“พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์” ผู้ ปสง.เครือข่ายที่ดินฯ ชี้ปฏิรูปบนความจริงจึงเห็นแสงสว่าง
“การจัดการที่ดินที่เป็นธรรม” เป็นประเด็นหลักหนึ่งในการปฏิรูปลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม 24-25 มิ.ย.รัฐเพิ่งเปิดทำเนียบฯจัดสมัชชาที่ดินทั่วประเทศ และมีท่าทีขานรับข้อเสนอภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน ตั้งองค์การธนาคารที่ดิน ผลักดันภาษีที่ดิน โต๊ะข่าวเพื่อชุมชนสัมภาษณ์ “พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์” ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ว่า“เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” บ้างแล้วหรือยัง?
ในบรรดาประเด็นปฏิรูปสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ปัญหาป่าไม้ที่ดิน ดูจะเป็นเรื่องหลักเรื่องหนึ่งที่ต้องยอมรับคือพี่น้องเสื้อแดงเป็นผู้จุดประเด็นให้สังคมเห็นปัญหาเกษตรกร รายย่อย คนชั้นล่างว่าได้รับความไม่เป็นธรรมและมีความเหลื่อมล้ำ ประเด็นที่พูดกันมากคือเรื่องที่ทำกิน เพราะประชากร 65 ล้านคนทั่วประเทศ มี 39.75 ล้านหรือ40% เป็นเกษตรกร ซึ่งมีวิถีที่ต้องใช้ที่ดินเป็นแหล่งรายได้ หากไร้ที่ดินก็ไร้รายได้ ดังนั้นคนที่เดือดร้อนจึงเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดในสังคม ซึ่งเราอาจมองเห็น เขามาที่กรุงเทพฯเป็นครั้งคราว ล่าสุดมาเป็นกลุ่มใหญ่เพื่อบอกกับทุกคนว่ามีความไม่เป็นธรรมเหลื่อมและต้อง การให้แก้ไข
เรื่องนี้เป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องแก้เชิงโครงสร้าง เพราะที่ดินเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ถ้าชาวบ้านมีที่ดินก็ลืมตาอ้าปากได้ และถ้าใช้ภาษีที่ดินเป็นกลไกก็ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้
อยากให้ขยายความภาพสะท้อนของความเหลื่อมล้ำ
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2549 จำนวนครัวเรือนเกษตรกรทั่วประเทศมีที่ดินต่ำกว่า 10 ไร่ คือตั้งแต่ไม่มีเลยจนถึงแค่ประมาณ 9 ไร่ 40% เกือบครึ่งของประเทศ ดูเหมือนว่าแนวโน้มที่ดินจะลดลงเรื่อยๆ ทั้งที่เราเป็นสังคมเกษตรกรรม ทุกคนควรมีที่ดินเป็นของตัวเอง เป็นเพราะการพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งทำให้เกษตรกรถูกเบียดเบียน ผลักให้เกษตรกรจำนวนมากกลายเป็นแรงงานรับจ้าง
ผลการศึกษาโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พูดเรื่องความเหลื่อมล้ำของคนที่ถือครองที่ดินเฉพาะใน กรุงเทพฯ เทียบจาก 50 คนแรกที่ถือครองที่ดินมากที่สุดกับ 50 คนสุดท้ายที่ถือครองที่ดินน้อยที่สุด พบความแตกต่างประมาณ 290,000 เท่า ยังไม่รวมต่างจังหวัด ตัวเลขนี้ชี้ให้เห็นว่าไม่มีใครสนใจปัญหาที่ดิน หรือความไม่เท่าเทียมระหว่างคนกับคนรวย
รบกวนช่วยประมวลปัญหาที่ดินโดยภาพรวม ตั้งแต่ช่วงแรกๆ กระทั่งเกิดกระแสปฏิรูป
