“สมบุญ ศรีคำดอกแค” ประธานเครือข่ายผู้ป่วยฯ สะท้อนต้นทางจากชนบทถึงประตูโรงงาน
วันแรงงานแห่งชาติเพิ่งผ่านไปหมาดๆ รัฐเผยอัตราบาดเจ็บของผู้ใช้แรงงานปีละ 2.9 ล้านคน เฉลี่ยวันละ 8,000 คน และโชว์แก้กฏหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบ 24 ล้านคน ขานรับตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงกรณีถูกเลิกจ้าง และคลีนิคโรคจากการทำงาน มาสะท้อนต้นทางจากชนบทสู่ปัญหาแรงงานในภาคอุตสาหกรรม และข้อเรียกร้องกว่าจะมาถึงวันที่รัฐขานรับกับ สมบุญ ศรีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย
ในฐานะผู้นำแรงงานคนหนึ่ง มองภาพรวมของปัญหาแรงงานไทยอย่างไร
ปัญหาหลักๆที่แรงงานไทยต้องเผชิญขณะนี้คือ การถูกเลิกจ้าง, ค่าแรงราคาต่ำไม่เพียงพอกับการการใช้จ่ายในครัวเรือน, สุขภาพความปลอดภัยซึ่งมีความสำคัญและนัยยะแฝงเชื่อมโยงไปยังประเด็นการเกิดโรคหรืออุบัติเหตุจากการทำงาน ที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะสร้างวงจรกลับไปสู่ปัญหาการถูกเลิกจ้างอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เป็นเพราะนายจ้างถือโอกาสช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปัดความรับผิดชอบ ทิ้งคนป่วยเหล่านั้นให้ตกงาน ไม่มีเงินรักษาตนเอง รวมถึงไม่มีสิทธิไปต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิที่ควรได้รับ
มองความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาแรงงาน กับ ชนบทไทยอย่างไรบ้าง
ชนบทขาดการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจัง โดยเฉพาะแรงงานภาคเกษตรยังคงเผชิญปัญหาหนี้สิน ขาดเงินขาดทุน ขาดน้ำ เมื่อไม่สามารถลืมตามอ้าปากได้ ทำให้แรงงานหนุ่มสาวซึ่งเป็นลูกหลานของชาวไร่ชาวนาผันตัวเองเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมซึ่งไม่มีระบบรองรับที่ดี ทำให้แรงงานบริสุทธิ์เหล่านั้นต้องเดินหน้าและตกอยู่ในสังคมเครื่องจักรอันตราย โรงงานสารเคมี พอเจ็บป่วยหรือได้รับอุบัติเหตุจากการทำงานก็ต้องกลับบ้านกลายเป็นภาระของคนในครอบครัว
ถ้าจะกล่าวว่า “ต้นทางคือปัญหาชนบท” ปลายทางคือ “ปัญหาแรงงาน” มองตรงนี้อย่างไร
เรายอมรับว่าแรงงานส่วนใหญ่มาจากชนบท แต่ต้นทางของปัญหาจริงๆ มาจากการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ขยายไปถึงรากเหง้าของชาวชนบท เปิดโอกาสให้นายทุนไปกระทำย่ำยีชาวไร่ชาวนา ทั้งสร้างมลพิษ สร้างโรค เปลี่ยนวิถีชีวิตและบีบบังคับให้เข้ามาขายแรงงาน
ถ้าปัญหาชนบทได้รับการแก้ไข ปัญหาแรงงานจะน้อยลงหรือไม่
มองว่าจริงๆ การทำเกษตรแบบยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจนแล้วจนรอดการเกษตรก็คืออาชีพที่รองรับและมั่นคงสืบไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน สิ่งที่ต้องทำอาจต้องใช้วิธีการรณรงค์ปลูกฝังให้รักบ้านเกิด หากทำให้ถึงกระบวนการสร้างจิตสำนึกได้ปัญหาน้อยลงแน่
“แต่เรายังไม่มองเห็นทาง เพราะการอนุญาตให้ลงทุนไม่มีขอบเขตจำกัด บ้านเราเปิดการค้าเสรี โดยไม่ได้คำนึงว่าพื้นที่สีเขียวนั้นคือครัวของคนไทยที่สร้างอาหารเลี้ยงคนทั้งประเทศ การเกษตรขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรม เหมือนเลี้ยงไก่ไม่ได้กินไข่ ทำนาไม่ได้กินข้าว ”
ช่วยเล่าประสบการณ์ในฐานะผู้ป่วยจากการทำงานคนหนึ่ง
เดิมทีเป็นชาวนาชาวไร่มาก่อน แต่ด้วยความที่ครอบครัวยากจน เมื่อเรียนมาได้ระดับหนึ่งก็มีความหวังว่าจะรับราชการ แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องปากท้อง จึงเข้าทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมทอผ้า จนป่วยด้วยโรคซิลิโคซิส (ปอดอักเสบ) ตอนนี้เสื่อมสมรรถภาพถาวร 60% แล้ว
