คืนภารกิจชุมชนจัดการตนเอง ผ่านสียง “ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม”
ขจัด“อำนาจรวมศูนย์” เป็นเป้าหมายใหญ่การปฏิรูปประเทศ หนึ่งในทางเดินไปสู่ปลายทางคือผลักดัน “คืนภารกิจชุมชนจัดการตนเอง” แม้ยังไม่เห็นรูปธรรมชัดแต่เป็นความหวังดังที่เจ้าของวลี “ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม” เปรียบว่า “ปีนเขามาแล้วครึ่งลูก” ถ้าชุมชนรวมตัวกันเข้มแข็ง “อีก 10 ปีการปฏิรูปประเทศจะสำเร็จ”
ในฐานะที่คลุกคลีกับภาคประชาชนและคนรากหญ้ามาตลอด เห็นพัฒนาการอย่างไรบ้าง
การเปลี่ยนแปลงชัดเจนคือการรวมตัวของชาวบ้านทำได้ดีและเป็นระบบขึ้น เดิมมีกลุ่มประเภทที่รัฐบาลไปส่งเสริมซึ่งมีมากที่สุดในยุคต้นๆ รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ยังไม่นับรวมสหกรณ์ที่ทำกันมา 70-80 ปีแต่ไม่ค่อยก้าวหน้า ระยะหลังๆคือกลุ่มที่ชาวบ้านตั้งกันเอง ส่วนหนึ่งดัดแปลงจากที่รัฐบาลหนุนอยู่ เช่น กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ต.คลองเปรียะ อ.จะนะ จ.สงขลา แรกๆไม่ประสบความสำเร็จ พอปรับปรุงใหม่ปรากฏว่าทำได้ดีและเติบโตเป็นลำดับ กลายเป็นกลุ่มออมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศตอนนี้
จากกลุ่มทางการเงินแตกเป็นหลายสาขา เกิดกลุ่มสวัสดิการ วิสาหกิจชุมชน ล่าสุดมีการรวมตัวสภาองค์กรชุมชนตำบลที่มีกฎหมายรองรับ มีสภาพัฒนาการเมืองซึ่งกำหนดให้องค์กรชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมสร้างประชาธิปไตยฐานรากหรือประชาธิปไตยภาคพลเมือง อาจกล่าวได้ว่าในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาขบวนชุมชนเกิดขึ้นและขยายตัวอย่างกว้างขวางจนปัจจุบันเป็นปึกแผ่นเข้มแข็งพอสมควร แม้ยังไม่ดีที่สุดแต่ก็ได้ผลน่าพอใจเมื่อเทียบกับอดีตและยังคงมีภารกิจที่ต้องพัฒนาต่อไปอีกอย่างไม่รู้จบ
ช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญของชนบทไทย อยู่ตรงไหนบ้าง
จริงๆชาวบ้านมีภูมิปัญญาและความพยายามริเริ่มตั้งกลุ่ม วางแผนชุมชน และมีศักยภาพแลกเปลี่ยนเรียนเรียนรู้อยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่จะยึดโยงกับองค์กรภาครัฐ 3 ส่วนคือราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ย้อนไปช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 มีโครงการกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม(SIF) สนับสนุนกิจกรรมขององค์กรชุมชนทั่วประเทศ ทำให้เกิดโครงการที่ชุมชนคิด พัฒนาและบริหารกันเองอย่างกว้างขวาง เป็นการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนครั้งใหญ่ เป็นทั้งโอกาสและบทเรียนที่ทำให้ชาวบ้านได้รับทุนโดยตรงไปจัดการเอง เป็นการให้พลังอำนาจและสร้างทุนทางสังคมครั้งสำคัญ
ช่วยขยายความแนวคิดชุมชนจัดการตนเองที่เคยเสนอในเวทีต่างๆว่าเป็นจินตภาพใหม่
