“ดร.เอื้อจิต” มองระยะเปลี่ยนผ่านวิทยุชุมชน หวังสุดท้ายตอบโจทย์ "เพื่อใคร"
ในฐานะผู้บุกเบิกวิทยุชุมชนรุ่นแรกๆ วันนี้ยังคงเฝ้ามองสื่อของชุมชนด้วยความห่วงใย โต๊ะข่าวเพื่อชุมชน พาไปมองจุดเริ่มต้นสู่ก้าวต่อของวิทยุชุมชนไทย ผ่านถ้อยคำ “ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์” ประธานสถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน
เป็นมาอย่างไร อาจารย์ถึงมาสนใจทำงานเรื่องวิทยุชุมชน
ช่วงที่มีการพูดถึงรัฐธรรมนูญปี 40 มาตรา 40 ว่าคลื่นความถี่ไม่ใช่ของรัฐแต่เพียงผู้เดียวอีกต่อไปแล้ว รู้สึกว่า “นี่คือมิติใหม่ที่ดีมากเพราะเท่ากับเป็นการเปิดพื้นที่สื่อกระจายเสียงให้กับประชาชน”
สถาบันการเรียนรู้เพื่อพัฒนาประชาสังคมซึ่งมี อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ เป็นประธาน มีโครงการสื่อมวลชนเพื่อประชาสังคม ชวนช่วยจัดสัมมนาในภูมิภาค อ.พรรณิภา โสตถิพันธุ์ สงขลาฟอรั่มให้ข้อมูลว่าเข้าร่วมเวทีกรรมาธิการฯกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ เสนอว่าน่าจะพูดถึงสิทธิภาคประชาชนในคลื่นความถี่ จึงขอเปลี่ยนหัวข้อสัมมนาเป็น“สิทธิภาคประชาชนในสื่อวิทยุโทรทัศน์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 40”
ผลตอบรับจากเวทีนั้น เป็นอย่างไรบ้าง?
เกิดความตื่นตัวมาก ที่เดินหน้าจัดกระบวนการเรียนรู้วิทยุชุมชนต่อในพื้นที่เลยก็มี เช่น นพ.แวมาฮาดี แวดาโอ๊ะ อ.ชัยวัฒน์ ก็หาทุนมาให้จัดเวทีระดับภูมิภาค ช่วงนั้นได้รู้จักคุณสุภิญญา กลางณรงค์ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของคณะทำงานติดตามมาตรา 40 ที่มี รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ เป็นที่ปรึกษาหรือประธาน จำไม่ได้ชัดเจน คณะทำงานฯได้ยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ซึ่งก็จัดให้มีผู้แทนจากกลุ่มที่มีสิทธิในคลื่นตามมาตรา 40 เข้าร่วมประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ครั้งหนึ่งสัมมนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการแจ้งว่าจะมีพวกเราไปเข้าร่วมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการฯ เสร็จสัมมนาขณะที่พวกเรา อ.อุบลรัตน์ คุณสุภิญญา เตรียมจะไป คุณป้าคนหนึ่งบอกว่าขอไปด้วยเพราะเป็นประชาชนคนหนึ่งมีสิทธิเหมือนกัน
การพิจารณาร่าง พ.ร.บ. มาตราว่าด้วยผู้ประกอบกิจการระบุว่ามีภาครัฐ เอกชน ประชาชน มีคำถามจากที่ประชุมว่าจะอธิบายภาคประชาชนอย่างไร คนในหน่วยงานรัฐ ธุรกิจต่างมีตัวตน ภาคประชาชนมีทั่วแผ่นดิน หาคำอธิบายไม่ได้ บอกกับตัวเองว่า “ต้องค้นหาตัวตนภาคประชาชนมาแสดงสิทธิในคลื่นให้ได้”
แล้วทำอย่างไรต่อ
โจทย์นี้มีโอกาสถ่ายทอดในการประชุมที่ สกว.จัด ขณะนั้นคุณหมอวิจารณ์ พานิช เป็น ผอ.สนใจขอให้เขียนโครงการเสนอไป วันหนึ่งไปร่วมประชุม มีการนำร่างโครงการซึ่งขณะนั้นกำลังประสานกับฝ่ายที่ดูแลงานนโยบาย แต่วันนั้นฝ่ายที่จัดประชุมกลับนำมาตั้งคำถามว่าโครงการนี้ควรอยู่ในงานฝ่ายไหน ยังไม่ทันเริ่มก็ได้กลิ่นความยุ่งยาก จึงค่อยๆเฟดตัวเองออกมาโดยความฝันนั้นยังอยู่
