แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
สื่อในภาวะเลือกข้าง ผู้บริโภคหลงทางระวังเป็นกระบอกเสียงนักการเมือง
มีคำถามมากมายกับการนำเสนอข่าวของสื่อในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง
โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ที่เคยเป็น “เสาหลัก” รายงานข้อมูลอย่างรอบด้านตรงไปตรงมา แม้บางฉบับจะมีจุดยืนทางการเมืองชัด แต่ยังไม่เด่นชัดเท่ากับ ยุคการต่อสู้ทางการเมืองที่เข้มข้นครั้งนี้ หนังสือพิมพ์ถูกมองว่า เลือกข้าง บางสำนักค่อนข้างสุดโต่ง ไม่นำเสนอข้อมูลอีกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน จนถูกวิจารณ์ว่า เป็นกระบอกเสียงของขั้วการเมือง
“สื่อเลือกข้าง”ถูกต้องตามหลักวิชาหรือไม่ และจะมีผลต่อผู้บริโภคในยุคที่ข้อมูลข่าวสารไหลบ่ามากมาย พร้อมทั้งการป้ายสีของฝ่ายการเมือง แล้วเราจะเชื่อข้อมูลฝั่งไหนดี
สุภิญญา กลางณรงค์ นักกิจกรรมสังคมด้านการปฏิรูปสื่อ ฉายภาพกว้างว่า ช่วงที่ผ่านมา สื่อถูกใช้หลากหลายเต็มที่ ไม่เฉพาะ หนังสือพิมพ์ทีวี ยังมีอินเตอร์เนต เคเบิล ทีวี วิทยุชุมชน ทำให้วันนี้สื่อส่วนส่วนกลางไม่ได้กุมภาพรวมทั้งหมด แต่ก็ยังมีอิทธิพลในการกำหนดวาระข่าวสารอยู่ ซึ่งทีวีก็ช่วยในการกระจายข่าวต่อ
แต่ครั้งนี้ เราเห็นบทบาทของสื่อ หนังสือพิมพ์ ที่ชัดขึ้น เพราะหลายค่ายมีธงการเมือง ถ้าจะแยกแยะก็คงประกอบด้วย 3 ประเภท 1.เชียร์ฝ่ายค้าน 2.สนับสนุนฝ่ายที่เป็นรัฐบาล 3.พยายามเป็นกลางๆ ไม่ให้เห็นชัดว่าฝ่ายไหน ซึ่งสะท้อนพฤติกรรม คนซื้อหนังสือพิมพ์เหมือนกัน ว่ามีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร เช่น ถ้าคนซื้อฉบับนี้ก็เพราะเชียร์ฝ่ายค้าน หรือเชียร์รัฐบาล ขณะที่อีกกลุ่ม คือ หนังสือพิมพ์ธุรกิจ หรือ หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ พยายามกลางๆ
สุภิญญา กล่าวว่า วันนี้คนบ่นหนังสือพิมพ์มากขึ้น ไม่มีใครพอใจใคร แต่มุมหนึ่งถ้ามองแง่พลวัตร สื่อหนังสือพิมพ์เป็นสื่อการเมืองเต็มตัวตอบสนองกลุ่มเป้าหมายเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของสื่อหนังสือพิมพ์ ถูกวิจารณ์ได้ว่า สื่อเริ่มเป็นการเมืองเลือกข้างชัดเจน แต่ถ้ายอมรับกันตรงๆ ว่า “สื่อเป็นการเมือง” เราก็จะไม่ผิดหวัง แต่หากอธิบายหลักการ ความเป็นกลาง เลือกข้าง ก็เป็นอีกเรื่อง
