“ศรีสุวรรณ จรรยา” อยากให้มาบตาพุดเป็นโมเดลอุตสาหกรรมอยู่ร่วมชุมชน
“มาบตาพุด” เป็นบทเรียนสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและชุมชน อีกด้านนำไปสู่รูปธรรมพิทักษ์สิทธิเสรีภาพประชาชนตามรัฐธรรมนูญ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
ขณะที่คณะกรรมการ 4 ฝ่าย ตระเวนทำประชาพิจารณ์โครงการรุนแรงทั่วประเทศ โต๊ะข่าวชุมชนสัมภาษณ์ “ศรีสุวรรณ จรรยา” ในฐานะต้นเรื่องฟ้องคดีมาบตาพุด อะไรที่เขาอยากเห็นที่สุดจากบทเรียนราคาแพงนี้
อะไรคือชนวนปัญหานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดจนทำให้เดินมาถึงวันนี้
มาบตาพุดคือนิคมอุตสาหกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับอุตสาหกรรมหนัก แต่ปัญหาคือมีมลพิษมาก มีสารเคมีรั่วซึม แพร่กระจายส่งผลกระทบต่อชาวบ้านสะสมมากว่า 20 ปี เหตุการณ์รุนแรงที่สุดถึงขั้นต้องย้ายโรงเรียนออกจากชุมชน ชาวบ้านล้มป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ มะเร็ง และอื่นๆมากมาย แหล่งน้ำเกิดการปนเปื้อน ระบบนิเวศวิทยาถูกทำลาย เกิดมลพิษทั่วมาบตาพุด จนชาวบ้านไม่สามารถทนอยู่ได้ในภาวะเช่นนี้จึงเดินหน้าร้องเรียนมายังสมาคมฯ
ช่วยเล่าภาพรวมของสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
สมาคมตั้งขึ้นในปี 2550 เพื่อดูแลปัญหาโลกร้อน เกิดจากการรวมตัวกันของทนายในสภาทนายความ และผมก็เป็นคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติด้วย หลักการทำงานคือ รณรงค์ เผยแพร่ให้ความรู้ ฝึกอบรมเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนให้เยาวชนและประชาชน และรับเรื่องราวร้องทุกข์จากชาวบ้านในกรณีสิ่งแวดล้อม โดยเป็นตัวแทนฟ้องคดีต่างๆ รวมทั้งมาบตาพุดด้วย
ภาพของคุณศรีสุวรรณ มีบทบาทมากในการฟ้องคดีมาบตาพุด
ภูมิหลังผมเป็นเอ็นจีโอทำเรื่องมลพิษมาก่อน รับรู้และเก็บข้อมูลมาบตาพุดมากว่า 10 ปี ขณะเดียวกันผมก็เป็นนักกฎหมายที่รับเรื่องราวร้องทุกข์จากชาวบ้าน จึงเป็นตัวตั้งตัวตีผลักดันเรื่องนี้
การแก้ปัญหามาบตาพุดเหมือนปิดปลาสเตอร์อย่างที่คุณอานันท์พูดบ่อยๆ
ตลอดเวลาที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐเกียร์ว่างหรือเพิกเฉยที่จะแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ในขณะที่ชาวบ้านเดือดร้อนและเรียกร้องมาตลอด จึงเป็นสาเหตุของการฟ้องคดีเพื่อให้หน่วยงานรัฐรู้ว่าควรดำเนินการอะไรบ้างเพื่อบรรเทาความทุกข์เข็ญของประชาชน
ช่วยเล่าชนวนของคดีแรกที่นำไปสู่คำสั่งศาลปกครองประกาศเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด
ปลายปี 2549 เกิดแก๊สรั่วอีกครั้งในพื้นที่ ปริมาณขยะอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้นจนสถานที่กำจัดกากอุตสาหกรรมไม่สมารถรองรับได้ แหล่งน้ำในเขตนิคมเริ่มเปลี่ยนสีชัดเจน ส่งกลิ่นเน่าเหม็น แสดงให้เห็นว่าไม่มีการบริหารจัดการที่ชัดเจนในการควบคุมมลพิษเหล่านั้น ในที่สุดชาวบ้าน 27 คนจึงรวมตัวกันฟ้องเป็นคดีที่ศาลปกครองระยองเพื่อให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษตามพระราชบัญญัติส่งเสริมรักษาคุณภาพและสิ่งแวดล้อม 2535 โดยศาลปกครองระยองมีคำพิพากษาให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษในวันที่ 3 มี.ค. 2552
แล้วการฟ้องคดีต่อมาอันเป็นที่มาของคำสั่งระงับ 65 โครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด
{mosimage} นับตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรค 2 (การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพจะกระทำไม่ได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพและจัดให้กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการ) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพลังงาน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม กลับไม่นำกฎหมายดังกล่าวมาบังคับใช้กับโรงงานหรือโครงการที่ตนมีสิทธิอนุมัติ ผมมีหนังสือทวงถามไป ก็ไม่ได้รับคำตอบ เงียบเป็นเป่าสาก