ปัญหาที่ดินเอกชนที่มีเอกสารสิทธิ์ ไม่มีระบบภาษีที่ดิน คนรวยจึงซื้อเก็บไว้เก็งกำไร โดยเฉพาะยุคทองปี 2534-2535(สมัยรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุนหะวัณ) ซึ่งยึดนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ที่ดินเป็นสินค้าที่นายทุนกว้านซื้อมหาศาล ปั่นจนราคาสูงเอาเข้าธนาคาร พอปี 2540 ฟองสบู่แตก ที่ดินที่ค้างในธนาคารไม่มีใครนำออกเพราะราคาจำนองสูงกว่าที่ดิน สุดท้ายก็กลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่าหรือเอ็นพีแอล
ปัญหาที่ดินรัฐ เริ่มตั้งแต่ พ.ร.บ.ที่ดิน ซึ่งคุกคามวิถีชีวิตชนบท นิยามว่าที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ชัดเจนเป็นที่ดินรัฐ จากนั้นก็มี พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ 2507, พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ 2504 ประกอบกับขณะนั้นรัฐประกาศนโยบายรัฐบาลสีเขียวให้กันพื้นที่เป็นป่าอนุรักษ์ 25% ป่าเศรษฐกิจ 50% ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติก็สนองความต้องการประกาศไปทับซ้อนพื้นที่ทำกินชาวบ้าน จนปัญหายืดเยื้อมาถึงทุกวันนี้
โดยรูปธรรรมแล้ว หลักๆตอนนี้เรื่องที่ดินมีปัญหาอะไรบ้าง
1.ปัญหาด้านกฎหมายที่ไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริงแล้วกดทับไป ทั่วประเทศ ไม่คำนึงถึงจารีตประเพณีกฎเกณฑ์ของชุมชนท้องถิ่นซึ่งสามารถ อนุรักษ์ป่าได้ แต่กลับใช้มาตรฐานเดียวบังคับและจับกุม 2.ระบบราชการหรือ ผู้บังคับใช้กฎหมายไม่เป็นธรรม ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือนโยบายรัฐ เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปล่อยให้คนรวยเบียดลุยคนจน มีการเอกสารสิทธิ์ปลอมเต็มไปหมด ตรงนี้ต้องปฏิรูประบบราชการ 3.รัฐไม่มี ความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาจริง เหมือนแก้ไขเฉพาะหน้า เพื่อสร้างภาพบอกประชาชนว่าแก้ปัญหาแล้ว ทั้งที่ยังไม่คืบหน้าในทางปฏิบัติ 4.คน จนเข้าไปถึงกระบวนการยุติธรรม ถูกจับแล้วไม่รู้จะทำอย่างไร พอ ตัดสินศาลก็ฟังแต่กฎหมายแล้วเชื่อว่าคนพวกนี้บุกรุกจริง ตัดสินให้มีความผิดต้องจ่ายค่าปรับ โดยไม่ฟังเลยว่าวิถีปกติของคนที่เดินเข้าออกป่าเป็นอย่างไร
ดูเหมือนชาวบ้านถูกฟ้องร้องคดีที่ดินเยอะ ช่วยเล่าภาพรวมให้ฟังด้วย
เฉพาะในเครือข่ายฯ มีประมาณ 84 คดีทั้งแพ่งและอาญา รวม 500 รายทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ภาคเหนือประมาณ 200 ราย อีสาน 95 รายที่ ที่เหลือภาคใต้และภาคกลาง คดีอาญาส่วนใหญ่คือบุกรุกที่รัฐ ป่าสงวนฯ อุทยานฯ เมื่อไปแย้งราชการก็บอกให้พิสูจน์สิทธิ์ด้วยแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งเราไม่ค่อยเห็นด้วยเพราะกระบวนการแบบนี้พิสูจน์เมื่อไหร่ก็แพ้ เพราะสมัยก่อนชาวบ้านไม่สนใจเรื่องเอกสาร เขาถือตามสิทธิจับจองพื้นที่ทำกิน แล้วแผนที่ปัจจุบันก็เชื่อถือไม่ได้ แต่หน่วยราชการก็ยังยืนกระต่ายขาเดียวทำ ส่วนคดีแพ่งส่วนใหญ่เป็นคดีทำให้โลกร้อน ชาวบ้านถูกขับออกจากที่ทำกิน ต้องจ่ายค่าปรับไร่ละ 150,000 บาท