ที่ใช้คำว่ากลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานเป็น “เหยื่อของโรงงานอุตสาหกรรม”อยากให้ช่วยขยายความ
{mosimage} การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างไม่มีระบบป้องกันเกือบ 50 กว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้ใช้แรงงานป่วย สูญเสียแขนขา หรือเสียชีวิต โดยไม่มีใครคำนึงถึง สิ่งที่สูญเสียไปคือต้นทุนในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ เป็นเหมือนเหยื่อในความมืดที่ไม่มีโอกาสได้ป่าวร้องกับสังคม
“ดังนั้นกลุ่มเหล่านี้ต้องสร้างความเข้มแข็งและบอกกับสังคมว่าเราเจ็บ เราป่วย เพื่อให้บ้านเมืองที่เดินหน้าพัฒนาทุกวี่วัน รู้ว่าได้ฆ่าทำลายชีวิตของคนที่ฐานรากของสังคมไปแล้วเท่าไหร่และควรได้รับการชดเชยในสิ่งที่สูญเสียไปบ้าง”
แล้วการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงาน เป็นมาอย่างไร
เราไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสถานประกอบการบวกกับความรู้ที่มีอยู่บ้างและต้องการใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่น จึงสมัครเข้าเป็นกรรมการสหภาพแรงงานตั้งแต่ 2526 ใช้เวทีตรงนี้ในการเจรจาต่อรองให้ปรับปรุงโรงงาน เครื่องจักร อุปกรณ์ป้องกันต่างๆ จนประสบความสำเร็จ และมีความพยายามเรียกร้องให้ส่งตัวผู้ป่วยไปยังศูนย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม แต่ได้รับการปฏิเสธเรื่อยมา
กระทั่งมีการรวมกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและตั้งเป็น “สภาเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม” ในปี 2537 ทำงานส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิแรงงาน ผลักดันทั้งด้านนโยบายและแก้ไขปัญหาที่เป็นคดีต่างๆ ช่วงหนึ่งได้รับคำแนะนำจากมูลนิธิเพื่อนหญิงให้เข้าร่วมประชุมสิทธิมนุษยชนโลกร่วมกับเครือข่ายป่าไม้ ที่ดิน เขื่อน หลังจากนั้นจึงมีการลงพื้นที่ทำงานร่วมกัน และร่วมกลุ่มกับ “สมัชชาคนจน”
สมัชชาคนจนดูจะเป็นภาพของชนบทและคนรากหญ้า ประเด็นปัญหาผู้ป่วยมีอะไรที่เชื่อมโยงบ้าง
เราขับเคลื่อนงานกันเป็นเครือข่าย ในแง่การผลักดันเชิงนโยบาย ซึ่งก็หมายถึงการปรับโครงสร้างของรัฐในส่วนของภาคเกษตรกรรมที่ถูกทอดทิ้ง ถูกยึดที่ดินทำกิน การสร้างเขื่อน ซึ่งโยงถึงเราที่เป็นปลายเหตุ แม้จะเคลื่อนงานใน 4 กลุ่มปัญหาแต่มีความสัมพันธ์โยงใยถึงกันหมด
ปี 2539 มีการชุมนุมใหญ่ของสมัชชาคนจน เราเป็นหนึ่งใน 4 กลุ่มปัญหาของสมัชชาคนจน
ซึ่งมีข้อเรียกร้องคือ 1.ให้รัฐและนายจ้างยอมรับการเจ็บป่วยจากการทำงาน 2.มีการผลิตแพทย์ทางด้านอาชีวเวชศาสตร์ฯ และตั้งคลินิกโรคจากการทำงาน และ 3.ตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยในลักษณะองค์กรอิสระทำงานคู่ขนานกับกระทรวงแรงงาน
ถ้ามองทั้งประเทศ ภาพรวมผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจาการทำงานมีสักเท่าไร และป่วยเป็นอะไรบ้าง
กลุ่มแรกเป็นพวกแรงงานก่อสร้าง มีอัตราเจ็บป่วย ได้รับอันตราย และเสียชีวิตสูงที่สุด, กลุ่มที่ 2 เป็นอุตสาหกรรมทอผ้า ปั่นด้าย เย็บผ้า ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่บ้านเราทำมากที่สุดอันดับต้นๆ ส่วนใหญ่จะป่วยด้วยโรคปอด สุดท้ายเป็นกลุ่มโรคจากฝุ่นต่างๆ เช่น หิน เซรามิค สารเคมี โดยตัวเลขต่อปีไม่น่าจะต่ำกว่า 200,000 ราย ถ้าคิดง่ายๆ ปีละ 200,000 ราย 5 ปี ก็เท่ากับ 1 ล้านคน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากที่ผู้บริหารประเทศระดับสูงๆ ไม่ค่อยสนใจนัก