หลังจากนั้นมีคำสั่งจาก ทส. (สมัยปลัดศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช) ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด ทำหน้าที่ยกร่างกฎหมายเกี่ยวกับองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ได้ข้อสรุปว่าให้ออกเป็น พรบ. องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยนำร่างดังกล่าวไปเปิดประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นทั่วประเทศเสร็จเรียบร้อย ส่วนอีกชุดหนึ่งมีหน้าที่ศึกษาหลักเกณฑ์และกำหนดประเภทโครงการรุนแรงออกมาเป็น 19 โครงการเสนอให้ ทส. โดยหวังว่าจะนำไปบังคับใช้ แต่สุดท้ายทุกอย่างก็หยุดนิ่งเช่นเดิม แต่กลับมีการอนุมัติโครงการขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นถึง 181โครงการทั่วประเทศ
ก็เลยเป็นที่มาของการฟ้องร้องคดีที่สอง
ตอนแรกเราคิดว่าจะฟ้องทั่วประเทศ แต่ดูตามลำดับความสำคัญและความเดือดร้อนของชาวบ้าน ผนวกกับการประกาศพื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษซึ่งตรงกับสิ่งที่เราพยายามเรียกร้องให้รัฐดำเนินการตามมาตรา 67 วรรค 2 จึงสำรวจและพบว่ามี 76 โครงการที่ผ่านอีไอเอแต่ไม่เดินตามกฎหมายดังกล่าว จึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งผู้ถูกฟ้องได้ยื่นอุทธรณ์จนในที่สุดศาลปกครองสูงสุดก็มีคำสั่งปลดล็อคไป 11 โครงการ เหลืออีก 65 โครงการที่ต้องระงับไว้
ล่าสุดยังฟ้องศาลปกครองกลางเพิ่มอีก 9 โครงการ
ก็เป็นโครงการที่ได้รับความเห็นชอบอีไอเอจาก สผ. เพียงอย่างเดียว โดยยังไม่เข้ากระบวนการรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 จึงต้องฟ้องเพื่อให้ศาลสั่งระงับโครงการใหม่ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนเช่นเดียวกับ 65 โครงการที่ระงับไว้
โดยรวมคนอาจมองว่ารัฐบาลออกโรงแก้ปัญหาเต็มที่ ทำไมยังไม่พอใจ
ใช่ ผมยังไม่พอใจ เพราะการทำงานหลายเรื่องของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย(ชุดคุณอานันท์)ที่รัฐแต่งตั้งดำเนินไปอย่างเร่งรีบ รวบรัด ไม่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียให้ความเห็น โดยเฉพาะการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการประสานงานการให้ความเห็นขององค์กรอิสระ มิชอบด้วยกฎหมาย ขัดหรือแย้งต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 ทำให้ผมต้องฟ้องเป็นอีกคดีหนึ่งที่ศาลปกครองสูงสุด
กฎเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นมามีปัญหาอะไร ต้องการให้เป็นอย่างไร
ผมไม่ติดใจเรื่องกฎเกณฑ์แต่ไม่เข้าใจในกระบวนการ หากกรรมการทั้ง 2 ชุดต้องการให้เกิดการยอมรับ ต้องสร้างกระบวนการทำงานที่เปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้แสดงความเห็นก่อนจะมีการเสนอระเบียบกฎเกณฑ์ใดๆ เพื่อให้ตกผลึกทางความคิดที่เกิดจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง เพราะสิ่งที่คณะกรรมการเพียง 18 คนคิดอาจจะดีหรือไม่ดีก็ได้
หากมีคนถามว่าทำไมคุณถึงต้องค้านอยู่ร่ำไป
{mosimage} อย่างน้อยในสังคมต้องมีการถ่วงดุลซึ่งกันและกัน เราคงไม่ปล่อยให้ราชการ นักการเมืองหรือกลุ่มทุนใช้อำนาจตามใจชอบ การถ่วงดุลของสมาคมฯ น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้สังคมได้ฉุกคิดเพื่อนำไปสู่การพัฒนา ปรับปรุงอุตสาหกรรมซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย
จริงๆแล้ว คุณศรีสุวรรณ มองว่าอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนได้หรือไม่
อุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนได้แน่นอน แต่วันนี้อุตสาหกรรมยังมีการบริหารจัดการแบบเดิมที่มุ่งประโยชน์และกำไรเป็นที่ตั้ง โดยตักตวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างไม่สนใจผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ผมไม่ได้ปฏิเสธอุตสาหกรรมแต่มองว่าอุตสาหกรรมควรมีการพัฒนาในกระบวนทัศน์ใหม่คือ การประกอบกิจการที่เป็นมิตรกับชุมชนอย่างยั่งยืน
ที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนทำ ในฐานะตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ทั้งหมดรึเปล่า
ไม่ใช่ชาวบ้านทั้งหมด เพราะยังมีบางส่วนที่คัดค้าน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่คนเสียประโยชน์จะไม่พอใจ จุดนี้เราเตรียมใจไว้ตั้งแต่แรกแล้ว ณ วันนี้ชาวบ้านไม่ได้ต่อต้านการทำงาน เพียงแต่มีความเห็นที่ไม่ตรงกันเท่านั้น ขณะเดียวกันเขาก็ได้รับประโยชน์ทางอ้อม เช่น จากการใช้น้ำประปา ซึ่งรัฐขยายเพิ่มขึ้น
ตั้งแต่เริ่มฟ้องคดีจนถึงวันนี้ พอใจหรือยังไม่พอใจกับเรื่องใดบ้าง
ผมพอใจกับคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดเพราะคำพิพากษาครั้งนั้นทำให้หน่วยงานรัฐตื่นตัวที่จะแก้ไขปัญหา เกิดการอนุวัตรกฎหมาย ระเบียบกฎเกณฑ์เพื่อป้องกันไม่ให้โครงการรุนแรงที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดสร้างผลกระทบให้ชาวบ้านอย่างไม่มีที่สิ้นสุด การฟ้องร้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะชาวมาบตาพุดแต่ยังเกื้อกูลไปยังชาวบ้านทั่วประเทศ ที่สามารถใช้โมเดลนี้เป็นต้นแบบบังคับให้หน่วยงานรัฐทำตามกฎหมาย
สิ่งที่ไม่พอใจคือ รัฐบาลเองยังมะงุมมะงาหราตัดสินใจแก้ปัญหาล่าช้าเกินไป โดยเฉพาะการเข้าไปฟื้นฟูเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทั้งด้านร่างกายและจิตใจมายาวนาน
จนถึงวันนี้การแก้ปัญหาระดับพื้นที่เป็นอย่างไร
การใช้งบประมาณเพียง 877 ล้านบาทลงไปฟื้นฟู เยียวยา แก้ปัญหาถือเป็นจำนวนเงินที่น้อยมากเพราะมาบตาพุดสร้างรายได้ให้แก่ประเทศชาติเป็นแสนๆ ล้าน แต่สิ่งที่ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับโดยตรงคือการสูญเสียทรัพยากรที่มีค่า ปัญหาสุขภาพ ที่ยังไม่ได้รับการดูแลจากรัฐบาลอย่างเต็มที่และทั่วถึง กลุ่มคนเหล่านี้ควรได้รับประโยชน์กลับคืนมาสู่ชุมชนบ้าง
ภาพลักษณ์ในการพยายามเข้ามาช่วยเหลือของรัฐหรือผู้ประกอบการเป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งหากจะแก้ปัญหาในระดับลึกต้องแก้ในระดับรากหญ้า ไม่ใช่การสร้างระบบสาธารณูปโภค ทอดกฐินผ้าป่า สนับสนุนทุนการศึกษา แต่กลับเดินหน้าโครงการสร้างมลพิษให้ชาวบ้านอย่างไม่หยุดหย่อน
ถึงที่สุด สิ่งที่ต้องการเห็นมากที่สุดจากกรณีมาบตาพุดคืออะไร
มาบตาพุดต้องเป็นโมเดลของสังคมไทยที่จะสร้างการขับเคลื่อนพัฒนาอุตสาหกรรมไปในทิศทางที่ถูกต้อง เคารพกฎหมาย เคารพวิถีชีวิตชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้อุตสากรรมและชุมชนอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
“สำหรับโครงการที่ฟ้องไปทั้งหมดหากเข้ากระบวนการมาตรา 67 วรรค 2 และผ่านไปได้ผมก็พอใจไม่มีอะไรติดขัด แต่เมื่อผ่านไปได้แล้วก็ต้องระมัดระวังไม่ให้สร้างมลพิษกับชาวบ้านอีก ไม่เช่นนั้นเราก็คงต้องเจอกันอีกในกระบวนการศาล ผมเองไม่ใช่พวกอยู่ป่าอยู่เขา ต้องใช้สินค้าที่มาจากอุตสาหกรรมเช่นกัน”
สิ่งที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนจะดำเนินการต่อไปหลังจากนี้คือการเดินหน้าแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ทั่วประเทศ เช่น การทำเหมืองทอง จ.พิจิตร หรือกรณีมลพิษทางเสียงจากสนามบินสุวรรณภูมิ ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาที่เกิดจากความรับผิดชอบของภาคเอกชนและการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ.
ภาพประกอบบางส่วนจาก www.marinerthai.com