"เธียรชัย ณ นคร" เลขาฯ สพม.มอง "การมีส่วนร่วมของประชาชนคือพัฒนาการประเทศ"
โต๊ะข่าวชุมชนสัมภาษณ์ เธียรชัย ณ นคร เลขาธิการสภาพัฒนาการเมือง (สพม.) ในฐานะองค์กรซึ่งถือกำเนิดตามพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเมือง พ.ศ. 2551 เพื่อทำหน้าที่พัฒนาและส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้มแข็งทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย...
ช่วยนิยามคำว่า “การเมืองภาคพลเมือง”
เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนด้านการเมือง ตั้งแต่การสะท้อนประเด็นปัญหา กำหนดนโยบายพัฒนาสู่การปฏิบัติ ตลอดจนติดตามตรวจสอบการดำเนินงานขององค์กรการเมืองหรือ นักการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
แล้วการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนไทยปัจจุบันเป็นอย่างไร
ผมมองว่าประชาชนที่มีความคิดจะเข้ามามีส่วนร่วมเรื่องการเมืองมีไม่มาก คงเป็นเฉพาะบางกลุ่มที่ตื่นตัว ซึ่งต้องดูด้วยว่าเป็นการเมืองในเรื่องใด ด้านใดเป็นการเฉพาะหรือไม่ แต่ความตื่นตัวทางการเมืองในลักษณะทั่วไปที่มีความรู้สึกว่าตัวเองต้องการมีส่วนร่วม ยังน้อยอยู่มาก
แต่มีข้อแตกต่างระหว่างการเมืองระดับท้องถิ่นกับการเมืองระดับประเทศอยู่บ้าง คือความสนใจในการเมืองท้องถิ่นของคนระดับรากหญ้ามีมากกว่า
หมายความว่าความตื่นตัวทางการเมืองของชาวบ้าน มีมากกว่าคนเมืองใช่ไหม และทำไม
คนรากหญ้ามีความสนใจการเมืองระดับท้องถิ่น เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวเขา และสามารถเจรจาต่อรองระหว่างชุมชนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ตอบโจทย์ปัญหาชุมชนได้ง่ายกว่า แต่ก็เป็นความสนใจระดับการเมืองท้องถิ่นไม่ใช่ระดับประเทศ
แล้วทำอย่างไรให้ประชาชนตื่นตัวเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น
{mosimage} การจะทำให้ประชาชนหันมาตระหนักถึงสำนึกทางการเมืองและการมีส่วนร่วม ต้องสร้างความรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของชุมชน เช่นเดียวกับการเป็นเจ้าของภาษี ดังตัวอย่างในต่างประเทศ เพราะคนที่มาบริหารจัดการชุมชนคือผู้ที่นำเงินซึ่งเราเสียภาษีมาใช้ หากคนที่เข้ามานั่งบริหารบ้านเมืองใช้เงินของเราไปในทางที่ผิด เราอาจอุทิศตนเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อปกป้องผลประโยชน์ที่เราควรได้รับจากการเป็นเจ้าของเงิน
สิ่งสำคัญคือ ต้องสร้างตุ๊กตาหรือชี้สภาพปัญหาเพื่อทำให้เกิดแรงจูงใจให้คนอยากเข้าร่วม เช่น ในจำนวน 10 หมู่บ้าน มี 5 หมู่บ้านที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สนับสนุนงบประมาณสร้างถนนคอนกรีตป้องกันน้ำท่วม ทำให้ 5 หมู่บ้านที่เหลือตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง สมาชิก อบต. ที่สามารถตอบสนองความต้องการนั้นได้ เป็นต้น
