“หมออำพล จินดาวัฒนะ” กับงานปฏิรูประบบสุขภาพท้องถิ่น-ปฏิรูปประเทศ
ช่วยจำกัดความ ภาพงานของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
สช.เกิดภายใต้พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ เป็นหน่วยงานรัฐที่ไม่ใช่ราชการ ทำหน้าที่เลขานุการให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และ“สานพลังสร้างสุขภาวะ” หรือเชื่อมทุกภาคส่วนในสังคมเพื่อทำงานพัฒนานโยบายสาธารณะที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสุขภาวะคนไทย ต่างกับ สสส. ที่ไปหนุนคนให้ทำงานเรื่องสุขภาพ
แนวคิดนี้เกิดจากการมองสุขภาพว่าไม่ใช่แค่เรื่องหมอหรือพยาบาล เป็นการแก้ที่ปลายเหตุและไม่เพียงพอ ระบบแบบนั้นถ้าไม่คิดใหม่จะถึงทางตัน อย่างเรื่องเหล้าบุหรี่ อยู่นอกระบบการแพทย์ สาธารณะสุข การให้ความรู้คนหรือช่วยเหลือเป็นรายๆเอาชนะยาก ต้องดูแลที่ระบบซึ่งก็คือนโยบายสาธารณะ
องค์ประกอบของระบบสุขภาพท้องถิ่น ที่ดีต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง
ระดับชุมชน หัวใจสำคัญหมายถึงการมีร่างกาย จิตใจ ครอบครัว สุขภาวะที่ดี อยู่ร่วมกันอย่างอยู่เย็นเป็นสุข มีวัฒนธรรม วิถีชุมชนที่เอื้อต่อการเกิดสันติและความสุข มีการศึกษา สัมมาชีพที่สัมพันธ์กับภายนอกอย่างเกื้อกูล นี่คือสุขภาวะในมิติที่ไม่ใช่แค่การมีบริการสาธารณะสุข
ทำอย่างไรให้ไปถึงองค์ประกอบนั้น และอะไรเป็นจุดเริ่มต้นความสำเร็จ
สุขภาพดีจะเกิดได้ต้องให้ความสำคัญกับชุมชน ไม่ใช่ไปรอมติคณะรัฐมนตรี กฎหมายหรือกระทรวงต่างๆ เพราะชุมชนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการดำรงชีวิตที่ดี อย่าง พ.ร.บ.สุขภาพฯ ก็เขียนไว้ชัดว่าบุคคลมีสิทธิที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ เท่ากับว่าเราต้องคืนสุขภาพไปให้ทุกคนและชุมชน แต่เมื่อได้สิทธินั้นแล้ว ชุมชนก็ต้องใช้เครื่องมือสร้างนโยบายสาธารณะในพื้นที่ให้ได้ เพื่อใช้ต่อรองกับนโยบายข้างนอกที่จะเข้ามากระทบ โดยใช้หลักว่า “สุขภาพอยู่ที่เรา อยู่ที่วิถีชีวิต อะไรที่มาทำลายต้องมีกระบวนการทำให้รู้เท่าทันและพัฒนานโยบายสาธารณะแค่นั้นเอง”
วันนี้มีการกระจายอำนาจไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ระดับหนึ่งแล้ว ตอนนี้ท้องถิ่นมีงบประมาณ กำหนดหน้าที่และนโยบายสาธารณะตัวเอง เพื่อไปหนุนกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เข้าใจและสนใจระบบสุขภาพได้ อปท.หลายที่คิดดีทำดีมากขึ้นเรื่อยๆ ชุมชนที่เรียนรู้เก่งๆเท่าทันภายนอกก็เยอะขึ้น ทำได้แบบนี้ก็จะรู้ว่าปัจจัยภายนอกเข้ามาคุกคามอย่างไร แล้วมีกระบวนการหนุนนโยบายสาธารณะร่วมกัน สุขภาวะชุมชนจะค่อยๆ ดีขึ้น
ช่วยให้ภาพเส้นทางปฏิรูประบบสุขภาพท้องถิ่นไทย ว่าเป็นอย่างไรจนถึงวันนี้
ย้อนไปเป็นร้อยปีสุขภาพมันอยู่ในวิถีชีวิต แต่พอมาแยกออกเป็นการศึกษา สาธารณะสุข เกษตร เศรษฐกิจ การปกครอง สุขภาพจึงกลายเป็นเรื่องหมอ พยาบาล เมื่อก่อนชาวบ้านมักเข้าไม่ถึงบริการตรงนี้ จึงมีการกระจายโรงพยาบาลไประดับอำเภอ มีสถานีอนามัยทุกตำบล การสาธารณะสุขบ้านเราดีขึ้นกว่าอดีตมาก เมื่อก่อนคนไข้บางคนมาหาหมอ กำเงินเหงื่อชุ่ม กลัวไม่พอจ่าย พอมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เงินไม่เป็นประเด็น เข้าถึงบริการได้มากขึ้น
