“ประภาส ปิ่นตบแต่ง” ค้านทฤษฎีนคราหัวกลับ มองม็อบให้ไกลกว่าไพร่-อำมาตย์
ประชาธิปไตยไทยผ่านยุคสมัยย่างปีที่ 78 ไม่ใช่เพียงการเลือกตั้ง ส.ส.ในระบบการเมืองที่ไม่ตอบสนองความต้องการของคนฐานราก แล้วเสียงเรียกร้องให้ล้มกระดานยุบสภาวันนี้จะนำพาไปสู่อะไร
“ประภาส ปิ่นตบแต่ง” เขียน “การเมืองบนท้องถนน:99 วันสมัชชาคนจนและประวัติศาสตร์การเดินขบวนชุมนุมประท้วงในสังคมไทย” วันนี้เขาค้านทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย และอธิบายความตื่นตัวทางการเมืองของชาวบ้านผ่านปรากฏการณ์ม็อบต่างๆที่ต่างนัยยะได้อย่างน่าสนใจ
“ไอ้แนวคิดสองนคราประชาธิปไตยนี่ผมหงุดหงิดมานาน เพราะไม่คิดว่ามันสามารถอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมการเมืองที่เกิดขึ้นได้เลย ตั้งแต่ข้อสรุปแรกที่บอกว่าชาวบ้านในชนบทหรือที่สุดใช้คำว่าไพร่ตั้งรัฐบาล ด้วยสำนึกทางการเมืองแค่หย่อนบัตรเลือกตั้งเพราะขายเสียง ถูกลากพาไป”
ประภาส ปิ่นตกแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการที่คลุกคลีกับการเมืองภาคประชาชน เริ่มต้นบทสัมภาษณ์ ด้วยเสียงค้านทฤษฎีของ เอนก เหล่าธรรมทัศน์
แล้วอาจารย์มีคำอธิบายที่แตกต่างจากทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยอย่างไรบ้าง
ผมว่ามันเกิดจากจินตนาการของนักวิชาการที่ไม่เคยลงไปทำงานคลุกคลีกับชาวบ้าน ไม่ได้ลงไปดูสภาพความเป็นจริงในชนบทไทย หนังสือที่ อ.เอนก เขียน เชื่อว่าประชาสังคมจะเกิดขึ้นได้ในสังคมเมืองเท่านั้น ส่วนชนบทเป็นสังคมดั้งเดิมที่ตกค้างจากประเพณีเก่า
จึงเอาทฤษฎีคนชนบทตั้ง-คนเมืองล้มรัฐบาลมาอธิบายม็อบเสื้อเหลือง พอเป็นสื้อแดงอธิบายไม่ได้ จึงพูดถึงสภาพกลับหัวหางหรือตีลังกาว่าตอนนี้ชนบทจะมาล้มรัฐบาล งานแบบนี้ไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์
สภาพแบบนั้นมันไม่เกิดแล้ว ชนบทเปลี่ยนไปเยอะ ชีวิตผู้คน การทำมาหากินมันเกี่ยวข้องกับนโยบายการเมือง การจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ยิ่งชัดเจนมากในรัฐบาลทักษิณที่นโยบายประชานิยมถูกอกถูกใจชาวบ้าน ถึงแม้มีข้อจำกัด ซึ่งชาวบ้านก็รู้
ชาวบ้านเขาตื่นตัวจากการเรียนรู้สังคมการเมืองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่าไปคิดว่าชาวบ้านที่รวมกลุ่มก้อนจะเกิดจากการจัดตั้งของรัฐแบบเก่า ซ้ายหันขวาหันคอยต้อนรับผู้ใหญ่นายอำเภอ มันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว
นอกจากม็อบการเมืองเสื้อเหลืองเสื้อแดง มีคำอธิบายอื่นไหมว่าชาวบ้านตื่นตัวทางการเมือง