ในฐานะที่เป็นองค์กรพัฒนาและส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง ช่วยเล่าถึงภาพรวมองค์กร
สมาชิกที่ทำงานใน สพม. ส่วนหนึ่งเป็นคนที่ทำงานในพื้นที่ ซึ่งเป็นผู้ที่เข้าใจกลไกหรือวิธีการกระตุ้นให้เกิดพลังขับเคลื่อนที่จริงจัง ดังนั้นแนวทางการดำเนินงานจึงผูกติดกับระดับพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ การขับเคลื่อนงานการเมืองภาคพลเมืองในช่วงปีเศษที่ผ่านมา จึงเน้นงานที่สร้างความเข้มแข็งให้กับพื้นที่เป้าหมายซึ่งเรากำหนดไว้อย่างน้อยในจังหวัดหนึ่งๆต้องมี 1-3 ตำบล
และอธิบายเพิ่มเติมว่า เหตุที่เริ่มส่งเสริมในระดับท้องถิ่น ซึ่งหมายถึงตำบลหรือเทศบาล เพราะการเมืองมีความเข้มข้นใกล้ชิดชาวบ้าน ผลกระทบที่เกิดจากกิจกรรมทางการเมืองก็มีความใกล้ตัวส่งผลต่อวิถีชุมชนอย่างเห็นได้ชัด แต่ในบางเรื่องที่ปัญหามีนัยยะที่ซับซ้อนมาก อาจต้องขยับสู่ระดับที่ใหญ่ขึ้น เช่น จังหวัด หรือประเทศ คือเคลื่อนไหวสู่การมีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับประเทศ
ช่วยยกรูปธรรมที่ สพม.เข้าไปส่งเสริมหรือสนับสนุนในท้องถิ่น
สิ่งที่มุ่งเน้นมากที่สุดในการสร้างความเข้มแข็งให้พื้นที่ คือส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน ความสามารถในการบริหารจัดการของชุมชนท้องถิ่น การรับรู้ประเด็นปัญหา เพื่อร่วมกำหนดนโยบาย การจัดทำแผนชุมชน เพื่อผลักดันให้เกิดสิ่งเหล่านี้อย่างกว้างขวางในทางปฏิบัติ
การประชาพิจารณ์ผ่านเวทีสภาพัฒนาการเมืองสัญจรที่สงขลา ที่ผ่านมา ผลเป็นอย่างไรบ้าง
ประชาชนมีความคาดหวังให้ สพม.มีบทบาททางสังคมมากขึ้น เขายังรู้สึกว่าวันนี้เราดูเงียบๆไม่เป็นที่รู้จัก เขาอยากให้เราแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในประเด็นการเมืองที่สำคัญ หรือทำหน้าที่ประสานให้เกิดการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ อยากให้เราลงพื้นที่รับฟังปัญหา และต่อยอดการพัฒนาในเชิงนโยบาย
แล้ว 1 ปีเศษที่ผ่านมา สพม.ยังไม่ได้แสดงบทบาทตามที่ประชาชนคาดหวังหรือ
ทุกฝ่ายต้องทำความเข้าใจบทบาทหน้าที่ของ สพม. ก่อนว่าเราทำงานใน 2 ส่วน คือ 1.เร่งขับเคลื่อนแผนพัฒนาการเมือง โดยเป็นองค์กรประสาน ติดตาม ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแผนฯเร่งดำเนินการ และจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อใช้ต่อยอดสำหรับการพัฒนาต่อไป 2.การสร้างความเข้มแข็งให้กับการเมืองภาคพลเมือง ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นในพื้นที่ ดังนั้นการจะทำให้คนรู้จักโดยทั่วไปหรือออกมาแสดงจุดยืนคงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากและเกินกว่าอำนาจหน้าที่ที่พึงปฏิบัติ