ฝันเป็นจริงเมื่อไร
ในการจัดสัมมนาวิทยชุมชนครั้งหนึ่งได้เปรยเรื่องโครงการ คุณอุดมศรี ศิริลักษณาพร เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) บอกน่าสนใจนัดไปคุยกับรอง ผอ.คุณจิริกา นุตาลัย ซึ่งให้เสนอโครงการกับ พอช. เป็นจุดเริ่มโครงการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาศักยภาพชุมชนในวิทยุชุมชน พอช.ขอให้ทำงานภาคเหนือตามโครงการเสนอพื้นที่นำร่อง 7 จังหวัด จัดสัมมนาครั้งแรกที่ลำปางเป็นการแจ้งสิทธิในสื่อวิทยุโทรทัศน์ของประชาชน ให้แนวคิดวิทยุชุมชน ตัวแทน จ.ตากตั้งคำถามว่าภาคเหนือมี 15 จังหวัด ทำไมทำแค่ 7 เลยได้ขยายพื้นที่ทำงานเป็นทั้ง 15 จังหวัดภาคเหนือ
ผลโครงการเป็นอย่างไร
โครงการมีระยะเวลาทำงานแค่ 6 เดือน ทุกสองเดือนจะจัดสัมมนาปฏิบัติการ เวทีแรกแจ้งสิทธิในคลื่นตามรัฐธรรมนูญและให้แนวคิดวิทยุชุมชน เวทีที่สองระดมความคิดว่าจะบริหารจัดการวิทยุชุมชนของชุมชนอย่างไร เวทีสามพัฒนาทักษะการจัดและผลิตรายการของชุมชน ขณะนั้นกรมประชาสัมพันธ์มีโครงการให้ประชาชนจัดรายการทาง สวท. 20 จังหวัดนำร่อง ผู้เข้าร่วมโครงการกับเราบางคนตั้งคำถามว่าทำไมต้องทำวิทยุชุมชนที่ฟังกันได้ในวงเล็กๆในเมื่อกรมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าไปผลิตรายการได้
โจทย์สำคัญตอนนั้นคือทำอย่างไรให้เขาเห็นคุณค่าและความแตกต่างของการเป็นเจ้าของสื่อขนาดเล็กตามอัตภาพแต่มีเสรีภาพ กับได้ทำงานในสื่อขนาดใหญ่ที่มีหน่วยงานภาครัฐเป็นเจ้าของและกำกับดูแล
ในเวทีการบริหารจัดการวิทยุชุมชน คุณวิฑูรณ์ อภิชาติไตรสรณ์ ข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์ ที่มาเป็นวิทยากรด้านเทคนิคให้คำแนะนำซึ่งเป็นที่มาความคิดในการสร้าง “ภาพในใจ”วิทยุชุมชน ด้วยการตัดกระดาษสีเป็นวงกลมสมมติเป็นรัศมีการกระจายเสียง ขนาดวงกลมสัมพันธ์กับอัตราส่วนรัศมีกระจายเสียงและแผนที่จังหวัด จากโจทย์ที่ให้แต่ละจังหวัดช่วยกันกำหนดชุมชนที่ไม่ยึดติดกับเขตการปกครอง แต่จัดกลุ่มชุมชนตาม “ความร่วม”ในมิติทางสังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิต ไม่นานกระดาษที่เตรียมมาก็หมด
ป้าคนหนึ่งสีหน้ากังวลว่าคลื่นหมดแล้ว ตอบว่าคลื่นสำหรับประชาชนจะไม่หมด กระจายให้ได้ทุกชุมชน ถ้าเรานำสิทธิ 20% มาจัดคลื่นสลับใช้ในรัศมีขนาดเล็ก เมื่อทั้ง ๑๕ จังหวัดนำภาพในใจติดบนผนังห้องประชุม คุณลุงคนหนึ่งเอามือทาบถามว่า “ทั้งหมดนี่จะเป็นวิทยุของประชาชนใช่ไหม”
ไม่ใช่สูตรนี้ แต่เป็น 20 : 30 : 10 ที่มาคือคุณวิฑูรย์ถ่ายทอดให้ฟังว่าในญี่ปุ่นมีวิทยุชุมชนกำลังส่ง 3-5 วัตต์ รัศมีกระจายเสียงที่คุณภาพฟังชัดประมาณ 5 ตร.กม. จึงแลกเปลี่ยนว่าถ้าเป็นเช่นนั้นในบ้านเรา หน่วยงานภาครัฐจะบอกว่ามีหอกระจายข่าวแล้ว….“แล้ววิทยุชุมชนควรมีรัศมีกระจายเสียงเท่าไร”
