“ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ” ชี้ก่อนก้าวข้ามประชานิยมสู่รัฐสวัสดิการ ต้องผ่าน"สังคมสวัสดิการ"
ขณะที่บ้านเมืองกำลังตื่นตัวกับกระแสปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปสังคม ร้ฐบาลชูเป็นนโยบายติดเกียร์เดินหน้า ภาคประชาชนนำเสนอแนวคิดวิธีปฏิบัติกันอย่างคึกคัก โต๊ะข่าวเพื่อชุมชน สัมภาษณ์ รศ.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ นักเศรษฐศาสตร์การเมือง ผู้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำทางสังคมเหมือนด้ายพันกัน ต้องตัดทั้งปมแล้วสะบัดออก ชี้ก่อนถึงรัฐสวัสดิการต้องผ่านสังคมสวัสดิการ มองคนชั้นกลางรูปแบบใหม่ต้องดึงมือคนจนและขาคนรวยร่วมแก้ปัญหาชาติจึงจะผ่าน วังวนวิกฤติไปสู่ความหวังใหม่ของสังคมไทยได้อย่างที่คาดหวัง
อาจารย์บอกมองระบบการศึกษาไทยแล้วการปฏิรูปประเทศคงยาก อยากให้ขยายความ
ทุกวันนี้คนไทยกว่า 25 ล้านคนยังไม่มีโอกาสจบประถมศึกษาเลย ความเหลื่อมล้ำทางความรู้มันห่างกันมากเกินไป ยกตัวอย่างว่านักการเมืองคนนี้เลวมากเพราะปั่นหุ้น ถามว่าชาวบ้านเข้าใจหรือเปล่าว่าปั่นหุ้นคืออะไร มันเป็นความจริงว่าความซับซ้อนของทุนนิยมโลกาภิวัตน์ไม่ใช่ใครๆก็จะเข้าใจ ได้ ชาวบ้านไม่เข้าใจว่าปั่นหุ้นส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยรวมอย่างไร แต่ความเหลื่อมล้ำทางความรู้ก็ไม่ได้จำกัดว่าคุณจบปริญญาตรีหรือประถมน่ะ มันอยู่ที่คุณเข้าใจหรือเปล่า
เป็นไปได้ไหมว่าเราจะได้เห็นปัญหาหลักของสังคมไทยถูกแก้ไขในระบบ รัฐสภา
มันไม่มีหลักประกันอะไรว่ารัฐสภาจะแก้ปัญหาได้ ต้องถามว่าความเลื่อมล้ำมีองค์ประกอบอะไรบ้าง ถ้ามันเป็นความเลื่อมล้ำด้านการรับรู้และความเข้าใจก็นำไปสู่ประเด็นที่ว่า ไม่มีหลักประกันว่าคนที่นั่งอยู่ในสภาจะไปแก้ปัญหาชาวบ้านได้ เพราะไม่เคยคิดว่าอาการหรือโรคที่แท้จริงคืออะไร สนใจแต่จะบำบัดอาการชั่วคราวอย่างอย่างไรเท่านั้นเอง เช่น เราปวดหัวเพราะเป็นเนื้องอก กินพารามันจะหายหรือ เขาก็ให้พาราอยู่นั่นแหละ ทุเลาอาการได้ 3 ชั่วโมง พอชั่วโมงที่ 4 ก็กำเริบอีก แล้วประเทศไทยตอนนี้มี นักการเมืองคนไหนบ้างคิดแก้ปัญหาระยะยาว คิดกันแต่ปีนี้จะอยู่ครบ 12 เดือนหรือเปล่าก็ยังไม่รู้ เอาพาราไปกินก่อนแล้วกัน ปีหน้าถ้าได้เจอกันก็แจกพาราอีกเม็ด คนกินก็ชอบเพราะอย่างน้อยหายปวดไป 3 ชั่วโมง แต่ก็ต้องตายเพราะไม่ได้รับการรักษา ทุกวันนี้จะตายกันอยู่แล้วยังไม่เข้าใจ
ตอนนี้เกิดกระแสปฏิรูปสังคมอย่างที่ไม่เคยมาก่อน อาจารย์มองตรงนี้อย่างไรบ้าง