หลักทั่วไปคือ “เรื่องของใครคนนั้นจัดการได้ดีที่สุด” แต่เนื่องจากชุมชนไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวต้องเกี่ยวพันกับมิติอื่นๆ ชุมชนจัดการตนเองจึงหมายถึงการเปิดโอกาสให้ชาวบ้านรวมกลุ่มเป็นองค์กร เป็นสภาฯ คิดแผนงาน ซึ่งหลายแห่งทำอยู่แล้วในรูปแผนชุมชนและประสานกันแบบ 3 พลังคือ องค์กรชุมชน อปท. และราชการส่วนภูมิภาค หรือถ้าให้ดียิ่งขึ้นคือการร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยชุมชนต้องเป็นต้นเรื่อง สถาบันอื่นเป็นเพียงกลไก ไม่ใช่ให้ชุมชนเป็นลูกค้ามาร้องขอความช่วยเหลือหรือเสนอแต่แผนงาน ที่บอกว่าเป็นจินตภาพใหม่จริงๆพูดกันมา 10 ปีแล้ว แต่ในช่วงวิกฤติการเมืองและสังคม จึงมีความเห็นพ้องกันว่าต้องปฏิรูปสังคม ประเทศ การเมือง ความคิดและจิตสำนึก จึงเป็นโอกาสดีที่จะนำเรื่องนี้มาเป็นกระแสหลักและทิศทางสำคัญเพื่อให้เกิดการกระทำที่จริงจังกว้างขวางและต่อเนื่อง
ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ชุมชนจัดการตนเองได้ และอะไรที่ตัดสินความสำเร็จ
เมื่อชุมชนสามารถคิดวางแผน ลงมือดำเนินการ แก้ไขปัญหาได้เอง โดยไม่ได้ถูกชักนำ ชี้นำ ควบคุม กำกับอย่างเช่นในปัจจุบัน คือสำเร็จ อย่างไรก็ตามการประสานเชิงยุทธศาสตร์ นโยบายก็จำเป็นต้องมีอยู่
จวบจนปัจจุบันอำนาจก็ยังรวมศูนย์ การคิดแก้ปัญหาของชาวบ้านยังคิดจากส่วนกลาง อาจมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนบ้าง แต่เป็นส่วนน้อย ดูอย่างการจัดสรรงบประมาณที่ทำแบบกระจายสายตามท่อไปยังกระทรวงต่างๆ ทำให้การจัดการล่าช้าสับสนและสิ้นเปลือง ให้ อปท.ก็ยังน้อยเมื่อเทียบกับเป้าหมายตามรัฐธรรมนูญ แทนที่จะให้ชุมชนดูแลจัดการกันเอง หน่วยงานไม่ต้องเข้าไปวุ่นวายมาก แต่มีนโยบายสนับสนุนให้สอดคล้องต้องกัน ให้เงินเป็นก้อน แต่กำหนดว่าต้องการผลลัพธ์อย่างไร แล้วให้ติดตามผล
ถ้าพูดอย่างเป็นรูปธรรม “คืนให้ชุมชน”ต้องคืนอย่างไร มีกระบวนการอะไรบ้าง
ชุมชนสามารถประยุกต์อำนาจทั้ง 3 ซึ่งมีอยู่ในชุมชนให้สอดคล้องกับภารกิจชุมชนจัดการตนเองได้ โดยในส่วนของนิติบัญญัติ มีสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหรือสภาเทศบาล ซึ่งมีบทบาทเสนอแนะแก้ไข ข้อบัญญัติต่างๆอยู่แล้ว ตรงนี้ต้องเปิดให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมพิจารณาไตร่ตรอง ส่วนอำนาจบริหารที่มี อปท.เป็นแกนหลักอยู่ ต้องเป็นการบริหารที่ชาวบ้านมีบทบาทสำคัญในการร่วมคิดร่วมทำ ร่วมไตร่ตรอง แปลว่าโครงการต่างๆที่ชาวบ้านคิดแล้วว่าดี อปท.ก็ทำหน้าที่สนับสนุนพร้อมติดตามผล
