แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
นักวิชาการส่องสื่อ กระจก ในสถานการณ์ เลือกข้าง
ท่ามกลางความขัดแย้งของสังคม ที่ต่างเลือกฝ่ายเลือกข้าง ถือว่าเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับทุกรัฐบาล ซึ่งจะต้องเข้ามาคลายปมปัญหาเหล่านี้ การทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชน ในยุคความขัดแย้ง ถูกตั้งคำถามมากมายถึงความเป็นกลางดังโพลหลายสำนักสะท้อนออกมา หลายสื่อ หลายค่ายนำเสนอข่าวสารตามจุดยืนของตัวเองอย่างเด่นชัด ขณะเดียวกันก็มีเรื่องร้อนๆ เข้ามากรณีฉาว อีเมล์ “สินบนสื่อ” ของรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ที่พาดพิงยังนักข่าวภาคสนาม และต้นสงกัด และ หัวหน้าข่าวจนกระทบต่อความน่าเชื่อถือ ขยายผลเป็นประเด็นแมลงวันตอมแมลงวันเกิดขึ้น
ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล นักวิชาการสื่อสารมวลชน แสดงความคิดเห็นผ่านศูนย์ข่าวปฏิรูปประเทศไทย ต่อการทำหน้าที่นำเสนอข่าสารของสื่อท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่เข้มข้นว่า เนื้อหาข่าวสารมีความเข้มข้นตามการเมืองอยู่แล้ว จะเห็นได้ตั้งแต่สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งต้องออกจากหน้าที่ไป จากนั้นสังคมก็เกิดคนเสื้อเหลือง - เสื้อแดง มาวันนี้การเมืองในไทยมีความเข้มข้นมากขึ้น เพราะกลุ่มที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ และกลุ่มที่คัดค้านที่ตื่นตัว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ประชาชนทั้งประเทศแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ พรรคเพื่อไทย (พท.) กับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า จากการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ในปัจจุบันมีการแบ่งขั้วชัดเจนว่า ซึ่งถ้าแยกแต่ละฉบับ จะเห็นได้ชัดว่าเป็นอย่างไร ดูจากฉบับที่เลือกข้างชัดเจนและอยู่มานานมาก เช่นหนังสือพิมพ์หัวใหญ่ และหนังสือพิมพ์ที่ถูกมองว่า เป็นระดับคุณภาพ จะกลุ่มที่เข้าข้างฝ่ายพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน หรือพรรคพท.ในปัจจุบัน
“สื่อบางฉบับนั้นยังเข้าข้าง พ.ต.ท.ทักษิณ การเข้าข้างอย่างชัดเจนของหนังสือพิมพ์ดังกล่าวนี้ พบว่ามีการลำเอียง ไม่เพียงแต่นำเสนอข่าวเชิงบวกของกลุ่ม พ.ต.ท.ทักษิณ เท่านั้น แต่มีการนำเสนอข่าวเชิงลบของฟากพรรค ปชป.ที่เป็นฝ่ายค้าน และเป็นฝ่ายตรงกันข้ามทางการเมืองด้วย” ดร.สมเกียรติ กล่าว
จำแนกสื่อสิ่งพิมพ์
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า สำหรับสื่อที่อยู่ตรงข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ คือ สื่อที่อยู่ในกลุ่มเครือ นสพ.ผู้จัดการ มีทั้งสื่อนิตยสาร หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ นอกจากนี้ยังมีสื่ออื่นๆ ที่ไม่ชัดเจนในการแบ่งข้าง อย่าง นสพ.เดลินิวส์ พบว่าไม่ได้ออกสีไหนชัดเจน ส่วน นสพ.ไทยโพสต์ ไม่ใช่สื่อที่จะต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นหลัก หรือสนับสนุนพรรค ปชป.เพียงแต่เท่าที่ติดตามดูผลงานของผู้ใหญ่หรือผู้บริหารพบว่า จะมีลักษณะต่อต้านสิ่งที่คณะผู้บริหาร หรือ กองบรรณาธิการเห็นว่าไม่ชอบมาพากล รวมถึงเห็นว่าไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยและขัดแย้งต่อความยุติธรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือการสะท้อนให้เห็นว่าเป็นจุดยืนที่แสดงในการต่อต้านสิ่งที่ไม่ถูกต้องเท่านั้น และเชื่อว่าหาก พ.ต.ท.ทักษิณ หรือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทำอะไรที่ถูกต้องในอนาคต บุคคลทั้งสองจะได้รับความเป็นธรรมเช่นกัน
ส่วนสื่อที่คิดว่ามีความน่าเชื่อถือ คือ นสพ.โพสต์ทูเดย์ จากที่ได้คุยกับบรรณาธิการ หรือนักข่าวที่มาสัมภาษณ์ ทำให้มีความรู้สึกว่ามีอิสระ อาจจะเป็นเพราะเขาเกิดมาใหม่ และพยายามที่จับตลาดที่มีความต้องการสิ่งตอบสนองสาธารณะประโยชน์โดยตรง
ดร.สมเกียรติ ระบุว่า หนังสือพิมพ์ที่ได้เอ่ยชื่อข้างต้น ไม่ได้บอกว่าเขาทำหน้าที่ดีหรือเลว แต่มองเห็นจุดยืนของเขาที่ชัดเจน เพราะเป็นการสะท้อนยุคของสื่อปัจจุบันที่มีความหลากหลาย ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้กฎหมายของประเทศใดประเทศหนึ่ง อยากให้คิดว่าทุกคนอยู่ในยุคที่นักวิชาการสื่อสารมวลชนเรียกว่า “ภาวะไร้อำนาจของรัฐ” เนื่องจากว่าสื่อไร้พรหมแดนและเป็นอิสระ ดังนั้นสื่อเหล่านี้จะทำหน้าที่นำทางสังคมตามจุดยืนที่เขาเห็น หรือไม่ก็อยู่ภายใต้อิทธิพลธุรกิจการเมือง หรือเงินทองโฆษณาที่ได้รับอยู่ เพราะฉะนั้นเขามีสิทธิทำตามหน้าที่ที่เห็นว่าสมควร และเขาอาจคิดว่าเป็นการนำทางที่ถูกต้อง
“เป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะพิจารณาดูและให้รู้เท่าทัน หรือเรียนรู้ว่า สื่อเหล่านั้นมีบทบาท หรือจุดยืนเป้าหมายอย่างไร เมื่อรู้แล้วเราต้องเลือกรับ หรืออาจจะปฏิเสธเลย เพื่อไม่ให้เสียเงิน เพราะถ้ารับข้อมูลที่ไม่เป็นอิสระ ไม่สมดุล จะเสียเวลาเปล่า ดังนั้นยุคนี้เป็นยุคของประชาชนที่ต้องทำหน้าที่หนัก ในการที่จะเรียนรู้ทำความเข้าใจในบทบาทของสื่อ เมื่อเราวิเคราะห์แล้วพบว่า เป็นสื่อที่เชื่อถือได้เป็นอิสระ เป็นกระจกสะท้อนสังคม และนำทางสังคมที่เห็นว่าถูกต้อง ไม่ใช่เป็นผู้นำชูตะเกียงเจ้าพายุลูกใหญ่ เพราะถ้าสื่อที่เป็นตะเกียงนำทาง โดยมีไฟที่รุนแรงก็ไม่ไหว ดังนั้นเราต้องศึกษาและเป็นผู้นำสำรวจตลาดสื่อสารมวลชน ไม่ใช่เป็นผู้ตาม” ดร.สมเกียรติ กล่าว
ดร.สมเกียรติ แสดงมุมมองถึงการทำหน้าที่และบทบาทของสื่อ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลว่า สำหรับสื่อที่ไม่เลือกข้างหรือนำทางสังคมอย่างชัดเจน ควรจะเป็นกระจกที่สะท้อนความเป็นจริงในสังคม ให้มากกว่าการนำสังคม และถ้าคิดว่าพร้อมจะนำทางก็ควรมีเทียน หรือตะเกียงนำทางหลายดวงในหนังสือพิมพ์ เพื่อจะให้เห็นทั้งด้านบวกและลบอยู่ตลอดเวลา อย่านำทางไปเพียงทิศทางเดียว เพราะไม่ใช่เผด็จการทางด้านข้อมูลข่าวสารของทุกฝ่าย
จุดยืนสื่อตรวจสอบผู้มีอำนาจรัฐ
สำหรับการวางตัวของนักข่าว ดร.สมเกียรติ เสนอแนะว่า ธรรมชาติของการทำข่าว คือการต้องเข้าไปคลุกคลี หรือเข้าไปใกล้ชิดกับแหล่งข่าว อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่โดยหลักการทำงานข่าวที่จะสอนกันคือ นักข่าวกับแหล่งข่าว ควรมีเส้นระยะห่างพอควร แต่ถ้าห่างมากก็จะไม่ได้ข่าวและไม่ได้ความจริง แต่ใกล้มากก็ทำให้เกิดความเกรงใจ อย่างไรก็ตาม นักข่าวก็ต้องเข้าไปให้ใกล้ที่สุด มิเช่นนั้นอาจจะตกข่าวได้ เพียงแต่ว่าเวลาที่รายงานข่าว ต้องยึดความเป็นอิสระไว้และไม่จำเป็นต้องเป็นพวกเดียวกัน เพราะการเข้าไปใกล้แหล่งข่าวคือการหาข่าวในตัว
“เราต้องวางจุดยืนว่า เราเข้าไปใช้เพื่อนำความจริง เพื่อตรวจสอบผู้มีอำนาจในรัฐ ในประเทศและภาคเอกชน อีกทั้งเราควรคำนึงถึงจรรยาบรรณ หรือจริยธรรมวิชาชีพเป็นหัวใจ” ดร. สมเกียรติ เน้นย้ำจุดยืนคนทำข่าวและว่า สำหรับสื่อที่มีจุดยืนชันเจนว่ามีความเป็นอิสระ สร้างสมดุลในการเสนอข่าว ดังนั้นสิ่งที่ควรปรับปรุงคือ ยึดหลักตามกรอบจริยธรรมอาชีพให้ชัดเจน คำนึงทุกครั้งที่ออกไปทำข่าวว่า ต้องยึดมั่นความจริง ต้องมีเวลาค้นหาความรู้ให้ตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อพัฒนาตนเองในการค้นหาข่าวอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
สมดุล “โฆษณา ความอยู่รอด – อุดมการณ์”
ประเด็นนี้ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ฉายภาพการทำงานของสื่อหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลว่า โดยปกติการเปลี่ยนอำนาจรัฐแต่ละครั้ง สื่อมวลชนจะไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว หรือมีผลกระทบอะไรมากมาย โดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ เพราะเป็นสื่อเอกชน แต่สื่อที่มีผลกระทบมากที่สุดจะเป็นสื่อวิทยุโทรทัศน์ที่ถูกคุมโดยรัฐ โดยไม่ว่ารัฐชุดไหนที่เข้ามา ก็พยายามจำกัดสิทธิหรือพื้นที่ ไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามได้ใช้พื้นที่สื่อของรัฐ เพื่อแสดงความคิดเห็น ทั้งนี้จะต่างจากสื่อหนังสือพิมพ์ที่มีอิสระในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐในทุกชุด แต่ระยะหลังสื่อหนังสือพิมพ์ ถูกผูกติดกับเรื่องของรัฐบาลบางกลุ่ม จึงมีผลกระทบต่อเนื่องตามมา ทั้งในรูปของโฆษณาภาครัฐ มีจำนวนเงินมหาศาล ที่รัฐใช้เป็นเครื่องมือในการซื้อสื่อสิ่งพิมพ์ที่เคยเป็นอิสระ ทั้งนี้สื่อสิ่งพิมพ์ควรจะตั้งเป็นประเด็นในเชิงจริยธรรม ว่าแค่ไหนเหมาะสมหรือไม่อย่างไร
“ภาคของสื่อเอง มักจะอ้างในเรื่องของความอยู่รอดของธุรกิจ โดยไม่ได้คำนึงถึงระยะห่างในบทบาทของตนเองในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ กับการไปรับเงินเป็นค่าโฆษณา แต่สื่อบางส่วนจะบอกว่า การไปรับเม็ดเงินโฆษณามาประชาสัมพันธ์ ก็เหมือนกับภาครัฐเป็นธุรกิจชนิดหนึ่ง เหมือนสินค้าทางธุรกิจอื่นๆ ทั้งที่จริงแล้ว 2 ส่วนนี้มีความต่างกัน เพราะนอกจากโฆษณาที่รัฐลงมาจำนวนมากแล้ว รัฐบางแห่งยังแถมพ่วงมากับกิจกรรมบางอย่าง เช่น งานเปิดตัวนโยบายบาง หรือแอบแฝงใช้พื้นที่ข่าวหน้าหนึ่ง ซึ่งทำให้คนอ่านไม่แน่ใจว่า สิ่งที่ได้อ่านไปคือข้อมูลประชาสัมพันธ์ของภาครัฐหรือข้อเท็จจริง จึงทำให้คนข่าวกลายเป็นนักประชาสัมพันธ์ของรัฐในหน่วยงานนั้นๆ ไป เพราะฉะนั้นบทบาทในการตรวจสอบจึงน้อยลง” ดร.มานะ กล่าว
ดร.มานะ กล่าวต่ออีกว่า เมื่อสื่ออยู่ในยุคที่เปลี่ยนผ่านรัฐบาล จากที่เคยเข้าไปใกล้ชิดกับกลุ่มรัฐใดรัฐหนึ่งแล้ว เมื่ออีกฝั่งขึ้นมา ก็จะรับผลกระทบต่อเนื่องตามมาเช่นกัน ซึ่งทำให้บางสื่ออาจจะเล่นเป็นรูปแบบเพลย์เซฟ หรือรับหมด ไม่ว่าฝ่ายไหนขึ้นมาจะได้ทั้งหมด ซึ่งรูปแบบนี้มีปัญหาอยู่เช่นกัน ดังนั้นการกระทำดังกล่าว เป็นเพราะสื่อคำนึงถึงความอยู่รอดทางธุรกิจในช่วงที่สื่อกำลังตกอยู่ในช่วงวิกฤต มากกว่าการคำนึงถึงตัวจุดยืนทางอุดมการณ์ หรือการตรวจสอบสังคม และตรวจสอบภาครัฐ ทำให้กลายเป็นเครื่องมือของนักการเมืองบางส่วนไป ดังนั้นการตรวจสอบของสื่อจึงไม่ได้ทรงพลังเหมือนในอดีต
ดร.มานะ กล่าวต่อว่า เมื่อสื่อคำนึงถึงธุรกิจมากเกินไป จะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อมั่นของประชาชนในการบริโภคสื่อว่า ข่าวที่ผู้บริโภคเสพ คือ ข่าวประชาสัมพันธ์ของรัฐ หรือข่าวที่มีข้อเท็จจริงรอบด้าน ประกอบกับปัจจุบันมีสื่ออื่นอีกมากที่เกิดขึ้น ที่จะสามารถทำให้คนที่บริโภคข่าวได้เห็นข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่ง ที่แตกต่างจากสิ่งที่ปรากฏในสื่อที่รับเม็ดเงินโฆษณา ดังนั้นการตั้งคำถามถึงความเชื่อมั่นของสื่อจึงมากขึ้น!
เมื่อถามถึงจุดยืนที่สื่อควรจะปฏิบัติ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับมาในภาวะวิกฤต ดร.มานะ กล่าวว่า สื่อเองรู้ดีที่สุดว่า สิ่งไหนควรทำและไม่ควรทำ หรืออะไรที่หมิ่นเหม่กับความถูกต้องทางอุดมการณ์ ขณะเดียวกันการที่สื่อยึดเรื่องความอยู่รอดเป็นหลัก ยิ่งเมื่อในอนาคตเริ่มมีปัญหาในตัวเอง ส่งผลให้สื่ออื่นยังคงที่มีแนวความคิดในการตรวจสอบ เข้ามาทัดทานหรือมาทดแทนการทำงาน อาจจะไม่ได้อยู่ในรูปแบบของสิ่งพิมพ์เพียงอย่างเดียว แต่อาจจะมีเว็บไซต์ข่าว หรือสื่ออื่นๆ จากนั้นการทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของสังคม หรือการตรวจสอบการทำงานของสื่อเองจะมีบทบาท หรือพลังของตนเองลดน้อยลง
การที่สื่อถูกตรวจสอบจากกลไกสังคมในช่วงนี้ ดร. มานะ มีความคิดเห็นว่า จะเป็นผลดีต่อสังคมแน่นอน และการทำหน้าที่ของสังคมคือจะต้องตรวจสอบ และทัดทานการทำงานของสื่อมากขึ้น ขณะเดียวกันต้องรู้เท่าทันสื่อด้วย เพราะบางครั้งสื่อเองมีเทคนิคในการที่จะพูดหรือนำเสนอให้ตัวเองดูดีได้ในหลายรูปแบบ
“เมื่อเราตรวจสอบคนอื่นแล้ว เราต้องพร้อมที่จะได้รับการตรวจสอบเช่นกัน และสื่อเองไม่ได้เป็นสถาบันอะไรที่ห้ามแตะต้อง เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาสื่ออาจจะมีการตรวจสอบตัวเองน้อยกว่าสถาบันอื่น เหมือนกับคำที่ว่า “แมลงวันไม่ตอมแมลงวันด้วยกันเอง” แต่เมื่อทุกวันนี้การตรวจสอบมีมากขึ้นจะเป็นจุดดี เพราะสื่อจะได้มีการกระตุกตัวเอง เพื่อการพัฒนาตนเองให้มากขึ้น แต่ที่สำคัญคือสื่อจะยอมรับหรือไม่ ว่ามีข้อที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข หรือมองว่าตัวเองจะสามารถที่จะทำงานต่อไปได้หรือไม่ ขณะเดียวกันเมื่อไหร่ที่สื่อถูกปรับปรุงแก้ไข สื่อจะสามารถขยับไปข้างหน้าได้ แต่ในทางกลับกันถ้าไม่สนใจรับฟังเสียงรอบข้าง หรือไม่สนใจการตรวจสอบ จะไม่ต่างกับนักการเมืองที่สื่อไปตรวจสอบ ต่อไปพลังการตรวจสอบของสื่อก็จะน้อยลง” อ.มานะ กล่าวทิ้งท้าย