แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
“สื่อ” พูดถึงประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง
นับเวลาจากนี้ไปเหลืออีกเพียง 20 กว่าวัน สำหรับการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่จะมีผลต่อประเทศไทย และเป็นห้วงเวลาเดียวกันกับที่ผู้คนจากหลายภาคส่วน ต่างแสดงความห่วงใย ปนความกังวลใจลึกๆ ว่า ภายหลังการเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม ผ่านพ้นไปแล้ว ประเทศไทยจะเดินหน้าไปทางไหน ความขัดแย้ง การก่อกวนด้วยวิธีต่างๆ ในช่วงที่ผ่านทั้งในสภาและนอกสภา จะสงบลงหรือไม่ อย่างไร
แม้คำถามเหล่านี้ยังค้างคาใจอยู่ แต่มีเวทีเสวนา "มองมุมสื่อ ประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง" ที่สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จงใจจัดขึ้นเร็วก่อนกำหนด เพื่อเปิดมุมมอง 4 หนุ่ม 4 มุมมองจากสายตา “สื่อ” ที่คิดต่าง เพื่อร่วมกันหาทางออกให้กับอนาคตประเทศไทย ในด้านสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ต่างประเทศ รวมทั้งบทบาทของ สื่อมวลชนภายหลังการเลือกตั้ง
“เหนื่อย” ไม่มีพรรคไหนพูดถึงอนาคต
คำตอบแรกๆที่ “เทพชัย หย่อง” ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ Thai PBS พูดเปิดเวทีมุมมองการเมืองหลังการเลือกตั้ง ก็คือ “เหนื่อย” ยิ่งดูจากแนวทางการหาเสียง กลับไม่มีพรรคไหนที่มีการพูดถึงอนาคตของประเทศไทยเลย
มีแต่หาทางลบหนี้ ทำให้ชาวนาขายข้าวได้แพงมากขึ้น เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ให้กุญแจสองดอก เป็นหนี้ซื้อคอนโดดอกหนึ่ง เป็นหนี้ซื้อรถอีกดอกหนึ่ง....
สิ่งเหล่านี้ นายเทพชัย ชี้ชัดว่า ไม่ใช่วิสัยทัศน์ แต่เป็นเพียงกลยุทธ์การหาเสียงเท่านั้น ดังนั้นเขาจึงอยากเห็น อยากได้ยินยิ่งลักษณ์ สนั่น อภิสิทธิ์ บอกชัดๆ ว่า จะพาประเทศไทยไปทางไหน หรือจะยืนอยู่จุดไหนในเวทีอาเซียน พร้อมบอกด้วยว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ อยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของการรวมตัวเป็นอาเซียน ไม่ว่าจะฟิลิปปินส์ สิงค์โปร มาเลเซีย อินโดนีเซีย ต่างก็มีความพร้อมที่จะเดินไปข้างหน้าแล้ว
แต่ประเทศไทย กลับไม่สนใจการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกรอบตัวเลย ทั้งๆ ที่การเลือกตั้งครั้งนี้ ถือว่า ถูกวิเคราะห์และตั้งความหวังไว้มากที่สุด ไม่ว่าจะเปิดหน้าหนังสือพิมพ์ หรือกดรีโมตเปลี่ยนโทรทัศน์ไปช่องใด จะมีคนมานั่งวิเคราะห์ตลอดเวลาว่า หลังการเลือกตั้งจะเกิดอะไรขึ้น ผอ.ทีวีไทย มองว่า ส่วนใหญ่จะมีแนวทางคล้ายๆ กัน นั่นคือ มองไม่เห็นอนาคต เห็นแต่ภาพความวุ่นวาย การเผชิญหน้า