โครงการนั้นตั้งคำถามผู้เข้าร่วมกิจกรรมว่าสถานที่สาธารณะที่ประชาชนสามารถกำหนดได้เองคืออะไร คำตอบคือตลาด เมื่อถามต่อว่าระยะทางไปตลาดไกลที่สุดคือกี่กิโลเมตร คำตอบไม่เกิน 10 กม. ถามต่อว่าถ้าเกิดมีตลาดอยู่ไกลกว่านั้น คำตอบคือก็ตั้งตลาดกันเอง ถามต่อว่าถ้าต้องมาทำรายการวิทยุชุมชนที่ไม่มีค่าตอบแทน ทั้งต้องจ่ายค่าน้ำมันรถมอเตอร์ไซต์เองนั้น เดินทางเท่าไปตลาดได้ไหม คำตอบคือ “ได้”
จึงถามคุณวิฑูรย์ว่าถ้ารัศมีกระจายเสียง 10 ตร.กม. กำลังส่งควรเป็นเท่าไร คำตอบคือ 20 วัตต์ เสาส่ง 30 เมตร จึงเป็นที่มาการอธิบายวิทยุชุมชนกำลังส่งต่ำ ด้วยเหตุให้ชุมชนมีกำลังดูแลรับผิดชอบทั้งด้านค่าใช้จ่ายและความเท่าเทียมกันในบทบาททั้งเป็นผู้รับและผู้นำเสนอรายการ มิใช่เฉพาะคนที่อยู่ใกล้ที่ตั้งวิทยุชุมชนจึงมาทำรายการ คนอยู่ไกลเป็นเพียงคนฟัง
ปี 2545-46 หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้มีคณะทำงานวิทยุชุมชนเพื่อกำหนดมาตราการชั่วคราว ให้ผู้แทนเครือข่ายวิทยุชุมชนทำงานร่างมาตรการดังกล่าว คำอธิบายวิทยุชุมชนสูตร 20:30:10 ก็เปลี่ยนไป เหตุผลว่ากำลังส่ง 20 ขอเพิ่มเป็น 30 อย่างคาดเดาว่ารัศมีจะกว้างขึ้นเป็น 20 ตร.กม.ตัวเลขกำลังส่ง : ความสูงเสาส่ง : รัศมีการส่งกระจายเสียง แปรเปลี่ยนไปตามฐานคิด “เล็กไม่ดี ใหญ่สิดี” แต่สูตรที่เป็นที่รู้กันทั่วไปคือเมื่อกรมประชาสัมพันธ์โดย ครม.ประกาศและบังคับใช้มาตรการชั่วคราววิทยุชุมชนที่เพิ่มอำนาจหน้าที่ให้ตนเอง แต่สาระเกือบทั้งหมดนำไปจากร่างของภาคประชาชน รวมทั้งสูตรปุ๋ยวิทยุชุมชนด้วย
หลังโครงการที่ภาคเหนือ ทำให้เกิดวิทยุชุมชนใช่ไหม
โครงการที่ภาคเหนือจบลง ก็มีโครงการต่อที่ภาคตะวันตกและภาคตะวันออก โดยการสนับสนุนของกองทุนเพื่อสังคม(SIF) คุณอนุ ผู้จัดการขอให้บรรยายเรื่องการสื่อสาร แต่ก็พูดเรื่องวิทยุชุมชนด้วย ขณะที่ พอช.ก็สนใจสนับสนุนกระบวนการวิทยุชุมชนที่ภาคใต้ คุณเอนก นาคะบุตร ผอ. SIF โทรมาหาว่าไปกระตุ้นชุมชนอย่างไร มีโครงการเสนอมามาก จึงอธิบายแนวคิดวิทยุชุมชนที่ชุมชนต้องสามารถดูแลรับผิดชอบเอง อาจตั้งที่วัด โรงเรียน อาคารที่เป็นของสาธารณะ และเพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อนจึงเสนอให้ SIF ดูแลกระบวนการวิทยุชุมชนในทุกภาคยกเว้นภาคเหนือและภาคใต้ที่มี พอช.ดูแลแล้ว และเสนอว่าควรจัดกระบวนการเรียนรู้ระดับภาค ถ้าจะสนับสนุนเครื่องส่งซึ่งยังเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ควรให้เป็นการเรียนรู้ โดยจัดสรรให้จังหวัดละ 2 เครื่องเวียนกันใช้เรียนรู้ การทำโครงการก็เพื่อเตรียมความพร้อมภาคประชาชนให้เข้าใจในสิทธิและกระบวนการวิทยุชุมชน เพื่อพร้อมดำเนินการได้เมื่อมีการจัดสรรคลื่น
ต่อมาผู้จัดการ SIF ภาคอีสาน ชวนช่วยจัดกระบวนการเรียนรู้วิทยุชุมชน มีคนเข้าใจว่าอาจารย์เอื้อจิตทำให้เกิดวิทยุชุมชน ความจริงเป็นเพียงคนให้ข้อมูลความรู้คำแนะนำและสื่อสารกับภาครัฐหรือผ่านสื่อ ในทางกลับกันก็ได้เรียนรู้จากกระบวนการประชาชน โดยเฉพาะเมื่อแกนนำจัดตั้งวิทยุชุมชนแห่งแรกบอกว่า“ประชาชนไม่เรียนเพื่อแค่เตรียมความพร้อมหรอก รู้แล้ว ต้องลงมือ มีรัฐธรรมนูญรับรอง ไม่ต้องกลัวอะไร”
มองวิทยุชุมชนตอนนี้อย่างไร
...มีอะไรที่เป็นความหวังหรือที่ยังน่าห่วง?