คุณดูสิ คจก.(โครงการจัดสรรที่ทำกินให้ราษฎรในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม), สกยอ.(สมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน), สมัชชาคนจน ซึ่งในแง่พื้นที่กว้างขวางมาก เขามีพื้นฐานที่ชาวบ้านรวมกลุ่มอะไรต่างๆมาก่อนเยอะแยะ กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มพัฒนาในหมู่บ้าน ฯลฯ
ชนบทเปลี่ยนไปเยอะแล้ว ชาวนาจะอยู่ได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับราคาปุ๋ย น้ำมัน กระทั่งคนทอดกล้วยแขกอยู่ได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐ สิ่งต่างๆเหล่านี้ทำให้ชาวบ้านต้องเกี่ยวข้องกับการเมือง
จึงเห็นม็อบย่อยๆที่มาจากกลุ่มปัญหาของเขาเยอะแยะ สมัยรัฐบาลชวนผมนับเป็นครั้งได้ 754 ม็อบ ปี 2540 ก็ 2,119 ม็อบ ตอนนี้ผ่านมา 10 กว่าปีมันคงมากมายมหาศาล การรวมตัวปิดถนนเกิดขึ้นมากมาย
รากเหง้าคือ 1.สังคมเปลี่ยน ชีวิตชนบทเกี่ยวข้องกับการเมืองขึ้น 2.มีคนข้างนอกที่เข้าไปเชื่อมต่อ เช่น นักการเมือง หัวคะแนน เอ็นจีโอ ไปช่วยให้เกิดช่องทางที่ชาวบ้านรวมกลุ่มเคลื่อนไหวขยายออกไป
จากหนังสือประวัติศาสตร์การชุมนุมประท้วงของชาวบ้าน ความหมายของม็อบต่างๆเป็นอย่างไร
คนชนบทที่เราเรียกว่ายากจนนี่แบ่งได้ 2 ส่วน คือ จนทรัพยากร กับ จนอำนาจจนโอกาส อย่าง สกยอ. เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย เป็นคนจนที่เกี่ยวเนื่องกับปัจจัยการผลิต ราคาผลผลิต หนื้สิน ปัญหาที่ดินทำกินซึ่งมีโครงสร้างการถือครองกระจุกตัว ชาวบ้านที่ไร้ที่ดินทำกินขยายตัวกว้างขวางมาก อย่างเช่นตอนนี้ก็เกิดเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย อันนี้เป็นจนทรัพยากร
ส่วนชาวบ้านในสมัชชาคนจนเป็นคนจนเพราะถูกรุกรานจากนโยบายรัฐ จากโครงการขนาดใหญ่ที่ลงไปในชนบท ซึ่งชัดเจนมากสมัยพลเอกชาติชาย ทั้งเขื่อนในโครงการโขงชีมูล นิคมอุตสาหกรรม ป่าเศรษฐกิจปลูกไม้โตเร็วให้เกษตรขนาดใหญ่ไปแย่งทรัพยากรชาวบ้าน อันนี้เป็นปัญหาที่ชัดเจนในการปรากฏตัวของสมัชชาคนจนซึ่งเป็นคนจนอำนาจจนโอกาส แล้วรวมตัวกันในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ เดินขบวนคัดค้านโครงการรัฐ ผลสุดท้ายก็มารวมกันเป็นเครือข่ายใหญ่
แต่สมัชชาคนจน ก็เรียกร้องเรื่องหนี้สิน เรื่องที่ดินด้วย ตรงไหนคือนัยยะที่แตกต่าง
{mosimage} ก็คาบเกี่ยวกันอยู่ระหว่างคนจนทรัพยากร จนโอกาส ปัญหาของสมัชชาคนจน สกยอ. เครือข่ายหนี้สิน ก็ซ้อนๆกันอยู่ อย่างเครือข่ายสลัม 4 ภาคก็เป็นสมาชิกทั้งสมัชชาคนจนและเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน หรือกรณีของมาบตาพุด เหมืองแร่โปแตส บ่อนอก เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร การทำมาหากิน ที่ได้รับผลกระทบมลพิษของโครงการขนาดใหญ่ และยังเป็นเรื่องนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรม
อย่างสมัชชาคนจนถ้าเราดูประเด็นที่เขาเรียกร้อง มีตั้งแต่ค่าชดเชย การฟื้นฟูชีวิตจากผลกระทบของเขื่อนที่สร้างแล้ว เช่น ปากมูล ราษีไศล แต่ที่มากกว่านั้นคือการต่อสู้เพื่อหยุดเขื่อนที่กำลังจะสร้าง เช่น แก่งเสือเต้น แต่อย่าลืมที่ชาวบ้านบอกว่าเขาสู้เพราะเขาจนอำนาจ เพราะการเมืองไม่เห็นหัวคนจน
คือในแต่ละกลุ่ม ประเด็นที่เขาหยิบยกขึ้นมาเคลื่อนไหวจะต่างกัน อย่างกลุ่มเกษตรกรรายย่อย เครือข่ายหนี้สินจะเรียกร้องให้รัฐจัดสรรทรัพยากรในแง่ของงบประมาณ แก้ปัญหาหนี้สิน ผลผลิตตกต่ำ
อะไรทำให้อาจารย์หยิบเรื่องของสมัชชาคนจนขึ้นมาเขียนเป็นพิเศษ
กรณีสมัชชาคนจน เป็นการผลักดันให้เกิดการจรรโลงประชาธิปไตย ให้การเมืองเห็นหัวชาวบ้าน ให้เขามีส่วนร่วมกระบวนการตัดสินใจนโยบายพัฒนา เอาเข้าจริงๆก็นำมาสู่สิ่งสำคัญที่พูดกันทุกวันนี้คือรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 โครงการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต ก็เกิดเพราะชาวบ้านแบบปากมูล ราษีไศล บ่อนอก ต่างๆเหล่านี้ผลักดันให้มีนโยบายสาธารณะที่ชาวบ้านมีส่วนร่วม โครงสร้างหรือความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจรัฐกับประชาชนมีการจัดลำดับความสำคัญใหม่ ขยายพื้นที่ทางการเมือง
การรวมพลังแบบนี้ของชาวบ้านจนเรียกว่าเป็น “ตำนานม็อบ” เกิดขึ้นได้อย่างไร
ปี 2538 ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการต่างๆ มีเครือข่ายป่าไม้ที่ดินที่เติบโตมาจาก คจก. เรื่องเขื่อนก็มีปากมูล ราษีไศล แก่งเสือเต้น ลำแซะ สายบุรี แก่งกรุง ที่ชาวบ้านรวมตัวต่อสู้ในแต่ละพื้นที่มาก่อน มีสลัม 4 ภาคในเมือง เหล่านี้ก็มาคุยกันว่าการต่อสู้แบบเล็กๆน้อยๆมาสิบคนยี่สิบคนก็เจอแต่ยามหน้าทำเนียบ มา 200 ก็เพียงได้ยื่นหนังสือที่กองบริการประชาชนและเงียบหายไป มารวมกัน 2 พันคนแล้วได้เจอรัฐมนตรีช่วย หากร่วมชุมนุมกัน 2 หมื่นคนก็จะมีพลังต่อสู้ได้
คนจนไม่มีเงิน ไม่มีอาวุธ ความรู้ก็ไม่มีเหมือนนักวิชาการที่ไปรับใช้ภาคธุรกิจ ชาวบ้านบอกว่าเราต้องเอาตีนมารวมกัน ตีนก็คือจำนวนที่ใช้สร้างพลัง นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของสมัชชาคนจน เริ่มชุมนุมใหญ่สมัยรัฐบาลบรรหารยกที่หนึ่ง รัฐบาลชวลิตยกที่สอง แล้วก็เป็นการชุมนุมยาวนานที่สุด 99 วัน
เรียกว่าเป็นการเมืองบนท้องถนนที่ยาวนานที่สุด
และเป็นการเมืองบนท้องถนนที่ชัดเจนที่สุดซึ่งสามัญชนธรรมดาที่ไม่มีอำนาจไม่มีโอกาส มาสร้างพลังทบทวีด้วยการปักหลักชุมนุม ด้วยระยะเวลาที่ยาวนาน แล้วก็อาศัยความทุกข์ยากของตัวเองทนร้อนหนาวฝน เพื่อจะให้คนในสังคมเข้ามาเห็นว่าปัญหาของพวกเขาคืออะไร ทำไมรัฐบาลไม่แก้ไข ระหว่างการชุมนุมก็พยายามทำกิจกรรมสื่อสารกับผู้คนในเมือง เหมือนที่พวกเสื้อแดงพยายามจะทำ