สุดท้ายคือตุลาการ เสนอว่า แม้ไม่มีศาลระดับตำบล แต่สามารถสร้างความยุติธรรมระดับท้องถิ่นได้ทั้งทางกฎหมายและสังคม ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “คลินิกยุติธรรมสมานฉันท์” ให้เป็นจุดที่ชาวบ้านสามารถเสนอเรื่องราวต่างๆที่คิดว่าไม่ยุติธรรม และใช้กลไกระดับอำเภอและจังหวัดดูแลด้วยกระบวนการสันติวิธี ไม่ต้องรอพึ่งศาลเพียงอย่างเดียว ผลที่ได้จะช่วยให้สมานฉันท์อย่างมีประสิทธิภาพกว่าการเข้ากระบวนการทางศาล เพราะชาวบ้านจะคลี่คลายความขัดแย้งแบบได้ข้อตกลงร่วมกันความรู้สึกเป็นธรรมก็เกิดขึ้น การตกลงสำคัญกว่าคำวินิจฉัยของศาล เพราะไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดหวัง เป็นตุลาการเชิงสังคมที่สามารถทำได้ในระดับท้องถิ่น และยังช่วยลดภารกิจและปริมาณคดีความที่ต้องไปศาลด้วย
ตอนนี้มีพื้นที่ต้นแบบรูปธรรมที่ตรงกับจินตภาพที่วาดไว้ที่ไหนบ้าง
ในระดับตำบลจริงๆมีเยอะมาก แต่ระดับจังหวัดอาจไม่ชัดเจนนัก เพราะมักถูกกำกับดูแลมาก แต่เรากำลังจะเริ่ม อย่างที่ อำนาจเจริญ ได้เริ่มกระบวนการหารือระหว่างองค์กรชุมชนผ่านสภาองค์กรชุมชนที่มีครบทุกตำบลเป็นจังหวัดแรก และ อปท.กับราชการส่วนภูมิภาคที่นำโดยผู้ว่าฯ ทำเอ็มโอยูร่วมกันว่าจะพัฒนาจังหวัดอย่างไร ถือเป็นตัวอย่างที่นำร่องไปก่อน หรือที่กำลังจำเคลื่อนให้เป็นจังหวัดนำร่องการปฏิรูปอย่าง ขอนแก่น ทำโครงการ 3 ปี เสนอมาที่ คสป. ตั้งเป้าว่าจะเคลื่อนข้างล่างตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล จนถึงจังหวัด คงต้องใช้เวลา จะจัดสมัชชาได้คงเป็นกลางปีหน้า อย่างที่บอกว่าการปฏิรูปต้องเดินเรื่อยๆ เริ่มเร็วแต่ไม่พร้อมก็ไม่ดี ต้องเตรียมข้างล่างให้แน่น การจัดสมัชชาจึงเป็นผล
ที่เปรียบว่าปีนเขามาได้ครึ่งลูกแล้ว ถ้าชุมชนรวมตัวเข้มแข็งมีอธิปไตย 10 ปีการปฏิรูปประเทศจะสำเร็จ ขณะที่หลายคนยังไม่เชื่อว่า 20 ปีจะเสร็จ
เราเลือกได้ว่าจะคิดเชิงลบหรือบวก การคิดเชิงบวกดีกว่าเพราะจิตใจจะเป็นสุขและมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะลงมือทำ และสร้างผลให้เกิดขึ้น ถ้าคิดลบแล้วห่อเหี่ยวท้อถอยก็ไม่ทำอะไร การปฏิรูปก็เหมือนกันถ้าคิดเชิงบวกคิดว่ามีลู่ทางจะทำได้ แล้วช่วยกันคิดลงมือทำ ทำไปแล้วจะเห็นเองว่าทำได้หรือไม่ได้แค่ไหน อะไรที่ทำได้ดีก็ทำต่อไป อะไรไม่ดีก็มาค้นหาสาเหตุแก้ไขปรับปรุงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นการก้าวทีละขั้นๆ การดำเนินสังคมก็จะเป็นไปอย่างสร้างสรรค์มีความหมาย
“เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูป” ที่อาจารย์เป็นประธาน มีรูปธรรมอะไรบ้างแล้ว
ที่ทำไปแล้วคือการประชุมโดยมีตัวแทนจากจังหวัดต่างๆเข้าร่วมเพื่อกำหนดทิศทางการทำงานและไปขยายผลชวนคนอื่นที่เกี่ยวข้อง ไปจัดสมัชชาระดับจังหวัด แต่ก่อนจัดคิดว่าต้องมีการเคลื่อนไหวตั้งแต่ระดับล่างขึ้นไปเพื่อให้ชาวบ้านตื่นตัว ร่วมคิดว่าสภาพเป็นอย่างไร อยากแก้ไขเสนอแนะอะไรแล้วไปสรุปกันที่สมัชชาจังหวัด เรื่องนี้ต้องดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนใช้เวลาประมาณ 4-5 เดือน
คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) เพิ่งจัดเวทีใหญ่ไป ส่วน คณะกรรมการสมัชชาปฎิรูป(คสป.) 3 เดือนที่ผ่านคืบหน้าอย่างไร
คสป.แบ่งเป็น 15 เครือข่าย แต่ละเครือข่ายก็ไปจัดประชุมสัมมนา แล้วมาเล่าสู่กันฟัง ประมวลความคิดให้ฝ่ายวิชาการและฝ่ายสื่อร่วมด้วยว่าจะใช้วิชาการและสื่ออย่างไร ส่วนเวทีคล้าย คปร. ยังไม่มี เพราะเราทำเชิงพื้นที่ย่อยกว่า เจาะจงและเข้มกว่า
จากการออกไปรับฟังความเห็นชาวบ้าน นอกจากข้อเสนอปฏิรูปโครงสร้างและปัญหาเฉพาะพื้นที่ มีอุปสรรคการปฏิรูปอะไรที่สะท้อนขึ้นมา
ตื่นขึ้นมาก็มีปัญหาแล้ว ความขัดแย้งทางการเมืองเป็นปัญหาใหญ่ เพราะกระทบหมดและทำให้กลไกต่างๆเคลื่อนไปลำบากเกี่ยวโยงผูกพันกันเป็นลูกโซ่สลับซับซ้อน อุปสรรคที่เกิดขึ้นมีอยู่เสมอเป็นธรรมดา การปฏิรูปสังคมใช้ยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา คือพลังสังคมการกระจายเป็น 15 เครือข่ายจะได้ทุกพื้นที่และทุกกลุ่มคน, พลังปัญญา ใช้ความรู้ข้อมูลวิเคราะห์ สังเคราะห์ ให้ละเอียด ครบวงจร บูรณการแล้วเสนอเป็นนโยบาย และพลังอำนาจรัฐทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น โดยใช้คติสังคมนำการเมืองตาม
เดิมอาจารย์ทำงานคู่ไปกับเครือข่ายภาคประชาสังคมที่มีหมอพลเดช ปิ่นประทีป เป็นประธาน ตอนนี้หมอพลเดชลาออกแล้ว
หมอพลเดชไม่อยู่หนึ่งคนแต่เครือข่ายก็ยังอยู่ จุดที่ร่วมกันคือจังหวัด เพราะจังหวัดมีทุกฝ่าย ประชาสังคมเองก็อยู่ที่นั่น การเคลื่อนงานก็เคลื่อนไปพร้อมๆ กัน
อาจารย์เคยเป็นทั้งนักพัฒนาเอกชน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รองนายกรัฐมนตรี และปัจจุบันเป็นกรรมการ คสป. หมวกแต่ละใบต่างกันอย่างไร
คนละเรื่องกันหมดเลย คนละแบบเทียบกันไม่ได้ คิดแค่ว่าชีวิตคือการทำหน้าที่ให้ดีที่สุด นั่นคือการทำประโยชน์ให้ส่วนรวม พร้อมๆกับดูแลตัวเองและครอบครัวตามสมควร บังเอิญช่วง 20 ปีที่ผ่านมาผมทำงานในภาคสังคม เน้นหนักไปที่ชุมชน
..........................................................................................
อยากให้ฝากถึงสังคมโดยรวมที่ยังมองเรื่องชุมชนจัดการตนเองเป็นสิ่งยากที่จะเกิดขึ้นได้จริง..
“ใครที่มองว่าชุมชนจัดการตนเองเป็นเรื่องยาก แปลว่ายังไม่รู้จักชุมชน แต่คนที่ใกล้ชิดกับชุมชนจะรู้ว่าเขาจัดการตนเองได้ไม่ยากเลย แล้วชุมชนจำนวนมากก็มีความพยายามจัดการตนเองได้ดีทั้งที่มีอุปสรรคนานาประการ ฉะนั้นถ้ายิ่งมีอุปสรรคน้อยลงหรือองค์กรหน่วยงานที่มีอำนาจทั้งหลายเอื้ออำนวยให้มากขึ้น ชุมชนก็จะได้มีโอกาสลองผิดลองถูกเกิดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น แต่ถ้ามองแค่ว่าเขาทำไม่ได้แล้วไปควบคุมจัดการ เขาก็จะอ่อนแอลงเรื่อยๆ”.