มองการปฏิรูปแก้ความเหลื่อมล้ำ ผ่านแว่น คปร.สายรากหญ้า “บัณฑร อ่อนดำ”
ผศ.บัณฑร อ่อนดำ เป็นนักวิชาการที่คนในแวดวงงานพัฒนาภาคประชาชนรู้จัก วันนี้เสียงดังฟังชัดจาก “คปร.สายรากหญ้า” วัย 75 ปี ผู้นี้บอกกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนว่า ม็อบคือกลไกที่ยังจำเป็นสำหรับชาวบ้าน และวิธีสร้างสังคมสันติสุขก็ไม่ใช่เป้าหมาย อะไรคือคำตอบของการปฏิรูปครั้งนี้??
ผศ.บัณฑร อ่อนดำ ปัจจุบันในวัย 75 ปียังคงคลุกคลีกับงานพัฒนาหลายแห่ง เช่น เป็นประธานกรรมการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย, กรรมการมูลนิธิพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้, กรรมการมูลนิธิการศึกษาไทย-ญี่ปุ่น, กรรมการสถาบันยุทธศาสตร์สันติวิธี สภาความมั่นคงแห่งชาติ, ที่ปรึกษาสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) และโครงการยุติธรรมและสันติ
คำเรียกขานหนึ่งคือเป็น “นักวิชาการสายม็อบ” ที่ใกล้ชิดกับการชุมนุมทรหดของชาวบ้านในนามสมัชชาคนจนมาโดยตลอด และล่าสุดเป็นหนึ่งในทีมอรหันต์ปฏิรูปประเทศ คปร. จึงถือเป็นฤกษ์ดีที่โต๊ะข่าวเพื่อชุมชน จะได้นำมุมมองความคิดของนักวิชาการอาวุโสท่านนี้มานำเสนอ
จากประสบการณ์ที่คลุกคลีกับชาวบ้าน อยากให้อาจารย์ช่วยสะท้อนปัญหาคนรากหญ้าโดยรวม
ต้องมองเป็นวิวัฒนาการ ตอนแรกมีแค่ปัญหาความจน แต่ตอนหลังซับซ้อนขึ้น การเอารัดเอาเปรียบรุกเข้ามา ปัญหาจริงๆเป็นเรื่องโครงสร้างมากขึ้นทุกวัน ไม่มีตรงไหนเลยที่บ่งบอกว่าชาวบ้านทำลายกันเอง รัฐกับธุรกิจทำลายทั้งนั้น ตอนนี้มีต่างประเทศเข้ามาอีก
เราเคยคิดว่าปัญหาคนจนแก้ง่าย แค่เพิ่มทรัพยากรระดับครอบครัวให้ชัดเจนก็จบ แต่วันนี้ไม่รู้จะเพิ่มอะไรอย่างไร ติดไปหมด โอกาสไม่มี ทรัพย์สินไม่มี แล้วยังถูกเบียดเบียนตลอดเวลา
ชุมชนไทยวันนี้ในสายตาอาจารย์ เป็นอย่างไรบ้าง?
ชนบทเปลี่ยนแปลงไปมาก ในมิติเศรษฐกิจสมัยก่อนชุมชนเลี้ยงตัวเองได้ ผมกลับจากฮ่องกงปี 2523 เห็นการเปลี่ยนแปลงชัด ชนบทต้องพึ่งภายนอก 20% และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆกระทั่งวันนี้ 65% ชนบทไม่ได้เลี้ยงตัวเองโดยรายได้หลักจากภาคเกษตรอีกต่อไป พูดได้เลยว่าตอนนี้เราไม่ได้พึ่งตัวเองอีกแล้ว
สาเหตุคือระบบนิเวศหรือป่าค่อยๆหมดไป ป่าใกล้บ้านไม่มีแล้ว ห่างออกไปอย่างน้อย 2-3 กม. การเปลี่ยนระบบเกษตรจากเดิมที่ปลูกพืชหลากหลาย มาเป็นระบบเกษตรเชิงเดี่ยวปลูกพืชเศรษฐกิจเพียงชนิดเดียวส่งภาคอุตสาหกรรม สุดท้ายพังหมดเพราะระบบตลาดกินไม่เหลือ ยิ่งปลูกยิ่งจน และจากเดิมที่ใช้ปุ๋ยขี้วัวขี้ไก่ไม่ต้องลงทุน พอเกษตรสมัยใหม่เข้ามา ต้องเร่งผลิต ใช้สารเคมี ต้องซื้อ ชาวบ้านบอกว่า“ผลิตเพื่อขาย ชิบหายหมด” เพราะควบคุมอะไรเองไม่ได้ สุดท้ายต้องกู้ยืมกลายเป็นหนี้ ตรงนี้คือประเด็นใหญ่
ในมิติสังคม ผู้นำเดิมเป็นตัวแทนชาวบ้านจริงๆ ก็ชิบหายวายป่วงเพราะนักการเมืองหรือรัฐ และพ่อค้าหรือธุรกิจ รัฐต้องการอำนาจ ธุรกิจต้องการกำไร บีบอัดชาวบ้านเป็นแซนด์วิช ความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดูแลกันแบบพ่อลูกเปลี่ยนเป็น “ทุนนิยมสามานย์” ขายทุกอย่างให้นายทุนหมด การปรับนโยบายรัฐ(สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์) มาเป็นการจ้างงานชนบท คือการทำลายวิถีชีวิต แค่พัฒนาวัดยังต้องจ่ายค่าจ้าง
แล้วในชุมชนเมืองเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน?