ที่สำคัญที่สุดคือเขาไม่มีโอกาสที่จะบอกกับผู้มีอำนาจในระบบการเมืองปกติ การเลือกตั้งแบบหย่อนบัตรก็มีข้อจำกัด ฉะนั้นความน่าอัศจรรย์ในการชุมนุมสมัชชาคนจนคือคนที่ไร้อำนาจสามารถสร้างอำนาจได้โดยอาศัย 2 ส่วน คือ ความทุกข์ยาก และ ปัญญา คือการคิดกิจกรรมเพื่อสะท้อนให้คนเมืองเข้ามาเห็นอกเห็นใจเห็นปัญหาแล้วไปกดดันรัฐบาล การสร้างกิจกรรมในเชิงบวกควรจะเรียนรู้จากสมัชชาคนจน
“ม็อบ” เป็นทางออกของคนจนโอกาส-จนอำนาจ-จนทรัพยากรในชนบทจริงหรือ
ชาวบ้านบอกว่านี่คือทางเดียว เขาไม่อยากมาหรอก มันทุกข์ยากเหน็ดเหนื่อยไม่สนุก แต่สำหรับคนจนแล้วเขาไม่มีช่องทาง อย่างไรก็ตามการเมืองในระบบประชาธิปไตยมันมีพัฒนาการ และผมคิดว่าการเคลื่อนไหวของชาวบ้านได้จรรโลงประชาธิปไตย ทำให้เขามีช่องทางมากขึ้น รัฐบาลเองก็มีนโยบายลงไปแก้ไขปัญหาเขา การออกแบบโครงสร้างทางการเมือง รัฐธรรมนูญ ก็เริ่มมีพื้นที่ให้คนจนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ไม่มีใครกล้าหลับตาทำอีไอเอแบบเก่า ขบวนการรับฟังความคิดเห็น กติกาต่างๆก็ขยายพื้นที่มากขึ้น
หมายความว่าม็อบ ได้เปิดพื้นที่ยืนทางการเมืองใหม่ให้ชาวบ้านในปัจจุบัน
{mosimage} ผมไม่ได้บอกว่ามันมีพื้นที่ให้คนจนไปใช้ได้ตลอด แต่ดีขึ้นมากตั้งแต่เริ่มเปิดพื้นที่เหล่านี้ แน่นอนปัญหายังมีอยู่เยอะ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540-2550 พื้นที่ตรงนี้ยังไม่ได้ลงหลักปักฐานอะไรมาก กฏหมายลูกที่ต้องออกมารองรับมาตรา 67 วรรค 2 ซึ่งบอกว่าให้เสร็จใน 1 ปี ตอนนี้ผ่านมา 2 ปีกว่ายังไม่เสร็จ ไม่เช่นนั้นพี่น้องมาบตาพุดคงไม่ต้องมาเดินขบวน ไม่ต้องมีคณะกรรมการ 4 ฝ่ายชุดนายอานันท์ ปันยารชุน
ยังต้องสร้างขยายพื้นที่ให้มากกว่านี้ ที่จะช่วยทำให้คนจนไม่ต้องออกมาเดินขบวน และเมื่อมันยังไม่สมบูรณ์ชาวบ้านก็ต้องออกมาม็อบบนถนน
ม็อบเสื้อแดงในมุมมองของความเป็นรากหญ้า ตรงนี้อาจารย์มีความเห็นอย่างไร
ผมคิดว่าชาวบ้านที่เดือดร้อนจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ความไม่เป็นธรรม รวมทั้งปากท้อง หนี้สิน ปัจจัยการผลิตมีอยู่ทั่วไป โดยรากเหง้าปัญหาพร้อมจะระเบิดอยู่ตลอดเวลา การที่ชาวบ้านเข้าร่วมกับคนเสื้อแดงหรือเสื้อใดก็ตาม มันสะท้อนให้เห็นความตื่นตัวของคนชนบท ที่พร้อมจะออกมาร่วมต่อสู้เมื่อเห็นว่านักการเมืองหรือรัฐบาลไหนมีนโยบายตอบสนองปัญหาเขา ในขณะที่คนข้างนอกอาจจะด่าว่าพวกนี้เป็นไพร่ เป็นมวลชนของทักษิณ ไปช่วยให้เขากลับประเทศ ผมเดาว่าเขาคงเห็นว่าคนพวกนี้ก็ไม่ดีกว่ากันเท่าไร แต่อย่างไรก็เป็นนายกของเขา ช่วยแก้ปัญหาและมีนโยบายดีกว่าพวกอื่นที่ไม่เคยจัดสรรทรัพยากรให้เขาเลย