“การที่หนังสือพิมพ์เลือกข้าง เพราะมีคนอ่าน มีแฟนประจำที่ชัดเจนถึงขายได้ แต่ถ้าผู้บริโภคไม่ตอบสนองหนังสือพิมพ์ก็อยู่ไม่ได้ ซึ่งวันนี้ มีสื่อเน็ตที่เข้ามาเป็นตัวเลือกมาก นำเสนอข้อมูลได้หลากหลายมากกว่าสื่อกระแสหลัก"
“หนังสือพิมพ์อย่างน้อยก็ยังต่างกับทีวีของรัฐ เพราะธรรมชาติของหนังสือพิมพ์ก็ยังมีข่าวปิงปอง คือ มีมุมมองที่ฝ่ายนี้พูดทีฝ่ายนั้นพูดที ฉะนั้น หนังสือพิมพ์แม้จะเลือกข้างทางการเมือง แต่ก็ยังมีธรรมชาติที่ต้องมีข่าวจากทุกฝ่าย แน่นอน คนส่วนหนึ่งก็ผิดหวัง แต่ก็ทำให้คนอีกกลุ่มที่เลือกข้าง ไม่แคร์ ก็ดีใจ แต่ภาพรวมคือ ในการนำเสนอข่าวช่วงเลือกตั้ง ทุกคนตั้งธงต่อสู้การเมือง แต่สื่อก็ยังขาดเรื่องการวิเคระห์นโยบายของแต่ละพรรคอย่าง ตรงไปตรงมา หรือ สะท้อนมุมประชาชนที่อยากสะท้อนปัญหา ...การที่สื่อโฟกัสเรื่องการต่อสู้ทางการเมืองมากเกินไป มีข้อเสียจะทำให้ขาดเนื้อหาเจาะลึก ไม่มีเสียงสะท้อนอื่น เช่น ประเด็นเลือกตั้ง การเคลื่อนไหวของเอ็นจีโอที่มาแสดงจุดยืน เพราะตอนนี้การเมืองไทยมันแบ่งขั้วมาก”
กับคำถามที่ว่า “สื่อควรเลือกข้างหรือไม่” สุภิญญา ตอบว่าโดยหลักการ ไม่ควรจะเลือก ควรเป็นกลางให้ข้อมูลที่หลากหลาย แต่ถ้าเลือกข้าง ก็เป็นสิทธิเสรีภาพสื่อ เพราะสื่อถือเป็นเอกชนก็ขึ้นกับ ผู้อ่าน ถ้าเขาอยู่ได้ เขาก็มีสิทธิ์ทำ เขาก็ตอบสนองกับคนอ่านของเขา และถ้าสื่อประกาศจุดยืนชัดเจน แล้วมีคนสนับสนุนเขา เขาก็ขายได้ อย่างไรก็ตามเห็นว่า ถ้าสื่อเลือกข้าง เวลานำเสนอข่าวพาดพิงฝ่าตรงข้ามแล้วไม่ให้ฝ่ายที่เสียหายตอบโต้อย่างนี้ก็กลายเป็นสื่อด้านเดียว สำหรับสื่อรัฐไม่ควรเลือกข้างเพราะใช้ทรัพยากรสาธารณะที่เป็นสมบัติชาติต้องเป็นกลาง
“ถ้าเขาเลือกข้างแล้ว เขาเปิดพื้นที่ให้อีกฝ่ายไหม เขาก็ต้องกล้าตรวจสอบเหมือนกัน ถ้าเชียร์เกินเหตุ แล้วทำร้ายอีกฝ่ายก็ไม่แฟร์ มันก็ลดความน่าเชื่อถือของหนังสือพิมพ์ ตัวเองลง การมีธงเชียร์ได้ แต่คุณต้องให้พื้นที่ให้ทุกฝ่าย ได้ชี้แจงด้วย”
เมื่อถามถึง กรณีพรรคการเมืองทำสื่อเอง แต่อำพรางว่าไม่ได้เป็นเจ้าของสื่อนั้นเพราะเลี่ยงไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ สุภิญญา มองว่า กรณีเคเบิลทีวีที่ใช้ผ่าน ดาวเทียมกับวิทยุชุนยังไม่มีกติกากำกับ ชัด กสทช. มีหน้าที่ดูแค่งบประมาณ วันนี้จึงปล่อยเลยตามเลย ส่วนตัวคิดว่า กฎ ระเบียบต่างๆ ที่จะบังคับใช้กับสื่อประเภทนี้ จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง และจะมีการฟ้องร้องกันเพราะไม่มีกติกากลาง ต่างคนจึงต่างใช้