ความหวังหรือสิ่งที่มุ่งหวังคือกติกาที่เป็นกฎหมาย แม้ตอนนี้ยังสับสนทั้งส่วนของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ที่ยังไม่ป็นที่พึ่งที่วางใจได้เสียทีเดียวของวิทยุชุมชน น่าเศร้านะ มี พ.ร.บ.องค์กรฯ แต่สิบปีผ่านไปก็มี กสช.ไม่ได้ ตอนนี้มี พ.ร.บ.การประกอบกิจการฯ แต่ต้องรอองค์กรอิสระใหม่ทีรวม กทช.และ กสช.เข้าด้วยกัน จึงต้องหวังว่าจะมีองค์กรอิสระที่ดีได้โดยเร็ว การอธิบายวิทยุชุมชนควรคำนึงถึงสิทธิและความเสมอภาคในการสื่อสารอย่างมีศักดิ์ศรี มีเสรีภาพ การพึ่งพาตนเองของชุมชน ไม่ใช่อธิบายหรือกำหนดโดยขนาดเครื่องส่ง กำลังส่งและข้อบังคับ กฎระเบียบต่าง ๆที่กำหนดขึ้นอย่างคำนึงถึงเรื่องการจัดการสื่อเป็นสำคัญ
กติกาที่สร้างขึ้นต้องเข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงว่าวิทยุชุมชนเป็นของชุมชน อย่ามองแค่ว่าเป็นวิทยุประเภทหนึ่ง เพราะทันทีที่คิดอย่างนั้น เท่ากับเอาสื่อเป็นตัวตั้งไม่ใช่ชุมชน
ปัญหาคลื่นเบียดกันของวิทยุชุมชนในหลายพื้นที่ จะแก้ไขได้อย่างไร
เป็นอย่างหลายปีแล้ว วิทยุชุมชนบ้านเรา สร้างความรู้ใหม่ วิธีการจัดการแปลกใหม่ ไร้ทิศทาง อย่างน่าเศร้าใจ เคยมีชุมชนถามเรื่องนี้ ตอบว่าต้องเจรจาอย่างเดียว เพราะไม่รู้จะใช้กฎเกณฑ์ใดมาช่วยจัดการ
ตอนนี้มี
6,000 กว่าสถานี แต่มีเพียง 200 กว่าแห่งที่เป็นวิทยุชุมชนแท้ จะทำอย่างไร
ผู้มีหน้าที่โดยตรงคือคณะทำงานวิทยุชุมชนใน กทช.ควรจัดการเรื่องนี้ให้ชัดเจน แต่กลับห่วงใยกลุ่มที่ไม่ใช่วิทยุของชุมชน ทั้งที่ควรเร่งสร้างความชัดเจนของ “วิทยุชุมชนของชุมชน” เป็นของชุมชนทั่วประเทศ ไม่ใช่เฉพาะวิทยุที่แจ้งขอใช้ใบอนุญาตชั่วคราว
เคยเสนอให้เริ่มด้วยการศึกษาหรือจัดเวทีการมีส่วนร่วมเพื่อกำหนดรัศมีส่งกระจายเสียงของวิทยุชุมชนในขนาดที่ชุมชนดูแลได้ ส่วนชุมชนไหนจะทำหรือไม่ในตอนนี้ไม่เป็นไร แต่ทุกชุมชนเชิงพื้นที่รู้และยอมรับขนาดความเป็นชุมชนเพื่อวิทยุชุมชน จากนั้นก็แยกวิทยุชุมชนของชุมชน ออกจากวิทยุที่เรียกตัวเองว่าชุมชนแต่ทำธุรกิจ อาจเพราะในคณะทำงานชุดนี้ มีความต้องการให้มีวิทยุชุมชนเชิงประเด็น ที่ต้องการส่งกระจายเสียงอย่างวิทยุกระแสหลัก ทั้งที่อาจยังตอบโจทย์ไม่ได้ว่า จะนำทุนมาจากไหนโดยที่ดำเนินการได้อย่างเป็นอิสระ จึงมีการประกาศขนาดกำลังส่งกระจายเสียงวิทยุชุมชนออกมาเหมือนขนาดเสื้อ ถ้าเป็นอย่างนี้ ขนาดเล็กที่สุดก็เกิดและอยู่ยั่งยืนอย่างลำบาก