หมายถึงชาวบ้านเสื้อแดงมีการรับรู้ทางการเมือง แต่เขาเลือกข้างที่คิดว่าสามารถแก้ปัญหาเขาได้
ถามว่าชาวบ้านจูงวัวจูงควายมาหรือเปล่า ผมคิดว่าไม่ เขารับรู้ทางการเมือง มีความโน้มเอียง แน่นอนเขามีความสัมพันธ์กับการเมืองท้องถิ่น เพราะความเดือดร้อนของเขาสัมพันธ์กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต. ส.ส. หัวคะแนน ที่เอางบประมาณต่างๆลงไปสู่กลุ่มก้อนของตัวเองในชุมชน บางคนเรียกเป็นเครือข่ายอุปถัมภ์เหมือนชาวบ้านเป็นไพร่อยู่ในสังกัดนักการเมืองท้องถิ่น แต่ถ้ามองอีกแบบคือชาวบ้านพวกนี้เขาเลือกที่จะสัมพันธ์เพราะเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาของเขา
การดึงมวลชนเข้ามาก็ไม่ใช่ทุกคน ไม่ได้มาทั้งหมู่บ้านทั้งจังหวัดซึ่งแตกกระจายไปหลายส่วน คนเสื้อแดงจึงเป็นมวลชนอย่างนี้ และการไปประนามว่าเขาเป็นพวกรุนแรง พวกไพร่ ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น
การแก้ปัญหาของชนบทไทยในระบอบประชาธิปไตย ควรเป็นอย่างไร
การเมืองในสภาก็เป็นหัวใจของการออกกฏหมายที่จะมารองรับปัญหาชาวบ้าน แต่การเมืองแบบตัวแทนอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ สีเหลืองก็บอกว่ารัฐบาลแบบเลือกตั้งมีปัญหาคอรัปชั่น ต้องมีกระบวนการตรวจสอบ สีแดงก็บอกว่าปัญหาประชาธิปไตยคือถูกอำมาตย์ล้ม ให้ยอมรับเสียงส่วนใหญ่ที่ชนะเลือกตั้งมา
แต่ประสบการณ์ของชาวบ้านที่ออกมาเคลื่อนไหวบอกว่าประชาธิปไตยต้องนำมาสู่การขยายพื้นที่ทางการเมืองมากกว่าการเลือกตั้ง หรือตรวจทุจริตคอรัปชั่น ทำอย่างไรให้มีพื้นที่ที่ชาวบ้านจัดการชีวิตตัวเอง ให้ทรัพยากรกระจายถึงผู้คนในชุมชน ฉะนั้นต้องออกแบบการเมืองใหม่ที่ขยายอำนาจออกจากระบบตัวแทน ซึ่งที่มีอยู่ยังไม่พอ คือ ประชาคมหลอกๆ แม้แต่สภาองค์กรชุมชนที่พยายามสร้างประชาธิปไตยฐานราก ก็เดินไม่ค่อยได้เพราะอุดมคติมากไป ขณะที่ชาวบ้านอยู่ท่ามกลางความจำกัดทางการเมืองอีกหลายอย่าง
“คนชนบทไม่ใช่วัวควาย” ที่ถูกลากจูงไปในม็อบไหนๆ ทว่าพวกเขาสัมพันธ์กับการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นโยบายสาธารณะ สวัสดิการ โครงการพัฒนา ไม่ว่าจะเรียกประชานิยมหรืออะไร ล้วนเกี่ยวข้อง ชาวบ้านจึงเรียนรู้และรับรู้เรื่องการเมือง และไม่แปลกที่พวกเขาจะมีความโน้มเอียงเลือกข้าง
แม้ว่าจะมีนัยยะที่แตกต่างกันระหว่างม็อบสมัชชาคนจน ม็อบสมัชชาเกษตรกรรายย่อย และม็อบเสื้อแดง สิ่งที่เหมือนกันคือ “ความตื่นตัวทางการเมืองของชาวบ้าน” จะจรรโลงประชาธิปไตยในระยะยาว
และเหตุนี้ ประภาส ปิ่นตบแต่ง จึงมองว่าถึงเวลาแล้วที่จะยุติทฤษฎีแบบ “สองนคราประชาธิปไตย” ที่มองว่าชนบทเป็นไพร่ ซึ่งมีแต่จะตอกลิ่มเป็นความขัดแย้งฝังลึกระยะยาวในสังคมไทย .