คุย "ประเทือง ปรัชญพฤทธิ์” ป.ป.ช. ภาคประชาชน กับงานต้านคอรัปชั่น
สิงคโปร์ภาพลักษณ์ทุจริตน้อยติดอันดับโลก มีกฏหมายดี มีสำนักงานสอบสวนคอรัปชั่น ซีพีไอบี ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ส่วนเกาหลีใต้มีองค์กรตรวจสอบภาคประชาชนต่อต้านคอรัปชั่น พีเอสพีดี สามารถจับทุจริตประธานาธิบดีติดคุก ส่วนประเทศไทยมีดัชนีชี้วัดคอรัปชั่นมากอันดับ 10 ใน 23 ประเทศเอเชีย อันดับ 84 ใน 180 ประเทศทั่วโลก แต่วันนี้มีองค์กรชื่อ “ป.ป.ช.ภาคประชาชน” ต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นเกิดขึ้น ผลงานในรอบสองปีที่ผ่านมาเป็นเช่นไร โต๊ะข่าวชุมชนสัมภาษณ์ ประเทือง ปรัชญพฤทธิ์ รักษาการ ป.ป.ช.ภาคประชาชน และทีมงาน…
รู้จักองค์กรภาคประชาชนตรวจสอบคอรัปชั่น
“มีเรื่องทุจริตคอรัปชั่นแทรกอยู่ในทุกมิติของแต่ละปัญหาในสังคม ไม่ว่างานร้อนงานเย็น แต่ที่ร้ายที่สุดคือขบวนการข้างบน ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนแก้ไขพัฒนายกระดับ บ้านเมืองก็แย่ไปอีกนาน”
ประเทือง ปรัชญพฤทธิ์ รักษาการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบภาคประชาชน (ป.ป.ช.ภาคประชาชน) ในรอบสองปีที่ผ่านมาเปิดบทสนทนา และเล่าที่มาองค์กรที่ก่อตั้งในปี 2550 โดยการสนับสนุนของคณะกรรมการวิสามัญศึกษาและติดตามกระบวนการและมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีพันธกิจตรวจสอบเปิดโปงการทุจริตประพฤติมิชอบคู่ขนานกับหน่วยงานภาครัฐ
"การทุจริตคอรัปชั่น ไม่มีรูปแบบมาตรฐาน ไม่มีตัวหนังสือกำกับ การทำงานตรวจสอบจึงต่างจากงานเย็นอย่างการปกป้องวีถีชีวิตชุมชนหรือส่งเสริมอาชีพเกษตร เรื่องใดที่ร้อนและเป็นประเด็นขึ้นมาหรือไม่ชอบมาพากลจะต้องรีบรับทันที แต่เราเป็นองค์กรภาคประชาชน มีแต่หน้าที่ ไม่มีงบ ไม่มีอำนาจ จึงใช้วิธีสื่อถึงรัฐ เช่น ออกแถลงการณ์ ยื่นหนังสือนายกฯ เปิดเวทีร่วมกับภาคีองค์กรต่างๆ ทำงานร่วมกับวุฒิสภา ผลักดันให้เป็นข่าว ให้สังคมเห็นถึงความไม่ชอบมาพากล”
สุรางค์ เอกโชติ กรรมการ ป.ป.ช.ภาคประชาชน กล่าวเสริมถึงการทำงานขององค์กรว่า เน้นตีแผ่ปัญหาให้สาธารณะชนรับรู้ผ่านช่องทางสื่อสารมวลชน เพื่อสร้างแรงกดดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมารับผิดชอบหรือแก้ไขปัญหา
“สิ่งที่ทำได้ก็คือ การสร้างแรงกดดัน ให้รู้ว่าประชาชนเดือดร้อน หรือเรื่องนี้เป็นปัญหาแต่รัฐบาลยังนิ่งเฉย บทบาทเราจึงเหมือนเป็นกระบอกเสียง และสิ่งที่ต้องยิ่งจับตาอย่างไม่กระพริบคือ การคอรัปชั่นเชิงนโยบาย สมมุติว่านักการเมืองอยากได้เงิน 3 พันล้านเพื่อนำไปเลือกตั้ง ก็คิดนโยบายออกมาแล้วทำโครงการต่างๆใช้งบประมาณ คิดจากผลไปหาเหตุ แต่ไม่ได้คำนึงถึงความต้องการของประชาชน”