เวลาเราพูดเรื่องปฏิรูปสังคม เราขาดคนมองเชิงระบบ สมมติว่ามี ด้ายพันกันอีรุงตุงนัง คุณมานั่งแก้ทีละเปราะ ยิ่งแก้ยิ่งยุ่งหรือเปล่า แต่ถ้าตัดปมใหญ่ที่หมายถึงความเลื่อมล้ำออกแล้วจับมาสะบัดๆที่พันกันอยู่มัน ก็ออกเอง ตอนนี้มีแต่บอกว่าต้องแก้โน่นแก้นี่ แล้วมีกี่พันกี่ร้อยกรณีล่ะ ที่จริงแล้วความเลื่อมล้ำมันมีอยู่แค่ 4 กรณีเอง คือ 1.ความเลื่อมล้ำทางอำนาจ 2.ความเลื่อมล้ำทางรายได้ 3.ความเลื่อมล้ำทางปัญญาและความรู้ 4.ความเลื่อมล้ำทางศักดิ์ศรี พูดเป็นภาษาชาวบ้านง่ายๆว่า รายได้ โอกาส อำนาจ ศักดิ์ศรี ถ้าตัดปม 4 ตัวนี้ได้คือทำอย่างไรให้คนไม่ต่างกันมาก ปรับสมดุลให้ใกล้เคียงกันได้ ทุกอย่างก็แก้หมด การเมืองคือการใช้อำนาจในการจัดสรรผลประโยชน์ ไม่ใช่แค่การเลือกตั้งเหมือนที่มองกัน แล้วมันเกิดอะไร พอเข้าไปในสภาก็ใช้อำนาจจัดสรรผลประโยชน์ให้พวกพ้อง แล้วก็เหลือนิดหน่อยตกมาให้ชาวบ้าน แต่ถ้าชาวบ้านรู้ว่าการเมืองคืออะไร ก็จะเรียนรู้ที่จะใช้อำนาจเพื่อต่อรองปกป้องรักษาประโยชน์ให้ตัวเอง ต้องถามกลับไปว่าทำไมวันนี้ชาวบ้านยังไม่รู้จักใช้สิทธิตรงนี้
มีความหวังมากน้อยแค่ไหน ที่กระแสตรงนี้จะนำพาประเทศออกจากวังวนวิกฤติ
ถ้าปรับสมดุล 4 เรื่องนี้อย่างครบวงจร คือเริ่มทำทุกเรื่องไปพร้อมๆกัน เช่น หากจะปรับเรื่องรายได้ก็ต้องมีโอกาสทางอาชีพ อีกอย่างที่สำคัญคือการรวมตัวระหว่างคนจนกับคนชั้นกลางสร้างพลังให้ได้ พลังที่ว่าคือพลังของมนุษย์ คือ 1.พาหุพลัง คือพลังจากแขนขาร่างกายและอาวุธ 2.โภคาพลัง คือพลังทุนพลังทรัพย์สิน 3.ปัญญากำลัง คือพลังความคิดอ่าน 4.ปัญญาการจัดการจัดตั้ง และ 5.พลังความสามัคคี คำถามคือตอนนี้เรามีพลังเหล่านั้นหรือยัง
อาจารย์มองประชานิยมกับรัฐสวัสดิการที่ถูกหยิบยกมาพูดในการปฏิรูปอย่างไร บ้าง
ประชานิยมที่ทำอยู่คือการทำให้ประชาชนนิยมตัวเอง โดยวิธีที่ง่ายที่สุดคือการแจกวัตถุ หรือทำให้คนรู้สึกว่าได้รับการบำบัดชั่วคราว ซึ่งผิดไปจากความหมายดั้งเดิมคือนิยมประชาชนหรือการพิจารณาว่าสิ่งใดที่ชาว บ้านควรได้ ซึ่งต้องดูด้วยว่าวิธีการที่รัฐใช้ ตอบโจทย์ของปัญหาหรือไม่ อย่างเรื่อง โฉนดชุมชน ไม่ใช่ประชานิยมเพราะเป็นสิทธิที่ประชาชนควรได้รับและรัฐต้องจัดสรรให้อยู่ แล้ว เนื่องจากที่ดินเป็นของส่วนรวมจัดสรรให้ใช้ร่วมกันไม่ใช่ยกให้ในนามปัจเจก ไม่ต่างกับกองทุนการออม เพราะเป็นเรื่องของแต่ละคนที่ต้องออมเพื่อตัวเอง หรือ ประกันรายได้เกษตรกรก็เช่นกัน
แต่ถ้าเป็นกรณีเช็ค 2,000 อย่างนี้เรียกประชานิยม เพราะแจกรายหัวกระตุ้นการซื้อ สุดท้ายกำไรก็ตกกับผู้ประกอบการ แต่กรณีหนี้ นอกระบบเป็นข้อยกเว้น เพราะมีนัยยะทางเงื่อนไขการเป็นหนี้มาเกี่ยวข้อง เช่น ถ้าเป็นหนี้เพราะภัยธรรมชาติอย่างนี้นิยมประชาชน ถ้าเกิดจากภาวะเกินตัวแบบนี้เรียกประชานิยม
มองภาพรวมนโยบายประชานิยมแก้ปัญหาชาวบ้านชนบทได้จริงหรือแค่สร้างภาพ