การพัฒนาอุตสาหกรรมและความเป็นเมืองมาด้วยกัน ตั้งแต่เริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เริ่มจากอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้าและพัฒนาเป็นเพื่อส่งออกถึงการบริการ ควรจะพัฒนาโดยใช้ฐานการเกษตรเป็นแหล่งวัตถุดิบ แต่ดันเลือกอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบต่างประเทศ ผลกระทบโยงถึงชนบทด้วย เงินที่เหลือมาพัฒนาภาคเกษตรก็น้อย ประวัติศาสตร์ประเทศบอกชัดว่าไม่ห้ามอุตสาหกรรม แต่ควรมีเกษตรเป็นหลัก แต่พอเลือกแบบนี้ คิดจะกลับไปก็ไม่ได้
แบบนี้ชนบทไทยมีอะไรดีๆ หลงเหลืออยู่บ้าง?
ที่คงอยู่คือทุนทางสังคม เช่น ภูมิปัญญา วัฒนธรรม ที่ต้องเก็บรักษาไว้ให้ได้ เพราะนี่คือจุดเด่นที่ยังพอมีเหลือ และรื้อฟื้นนำไปใช้ได้อยู่ แต่ถ้าไม่สกัดกั้นเชื่อว่าหมดแน่
ในมุมมองอาจารย์ การพัฒนาแบบไหนที่ควรจะเป็น?
การพัฒนาที่ดีที่สุดและยั่งยืนคือ การพัฒนาเกษตรกรรมซึ่งเป็นวิถีแท้จริงของชุมชน แต่เมื่อนโยบายไปเน้นที่อุตสาหกรรม ทำให้วิถีคนเปลี่ยน คนจนยิ่งมีมากขึ้น แต่ต้องดูด้วยว่ามองจากแว่นไหน สำหรับผมคนจนคือเหยื่อของโครงสร้างการพัฒนา สมัยเป็นเด็กคนที่จนคือ 1.ไม่มีนา 2.ไม่วัวขาย แต่นั่นไม่ถือว่าจนทีเดียว เพราะทรัพยากรยังมีเยอะ แต่วันนี้คือจนจริงๆเพราะทรัพยากรไม่มีให้ใช้อีกแล้ว
มีคนบอกว่าอาจารย์เป็น “นักวิชาการสายม็อบ”
ผมมาจากม็อบ เริ่มจากนักวิชาการที่ส่งเสริมให้ภาคประชาชนโตขึ้นเพื่อถ่วงดุลรัฐบาล หรืออีกนัยหนึ่งคือให้ชาวบ้านถ่วงดุลระบบการปกครองระบบตัวแทนที่เบี่ยงเบนมาก เราจึงนิยามการปฏิรูประเทศว่าต้องไม่พูดแต่เรื่องเด่น ให้มองความสำคัญที่ซ่อนเร้นในจิตสำนึกชาวบ้านที่ร้อนและเย็นซึ่งต่างกันเยอะ
การต่อสู้ของชาวบ้านด้วย “ม็อบ” ในสายตาอาจารย์เป็นอย่างไร?
ที่ผ่านมาชาวบ้านมักถูกหลอกให้มีส่วนร่วม แต่รัฐไม่เคยแก้ไขปัญหาให้จริง วิธีการต่อสู้ระหว่างชาวบ้านกับอำนาจโดยใช้ม็อบประท้วงกดดันจึงเกิดขึ้น ผมมองว่านัยยะของม็อบต่างๆอาจต่างกันบ้างตามสภาพการณ์ แต่วิธีจัดการของรัฐเหมือนเดิมคือถ้าม็อบต้องปราบปราม ถ้าพัฒนาต้องโกหก ส่วนการให้แบบสงเคราะห์คือยื้อเวลากันตาย
การชุมนุมทำให้ฝ่ายที่มีอำนาจฟังประชาชน ที่ต้องไปชุมนุมทีละเยอะๆ เพราะไปคนเดียวเขาไม่สนใจ แต่ถ้าไปเป็นกลุ่มจะมีการรับฟัง และมันเกิด “ชุมชนม็อบ” เช่นตอนสมัชชาคนจนไปชุมนุม ชาวบ้านจากกลุ่มปัญหาต่างๆ จากที่ต่างๆกันใช้เวลาอยู่ด้วยกันหลายวัน ได้รู้จักกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุข เป็นเหมือนพี่น้องเป็นเครือข่ายที่พร้อมจะช่วยเหลือกันต่อไป
เป็นไปได้ไหมในสังคมไทย ที่เราจะเห็นปัญหาชาวบ้านได้รับการแก้ไขในระบบสภา?