ช่วยมองร่าง
พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ซึ่งขณะนี้หลายฝ่ายกังวลการแปรญัตติของวุฒิสภา
ไม่ว่าร่างจะเปลี่ยนหรือเพี้ยนอย่างไร ที่สุดกฎก็ต้องมีผู้คุ้ม และร่างนี้ควรเป็นความหวังประชาชน แต่ตราบใดที่ยังมีการสร้างกฎหมายและกลไกบังคับใช้เพื่อคุ้มครองประโยชน์กลุ่มอำนาจ มากกว่าสร้างสมดุลทางสิทธิและความเสมอภาคทางการสื่อสารผ่านคลื่นซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติและประชาชน ความสับสนกังวลไม่สมหวังในความมุ่งมั่นใช้คลื่นเพื่อกิจการวิทยุโทรทัศน์ของประชาชนก็คงเป็นวัฎจักรเช่นนี้
กสทช.ที่จะเป็นความหวังของประชาชนในทัศนะของอาจารย์เป็นอย่างไร
แค่เรื่อง 3จี ก็ส่อแววเทคโนโลยีและผลประโยชน์ของธุรกิจนำ มีน้ำหนักมากกว่าความเสมอภาคในการใช้คลื่นเพื่อการสื่อสารของภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนแล้ว ต้องมีการขับเคลื่อนทางสังคมให้ได้ กสทช.ที่ทำงานอย่างมุ่งสร้างสมดุลของสิทธิภาคประชาชนกับภาครัฐและภาคธุรกิจ
ตอนนี้กระแสปฏิรูปสื่อกำลังแรง มองสื่อกับวิทยุชุมชนไทย ควรไปในทิศทางไหน
ปัญหาใหญ่ที่สุดของการปฏิรูปสื่อคือการไม่สามารถเอาอ้อยออกจากปากช้างแถมตอนนี้มีช้างหลากหลายพันธุ์และขนาดเพิ่มมากขึ้น วิทยุชุมชนจึงยังไม่มีที่ยืนอย่างถูกกฎหมายสักที
การปฏิรูปจริงๆ จะไม่เกิดถ้าเปิดพื้นที่ให้ประชาชนแต่ไม่ปิดพื้นที่ของหน่วยงานราชการ
อยากให้อาจารย์ ช่วยสรุปว่า “วิทยุชุมชนมีความสำคัญอย่างไรต่อการพัฒนาท้องถิ่น”
วิทยุชุมชนเป็นเครื่องมือที่ดีในการพัฒนาท้องถิ่นเพราะ 1.ทำให้ชุมชนมีพื้นที่สาธารณะสื่อสารเรื่องราวความคิดเห็นความสนใจของตน 2.เป็นช่องทางสร้างสิทธิและการมีส่วนร่วมในการพัฒนา 3.สร้างความรู้สึกผูกพันด้วยการสื่อสารเรื่องราวที่สะท้อนรากเหง้าวิถีชีวิตขนบธรรมเนียมประเพณี 4.เกิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้หลากหลายทั้งภายในและภายนอกชุมชน จากมุมมองความสนใจ ความต้องการของชุมชน
……………………………………………………………
นี่คือสิ่งที่กลั่นจากบทเรียนและประสบการณ์ของคนรุ่นบุกเบิกวิทยุชุมชน “ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์” ซึ่งทิ้งท้ายว่า “สักวันหนึ่งสิ่งที่หวังจะเป็นจริง เพียงแต่ไม่กล้าคาดเดาแล้วว่าจะเป็นเมื่อไร” .