นโยบายส่วนใหญ่ที่ผ่านๆมายังขาดการวิเคราะห์ เพราะว่ากว่ารัฐจะวิเคราะห์เสร็จอำนาจที่มี 2 ปีก็หมดแล้ว จึงเป็นที่มาว่ารัฐมักใช้จะใช้วิธีการให้ยาพาราไปก่อน เพราะคนกินแล้วดีขึ้น แต่สักพักก็ปวดอีก พอรัฐบาลใหม่มาก็ยังใช้วิธีแบบเดิมปล่อยให้ชาวบ้านติดยาแก้ปวดไป
ส่วนสร้างภาพคือไม่ได้ทำจริง แต่ที่เป็นอยู่ตอนนี้คือเขาทำแต่ทำแล้วไม่ได้อะไร สำหรับผมการสร้างนโยบายที่หวังเรียกคะแนนให้ตัวเองเหมือน“หมอจ่ายยาแก้ ปวด” เพื่อบรรเทาอาการทั้งที่รู้ว่ารักษาโรคไม่ได้ ซึ่งทุกรัฐบาลไม่เคยมีหมอผ่าตัดและไม่พร้อมจะเป็นเพราะต้องใช้เวลานาน ชาวบ้านซึ่งเป็นผู้ป่วย ต้องรู้จักเลือกหมอเอง
ชาวบ้านยังชอบกินยาแก้ปวดหรือประชานิยม ตรงนี้จะทำอย่างไร
อันดับแรกต้องสร้างความเข้าใจให้ชาวบ้านรู้ว่าสามารถรักษาโรคให้หายได้โดย ไม่ต้องกินยาแก้ปวด ส่วนคนที่เป็นหมอก็ต้องรักษาที่สาเหตุ วิเคราะห์ว่าอาการที่เป็นอยู่เกิดจากอะไร ดูว่าปัญหาหลักของสังคมคืออะไร ถ้าพูดว่าเป็นเรื่องความจนก็ต้องถามต่อไปว่าที่จนจนเพราะอะไรแล้วค่อยแก้ตรง นั้น
บางคนอยากให้หมอผ่าตัดมาจากภาคประชาชน
ชาวบ้านอาจทำเองไม่ได้ แต่สามารถกดดันให้รัฐทำหรืออาจกลั่นกรองได้ว่าใครควรทำ ซึ่งคนที่เหมาะสมตามทฤษฎีของผมคือคนชั้นกลางรูปแบบใหม่หรือมนุษย์เงินเดือน ทั้งหลายที่พอกินพอใช้ มีเวลาพอที่จะคิดอ่านเรื่องบ้านเมือง ไม่ซื้อสิทธิ์ขายเสียง สามารถคิดเท่าทันคนรวยเพราะการศึกษาไม่ต่างกันมาก สำคัญคือไม่มีเรื่องผลประโยชน์มาพัวพัน คนชั้นกลางรูปแบบใหม่จะเป็นตัว ปรับสมดุลที่ดึงมือคนจนและขาของคนรวยให้เข้ามาร่วมคิดร่วมแก้ปัญหา
ทุกวันนี้คนจนเลือกคนรวย เพราะคนรวยแจกเงินเขา โดยที่ไม่รู้ว่าคนที่แบกรับภาษีมากที่สุดคือคนชั้นกลาง ใน 100% มีคนรวยแค่ 10% แต่ซื้อคนจนอีก 60 % ไปเป็นพวกคอยล้อมรั้วให้ คนรวยดึงคนจนด้วยเงิน คนชั้นกลางดึงด้วยความคิด สร้างผลประโยชน์ร่วมกัน ยกตัวอย่างถ้าคนชั้นกลางรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานเพื่อเป็นเครื่องมือให้คนจน ต่อรองกับนายจ้าง คนจนก็พร้อมจะหันมาทางคนชั้นกลาง
อาจารย์คิดอย่างไรกับการก้าวข้ามประชานิยมไปสู่รัฐสวัสดิการ
ถ้าเป็นรัฐสวัสดิการจะหมายถึงสวัสดิการทุกอย่างต้องมาจากรัฐ ซึ่งยังเสี่ยงต่อการเป็นประชานิยม กว่าประเทศหนึ่งๆจะสร้างรัฐสวัสดิการได้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 20 ปีโดยที่ประชาชนต้องมีจิตสำนึกในการจ่ายภาษีด้วย แต่บ้านเราเรียนรู้แต่จะเลี่ยงภาษี ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก คนรวยก็ไม่เอาด้วย รัฐสวัสดิการแปลว่าทุกอย่างฟรีหมด แล้วถามว่ารัฐจะเอาเงินมาจากไหนถ้าไม่ใช่ภาษี ขณะนี้มีคนจ่ายภาษีแค่ 9 ล้านคนเพื่อไปดูแลคนอีก 67 ล้านคน พอหรือไม่