ชาวบ้านก็คือประชาชน แล้วประชาชนก็มีหลายระดับ ทั้งคนที่มีฐานะดี ปานกลาง และจน ซึ่งการพัฒนาแต่ละระดับก็ต้องค่อยๆทำไป ส่วนตัวก็ยังเชื่อว่าในอนาคตจะได้เห็นการแก้ไขปัญหาชาวบ้านในสภา แต่คิดว่าอีกนาน จะให้เปิดปุ๊บกินได้ปั๊บเหมือนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปคงเป็นไปไม่ได้
อาจารย์นิยามคำว่า “การลดความเหลื่อมล้ำ”อย่างไรบ้าง?
การลดความเหลื่อมล้ำ คือการพูดถึงสาเหตุและกระบวนการที่จะทำให้ชาวบ้านมีปัจจัยการผลิต มีอาชีพ มีระบบการเข้าถึงทรัพยากร มีโอกาสในกระบวนการยุติธรรม ปัจจัยที่จะทำให้ถึงได้มีอย่างเดียวคือรู้สาเหตุแล้วหาวิธีแก้ไขตรงนั้น
คิดว่าอะไรที่ทำให้อาจารย์ได้มานั่งอยู่ใน “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ”(คปร.)
ผมรู้จักกับหมอประเวศ วะสี มานานแล้ว แต่ได้รู้จักกับคุณอานันท์ ปันยารชุน จริงๆเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา (ตอนท่านคิดปฏิรูปประเทศใหม่ๆ) คงเพราะคุณอานันท์ได้เห็นผมทำงานอยู่กับชาวบ้านตลอด พอตั้ง ครป. คุณอานันท์โทรมาหาผมแล้วบอกว่า “บัณฑร ผมอยากจะเรียนเชิญคุณมาร่วมคณะกรรมการเราด้วย” ก็บอกว่าผมยินดีครับ แล้วถามว่าจะให้ผมทำอะไร แล้วพวกเราจะทำอะไรกัน? แกพูดต่อว่า “แต่ผมจะเชิญอาจารย์บัณฑรในฐานะนักนะครับ คุณเป็นนักอะไร ผมก็บอก วิชาชีพเป็นนักสังคมวิทยาชนบท” คุณอานันท์ถามต่อว่า “ได้ข่าวว่าเคยมีประสบการณ์เป็นที่ปรึกษาสมัชชาคนจนมั่งใช่ไหม?” ซึ่งตรงนี้แหละที่คิดว่าเป็นประเด็นที่ทำให้ผมต่างจากคนอื่น เพราะเขาต้องการให้ผมไปทำงานกับพวกม็อบ
มีโมเดลแก้ปัญหาคนรากหญ้าที่อยากจะนำเสนอต่อ คปร.อะไรบ้าง?