“สื่อบางประเภท บางแห่งทำโดยพรรคการเมืองชัดเจน มันไม่ใช่สื่อ แต่ถ้าเป็นกลุ่มการเมืองที่สนับสนุนสื่อนั้น ก็เป็นช่องทาง เสรีภาพที่ทำได้ แต่เราต้องมาวางกติกากัน เชื่อว่า จากนี้จะมีคนร้องเรียนความไม่เป็นธรรมตรงนี้แน่ ก็หวังว่า หลังการเลือกตั้งจะมีกรณีศึกษา แต่ตอนนี้มันเป็นสุญญากาศ ไม่มีกติการ่วมกัน”
ด้าน มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมองว่า เท่าที่ตามดูสื่อช่วงเลือกตั้งยังให้น้ำหนักไปที่ บุคคลที่จะเป็น นายกฯ 2 คนเป็นหลัก คือ นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย ปัญหา คือ สื่อไม่เปิดพื้นที่ให้ผู้สมัครรายอื่น ยกเว้นผู้สมัครที่ทำตัวมีสีสันแปลกๆ จะปรากฎในหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ ทีวี มาก ซึ่งการไม่เปิดโอกาสให้ผู้สมัครรายอื่นมีพื้นที่ข่าว ยิ่งทำให้การเมืองไทยผูกติดอยู่ที่กลุ่มการเมือง เพียงบางกลุ่มเท่านั้น นอกจากนี้ สื่อยังมองตัวนโยบายพรรคไม่ชัดเจน ไม่ลงลึกในรายละเอียด และไม่ตรวจสอบนโยบายแต่ละพรรคว่า จะทำได้แค่ไหน ใครจะได้รับผลกระทบหรือไม่
“ในช่วงเลือกตั้ง สื่อควรจะขุดคุ้ยนโยบายให้มากกว่า ทำได้จริงหรือไม่ แล้วมีผลกระทบอย่างไร ประชาชนภาคส่วนนั้น ๆ ต้องการนโยบายแบบไหนกันแน่ เช่น นโยบายการศึกษา แต่ละพรรคมีนโยบายแค่ไหน ไม่ใช่แค่ แจกแทบเล็ต หรือ เรียนฟรี แต่ตัวรายละเอียดมีหรือไม่ ผมว่า สื่อยังทำหน้าที่น้อยเกินไป เป็นแค่กระบอกเสียงที่นักการเมืองพูดแล้วนำเสนอ ไม่ได้ลงไปขุดคุ้ยในเชิงลึก พอมีปัญหาก็ไม่ได้ตรวจวสอบเขา”
อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ หอการค้าฯ บอกว่า สื่อเลือกข้างค่อนข้างชัด คนอ่านมองออก เช่น การเลือกภาพข่าวลงหน้า 1 ของสื่อสิ่งพิมพ์ จะรู้ว่า จะเชียร์ใครไม่เชียร์ใคร คนทำงานสื่อน่าจะรู้ดีที่สุด การเลือกรูปหมายถึงอะไร การโปรยให้หัว สามารถดูออกว่าเลือกข้างมากน้อยแค่ไหน สำหรับประชาชนจะไม่รู้ การที่สื่อเลือกข้างทำให้ประชาชนได้ข้อมูลไม่ครบถ้วนและเกิดคำถามตามมาว่า สื่อฉบับนั้น ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของพรรคการเมืองหรือประชาชนกันแน่
“ปัญหามาจาก ภาพรวมของคนทำงานสื่อ อาจจะไม่ยังคุ้นการทำงานเชิงลึก เพราะคิดว่า นำเสนอไปแล้ว ขายไม่ได้ จึงขายแต่เรื่องปรากฎการณ์ความขัดแย้ง มองที่เปลือกมากกว่า ดูตัวแก่นสาระทางการเมือง ฉะนั้น แต่ละพรรคการเองจึงนำเสนอสีสัน ขณะเดียวกันนัการเมืองเอง เขาก็คิดว่า ถ้านำเสนอสาระ อาจจะเหนื่อย ก็เลยเสนอเฉพาะตัวสีสัน ดังนั้น นักการเมืองที่มีสีสันมากเท่าไร ก็ยิ่งปรากฎเป็นข่าวมากเท่านั้น”
