้คือการทำให้ประชาชนเกิดกระบวนดูแลตนเอง ไม่ถูกเทคโนโลยีและวิชาชีพเอาเปรียบ
เราน่าจะแก้ปัญหาการขาดแคลนหมอพื้นบ้าน และการรวบรวมภูมิปัญญาเดิมอย่างไร
เดี๋ยวนี้หมอพื้นบ้านรู้สมุนไพรถึง 50 ชนิดก็เก่งแล้ว แต่ก่อนเป็นร้อยเป็นพันก็มี ที่อยู่ตามชุมชนหมู่บ้านก็น้อยมาก คิดง่ายๆตอนนี้เราอายุ 50 ปี คนรุ่นเดียวกันที่สนใจต้นไม้ไม่มีแล้ว ดังนั้นหมอพื้นบ้านที่ยังใช้ยาอยู่จะเหลือสักกี่แห่ง ที่อายุ 80-90 จะยังมีความรู้ในการใช้ต้นไม้มาเป็นยา ทางออกที่เป็นไปได้คือการเชื่อมกับอินเดีย เพราะต้นไม้หลายต้นใช้เหมือนกัน แต่อินเดียมีการฝึกฝนต่อเนื่องและมีระบบมากกว่า ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างชุดความรู้คืนสู่ชุมชน และรื้อให้ชุมชนเกิดกระบวนการดูแลตนเอง แล้วหาคนมาต่อความรู้เรื่องหมอยา ฝึกฝนได้แต่ต้องทำทั้งกระบวน
ระดับนโยบาย หมอพื้นบ้านและการพึ่งตนเองด้านยาของประเทศควรเป็นอย่างไร
เช่น การรื้อให้ชุมชนดูแลตัวเอง การสร้างความเชื่อมั่นให้คนหันมาใช้สมุนไพร การวิจัยให้ตอบโจทย์ไม่สะเปะสะปะหรือซ้ำซ้อน เพื่อให้งานวิจัยไปสนับสนุนการแพทย์แผนไทยให้ได้นโยบายด้านยาต้องชัดว่ากี่โรคที่จะใช้สมุนไพรในระดับใดบ้าง ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการกินการใช้อย่างกว้างขวาง แต่ส่วนที่บอกว่าจะใช้อะไร อย่างไร มีโรคอะไรที่ควรใช้ หรือมีกลไกอะไรให้เกิดความเชื่อมั่น ตรงนี้มันยังไม่ออก สิ่งยังขาดคือกลไกที่ทำให้นโยบายเป็นจริง ทั้งในเรื่องการส่งเสริมสนับสนุน ติดตามประเมินผลแก้ปัญหา ถ้าไม่มีมันเหมือนอยู่ลอยๆ
ประสบการณ์การทำงานกับชุมชน มีพื้นที่รูปธรรมไหนที่ประทับใจบ้าง
ที่ จ.เลย เริ่มต้นจากไปอบรมเรื่องหมอยา แล้วเห็นว่าหมอยาเมืองนี้มีความรู้เยอะมาก หมอยาวัยหนุ่มสาวก็มีความรู้ดี น่าจะเป็นเพราะถนนเพิ่งตัดเข้าภูหลวงไม่นาน และชุมชนก็ยังรักษาวัฒนธรรมวิถีดั้งเดิมได้ดี ขนาดกินข้าวยังมีการสวดมนต์ขอบคุณคนที่หาข้าวให้ ผู้เฒ่าผู้แก่ยังเดินป่าหาตัวยากันอยู่เรื่อยๆ หรืออย่างหมอยาไทยเลย ซึ่งวิถีชีวิตค่อนข้างเต็มไปด้วยความยากไร้ ด้วยความที่พื้นที่เป็นเขตยิงเสรีติดกับพม่า เดินหาสมุนไพรไปต้องหลบลูกกระสุนไป ถ้าหนีไม่ทันก็ตายหมด แต่คนเหล่านี้มีความมุ่งมั่น อ่อนโยนและมีเมตตา ทั้งยังเป็นตัวเชื่อมโลกเมื่อร้อยปีก่อนกับปัจจุบันโดยถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังนำไปใช้ด้วย
ช่วยสรุปว่าสมุนไพร หมอยาพื้นบ้าน การแพทย์แผนไทย เกื้อกูลชนบทอย่างไร
สมุนไพรเป็นอาวุธและเป็นของที่ชนบทสามารถจัดการเองได้ มีคุณค่าสมควรได้รับการฟื้นฟูและเป็นเครื่องมือของชนบทในการดูแลสุขภาพหรือสร้างเป็นเศรษฐกิจ ป้องกันภัยในภาวะวิกฤติได้ คือไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตามถ้ายังมีความรู้อยู่น่าจะยังอยู่ได้ อย่างน้อยก็ไม่ขาดแคลนหนึ่งในปัจจัย 4 และยังเป็นเพื่อนกับคนเมืองด้วย
……………………………………..
“เราไม่รู้ว่าต่อไปข้างหน้าโลกจะเจอภัยพิบัติแค่ไหน ทำไมต้องซื้อยาจากค่อนโลกแล้วรอให้เดินทางมากว่าจะถึงชนบท ทั้งที่ปลูกเองหน้าบ้านก็ได้”
เจ้าของรางวัลเภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคมทิ้งท้ายให้ฉุกคิดว่า “สมุนไพร แผนไทย และหมอพื้นบ้าน” คือรากเหง้าที่เป็นเครื่องมือคืนอำนาจให้ประชาชนพึ่งตนเองในอนาคต.