“ก้าวย่างทางชุมชนปี 53 : ทัศนะผ่านงานจาก 5 คนและองค์กรสร้างทาง”
แม้ว่าสังคมไทยจะมีพลวัฒน์ของการพัฒนาไปสู่ความเป็นเมืองและความทันสมัยมากขึ้นเรื่อยๆเพียงไร แต่ ณ ปัจจุบันก็ยังปฏิเสธไม่ได้ว่าฐานรากคนส่วนใหญ่ของประเทศคือชุมชน และในยุคที่สังคมข่าวสารข้อมูลเปิดกว้างและรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เปิดทาง มีหลายเรื่องราวที่เป็นเสียงจากชนบทสะท้อนขึ้นสู่สาธารณะ ทั้งกรณีความขัดแย้ง และนวัตกรรมสร้างสรรค์ ปีใหม่นี้โต๊ะข่าวชุมชนได้สัมภาษณ์ 5 ทัศนะจาก 5 คนและองค์กรสร้างทางถึงทิศทางชุมชนไทยว่ายังมีเรื่องเด่นประเด็นใดที่น่าเป็นห่วง มีแนวโน้มใดที่น่ายินดี
“ทิพย์รัตน์ นพลดารมณ์” ผอ.พอช.
“ชุมชนเปรียบเหมือนรากฐานของประเทศ ถ้าข้างล่างเข้มแข็ง ข้างบนหรือประเทศก็เข้มแข็ง องค์กรชุมชนในประเทศนั้นมีอยู่มาก ถ้าแต่ละตำบลสามารถจัดการพื้นที่ของเขาเองได้ เกิดแผนชุมชน แล้วเอามาร้อยรัดต่อกันไปทำแผนบูรณาการกับท้องถิ่นและจังหวัด มันก็จะเกิดการแก้ปัญหาฐานราก”
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. เป็นองค์กรที่มีวิสัยทัศน์ “มุ่งสร้างความเข้มแข็งของสังคมจากฐานราก ด้วยพลังองค์กรชุมชนและประชาสังคม” มีบทบาทในการหนุนเสริมความเข้มแข็งของชุมชนในหลายเรื่อง เช่น การจัดทำแผนชุมชน, การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินภายใต้โครงการบ้านมั่นคงชนบท และการสนับสนุนสวัสดิการชุมชน
ทิพย์รัตน์ นพลดารมณ์ ผู้อำนวยการ พอช. มองภาพรวมโลกาภิวัฒน์และระบบทุนที่ผ่านจากหน่วยงานต่างๆลงไปในพื้นที่มีส่วนทำให้ชุมชนอ่อนแอ ถ้าชุมชนเป็นเพียงผู้รับไม่ได้กำหนดแผนพัฒนาของตัวเอง แต่ 8-9 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 เปิดโอกาสการพัฒนาที่เน้นขบวนการชุมชนเป็นหลัก เปิดทางให้ชุมชนจัดการตนเองได้ มีการวางแผนวิเคราะห์ศักยภาพ ปัญหา ความต้องการ และจะเชื่อมโยงกับภายนอกเพื่อพัฒนาสู่ความยั่งยืน
ในเชิงประเด็น ชุมชนจะเข้มแข็งยั่งยืนได้ต้องมีปัจจัยพื้นฐานคือความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ความสามารถจัดการทุนหรือการเงินด้วยตัวเอง ไม่เป็นหนี้สิน นอกจากนี้สถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมรับและวางแผนป้องกันฟื้นฟู ในอีก 5-10 ปีข้างหน้าชุมชนริมทะเลจะได้รับผลกระทบจากโลกร้อน ทั้งน้ำท่วมและอื่นๆ
"ทิศทางที่ดีขึ้นคือ ขบวนการชุมชนตื่นตัว ชุมชนมีความสามารถเปิดรับข้อมูลข่าวสาร บวกกับองค์ความรู้ดั้งเดิมที่มีมากมาย หลายเรื่องมีวิธีการแก้ปัญหาด้วยวิถีของตน เรื่องแผนชุมชนกำลังพูดถึงกันมาก, ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงทำให้คนได้คิด เกิดรูปธรรมความสำเร็จเป็นศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาชุมชน ส่วนเรื่องการกระจายอำนาจเพิ่งเริ่มและต้องทำให้มากกว่านี้ คือทำอย่างไรให้ชุมชนกับท้องถิ่นสามารถจัดการตนเองได้จริง และหน่วยงานส่วนกลางทำหน้าที่หนุนเสริม..”
แต่เรื่องที่น่าเป็นห่วงคือ เสถียรภาพการเมืองที่ไม่นิ่งจะส่งผลกระทบกับนโยบายที่ไปหนุนชุมชนให้ทำได้ไม่ต่อเนื่อง และนโยบายของหน่วยงานที่ลงไปเร็วจะมีผลกระทบกับชุมชนเยอะ
“ประเทือง ปรัชญพฤทธิ์” ป.ป.ช.ภาคประชาชน
{mosimage} “เบื้องหลังการละเมิดสิทธิชุมชนในทุกมิติ คือการทุจริตคอร์รัปชัน”
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบภาคประชาชน(ป.ป.ช.ภาคประชาชน) ก่อตั้งในปี 2550 โดยการสนับสนุนของคณะกรรมการวิสามัญศึกษาและติดตามกระบวนการและมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีพันธกิจตรวจสอบเปิดโปงการทุจริตประพฤติมิชอบคู่ขนานกับหน่วยงานภาครัฐ และมีบทบาทเป็นกระบอกเสียงในหลายกรณีละเมิดสิทธิชุมชน อาทิ เปิดโปงขบวนการโฉนดน้ำและการทำลายลุ่มน้ำมูลของผู้มีอิทธิพลในอุตสาหกรรมดูดทราย จ.บุรีรัมย์, เรียกร้องให้ ออป.ห้วยแก้ว คืนผืนป่าดงหินล้ม 2 หมื่นไร่ให้กรมป่าไม้และชุมชน และล่าสุดคือพยายามเปิดโปงความไม่โปร่งใสโครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราชมูลค่า 6 หมื่นล้านบาท
ประเทือง ปรัชญพฤทธิ์ รักษาการประธาน ป.ป.ช.ภาคประชาชน ขยายแนวคิดว่า ทุกวันนี้มีการทุจริตคอรัปชั่นแทรกอยู่ในทุกมิติของแต่ละปัญหาในสังคมไทย ถ้าไม่แก้ไขที่ต้นตอนี้โดยเฉพาะหัวขบวนคือนักการเมืองและพรรคการเมือง ปัญหาต่างๆก็จะไม่ได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง โดยเฉพาะสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบันที่แตกแยกทางความคิดรุนแรงและยังไม่รู้จะจบอย่างไร
“การเมืองไทยปัจจุบันทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน ข้้าราชการ นักธุรกิจ รวมกันได้หมดเพื่อผลประโยชน์ เราจึงไม่ไว้ใจโครงการต่างๆที่โยนลงไปให้ชาวบ้านแบบไม่มีการตรวจสอบ เพราะเป็นอันตรายต่อชุมชน และตั้งสมมุติฐานได้เลยว่าสิ่งที่ชาวบ้านในพื้นที่ร้องขึ้นมา ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาจริงที่เขาทนไม่ไหวแล้ว..”
แต่หากองค์กรภาคประชาชนมีคนเสียสละอาสาและกระจายไปในทุกภูมิภาคก็จะเป็นความหวังได้ รวมทั้งบทบาทของสื่อมวลชน และแนวคิดต้านการทุจริตคอรัปชั่นที่ขยายเข้าไปสู่มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะถ้าชุมชนเข้มแข็งและสามารถเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายมากขึ้นๆ ก็จะนำไปสู่การผลักดันแก้ไขปัญหาในเรื่องต่างๆได้อย่างมีพลัง
“ครูชบ ยอดแก้ว” ต้นแบบสวัสดิการชุมชนออมวันละบาท
{mosimage} “ก้าวต่อไปของชุมชนไทยขึ้นอยู่กับการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามาดูแลจัดการชุมชนตัวเอง ให้สามารถดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลกันเองได้..”