ถามไปว่า สื่อมักอ้างว่า ประชาชนต้องการข่าวความขัดแย้ง ข่าวสีสัน สื่อจึงต้องนำเสนอเพื่อตอบสนองผู้บริโภค นายมานะ กล่าวว่า สื่อมักจะอ้างเช่นนี้ตลอด ว่า ประชาชนต้องการอย่างนี้ เราต้องขายอย่างนี้ เหมือนดูละครน้ำเน่า เขาชอบตบจูบ ถ้าเราเอาละครดีๆมาให้ดู เดี๋ยวประชาชนไม่ดู ความจริงบทบาทสื่อต้องช่วยพัฒนากระบวนกาประชาธิปไตยด้วย ไม่ใช่นำเสนอแค่สีสันอย่างเดียว
“สื่อมองว่า ความขัดแย้ง ขายได้ แต่ยิ่งเสนอข่าวความขัดแย้งก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นด้วย เพราะสื่อมีธงในใจ การที่ไม่พูดเรื่องสาระ นโยบาย ทำให้ชาวบ้านไม่รู้สึกว่า แต่ละพรรคมีความแตกต่างเรื่องสาระ นโยบาย อย่างไร รู้แต่ว่า เลือกข้างกันแล้ว เช่น นโยบายพลังงาน ไฟฟ้า การสร้างเขื่อน ผลกระทบประชาชน เรื่อสุขภาพนิเวศน์ สื่อส่วนใหญ่ไม่ได้นำเสนอว่าพรรคไหน มีรายละเอียด อย่างไร จะกระทบกับคุณภาพชีวิต หรือไม่”
อาจารย์ มานะ บอกว่า การที่สื่อไม่กล้าประกาศชัดว่า อยู่ข้างไหน ก็เพราะกลัวเสียตลาด แต่ส่วนตัวมองว่า การที่สื่อไม่เป็นกลางไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ต้องให้ความเป็นธรรมอีกฝ่าย ไม่ใช่ว่า เมื่อฝ่ายที่หนังสือพิมพ์นั้นเชียร์อยู่มี ความผิดกลับ ไม่นำเสนอ หรือ ไม่เปิดโอกาสให้อีกฝายชี้แจงเมื่อถูกพาดพิง ซึ่งในอเมริกา การที่สื่อเลือกข้างแต่ละครั้ง เขาจะเสนอผ่านคอลัมน์ บทความเทียบเคียง ไม่เหมือนหน้า 1 ในเมืองไทย และเขาก็เปิดโอกาส ให้อีกฝ่ายได้ชี้แจงตลอด
“ปรากฎการณ์สุดโต่งกลายเป็นปรากฎการณ์ธรรมดาในสื่อไทย ซึ่งน่ากลัวนะ แต่ถ้าประกาศจุดยืนชัดเจนไปเลยก็โอเค แต่ถ้าไม่ประกาศก็งง ตกลงเรื่องอะไรจริงหรือไม่จริง แต่ ผมไม่ได้ให้น้ำหนักตัวในสื่อ ผมให้น้ำหนักผู้บริโภคสื่อว่า ทำอย่างไรจะให้ทันการเปลี่ยนแปลงของสื่อไทยในวันนี้ ผู้บริโภคต้องเท่าเท่าสื่อให้มาก ทางที่ดี ไม่ควรอ่านฉบับเดียว ควรจะดูหลายฉบับ น วันนี้ ผมไม่ค่อยสงสัยว่า สื่อจะเป็นกลางหรือไม่แล้วนะ มันไม่ใช่ตัวนักข่าว แต่เป็นตัวนโยบายองค์กร หัวหน้าข่าว ปัญหาที่สื่อต้องระวังคือ ถ้าสื่อเลือกข้างมาก ๆ ก็อาจเป็นช่องทางปล่อยข่าวลือ ใส้ร้ายป้ายสีมากขึ้น น่ากลัว ยิ่งใกล้เลือกตั้งยิ่ง เนียนมาก”