“เราเชื่อว่า หากมีการเลือกตั้งขึ้นมาจะช่วยล้างอะไรบางอย่าง และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่ก้าวใหม่ที่ดีขึ้น แต่ปรากฏการณ์ ความเคลื่อนไหวในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ไม่มีความชัดเจนและสงสัยว่าจะจบอย่างไร หากยิ่งลักษณ์มาเป็นอันดับหนึ่ง จัดตั้งรัฐบาลได้ ก็เห็นความวุ่นวาย ขวากหนาม ผลพวงที่ไม่สวยงามรออยู่ข้างหน้า
อีกด้านหนึ่ง หากเป็นพรรคของอภิสิทธิ์ขึ้นมา ดูจากโพลล์ทั้งหลายชี้ว่าตัวเลข ไม่สวยนัก แต่ก็จะหาทางกระทั่งจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาได้ ซึ่งก็จะเกิดความวุ่นวายในอีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน” นายเทพชัย ขยายความให้เห็น
วีระโพล ฟันธง เพื่อไทยชนะ
ประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง จะเป็นอย่างไร ในสายตา "วีระ ธีระภัทรานนท์" นักวิเคราะห์และสื่อมวลชนอิสระ ซึ่งตอบแบบตรงไปตรงมาว่า ประมวลจากหลายๆ คนที่ ได้พบปะพูดคุย จะไม่มีพรรคไหนได้คะแนนเกิน 251 ที่นั่ง
ก่อนที่เขาจะยกเหตุผลการวิเคราะห์มาประกอบอีก
“มองจากการเลือกตั้งปี 2550 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งหลังจากมีการล้างไพ่ บวกกับการเปลี่ยนแปลงกฎกติกาในการเลือกตั้ง คิดว่า ไม่น่าจะมีพรรคไหนที่จะได้คะแนนเสียงกึ่งหนึ่ง หรือเกิน 251 ที่นั่ง ในทางกลับกัน หากไม่มีพรรคไหนได้คะแนนเสียงเกินหนึ่ง ก็จะต้องมี 2 พรรคแรกที่ได้มากที่สุดแน่ เพราะการเมือง 2 ขั้วฝ่ายปรากฏชัด
ทั้งนี้ จาการคาดการณ์ประชาธิปัตย์อาจได้คะแนนเสียงบวกลบเท่าเดิม หรือหากมีตัวช่วยเต็มที่ก็น่าจะได้ แค่ 175 ที่นั่ง ส่วนเพื่อไทยให้เต็มที่สุดๆ ตัดปัจจัยอื่นๆ หมดแล้ว น่าจะได้ 230 ที่นั่ง”
และหากผลการเลือกตั้งเพื่อไทยได้คะแนนมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ประมาณ 50 ที่นั่ง นักจัดรายการชื่อดัง ตอบแบบชัดๆว่า เพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลแน่นอน ซึ่งมีตัวแปร เพื่อไทยจะที่นั่งได้มากน้อยเพียงใด อยู่ที่ “พรรคภูมิใจไทย” จะกวาดที่นั่งในภาคอีสานได้เท่าไหร่
พร้อมกับชี้ให้เห็น "รูรั่วซึม" ของเพื่อไทย อยู่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนประชาธิปัตย์ ภาคใต้ ที่จังหวัดภูเก็ต และในกรุงเทพฯ จะมีรั่วซึม
กรณีที่พรรคภูมิใจไทยที่คุยไว้ว่าจะได้ 70 ที่นั่งนั้น "วีระ" บอกให้ราคาเต็มที่ แบบซื้อหนึ่งแถมสอง จัดชุดใหญ่ น่าจะได้แค่ 40 ที่นั่ง นี่จึงเป็นเหตุให้หลายคนไปอยู่พรรคชาติไทยพัฒนา เพราะคิดว่าได้เป็นรัฐบาลแน่ ซึ่งขณะนี้พรรคที่ร่วมรัฐบาลแน่ๆ มี 2 พรรค คือ ชาติไทยพัฒนา และชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ขณะที่กิจสังคม หากโชคดีก็ได้เป็นรัฐบาลพรรคที่สาม