รักษาการประธาน ป.ป.ช.ภาคประชาชน บอกว่า ในสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบันที่แตกแยกทางความคิดรุนแรง ความหวังคือการมีคนเสียสละอาสาเข้ามาทำงานเพื่อสังคมในองค์กรภาคประชาชนต่างๆ, การขยายแนวคิดต่อต้านทุจริตคอรัปชั่นเข้าไปสู่คนรุ่นใหม่ในมหาวิทยาลัย รวมทั้งการทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชนในบทบาทเปิดเผยความจริงสู่สาธารณะ
“ไม่เพียงแต่เรื่องคอรัปชั่นที่เราทำ ยังมีเรื่องสิทธิชุมชน เรื่องระบบนิเวศน์ เรื่องถูกข้าราชการกลั่นแกล้ง รวมแล้วคือเรื่องความไม่เป็นธรรมทางสังคม เรื่องใดที่ทำได้เราก็ทำ”
ผลงานในฐานะกระบอกเสียงชุมชนรอบ 2 ปี
{mosimage} “เบื้องหลังการละเมิดสิทธิชุมชนในทุกมิติ คือการทุจริตคอร์รัปชัน”
นอกจากติดตามตรวจสอบและตีแผ่คอรัปชั่นโครงการต่างๆ สองปีที่ผ่านมา องค์กรภาคประชาชนแห่งนี้ยังมีบทบาทเป็นกระบอกเสียงในหลายกรณีละเมิดสิทธิชุมชน อาทิ ร่วมกับชาวบ้านสุรินทร์ต่อสู้ทวงคืนผืนป่าสงวนแห่งชาติดงหินล้ม 2 หมื่นกว่าไร่จากสวนป่า ออป.ห้วยแก้ว ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ที่ทำลายป่าสมบูรณ์ ความคืบหน้าเดือนธันวาคมที่ผ่านมาชาวบ้านเข้ามาชุมนุมเรียกร้องที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลรับปากจะคืนผืนป่าให้กรมป่าไม้และชุมชน, คัดค้านโรงเหล็กบางสะพานสร้างผลกระทบกับชุมชน, ร่วมเรียกร้องสิทธิชุมชนจากโครงการสะพานสตึกข้ามแม่น้ำมูลและถนนสี่ช่องจราจร 281 ล้านบาท และ ร่วมเรียกร้องความเป็นธรรมกับเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ จ.ลำปาง
“กรรมการ ป.ป.ช.ภาคประชาชนบางคนก็เป็นนักต่อสู้เป็นแกนนำในพื้นที่อยู่แล้ว เราก็เอาปัญหาต่างๆมาขับเคลื่อนร่วมกัน เช่น คุณมะลิวรรณ นาควิโรจน์ เป็นเลขาธิการเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ และก็เป็นกรรมการเราด้วย ขณะนี้เรื่องอยู่ที่ศาลปกครองเชียงใหม่ และมีคำสั่งจ่ายเงินเยียวยา 22 ล้านบาทให้ชาวบ้าน 132 คนแต่ กฟผ.ก็ยื่นอุทรณ์อ้างว่าเพื่อปกป้องศักดิ์ศรี แล้วศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชาวแม่เมาะล่ะ เขาต้องทนทุกข์เข็ญมาตั้งแต่มีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นก่อนปี 2535 ทนกับกาซพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์ สารเคมี หมอกควัน คนนับพันป่วยเรื้อรังและทยอยตายไปทีละคน”
สมชัย พิชิตฉัตรฉนา คณะทำงานสื่อสาธารณะ ป.ป.ช.ภาคประชาชน กล่าวถึงกรณีร่วมคัดค้านการยื่นอุทรณ์ยื้อเวลาจ่ายค่าชดเชยผลกระทบจากโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินแม่เมาะ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)
ส่วนการติดตามตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์ “โฉนดน้ำ”ทับที่สาธารณะประโยชน์บริเวณริมฝั่งล้ำน้ำมูล จ.บุรีรัมย์ ที่เชื่อมโยงกับขบวนการลักลอบดูดทรายตลอดลำน้ำมูล ซึ่งประเทือง เล่าว่า….