ประเด็นคือเราต้องรู้ว่าจะปฏิรูปอะไรก่อน ขณะนี้มีคนพูดเรื่องปฏิรูปเยอะแยะไปหมด แต่ที่เราจะทำคืออยากรู้ว่าเรื่องที่มีผลกระทบกับชาวบ้านมีอะไรบ้าง ความจริงพอมีข้อมูลอยู่ แต่อยากได้เรื่องที่ออกจากปากชาวบ้าน เช่น เรื่องที่ดินกับกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรม จะมีทางออกอย่างไร ก็คิดว่าเรื่องที่ดินต้องมาก่อน แล้วกระบวนการยุติธรรมรองลงมา และค่อยไปจัดการเรื่องหนี้นอกระบบ
เร็วๆนี้น่าจะมีเรื่องการจัดการน้ำและป่าตามมา เช่น ถามว่าชาวบ้านต้องการเขื่อนไหม ชาวบ้านบอกเขาต้องการแต่เป็นขนาดเล็ก ขนาดกลาง ไม่ใช่เขื่อนขนาดใหญ่ อย่าง กรณีแม่น้ำมูนจะเลิกเขื่อนปากมูลหรือไม่ น่าจะต้องทุบเท่านั้น อย่างเขื่อนหัวนาสร้างเสร็จแล้วก็ต้องให้แก้ไข 3 เรื่อง ส่วนเขื่อนที่กำลังสร้างอื่นๆก่อนหน้านี้ได้มีการระงับไว้ว่าต้องผ่านรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) รายงานด้านสุขภาพ(เอชไอเอ) รวมทั้งรายงานผลกระทบด้านสังคม(เอสไอเอ) เพราะต้องทำให้ชุมชนคงอยู่ด้วย
อาจารย์มองปฏิรูปครั้งนี้มีความหวังสักกี่เปอร์เซ็นต์? มีคนมองว่าแค่ซื้อเวลาให้รัฐบาล
มีความหวังมาก แต่ต้องใช้เวลาอย่างต่ำ 20 ปี แต่ว่ามันเกิดขึ้นนะ ค่อยๆเกิด คือถ้าเราบอกว่าอยากให้ได้ 100% ในช่วง 5 ปีแรกอาจจะได้ 20% จน 10 ปี ก็อาจจะเป็น 50% พอ 15 ปีอาจจะได้ 75% แต่ไม่มีอะไร 100% อาจจะได้ซัก 90 หรือ 80% ต่อไป
ที่บอกว่าซื้อเวลานี่เป็นวิธีพูดในแง่การเมือง แต่เรามองว่ากระบวนการแก้ปัญหามันต้องค่อยเป็นค่อยไป แต่ว่าระหว่างนี้มันมีกระบวนการมีความพยายามแก้ปัญหาเกิดขึ้น
มองกรอบเวลา 3 ปีที่รัฐบาลให้ ครป. และ คสป. จะทำอะไรได้แค่ไหน อย่างไร?
เราก็คิดว่าภายใน 3 ปี จะให้กรอบที่เป็นของภาคประชาชนแล้วทำเป็นนโยบายเป็นกฎหมายขึ้นมาที่รัฐบาลไหนเข้ามาต้องทำตาม ตอนนี้ชักจะมอกออกแล้วว่าแผนการทำงานจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างไร แต่ตอนนี้มันยังไม่มีส่วนร่วมเพราะมันยังเป็นการทำงานจากด้านบนลงล่างอยู่
ชาวบ้านหลายคนยังไม่ค่อยเชื่อมั่น คปร.-คสป. จะทำยังไงดี?
คุณอานันท์พูดว่าไม่ต้องทำอะไร เราก็ทำงานไป ทำให้เขาเห็น อย่าไปต่อล้อต่อเถียง ถ้าต่างฝ่ายต่างด่ากันอยู่ตลอด ก็ไม่ต้องทำงานกันพอดี
มีกระบวนการปฏิรูปประเทศแล้ว ม็อบชาวบ้านยังจำเป็นต้องเกิดขึ้นอีกหรือเปล่า?
ขณะนี้รอกันอยู่แล้วแต่ยังไม่เคลื่อน เพราะติด พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งออกมาตอนแรกมีความหมายแค่จับเสื้อแดงเท่านั้น แต่ตอนนี้ชาวบ้านไม่มีสีที่เรียกร้องให้แก้ไขความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมก็ถูกหางเลขไปด้วย อย่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ถ้าออกมาโดนคัดค้านแน่ แต่มันเป็นประเด็นการเมือง ใครอยู่กับอำนาจรัฐก็ใช้ตรงนั้นแหล่ะ ผมว่าม็อบชาวบ้านเรียกร้องความเป็นธรรมก็ยังจำเป็นนะ
นอกจาก คปร. ตอนนี้อาจารย์ทำงานพัฒนาอะไรบ้าง?
อย่างเรื่องประเมินผลการพัฒนาและการทำวิจัยแบบมีส่วนร่วม เช่นเรื่อง “การพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้สำเร็จหรือไม่” ที่ จ.ร้อยเอ็ด ที่เป็นต้นแบบที่ชัดเจน ให้คนเกี่ยวข้องมาประเมินตัวเองและประเมินซึ่งกันและกัน ทั้งชาวบ้าน นักพัฒนาภาคสนาม ผู้บริหารโครงการ วิธีการแบบนี้ทำให้ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายว่าโครงการดังกล่าวสำเร็จหรือไม่
“คปร.สายรากหญ้า” ฝากถึงสังคมให้มองผ่านความขัดแย้ง ตั้งโจทย์ใหญ่ให้สังคมเหลื่อมล้ำน้อยที่สุดยุติธรรมมากที่สุด “การจะมาพูดถึงรายละเอียดของสังคมสันติสุขนั้นไกลเกินไป ถ้าพูดประเด็นใหญ่ ก็ไม่ต้องพูดประเด็นเล็กอีก เพราะนั่นเป็นคำตอบของปัญหาทั้งหมดแล้ว” อ.บัณฑร อ่อนดำ กล่าวทิ้งท้าย.
ภาพประกอบบางส่วนจาก : รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน