แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
ศึกชิงมวลชนในอากาศ จากปรากฎการณ์ “สายล่อฟ้า”
“ตอนนี้ผมคิดว่า รายการสายล่อฟ้ามีแฟนคลับมากที่สุดรายการหนึ่ง อาจจะมากเป็นอันดับหนึ่งของรายการในเคเบิ้ลทีวีในตอนนี้ เรื่องนี้ผมไม่ได้ประเมินเอง แต่มีผู้เชี่ยวชาญบอก ซึ่งเขายังบอกกับผมอีกว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา หากประเมินรายการในเคเบิ้ลทีวีทุกช่อง เรตติ้งรายการสายล่อฟ้าถือว่าสูงสุด”ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต หนึ่งในสามพิธีกรรายการสายล่อฟ้า กล่าวอย่างภาคภูมิใจในผลตอบรับที่เกิดขึ้นของรายการ
หมวกหลักของ “ชวนนท์” คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่วนอีกบทบาทหนึ่งเขาสมบทโฆษกพรรคประชาธิปัตย์
คงไม่มีใครปฏิเสธว่า วันนี้เขาทำหน้าที่เหล่านี้ได้ดีเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้มาประกบคู่กับ “เทพไท เสนพงศ์” และ “ศิริโชค โสภา” ส.ส.รุ่นพี่จากค่ายเดียวกัน ก็ยิ่งทำให้เห็นว่า การทำหน้าที่พิธีกรร่วมในรายการสายล่อฟ้า ถือเป็นการ “จับปลามาปล่อยได้ถูกน้ำ”
บทบาทของ ส.ส.ค่ายสะตอทั้ง 3 คน ถือเป็นการจำลองแบบ มาจากรายการ 3 เกลอในอดีต โดยหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 “จตุพร พรหมพันธุ์” จับคู่กับ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” และ “วีระ มุสิกพงศ์” ร่วมกันดำเนินรายการ “ความจริงวันนี้” ทางสถานีพีเพิลทีวี ซึ่งเป็นเคเบิ้ลทีวีน้องใหม่ ตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจ เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาบ้านเมือง โดยมีเป้าหมาย คือ สื่อสารกับมวลชนคนเสื้อแดง
แม้ช่วงนั้นเสรีภาพการสื่อสารจะยังคงเป็นไปอย่างจำกัด แต่รายการนั้นก็สามารถดึงมวลชนได้อยู่หมัด และขยายฐานมวลชน ด้วยการแจกจานดาวเทียมเพื่อให้ได้รับสารจากรายการดังกล่าวและอีกหลายๆ รายการของทางสถานี
ต่อมาภายหลังการเลือกตั้งปี 2550 รายการ “ความจริงวันนี้” ของ 3 เกลอ ก็ถูกโอนมาอยู่ในช่องฟรีทีวี ซึ่งเป็นทีวีของรัฐภายใต้การนำของนายสมัคร สุนทรเวช
หากย้อนกลับไปก่อนการรัฐประหาร 2549 การเคลื่อนไหวใหญ่ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่มีหัวหอกเป็น “สนธิ ล้อมทองกุล” ผู้บริหารสื่อค่ายผู้จัดการ ก็สื่อสารต่อมวลชนผ่านสื่อจึงทำให้สารนั้นเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง
นับจากวันนั้นดูเหมือนสื่อดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวีจะกลายเป็นเทรนด์ใหม่ที่นักการเมือง นักสื่อสารการเมืองเลือกใช้เป็นช่องทางยอดฮิตพูดคุยกับมวลชน ทั้งการเกิดขึ้นของช่องเอเชียอัพเดท วอยซ์ทีวี สปริงนิวส์ ฯลฯ ที่หลายรายการมีอดีตนักการเมืองเป็นผู้ดำเนินรายการ
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายช่องที่ต่างก็รู้กันว่า การสื่อสารนั้นเป็นไปเพื่อใครและใครให้การสนับสนุน วันนี้...การสื่อสารในรูปแบบดังกล่าว พรรคประชาธิปัตย์ก็เดินรอยตามและปลูกถ่ายมาเกือบเต็มจะรูปแบบ
“ไม่เคยคิดมาก่อนว่า รายการของพวกเราจะดังขนาดนี้ อาจจะเป็นเพราะคนที่มาดำเนินรายการเป็นที่รู้จักอยู่แล้ว จึงทำให้วันนี้แฟนของรายการสายล่อฟ้า มีทั้งมวลคนที่รักชอบพรรคประชาธิปัตย์เป็นทุนเดิมและคนที่เปลี่ยนใจจากคนเสื้อแดงมารักพวกเรา ตอนนี้ทราบว่า มีการขยายคลื่นบลูสไกล์ไปทุกภูมิภาค โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยิ่งจังหวัดที่เป็นพื้นที่สีแดง อาทิ อุดรธานี นครราชสีมา ก็ทราบว่า มีการเชื่อมบลูสไกล์ไว้ในจานดาวเทียมเพิ่มขึ้น”ชวนนท์
แม้วันนี้เขายังไม่รู้ว่า อนาคตจะมีการส่งเสริมการสื่อสารกับมวลชนคนรักพรรคประชาธิปัตย์ออกไปมากน้อยแค่ไหน สิ่งเดียวที่เขารู้ คือ ประสิทธิภาพของสื่อ มีอิทธิพลต่อมวลชนของพรรคเป็นอย่างมาก เวลาไม่ถึงปีทำให้เขาสามารถเปลี่ยนแปลงแนวคิดของคนที่เคยอยู่ฝั่งตรงข้ามมาเป็นแฟนรายการเขาได้ แม้จะบอกว่า อาจเป็นเพียงการสอดแนมของคนคิดเห็นต่างเท่านั้นก็ตาม
ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้ที่เฝ้าติดตามสถานการณ์สื่ออย่าง ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยถึงกับบอกว่า ปรากฎการณ์แบบนี้เกิดขึ้นคล้ายกับประเทศในโลกตะวันตกที่เคยใช้สื่อเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อในยุคสงครามเย็น ที่เป็นการปลุกปั่นเยาวชนและผู้รับสารให้คล้อยตามสารที่ต้องการสื่อ
“ในระยะยาวการรับรู้อย่างที่ผู้รับสารไม่รู้เท่าทันสื่อก็เกิดความเชื่อแบบผิดๆ เพราะไม่ได้ฟังข้อมูลอย่างรอบด้าน เป็นการรับรู้ข้อมูลด้านเดียว เนื่องจากผู้ใช้สื่อเป็นผู้สร้างว่าใครจะเป็นพระเอกและผู้ร้ายได้หรือที่เรียกว่าทฤษฎีเข็มฉีดยา นักการเมืองที่เข้ามาใช้แนวทางนี้ก็จะเห็นพลังของสื่อและครอบครองอำนาจนั้นไว้”
เขายังบอกอีกว่า ไม่เฉพาะแค่การใช้สื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองเท่านั้น ในเชิงธุรกิจเองการใช้สื่อในการโฆษณาก็ยังสร้างความเชื่อแบบผิดๆ ได้ เช่น เรื่องสีผิวก็สามารถสร้างให้คนไทยเข้าใจว่า ผิวขาวดีกว่าผิวดำ และผิวขาวต้องรักแร้ขาวด้วย เป็นต้น ในเชิงการเมืองการจะใส่ค่านิยมใหม่หรือค่านิยมผิดๆ ผสมผสานเข้าไปก็จะทำให้เกิดการคล้อยตามได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อได้รับสารไปพร้อมกับเทคการเล่าเรื่องแบบสมัยใหม่ที่เร้าใจที่โอกาสจะเกิดความรุนแรงก็มีได้ง่าย เนื่องจากผู้ที่เข้ามาใช้สื่อเป็นผู้ฝ่ายตรงกันข้าม
ในฐานะนักวิชาการเขาไม่ได้มองต่างจากคนอื่นว่า ปรากฎการณ์แบบนี้ในทางการเมืองเราเห็นเด่นชัดในช่วงที่สังคมเกิดการเลือกข้าง แบ่งฝักแบ่งฝ่ายที่เกิดมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 ปีแล้ว ซึ่งการนำเสนอสารในรูปแบบการปลุกปั่นเราก็เห็นว่า มีพลังทำให้อีกฝ่ายห้ำหั่นอีกฝ่ายได้โดยง่ายและการจะจัดการกลุ่มที่เห็นต่างได้ คือ การค่อยๆ เปิดเวทีให้พวกเขาได้แลกเปลี่ยนกัน
“เป็นเรื่องน่ากลัวที่คนต่างภูมิภาคที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันทางการเมืองและเลือกรับสารเฉพาะในกลุ่มจะเป็นชนวนให้เกิดความรุนแรงซ้ำอีก แต่รัฐสามารถจัดการด้วยการเปิดเวทีให้ทั้งฝ่ายได้ฟังชุดความคิดที่แตกต่างกัน อาจจะทำได้ยาก แต่ทำได้ เพราะตอนนี้ไม่มีใครบอกว่า ชุดความคิดไหนผิดหรือถูก เพียงแค่ต้องนำมาแลกเปลี่ยนกันเพื่อให้เกิดการถกเถียง”
เขายังบอกอีกว่า หากมีการสื่อสารกันอย่างเปิดใจจะทำให้ความรุนแรงลดลง ขณะเดียวกันก็จะส่งผลต่อการเลือกเชื่อสื่อหรือการเลือกเสพสื่อตามไปด้วย ไม่คิดว่าการออกกฎหมายที่เข้มงวดมาจัดการการใช้สื่อจะสามารถจัดการการรับรู้ได้ เพราะคนที่สื่อและรับ มีความต้องการอยู่ ก็จะหาช่องทางให้เกิดการสื่อสารให้ได้ ถ้าออกฎหมายเข้มก็ยิ่งจะทำให้เกิดเหตุการณ์บานปลายได้ ไม่คิดว่าคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะเลือกใช้วิธีนี้ เพราะไม่น่าจะได้ผล
“แต่สิ่งที่ทำให้การจัดการสื่ออย่างได้ผล คือ การสร้างพลังของผู้บริโภคเข้ามาร่วมตรวจสอบสื่อ เพราะเขาถือเป็นผู้รับโดยตรง หากเห็นว่า ผิด พวกเขาจะรวมตัวกันเพื่อกดดันให้สื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองและสามารถสร้างสรรค์ให้พวกเขาได้ แต่เรื่องนี้ต้องทำระยะยาว”ดร.มานะ กล่าวปิดท้าย
เช่นเดียวกันนักรัฐศาสตร์ผู้เฝ้ามองปรากฎการณ์ทางสังคมเพื่อเทียบเคียงกับสังคมวิทยาการเมืองไทยอย่าง “ศ.ดร.ตระกูล มีชัย” คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็เกิดความกังวลว่า การใช้สื่อดังกล่าวจะเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งในประเทศเสรีนิยมประชาธิปไตยนักการเมืองไม่ได้รับอนุญาตเช่นนี้ แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาเองที่ซีเอ็นเอ็นจะเลือกข้าง แต่ก็ถือว่าประชาชนว่า มีศักยภาพในการวิเคราะห์ว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ อีกทั้งรัฐบาลอเมริกันก็มีการจัดการได้ดี แต่บ้านเราไม่มีการจัดการ ตรงกันข้ามกลับปล่อยเสรีมานานกว่า 6 ปี นับจากการรัฐประหาร 2549
ศ.ดร.ตระกูล กล่าวย้อนไปช่วงก่อนเหตุการณ์รัฐประหาร 2549ว่า สังคมไทยได้เห็นปรากฎการณ์ที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประธิปไตยที่เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองใช้สื่อในเครือเอเอสทีวีสื่อสารกับมวลชน หลังจากนั้นนักการเมืองก็ใช้วิธีการเดียวกัน สื่อสารกับมวลชนของตัวเองเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มพรรคไทยรักไทยเดิมที่เข้าใจเทคโนโลยีมากกว่าก็ได้เปรียบจึงใช้ช่องทางของทีวีดาวเทียมที่สามารถเปิดรับสารที่บ้านได้ โดยไม่ต้องเดินทางมาชุมนุมเพื่อติดตั้งความคิดทางการเมือง
“รูปแบบการสื่อสารกับมวลชนของพรรคการเมืองใหญ่สมัยนี้ ไม่ได้เกิดจากการเดินทางไปฟังไฮปาร์คอีกต่อไป แต่เป็นรูปแบบของการแจกจานดาวเทียมเพื่อให้รับสารฟรีที่บ้าน โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย การลงทุนทางการเมืองแบบนี้ ถือว่าถูกกว่าการลงทุนในยุคก่อนมาก”
การใช้สื่อเป็นเครื่องมือของนักการเมืองไม่เพียงส่งผลกระทบต่อความเชื่อ แต่ยังส่งผลต่อทิศทางการปรองดองของประเทศอีกด้วย โดยเขากล่าวว่า ตอนนี้ชาวบ้านในพื้นที่หลายจังหวัดรับสารจากช่องทางที่พวกเขาต้องการรับเท่านั้น หรือจะเรียกว่า ฟังเฉพาะคนที่ตัวเองอยากฟัง ทำให้เกิดการปลุกปั่นทางอารมณ์ได้ง่าย เพราะการรับข้อมูลเพียงด้านเดียวย่อมส่งผลเสียต่อการตัดสินใจ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีการแจกจานดาวเทียมในลักษณะการให้เปล่า
“เรื่องนี้เพื่อนผมที่เป็นนักธุรกิจเล่าให้ฟังว่า นักการเมืองร่วมมือกับนักธุรกิจ แจกจ่ายจานดาวเทียมไปในหลายพื้นที่ ถือเป็นการลงทุนในระยะยาว เพราะช่องเคเบิ้ลทีวีมีผลตอบแทนทั้งในรูปของโฆษณาและการรับรู้ แต่ผลกำไรที่ได้เกินคุ้ม คือ การสามารถควบคุมมวลชนได้ ดังจะเห็นว่าพฤติกรรมของประชาชนในหลายพื้นที่ในภาคอีสาน เริ่มปฏิเสธข้อมูลเก่าดั้งเดิม หากนับย้อนหลังไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เขาอาจจะรับข้อมูลจากสื่อฟรีทีวีเท่านั้น แต่ตอนนี้ไม่มีใครควบคุมการรับรู้นั้นได้อีกแล้ว”ศ.ดร.ตระกูล กล่าว
เขายังกล่าววิเคราะห์อย่างน่าสนใจต่อปรากฎการณ์นี้อีกว่า หากสังคมไทยปล่อยให้เกิดภาวะแบบนี้ก็จะยิ่งทำให้นักการเมืองใช้สื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองมากขึ้น เมื่อใดที่นักการเมืองนำนโยบายสาธารณะที่ยังไม่ตกผลึกไปนำเสนอในช่องทางนั้น ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นลักษณะการผลิตซ้ำก็จะเป็นการตอกย้ำให้คนที่รับสารเชื่อไปโดยไม่ไตร่ตรอง อาทิ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นต้น เพราะส่วนตัวได้สัมผัสคนที่รับสารเหล่านั้นก็พบว่า พวกเขารับทราบข้อมูลเพียงผิวเผิน เนื่องจากเรื่องราวบางเรื่องมีความสลับซับซ้อนและเกิดความเข้าใจผิด จึงเกิดปรากฎการณ์ที่ชาวบ้านบางส่วนรู้จักรัฐธรรมนูญ แต่จำได้เพียงว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการทรราชย์ แต่ไม่เข้าใจว่า ทรราชย์อย่างไร แล้วใครเป็นทรราชย์ เป็นต้น
“การใช้สื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองแบบนี้จะเกิดการล้างสมองได้ง่าย ถือว่าอันตรายมาก หากไม่รีบควบคุม รายการที่มีลักษณะคล้ายกับสายล่อฟ้าจะเกิดขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก ถือเป็นการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เพราะเป็นการปลูกฝังระบบความคิดทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ผลร้ายจึงจะเกิดขึ้นคล้ายๆ กับการสร้างกำแพงล้อมรอบนิคมอุตสาหกรรมที่จะส่งผลทางจิตวิทยาการเมืองที่ทุกคนต่างจะร่วมกันปกป้องพื้นที่ไม่ให้น้ำเข้า ซึ่งน่ากลัวมาก โดยเฉพาะสภาพสังคมไทยที่เชื่อใครง่ายๆ ชอบอะไรหวือหวา การฟังอย่างไม่วิเคราะห์ก็จะส่งผลร้ายได้ง่ายๆ”นักรัฐศาสตร์ผู้นี้กล่าว
แม้ในทางเปิดเผย พรรคการเมืองต่างๆ จะไม่บอกอย่างโจ่งแจ้งว่า ให้การสนับสนุนการทำสื่อใดบ้าง เพราะอาจจะขัดรัฐธรรมนูญ แต่ก็เป็นที่รับรู้กันว่า เอเชียอัพเดท วอยซ์ทีวี สปริงนิวส์ ฯลฯ รวมทั้งช่องเคเบิ้ลทีวีอีกหลายช่องที่ไม่ได้กล่าวถึง มีใครเป็นผู้ให้การสนับสนุนบ้าง นักวิชาการผู้นี้จึงเสนอให้ กสทช.รีบดำเนินการออกมาตราการควบคุมเป็นการด่วน
ปรากฎการณ์นี้นักวิชาการทั้งสองบอกตรงกันว่า คนที่จะสามารถจัดการได้ ไม่ได้มีเพียงกสทช.หรือรัฐเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคที่เป็นประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องช่วยกันสอดส่องดูแลในเรื่องการรับรู้ข่าวสาร ส่วนหนึ่งผู้รับสารต้องรู้เท่าทันสื่อและรู้เท่าทันนักการเมือง
หากไม่มีความรู้เท่าทันแล้ว ในไม่ช้าการโฆษณาชวนเชื่อก็จะปกคลุมสังคมไทย !!