ไม่มีพรรคการเมือง ใช้ธรรมหาเสียง
ทั้งนี้ ยังมีข้อสังเกตการหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ครั้งนี้ จากนักจัดรายการวิทยุชื่อดังว่า ไม่มีพรรคการเมืองใดหาเสียงด้วยธรรมเลย ไม่มีนโยบายต่อศาสนาแม้แต่พรรคเดียว
เขาจึงอนุมานได้ว่า “มันคงไม่มีธรรมหลังการเลือกตั้ง” และก่อนเลือกตั้ง ซึ่งหากภาพประเทศไทยเป็นแบบที่คาดเดามาก่อนหน้านี้ หลังการเลือกตั้ง หากพรรคที่ได้ที่ 1 ก็ตั้งรัฐบาล อยู่ที่ว่าจะดึงพรรคไหนร่วม และหากไม่ผิดฝาผิดตัว ก็คาดว่าจะไม่มีเรื่อง
“แต่หากพรรคได้คะแนนมากที่สุด ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ เราก็ต้องยอมรับ การรวมกันเกินกึ่งหนึ่งเป็นรัฐบาล เรียกว่า รัฐบาลเสียงข้างมาก แต่ผมว่า ไม่ว่า เพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์จะได้จัดตั้งรัฐบาล ก็เป็นนิมิตหมายอันดีว่า ประเทศไทยจะมีฝ่ายค้านที่เข็มแข็ง มีการตรวจสอบเข็มข้นทุกเม็ด” นายวีระ สวมบทโหร ทำนายการเมืองไทย อย่างเมามัน ก่อนจะทิ้งท้ายไว้ว่า หากมีการตั้งรัฐบาลมาแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับว่า รัฐบาลนั้นเป็นรัฐบาลไหน มีระยะฮันนีมูนโดยทั่วๆ ไป 3-4 เดือน มีกรณียกเว้นเมื่อเข้ามาแล้ว ทำอะไรแบบที่ เขาคิดว่าคุณจะทำทันที อย่างนั้นก็เป็นความ “โง่” ไม่ได้เป็นความฉลาด ซึ่งก็จบ เชื่อว่าจะมีการประท้วงกันอีก
ถามไทยจะอยู่จุดไหนในเวทีโลก
มองในมุมต่างประเทศบ้าง นายทนง ขันทอง บรรณาธิการ น.ส.พ. The Nation และ บรรณาธิการ Asian’s TV วิเคราะห์การเลือกตั้งของไทย โดยเปรียบเทียบให้เห็น บริบทโลก ว่า ทำไมเราถึงต้องทำความเข้าใจระบบโลก จากโลกปัจจุบันไปสู่โลกใหม่
ด้วยเพราะโลกปัจจุบันนั้นเดินต่อไปไม่ได้แล้ว อำนาจการต่อรองของโลกเริ่มเปลี่ยน
ดังนั้นเราต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่โลก "ไร้สมดุล" ทางเศรษฐกิจและแบ่งออกเป็นสองขั้ว
ระหว่างกลุ่มประเทศโซนยุโรป อเมริกา อังกฤษซึ่งเป็นประเทศที่มีการนำเข้าเพื่อการบริโภคเป็นหลัก กับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย จีน อินเดีย ให้ได้ถึงจะอยู่รอด
“สหรัฐอเมริกา อังกฤษเริ่มจะถูกท้าทาย และถูกต่อรองอำนาจจากอินเดีย จีน ซึ่งอาจทำให้ระเบียบของโลกเปลี่ยนไป แต่ประเทศไทยกลับไม่เคยมีการตั้งคำถามว่า จะอยู่อย่างไร จะจับขั้วกับฝ่ายไหน” นายทนง กล่าวด้วยท่าทางที่นิ่งๆ
โหน่ง a day ให้คำจำกัดความเลือกตั้ง
ส่วนนายวงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ หรือ โหน่ง a day กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด ถ่ายทอดอุณหภูมิของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อการเลือกตั้งที่ใกล้มาถึง โดยให้คำจำกัดความการเลือกตั้งไว้ว่า ซับซ้อน สับสน ตื่นตัว และเต็มไปด้วยความคาดหวัง (ที่ยากจะคาดเดา)
เขาขยายความเพิ่มเติม เพื่อให้เข้าใจคำว่า "ซับซ้อน"
"ช่วง 2-4 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่สำคัญ และแปลกประหลาด มีสภาวะ สภาพที่คาดไม่ถึงว่าจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะ Connection Relationship ของผู้นำทางการเมืองมีการเคลื่อนย้ายเปลี่ยนขั้วกันอย่างมาก เกิดภาวะของการแตกคอ และ กอดคอ ที่ไม่น่าเชื่อ เช่น ผมเห็นภาพพันธมิตรฯ แตกคอกับพรรคการเมืองใหม่ ผมประหลาดใจมาก ซึ่งหากนึกย้อนไป 2 ปีที่แล้ว เราคาดไม่ถึงจะเดินมาถึงจุดนี้
หรือย้อยไปเมื่อ 2 ปี ใครจะนึกว่า พันธมิตรฯ แตกคอกับประชาธิปัตย์ ให้นึกย้อนไกลหน่อย ใครจะเชื่อว่า เนวิน แตกคอทักษิณ ใครจะเชื่อสนธิ แตกคอทักษิณ นี่คือสภาพ Relationship ของผู้นำทางการเมือง ที่ผมคิดว่า มันกำลังอยู่ในช่วงจับคู่ แตกคู่”
สภาพเช่นนี้เอง....ได้นำไปสู่ความสับสนของคนที่เป็นผู้ตาม
ไม่จะเป็นคนที่อยู่ในสีแดง เหลือง น้ำเงิน จำนวนมากเกิดภาวะที่ค่อนข้างไม่แน่ใจ สิ่งที่ตนยึดถือจะใช้หรือไม่ กระทั่งมีคนจำนวนมาก ตัดสินใจเปลี่ยนสี เป็นสลิ่ม สบายใจดี
ฉะนั้น ช่วงเวลานับจากนี้ นักเขียนชื่อดัง จึงมองว่า การเลือกตั้ง 3 กรกฎาคมนี้ นับว่ามีนัยยะสำคัญมากๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมถึงวิถีชีวิตของคนในสังคม อีกทั้งยังเป็นที่จับตาของคนทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งที่บอกถึงใบหน้า โฉมหน้าของเมืองไทยในอนาคต
หาเสียงเหมือนฉีดสเตียรอยด์เข้าร่างกาย
"วงศ์ทนง" ย้อนกลับมาตั้งข้อสังเกตถึงรูปแบบการหาเสียงปัจจุบันนี้ว่า เกิดภาวะของการเกทับ บรัฟแหลก ซึ่งเขา เห็นว่า เป็นนโยบายประชานิยมแบบ "ไร้สติ"
เปรียบไปก็เหมือนกับการฉีดสเตียรอยด์เข้าไปในร่างกาย แรกๆ ตัวก็จะโตใหญ่ แต่ไม่ช้าก็จะตาย เหล่านี้เป็นรูปแบบการหาเสียงที่แปลกมาก โดยที่ กกต.ไม่ออกมาแอคชั่นในเรื่องนี้เลย
“กกต.ควรร่วมมือกับ สคบ.ให้มีดอกจันที่ป้ายหาเสียง และบอกด้วยว่า สามารถทำได้ในชาตินี้หรือชาติไหน ซึ่งก็ไม่แปลกใจเพราะการเลือกตั้งครั้งนี้สำคัญมาก ทุกพรรคต่างหวังจะต้องเอาชนะให้ได้ วิธีง่าย คือ วาดวิมานในอากาศให้สวยงาม น่าซื้อที่สุด ดึงดูดใจที่สุด ลด แลก แจก แถมกันไป” โหน่ง a day นำเสนอมุมมอง ก่อนจะแสงความเป็นห่วงใย ความสนใจทางการเมืองของวัยรุ่นขณะนี้ที่ค่อนข้างจะเบาบาง และตื้นเขิน เนื่องจากพบว่า วัยรุ่นจำนวนหนึ่งคิดจะเลือก ส.ส. เพราะความมัน โดยไม่ได้ดูผลงานที่ผ่านมา....