ตัวอย่างนางกำจายมีที่ดิน 8 ไร่ต้องจ่าย 1,600,000 บาท แล้วจบ ป. 4 ไม่รู้กระบวนการยุติธรรม เขาทำอะไรไม่ได้ ตกใจร้องไห้อย่างเดียว เมื่อไม่รู้จะต่อสู้อย่างไรศาลกลับบอกว่ายอมรับความผิด ยึดเงินในบัญชีที่มีแค่ 170 บาทไป ซ้ำบอกว่าถ้าไม่จ่ายต้องเสียดอกเบี้ยปีละ 7.5% กระบวนการยุติธรรมในสังคมไทยไม่เคยเข้าใจสภาพความเป็นจริงในพื้นที่
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ช่วยเหลือชาวบ้านอย่างไรบ้าง
ตอนนี้เครือข่ายมีพี่น้องอยู่ 27 จังหวัดทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นคนที่ถูกย่ำยีรังแก ถูกนายทุนกว้านซื้อที่ดิน บางครั้งโครงการรัฐเองเป็นผู้กระทำ เช่น โครงการปลูกป่ายูคาลิปตัสขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้(ออป.) ซึ่งจู่ๆก็ประกาศทับที่ชาวบ้านกว่า 4,000 ไร่ แล้วขับชาวบ้านออกโดยใช้กำลัง ตาสีตาสาไม่กล้าสู้ต้องยอมถอย และมองคนอื่นปลูกยูคาลิปตัสบนที่ทำกินตัวเอง ส่วนความช่วยเหลือของเครือข่ายฯ ถ้าเป็นคดีความ เป็นคดีอาญาอยู่ในชั้นศาลจะมีทนายประจำแต่ละภาคและส่วนกลาง รวมทั้งสภาทนายความคอยช่วย เราก็พยายามขอเงินสนับสนุนจากกองทุนยุติธรรมช่วยค่าใช้จ่าย แต่ยังไม่คืบ แต่กรณียังไม่โดนคดีจะเบรกโดยชุมนุมกดดันในระดับจังหวัดขอให้ผู้ว่าฯไม่ทำ สำนวนส่งอัยการ แต่ถ้าถึงชั้นอัยการจะมีหนังสือถึงนายกฯ ขอผ่อนผันให้ชาวบ้านอยู่ในพื้นที่จนกว่าจะพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้
มีข้อเสนอรัฐบาลในเวทีสมัชชาที่ดินที่ทำเนียบรัฐบาล 24-25 มิ.ย. ที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง
เครือข่ายฯผลักดันปัญหาเสนอรัฐบาลตั้งแต่ปี 2549 เพื่อบอกรัฐว่ามีเรื่องใดที่ก้าวหน้าและเรื่องใดต้องเร่งรัด ที่เห็นชัดคือโฉนดชุมชนที่เป็นเครื่องมือรองรับสิทธิชุมชนให้กระจายอำนาจและ จัดการที่ดินกันเอง แต่เราเกรงว่าจะบิดเบือนจึงต้องเข้าไปตรึงพื้นที่ไว้ก่อน โดยเฉพาะประเด็นที่ยังไม่สามารถประกาศโฉนดชุมชนในพื้นที่ของ ทส.ได้ ถ้ารัฐไม่เด็ดขาดเรื่องนี้เป็นไปได้ยากมาก ส่วนพื้นที่นำร่องทั่วประเทศที่เสนอให้ทำ ทุกแห่งชาวบ้านมีสิทธิชอบธรรมที่จะอยู่ไม่ได้โกงมา และยินดีให้ตรวจสอบได้
อีกเรื่องคือรัฐต้องนำร่างธนาคารที่ดินของประชาชนผลักดันเป็น พ.ร.บ. ธนาคารที่ดิน สนับสนุนงบ 5,000 ล้านบาท ไปสำรวจและซื้อที่ดินรกร้างว่างเปล่ามาจัดสรรให้คนจนมีสัดส่วนที่ดินทำกิน สูงขึ้น โดยล่าสุดได้เสนอพื้นที่นำร่อง 5 แห่งในเชียงใหม่ ลำพูน นอกจากนี้ต้องเร่งภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อจะได้หักภาษี 2% สมทบในกองทุนธนาคารที่ดิน เหมือนการเก็บภาษีคนรวยมาช่วยคนจน
รัฐบาลชุดนี้ก็ชูเรื่องโฉนดชุมชนเป็นนโยบายมาตั้งแต่แรกๆ ไม่ใช่หรือ
เรียกว่าไม่มั่นใจเลยดีกว่า เพราะทุกอย่างตอนนี้อยู่บนแผ่นกระดาษ แม้จะเห็นความคืบหน้าบ้าง แต่ยังไม่เห็นรูปธรรม รัฐต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าจะบังคับให้หน่วยงานทำตามนโยบายอย่างไร เรามีแนวทางที่ชัดเจนแล้วแต่ไม่เห็นรูปร่าง ง่ายๆ คือถ้ารัฐตัดพื้นที่นำร่องซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทออก เราจะไม่ร่วมกับรัฐบาล เพราะหากจะทำแค่ในพื้นที่ง่ายๆ แต่ความเดือดร้อยลุกลามไปทั่วก็เหมือนแค่สร้างภาพไม่ได้ตั้งใจจริง
จัดลำดับความสำคัญของปัญหาอย่างไร แล้วอะไรเป็นเรื่องเร่งด่วน
เรื่องแรกต้องปลดล็อคหนี้สินและชีวิตชาวบ้าน ไม่ให้ระเบียบที่สวยหรูมาจับกุมชาวบ้าน ต้องมีแนวทางผ่อนผัน กระบวนการทางศาลต้องเข้าใจและผ่อนปรนเป็นกรณีพิเศษ รัฐต้องมีคำสั่งชัดเจนว่าไม่มีประสงค์จะดำเนินคดีชาวบ้าน และสร้างกระบวนการขึ้นมาตรวจสอบข้อมูลร่วมกันระหว่างรัฐกับประชาชนจึงค่อย ตัดสิน ส่วนที่ 2 คือการเดินหน้าโฉนดชุมชนให้เป็นไปตามเจตนารมณ์เดิมไม่บิดพลิ้ว และตั้งธนาคารที่ดินสำรวจพื้นที่ จัดสรรให้คนไร้ที่ทำกิน สุดท้ายคือการผลักดันกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ทำทุกอย่างเป็นแพ็คไปพร้อมกัน แก้ปัญหาได้ครบวงจร
มีความหวังมากน้อยแค่ไหนเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะการปฏิรูปที่ดิน
ถ้าให้ชาวบ้านซึ่งมีประสบการณ์น้ำตาตกเลือดกระเด็นมารวมกันทำกระบวนการที่ เป็นอิสระถ่วงดุลและตรวจสอบรัฐบาล ใช้พลังกดดันอาจเป็นจริงได้มากกว่า แต่ถ้าใช้กระบวนการที่ผ่านมาบอกตรงว่าไม่เห็นความหวัง การปฏิรูปที่ดินต้องทำทุกอย่างชัดเจนจึงเชื่อมั่นได้ เพราะที่ชาวบ้านรู้สึกคือรัฐเป็นกลุ่มคนที่ห่างไกลเหลือเกิน วิธีเดียวที่ทำได้คือการชุมนุมกดดัน นั่นเป็นที่มาว่าทำไมเราคัดค้าน พ.ร.บ. การชุมนุม
นิยามความหมาย “การจัดการที่ดินที่เป็นธรรม” คืออะไร ต้องมีลักษณะอย่างไร
ความเป็นธรรมคือความเป็นจริงในสังคม การจัดการที่ดินที่เป็นธรรมจึงต้องอยู่บนพื้นฐานสภาพสังคมไทย สภาพชนบท มีการรับรองสิทธิตามจารีตประเพณีวัฒนธรรมวิถีดั้งเดิมที่เดินเข้าออกใช้ ชีวิตอยู่กับป่าตามความจริง อีกนัยยะคือเขาอยู่มาก่อนประกาศเขตอุทยานฯและเขตป่า ชาวบ้านมีสิทธิที่จะผลิตหรือใช้ประโยชน์จากป่าโดยรัฐต้องคุ้มครองและโอบอุ้ม ให้ดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข
แต่ที่ผ่านมารัฐยังไม่ได้ทำหน้าที่นั้นเพราะทำตามกฎหมายที่ออกมาละเมิดสิทธิ ชาวบ้าน หรือมีกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม มีนโยบายการจัดที่ดิน ป่าไม้ การบังคับใช้ที่ไม่เป็นธรรมตามความจริง
หากจะทำการปฏิรูปที่ดินปฏิรูปสังคม ต้องยอมรับความผิดพลาดในอดีต และพร้อมที่จะทบทวนแก้ไข รับรองสิทธิประชาชน กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการตนเอง เมื่อยอมรับความจริงได้ จึงเดินหน้าสร้างความเป็นธรรมอย่างแท้จริงได้.