รัฐสวัสดิการต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากทำสังคมสวัสดิการก่อน คือการทำให้ทุกส่วนในสังคมร่วมมือกันสร้างภาวะกินดีอยู่ดี ใครทำอะไรได้ก็ทำตรงนั้น เช่น รัฐมีหน้าที่ประชาสงเคราะห์ ทำสวัสดิการเพื่อบริการสังคม ธุรกิจมีหน้าที่ดูแลสวัสดิการลูกจ้าง ให้เบี้ยครองชีพ โบนัสตามภาระงานของนายจ้างที่ดี ขณะที่ภาคประชาชนก็มีหน้าที่ดูแลตัวเอง สร้างสวัสดิการชุมชน ซึ่งทั้งหมดทำเองได้ ไม่ต้องอาศัยภาษีมาก และเริ่มได้ตั้งแต่ตอนนี้ จากนั้นค่อยทำให้ทุกคนมีรายได้พอที่จะจ่ายภาษี
ในมุมมองของเศรษฐศาสตร์การเมือง สังคมสวัสดิการแก้ปัญหาชุมชนอย่างไร
ถ้าทำให้ถ้วนหน้าได้จะเป็นกลไกปรับวิถีชุมชน เช่น ถ้าชาวบ้านมีเงินออม รายจ่ายก็ลดลง การเข้าถึงแหล่งทุนก็ง่ายขึ้น ถ้าเราใช้ทุนในการทำมาหากินหนี้สินก็น้อยลง โอกาสตกอยู่ในความทุกข์ก็น้อยลงด้วย หรือถ้าสร้างสวัสดิการบนฐานทรัพยากร เช่น ป่าชุมชน อาศัยเก็บเห็ดหญ้าแลกกับการดูแลป่า ดูแลน้ำ ก็ช่วยลดรายจ่ายเพราะมีรายได้จากธรรมชาติ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ลง เมื่อไม่เดือดร้อนนักการเมืองก็ซื้อไม่ได้ ชาวบ้านจะกลายเป็นผู้เลือกตัวแทนที่มาดูแลเขาได้จริงๆ ลดความเหลื่อมล้ำทางอำนาจได้อีก สมดุลก็จะกลับคืนมา
ปัญหาความเหลื่อมล้ำ สองมาตรฐาน ที่พูดกันอยู่ตอนนี้ ควรจะแก้อย่างไร
เริ่มต้นจากการทำให้ชาวบ้านรู้เท่าทันก่อน เพื่อจะได้เริ่มนับหนึ่งสองสามง่ายขึ้น ถ้าเป็นเชิงระบบก็คือหน้าที่ของด้านการศึกษา แต่ที่ผ่านมายังสร้างตรงนี้ไม่ได้ ดังนั้นคนที่เริ่มรู้หรือปัญญาชนต้องเป็นผู้เริ่มทำ ลุกขึ้นมาโวยวายในสังคมก่อนและประสานกลุ่มอื่นเข้ามา ขั้นที่สองคือต้องรวมกลุ่มสร้างความกล้าลดความกลัวและกล้าเสี่ยง เพื่อท้ายที่สุดชาวบ้านจะเองกลายเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางสังคมโดยไม่ต้อง รอใคร
ถ้าปัญหาปากท้องชาวบ้านได้รับการแก้ไข ประชาธิปไตยจะเดินหน้าใช่หรือไม่
จริงๆระหว่างประชาธิปไตยกับปากท้องต้องเดินไปด้วยกัน เพราะประชาธิปไตยเป็นอำนาจของประชาชนที่สามารถนำไปใช้ในการจัดสรรผลประโยชน์ ให้ตัวเองได้ แก้ปัญหาปากท้องได้
ส่วนการเยียวยาชาวบ้านเสื้อแดงท่ามกลางความบอบช้ำของสังคม นักเศรษฐศาสตร์การเมืองอย่างอาจารย์ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ มองว่า “หลักการของเสื้อแดงอาศัยความเหลื่อมล้ำเป็นปุ๋ย ต้นพืชเลยงอกงาม ถ้าทำลายปุ๋ยเสียต้นพืชจะแคระแกร็น แล้วค่อยคิดว่าจะปลูกพืชอะไร”
และถ้าเชื่อเรื่องประชาธิปไตยต้องเชื่อในพลังประชาชน เลิกคิดถึงรัฐ เพราะรัฐเป็นแค่เครื่องมือของประชาชน จุดแข็งของชนชั้นกลางและชนบทคือจำนวน ถ้าชนชั้นกลางที่มีอยู่ 30% แย่งคนจนจากอำนาจเงินของคนรวยมาได้สัก 25% แค่นี้ก็มีแรงมากพอที่จะบีบรัฐแล้ว .