แต่ยังไม่พอ สุขภาพเกี่ยวกับวิถีชีวิต อย่างเบาหวานตอนนี้โรงพยาบาลอำเภอมีคนเป็นมารักษาเป็นร้อยต่อวัน เพราะพฤติกรรมการกินเปลี่ยน แนวทางพัฒนาจึงต้องไปไกลกว่าบริการทางการแพทย์และสาธารณะสุขในระบบ คนไทยกินน้ำตาลเพิ่มเฉลี่ยคนละ 2 เท่า ถ้ารณรงค์ให้กินน้อยลงก็ยากและแพ้ตลอด แต่ถ้าทำให้เกิดนโยบายสาธารณะ เช่น ผลักดันให้ลดซองน้ำตาล ก็จะครอบคลุมและทำได้จริงมากกว่า
เดี๋ยวนี้มีการยกระดับสถานบริการสุขภาพท้องถิ่น มีต้นแบบดีๆในหลายพื้นที่ ตอนนี้ยังขาดอะไรอีก
ตอนไปทำสมัชชาสุขภาพ หลายชุมชนทำเรื่องลดสารเคมี เขาอยากเล่าให้คนอื่นฟังมากว่าทำได้อย่างไร บางแห่งได้ข้อเสนอกำหนดเป็นนโยบาย อบต. อย่างที่พิจิตรทำโครงการลดหนี้สินครัวเรือน มีการทำบัญชีรายรับรายจ่าย ทำให้รู้ว่าเงินที่ได้หมดไปกับการกินเหล้า แม่บ้านซื้อขิงข่า ตะไคร้จากรถพุ่มพวง ทั้งที่เป็นเกษตรกรปลูกเองได้ พอรายจ่ายมาก เครียด เสียสุขภาพจิต
จะทำให้ชุมชนเข้มแข็งมีสุขภาวะต้องทำใน 4 เรื่อง 1.คืนสิทธิให้ท้องถิ่นจัดการกันเอง 2.ส่งเสริมกระบวนการร่วมคิดร่วมทำ 3.สนับสนุนกระบวนการทำนโยบายสาธารณะที่ดี 4.บางเรื่องยากกว่าที่ชุมชนจะทำเองได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ถูกกำหนดโดยรัฐบาลส่วนกลาง อาจต้องมีการแก้กฎกติกาที่ครอบงำไว้
การแพทย์สมัยใหม่กับการแพทย์ทางเลือกควรมีส่วนผสมอย่างไรในระบบสุขภาพท้องถิ่น
เรื่องนี้เราทิ้งมานานหลายสิบปี เพราะการแพทย์ตะวันตกเห็นผลทันทีเป็นความมหัศจรรย์ แต่จริงๆไม่ได้ดีทั้งหมด โดยเฉพาะการรักษาโรคเรื้อรัง เช่น ปวดข้อ กล้ามเนื้อ ซึ่งแผนไทยใช้การนวด การปรับท่าทาง ตอนนี้เราฟื้นแพทย์พื้นบ้าน-ทางเลือกขึ้นมาใหม่ แม้ว่าถ้าเทียบกับตะวันตกจะไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็โตขึ้นเรื่อยๆ ส่วนผสมที่เป็นไปได้คงไม่ใช่ 50:50 น่าจะสัก 30:70 หรือ 40:60
ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันสู่การปฏิรูปด้วยหรือเปล่า
ถูกต้องครับ ที่จริงกระทรวงสาธารณสุขตั้งกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยขึ้นมาก็ด้วยเจตนานี้ แต่อย่างที่บอกว่าสุขภาพต้องไปไกลกว่ากระทรวง อย่างส่วนที่ สช. ดูแล ก็ตั้งคณะกรรมการพัฒนาภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ทำแผนพัฒนาภูมิปัญญา มีคณะกรรมการดูแลสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวเชื่อมโยงกันและหนุนให้แพทย์แผนไทยเติบโต หรืออย่างที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่สกลนครก็รวมตัวกันวิจัย และบริการการแพทย์แผนไทยแบบครบวงจร
ในฐานะที่มีบทบาทผลักดัน ช่วยเล่าถึงสมัชชาสุขภาพทั้งระดับพื้นที่และระดับประเทศ
สมัชชาสุขภาพเป็น 1 ใน 3 เครื่องมือตามกฎหมายสุขภาพแห่งชาติ เครื่องมือแรกคือธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ให้ทุกฝ่ายมาร่วมคิดว่าอยากเห็นระบบสุขภาพเป็นอย่างไรระดับชาติ ตอนนี้ทำเสร็จแล้ว และทบทวนทุก 5 ปี แนวคิดนี้ชุมชนท้องถิ่นทั้งระดับอำเภอและตำบลนำไปสร้างในพื้นที่ เช่น ที่ อ.สูงเม่น จ.สงขลา ชาวบ้านร่วมคิดกติกา น่าสนใจมาก มีข้อหนึ่งบอกว่าอยากให้พระบิณฑบาตทุกวัน เราไม่เคยรู้สึกว่าเกี่ยวอะไรกับสุขภาพ แต่เขาบอกว่าหากลูกหลานได้สัมผัสศาสนาสุขภาพจิตใจจะดีขึ้น เครื่องมือที่ 2 คือสมัชชาสุขภาพ เป็นกลไกสนับสนุนกระบวนการเสนอ พัฒนาประเด็นและสรุปข้อเสนอเชิงนโยบาย สุดท้ายคือ เอชไอเอ เครื่องมือประเมินผลกระทบสุขภาพ ที่เน้นให้สังคมชุมชนรู้ตัว รู้ข้อเท็จจริง นำไปหาข้อมูลว่าโครงการที่จะเข้ามาในพื้นที่ ชุมชนมีทางเลือกอะไรบ้าง และทางเลือกนั้นกระทบชุมชนอย่างไร