“โฉนดน้ำเป็นคำที่พวกเราคิดขึ้นมา เพราะก็คือโฉนดที่ดินบนผืนทรายที่ถูกดูดจนเป็นน้ำหมดแล้ว เรื่องนี้เกิดขึ้นมาสิบกว่าปีแล้ว คือตลอดสายลำน้ำมูลจากโคราชถึงอุบลราชธานี จะเป็นแหล่งสะสมทรายธรรมชาติ แล้วก็มีขบวนการดูดทรายของนายทุนที่ราชการรู้เห็นเป็นใจ เปิดช่องให้ผู้รับเหมาดูดทรายในปริมาณมาก เช่น ขออนุญาต 5 ไร่ แต่ดูดไป 100 ไร่ ผลกระทบคือทำให้เส้นทางน้ำเปลี่ยน ตลิ่งพัง กระทบวิถีชีวิตชาวบ้าน ภายหลังนายทุนไปกว้านซื้อที่ดินริมฝั่งน้ำมูลจากชาวบ้าน จากที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ไร่ละ 2 พัน ก็นำไปออก น.ส.3 ออกโฉนด จำนองธนาคารไร่ล่ะ 2 หมื่น หลายธนาคารรับโฉนดน้ำเข้าไปเยอะ เรื่องนี้เสนอวุฒิสภานานแล้วแต่ยังไม่คืบหน้า”
ภารกิจล่าสุด ค้านมอเตอร์เวย์โคราช ป้องกันทุจริต 6 หมื่นล้าน
{mosimage} และล่าสุดคือความพยายามเปิดโปงความไม่โปร่งใสโครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราชมูลค่า 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะกระทบมรดกโลกเขาใหญ่ ทำลายวิถีชีวิตชุมชนสองฝั่งอย่างรุนแรง และยังมีความไม่โปร่งใสด้านงบประมาณ ซึ่งประเทือง เล่าว่า…
“โครงการนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2548 แล้วเงียบไป มาผุดอีกเพราะรู้ว่ารัฐบาลกู้เงินมาใช้ในงบไทยเข้มแข็ง อ้างว่าทำเพื่ออำนวยความสะดวกให้ปริมาณรถที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาล แต่งบประมาณที่ใช้มากเกินไป เริ่มต้น 2 หมื่นกว่าล้าน ตอนนี้ 7 หมื่นกว่าล้าน และเชื่อว่าจะขยับไปถึง 1 แสนล้าน ควรจะนำไปใช้ทำเรื่องรถไฟรางคู่ทั้งประเทศด้วยซ้ำ และไม่ต้องมีการเวนคืนที่ดินด้วย หากโครงการนี้เกิดขึ้น จะมีมอเตอร์เวย์อีก 5 โครงการเข้าคิวรอในลักษณะเดียวกัน”
สุรางค์ กล่าวเสริมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการนี้ว่า จะบดบังทัศนียภาพส่วนที่เป็นพื้นที่กันชนระหว่างชุมชนกับป่าเขาใหญ่มรดกโลก และกระทบพื้นที่แหล่งอารยธรรมหินตัดที่นำไปใช้สร้างปราสาทหินพิมาย สร้างผลกระทบการประกอบอาชีพของชาวบ้านสองฝากทางมอเตอร์เวย์จำนวนมาก
เมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ป.ป.ช.ภาคประชาชน จึงร่วมกับ คณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล และ คณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมภาคประชาชนป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบในทรัพย์สินของรัฐ วุฒิสภา จัดเสวนา “โครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช 6 หมื่นล้าน ใครได้ใครเสีย” และในวันที่ 18 มกราคมที่จะถึงนี้ ป.ป.ช.ภาคประชาชน และ สว.ไพบูลย์ นิติตะวัน จะลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการดังกล่าว ก่อนจะเปิดเวทีสัมนาซักฟอกอีกครั้งในวันที่ 22 มกราคมที่รัฐสภา
มีแนวโน้มจะขยับไปสู่งาน “สื่อต่อต้านคอรัปชั่น” อย่างไรก็ตามด้วยเจตนารมย์ที่ดีในการก่อตั้ง หวังเป็นองค์กรภาคประชาชนตรวจสอบคอรัปชั่น และมีพันธกิจเป็นกระบอกเสียงชาวบ้าน สองปีการทำงานยังนับว่าเริ่มต้น หนทางต่อไปจะสานต่อเช่นไร ปัญหาใดๆในองค์กรจะคลี่คลายไปในทิศทางใด คนและองค์กรแห่งนี้คงต้องฝ่าฝันกันต่อไปเพื่อไม่ละทิ้งเจตนารมย์เบื้องต้นอันดี .