เฉพาะในเครือข่ายมีสมาชิกประมาณ 3,000 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประเภทสิ่งทอ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โรคที่คุกคามตอนนี้คือโรคกล้ามเนื้ออักเสบกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท เนื่องจากปัญหาในการวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมักระบุว่าเป็นเพียงโรคกล้ามเนื้ออักเสบ
อยากให้เล่าเป็นกรณีศึกษาให้เห็นภาพแรงงานที่เป็นผู้ป่วยจากการทำงาน
{mosimage} กรณีแรกเป็นเป็นแรงงานก่อสร้าง แล้วได้รับอุบัติเหตุเหล็กพุ่งใส่เข้าตาบอด แต่นายจ้างไม่รับผิดชอบนำตัวไปซ่อนไว้ในโกดังเก็บของ ภายหลังมีผู้แจ้งเข้ามาที่แกนนำสมัชชาจึงเข้าไปช่วยเหลือและเจรจา ในที่สุดจึงยอมจ่ายเงินชดเชยตามสิทธิของกองทุนเงินทดแทนจำนวน 200,000 บาทเป็นทุนนำกลับไปทำการเกษตร ส่วนอีกกรณีหนึ่งเป็นแรงงานหญิงทำงานในเขตภาคตะวันออก ได้รับผลกระทบจากสารเคมีเป็นด่างตามผิวหนัง เครือข่ายช่วยเหลือจนได้รับการประสานตัวมาทำการรักษาที่คลินิกเวชศาสตร์ฯ
ข้อเรียกร้องต่างๆ จนถึงตอนนี้โดยรวมมีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง
ประเด็นเร่งด่วนคือการติดตามคดีที่อยู่ระหว่างการยื่นเรื่องและขั้นตอนอุทธรณ์ทั้งหมด 15 คดี ส่วนข้อเรียกร้องให้มีแพทย์และคลินิกอาชีวเวชศาสตร์ฯ ทางกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงแรงงานได้ตอบสนองข้อเรียกร้องจัดตั้งแล้ว 25 แห่งทั่วประเทศ แต่ปัญหาที่ตามมาคือประชาชนไม่ได้ใช้บริการเพราะขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดีและกว้างขวาง จึงมีข้อเสนอเพิ่มเติมให้เร่งกระจายข้อมูลสู่แรงงานอย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ยังต้องขยายคลินิกให้ครบทุกจังหวัดและเพิ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ตามที่รัฐได้รับปากไว้ให้มีการส่งแพทย์ไปเรียนต่างประเทศปีละ 10 ราย เป็นเวลา 5 ปี แต่ถึงตอนนี้รัฐยังคงอ้างเหตุผลว่าเป็นสาขาที่หาคนเรียนจบยาก เครือข่ายฯ จึงมีข้อเสนอสร้างแรงจูงใจให้แพทย์เพิ่มเติม
ส่วนกองทุนเงินทดแทน ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติเนื่องจากความซ้ำซ้อนในขั้นตอนการวินิจฉัยโรค โดยเสนอให้มีคณะกรรมการการแพทย์กลางที่มาจากกระทรวงสาธารณสุขเข้ามาทำหน้าที่แทนคณะกรรมการแพทย์กองทุนฯเพราะที่ผ่านมาคนงานมักถูกปฏิเสธให้เข้ากองทุนด้วยเหตุผลว่าแพทย์กองทุนวินิจฉัยว่าเป็นโรคที่ไม่ได้เกิดจากการทำงาน
สุดท้ายคือการผลักดันให้เกิดสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ล่าสุดร่างดังกล่าวในผ่าน มติคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว
มีอะไรอยากฝากไปถึงรัฐบาลหรือสังคมเกี่ยวกับปัญหาแรงงานไทยไหม
แรงงานเป็นประชาชนที่สร้างความเจริญให้ประเทศ ฉะนั้นรัฐหรือฝ่ายการเมืองควรให้ความสำคัญกับผู้ใช้แรงงานทุกคน สิ่งสำคัญคือสุขภาพและความปลอดภัยต้องมาเป็นอันดับแรก ปรับเปลี่ยนอัตราค่าแรงให้เป็นธรรมเหมาะสมกับหยาดเหงื่อแรงกายและสภาพสังคมปัจจุบัน ท้ายที่สุดคือชาวชนบทที่คิดจะเข้ามาขายแรงงาน ควรย้อนนึกถึงถิ่นฐานบ้านเกิดและพัฒนาการเกษตรกรรมที่เป็นครัวของประเทศ
เพราะในที่สุดการเข้าสู่ประตูล้อมเหล็กย่อมมีทั้งอันตรายและโรคจากการทำงาน แต่หากจำเป็นต้องเดินเข้าสู่ประตูบานนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ควรคำนึงไว้เสมอว่าสุขภาพดีคือชีวิตที่มั่นคง ความปลอดภัยคือหัวใจของการทำงาน.