สมัชชาสุขภาพเป็นการสร้างบทเรียนประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
สมัชชาสุขภาพคล้ายๆแบบฝึกหัดสาธารณะ เป็นเครื่องมือใหม่ในสังคมที่ไม่ได้ผูกขาดว่าใครเป็นเจ้าของ เป็นหินก้อนหนึ่ง อิฐก้อนแรกหรือบันไดขึ้นหนึ่งที่จะชวนคนไทยทั่วประเทศไปสู่ขั้นถัดไป ตอนนี้มีการต่อยอดเอาสมัชชาสุขภาพไปใช้กับสมัชชาปฏิรูปประเทศ
ที่พูดว่าพลังเดิมชุมชนไม่เพียงพอ ต้องขยับต่อเรื่องการจัดการความรู้ ไปสู่นโยบาย
สุขภาวะอันเป็นรากฐานทางกาย จิตใจ สังคม ปัญญา ต้องดีและแข็งแรงมาจากฐานล่างก่อน ขณะนี้ชุมชนเก่งเรื่องปฏิบัติการมาก แต่การแปลเป็นความรู้และผลักดันเป็นนโยบายาธารณะยังไม่มากพอ จริงๆเรื่องนี้สำนักงานสนับสนุนการวิจัยแห่งชาติ(สกว.)เก่ง ถ้าไปเชื่อมกัน ผลักเป็นนโยบายท้องถิ่นและระดับชาติจะเป็นก้าวที่สองที่สำคัญ
ตอนนี้ทางเดินการปฏิรูประบบสุขภาพท้องถิ่นอยู่ที่ก้าวที่เท่าไร จาก 100 เปอร์เซ็นต์
บอกเป็นเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ เพราะคิดอย่างนั้นเป็นการคิดเชิงปริมาณ ถ้าคิดถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงต้องบอกว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าสูง เรามีแนวคิดที่กว้าง มีการสร้างเครื่องมือในการขับเคลื่อนมาก
ระบบสุขภาพท้องถิ่นช่วยลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมไทยได้อย่างไร
ถ้าชุมชนมีระบบสุขภาพที่ดี โดยไม่ได้นำเงินมาเป็นตัวตัดสิน แต่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เกิดฐานรากเข้มแข็ง สังคมก็มีความสุข คนไม่ต้องทิ้งถิ่นเข้ามาเป็นคนแปลกหน้าในสังคมที่ตนไม่มีวัฒนธรรม ไม่มีความคุ้นเคย อยู่กันแค่หารายได้หรือเอาเปรียบแข็งขัน มันก็จะเกิดสังคมที่มีความสุขแน่นอน
“กลไกพญานาคสองหัว” ที่คุณหมอเรียก คปร. และ คสป. เคลื่อนไปถึงไหนแล้ว
พญานาคสองหัวทำงานโดยบูรณาการกันตลอด ขณะนี้ทางชุดคุณอานันท์(คณะกรรรมการปฏิรูป หรือ คปร.) ก็กำลังขบประเด็นยากๆที่ต้องอาศัยการทำงานทางวิชาการมาทำประเด็นให้คมชัดว่าจะมีข้อเสนอต่อการเปลี่ยนแปลงระดับใหญ่อย่างไร ส่วนชุดหมอประเวศ(คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป หรือ คสป.) ก็สร้างเครื่องมือเป็นหลายเครือข่าย เคลื่อนไหวเชื่อมต่อกับภาคีต่างๆ ขณะเดียวกันก็เตรียมการสมัชชาปฏิรูปในเดือนมีนาคม กำลังขึ้นรูป
…………………………………………………………………….
ส่วนบทปิดการสนทนา นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ผู้มีบทบาทในการปฏิรูประบบสุขภาพไทย และการปฏิรูปประเทศ กล่าวว่า “การพัฒนาที่ผ่านมา นานๆเข้าทำให้เราเกิดการแตกแยก จุดแข็งที่ดีจากพื้นฐานจิตใจกำลังกลายเป็นจุดอ่อน อยากให้คนไทยหันมาร่วมคิดร่วมทำ จะรอให้ใครทำไม่ได้ ที่สำคัญต้องอย่าเผลอไปอยู่กับความขัดแย้งนานๆ .