นอกจากนี้เรายังเคลื่อนงานตาม พรบ.สภาพัฒนาการเมือง 2551 ซึ่งระบุให้มีการจัดตั้ง “กองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง” เพื่อช่วยเหลือกิจกรรมสาธารณะของชุมชนที่เกี่ยวกับการเมืองภาคพลเมือง รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานของกลุ่มประชาชนที่รวมตัวกันในรูปแบบเครือข่ายทุกรูปแบบให้สามารถแสดงความคิดเห็นและเสนอความต้องการของชุมชนในพื้นที่เพื่อของบประมาณสนับสนุนจาก สพม.ได้
ก้าวย่างต่อไปของ สพม.จะขยับหรือขับเคลื่อนงานอย่างไรบ้าง
{mosimage} ทุกข้อเสนอแนะที่ได้รับ สพม. จะรวบรวมและหารือกัน เพื่อหาแนวทางร่วม เพราะเข้าใจว่าทุกเสียงสะท้อนคือความห่วงใยผนวกกับความคาดหวังว่าองค์กรใหม่ๆ จะมีความสามารถทำงานหลากหลาย ขณะที่การเมืองไทยยังไม่ลงตัว หากจะให้ประชาชนมองด้วยสายตาของความเข้าใจอาจเป็นเรื่องยาก แต่ยืนยันว่าจะเดินหน้าเท่าที่อำนาจหน้าที่ทำได้
งานของ สพม.ที่เกี่ยวเนื่องกับการเมืองภาคพลเมืองมักเกี่ยวข้องกับระดับภูมิภาค ตำบล ท้องถิ่น เน้นพื้นที่เป้าหมาย จึงเกิดแนวคิดว่าหากสามารถแยกส่วนเพื่อขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ก็จะสะดวกในการจัดการและเข้าถึงสภาพปัญหาในพื้นที่ได้ทั่วถึง จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกชุดหนึ่งเพื่อรับผิดชอบงานเชิงประเด็น
สำหรับปี 2553 สพม.เตรียมขยายพื้นที่เป้าหมาย โดยมีคณะกรรมการระดับภูมิภาค ทำหน้าที่กำหนดพื้นที่เป้าหมายและแนวทางการดำเนินงาน และทำงานเชื่อมประสานกับส่วนกลางในลักษณะโครงข่าย
อยากให้สรุปทิ้งท้ายในฐานะองค์กรที่มีบทบาทพัฒนาการเมืองภาคประชาชน และถูกคาดหวัง
การจะเดินเครื่องการเมืองภาคพลเมืองให้ประสบความสำเร็จ และเป็นความสำเร็จที่ยั่งยืน ต้องคิด ต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และวางแผนระยะยาว เช่น วันนี้เราอาจกระตุ้นให้คนมีส่วนร่วมในพื้นที่เป้าหมาย ทำให้คนในพื้นที่มีความสนใจอยากเป็นส่วนหนึ่งเพื่อการพัฒนาการเมืองระดับท้องถิ่นอย่างเป็นขั้นตอนชัดเจนได้ แต่ปัญหาคือจะทำอย่างไรให้กลุ่มคนเหล่านี้ สามารถรักษาระดับการมีส่วนร่วมได้อย่างต่อเนื่อง เพราะบางคนอาจเข้าร่วมเพราะความจำเป็นในการแก้ไขปัญหา แต่หลังจากปัญหาถูกปัดเป่าบรรเทาลงแล้ว คำถามคือ คนเหล่านั้นยังต้องการมีส่วนร่วมอีกหรือไม่
องค์กรหรือหน่วยงานเป็นเพียงหน่วยประสานเพื่อสร้างความเข้าใจและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทางการเมืองสู่ระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น การสร้างความร่วมมือตั้งแต่ระดับชุมชน ท้องถิ่น ตำบล อำเภอ จังหวัด สู่ระดับประเทศน่าจะเป็นหัวใจของการพัฒนาการเมืองไทยได้ตรงโจทย์ตามรัฐธรรมนูญที่สุด
และ เธียรชัย ณ นคร เลขาธิการสภาพัฒนาการเมือง ทิ้งท้ายว่า..
“ภาพการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนสามารถสะท้อนให้เห็นพัฒนาการทางการเมืองของประเทศนั้นๆได้ ซึ่งจะพัฒนาไปมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับระดับการมีส่วนร่วม และขึ้นอยู่กับประเด็นสถานการณ์ทางสังคมการเมืองในแต่ละช่วงเวลาด้วย” .
ภาพประกอบจาก www.pcd.go.th