ครูชบ ยอดแก้ว ต้นแบบ “โครงการสัจจะลดรายจ่ายวันละ 1 บาทเพื่อทำสวัสดิการภาคประชาชน” ที่สามารถขยายแนวคิดจนเกิด 140 กองทุนใน 107 ตำบล 33 เทศบาล จังหวัดสงขลา มองภาพปัญหาชุมชนไทยที่ผ่านมาว่า เกิดจากชาวบ้านแบ่งฝักฝ่ายแตกสามัคคี ขาดการมีส่วนร่วมและละเลยปัญหาส่วนรวม ชุมชนจึงไม่เข้มแข็ง การพัฒนาจึงไม่เกิดขึ้น ทางออกไปสู่ความก้าวหน้าของชุมชนไทยต้องเริ่มจากการแบ่งปันปัญหาส่วนบุคคลเพื่อหลอมรวมเป็นปัญหาของชุมชน ซึ่งสิ่งสำคัญคือสร้างแรงจูงใจว่าสิ่งที่ร่วมกันทำจะเกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและเพื่อนบ้าน
ตัวอย่าง แนวคิดลดรายจ่ายสัจจะวันละบาท ก็เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินชาวบ้านและแก้ปัญหาความยากจนในชุมชนส่วนรวม เป็นกองทุนสวัสดิการให้ทุกคนได้มีโอกาสช่วยเหลือเกื้อกูลกันตั้งแต่เกิดจนตาย จากจุดเริ่มต้นถึงวันนี้ มีสมาชิก 123,480 คน คลอบคลุมเกือบทุกตำบลในจังหวัดสงขลา ซึ่งปีหน้าคาดว่าจะสามารถขยายอีก 8 ตำบลที่เหลือได้สำเร็จ
“ก้าวต่อไปของชุมชนไทยขึ้นอยู่กับการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามาดูแลจัดการชุมชนตัวเอง ให้สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็เริ่มมีการจุดประกายให้เห็นมากขึ้น อย่างเมื่อก่อนประชาชนต้องเข้าไปร่วมกับนโยบายและสิ่งรัฐยื่นให้ แต่ตอนนี้ประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับรัฐอย่างมีศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกันด้วย ถ้าเปรียบกับมวยแนวทางการมีส่วนร่วมนี้เท่ากับการไหว้ครู อนาคตจะแพ้ชนะอย่างไร ขึ้นอยู่กับการสานต่อของชุมชนและรัฐบาล”
“ครูมุกดา อินต๊ะสาร” นักพัฒนาหญิงแห่งพะเยา
{mosimage} “ปัญหาของชุมชนไทยที่น่าเป็นห่วงคือต้นทุนเดิมและภูมิคุ้มกันในชีวิตของเด็กรุ่นใหม่มีน้อยลง เนื่องจากพื้นฐานครอบครัวยากจนและไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการ เมื่อผนวกเข้ากับกระแสสังคมปัจจุบัน ทำให้เด็กซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของสังคมถูกดึงให้ออกห่างจากชุมชนมากขึ้น..”
ครูมุกดา อินต๊ะสาร ครูเล็กๆที่ทำหน้าที่แม่พิมพ์ของชาติใน อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา และกลายมาเป็นนักพัฒนาหญิงที่ขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนท้องถิ่น บอกว่า การแก้ปัญหาต้องเริ่มจากชุมชนเอง เช่นกรณีของ “ศูนย์รวมน้ำใจธนาคารหมู่บ้าน” อ.ดอกคำใต้ เริ่มจากการวิเคราะห์ปัญหาของตนเอง เช่น ชาวบ้านมีปัญหาหนี้สินที่เชื่อมโยงไปสู่ปัญหาอื่นๆ ลูกหลานไม่ได้รับการศึกษา สุขภาพอนามัยไม่ดี ชาวบ้านจึงร่วมใจกันทำธนาคารหมู่บ้านโดยใช้ฐานการออมและนำผลกำไรไปจัดสวัสดิการชุมชน และขยายเป็นการฝึกอาชีพ รายการวิทยุเผยแพร่ข่าวสารในชุมชน ฯลฯ และยังเปิดโอกาสให้เด็กๆเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมพัฒนา
“ทิศทางชุมชนไทย คือชุมชนต้องค้นหาต้นทุนเดิมของตนเองให้เจอก่อน แล้วเชื่อมโยงการทำงานกับภาคส่วนอื่นๆ ที่สำคัญต้องดึงเด็กและเยาวชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆของชุมชนให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรบุคคลสานต่อการพัฒนาในชุมชนอย่างต่อเนื่อง ต้องสร้างโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนในชุมทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ แล้วค่อยนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนในพื้นที่กับหน่วยราชการ”
“บารมี ชัยรัตน์” ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน
{mosimage} ม็อบทรหด 99 วันบนท้องถนนที่เกิดจากการรวมตัวของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาด้านต่างๆ พร้อมๆกับการก่อเกิดของ “สมัชชาคนจน” ในปี 2538 เรียกได้ว่าเป็นการชุมนุมของชาวบ้านที่ทรงพลังที่สุดในประเทศ และทำให้เสียงเรียกร้องของคนฐานรากปรากฏดังต่อสาธารณะและรัฐบาลลงมาใส่ใจต่อปัญหา บารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจนในวันนี้ ร่วมมองภาพก้าวย่างทางต่อชุมชนไทย
“ผมคิดว่ากฎหมายต่างๆที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายทรัพยากร ป่า น้ำ ประมง ล้วนเป็นตัวการในการทำลายสิทธิชุมชน และระบบราชการยังเห็นด้วยกับการรวมศูนย์อำนาจและพยายามหาช่องทางทำลายการกระจายอำนาจ ซึ่งท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งผมคิดว่าปีหน้าอาจจะรุนแรงขึ้น อาจทำให้ภาคการเมืองมีความอ่อนไหวสั่นคลอน แต่ระบบราชการไม่กระเทือนด้วย ช่องว่างที่การเมืองเป็นแบบนี้ชาวบ้านจะตกเป็นเบี้ยล่างไม่สามารถขยับอะไรได้เท่าไร จะถูกกระทำจากระบบราชการ ยิ่งในรัฐบาลที่เชื่อมั่นในระบบราชการ แนวโน้มจะหนักขึ้น..”
ส่วนนโยบายประชานิยมเกี่ยวกับชุมชน ที่ปรึกษาสมัชชาคนจนมองว่ายังมีปัญหาในทางปฏิบัติที่ไม่สามารถขับเคลื่อนได้จริง ไม่ว่าจะเป็นโฉนดชุมชนซึ่งมีร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีออกมารองรับ และงบประมาณไทยเข้มแข็งในโครงการชุมชนพอเพียงก็เป็นการผลาญงบประมาณและมีปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นที่ยังสะสางไม่เสร็จมากกว่าจะเกิดประโยชน์ต่อชุมชน
“อย่างโฉนดชุมชนนั้นร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีออกมาในแบบที่เครือข่ายองค์กรชาวบ้านที่ทำงานเรื่องนี้รับไม่ได้ คือมันก็กลายเป็นเรื่องโกหกหลอกลวง เหมือนที่ทักษิณไปมอบเอกสารสิทธิ์ให้อาจสามารถโมเดล เนื้อหาไม่แตกต่างกันเลย เพียงแต่อีกฝ่ายเรียกเอกสารสิทธิ์ อีกฝ่ายเรียกโฉนดชุมชน”
ส่วนทิศทางที่น่ายินดีคือ ชาวบ้านตระหนักในสิทธิของตน สังคมหันมาสนใจเรื่องสิทธิชุมชนมากขึ้น และองค์กรปกครองส้วนท้องถิ่นที่เข้มแข็งขึ้นในทิศทางที่ก้าวหน้าคือหันกลับมาสนใจปัญหาชาวบ้าน รวมทั้งศาลเองที่ให้ความสนใจในมิติชุมชนและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่ว่าผลการพิพากษาจะออกมาในทางที่เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษกับชาวบ้านก็ตาม ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะเรียนรู้ร่วมกันถึงแนวทางที่เหมาะสมต่อไปว่าควรเป็นอย่างไร .