แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
“สังคายนา” หลักสูตรนิเทศศาสตร์ ทวงคืนยุค "กบฏทางความคิด"
ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ตุลาการ นักธุรกิจ นักวิชาการ ครู-อาจารย์ เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน พ่อค้า ประชาชน ฯลฯ ยามนี้ยากนักที่ทุกคนในสังคมจะปฏิเสธ และเพิกเฉยต่อ “กระแสปฏิรูป” ร่วมเปลี่ยนแปลงสังคมในครั้งนี้ได้
ในวงการ “สื่อมวลชน” ก็เช่นเดียวกัน กับการ “ปฏิรูปสื่อ” แม้เป้าหมายยังไม่แน่ชัด แต่ก็เริ่มมีการพูดถึง คือ “การปฏิรูปที่ต้นทาง” พุ่งเป้าไปที่มหาวิทยาลัย สถาบันที่ผลิตคนสื่อ วันนี้ต้องเริ่มคิดปฏิรูปกันได้แล้ว
ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต จัดเวทีสัมมนาเชิงวิชาการ “การปฏิรูปการเรียนการสอนสื่อมวลชนเพื่อการปฏิรูปสื่อ” รวบรวมคนในวงการทั้งนักศึกษา อาจารย์ นักวิชาการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน หรือ “คนในสนามสื่อ” มาร่วมกาง “ตำรานิเทศศาสตร์” ถกปัญหาความล้าสมัยของหลักสูตรการเรียนการสอนสื่อสารมวลชน เพื่อหาทางปรับ เปลี่ยนแปลง พัฒนาหลักสูตร รวมทั้งเพิ่มทักษะการทำงานในโลกแห่งความจริง ให้ “บัณฑิตนิเทศศาสตร์” ได้มีความพร้อม ก่อนลง “สนาม” ทำงานจริง
สอนสื่อสารฯ "วิธีการต้องเปลี่ยน"
ด้วยตระหนักดีว่า การเรียนการสอนวิชาสื่อสารมวลชนต้องสอดคล้อง-เท่าทันสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปมากจากอิทธิพลของสื่อใหม่ เทคโนโลยีที่เข้ามา ในวันนั้น ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดประเด็นฉายภาพ “การปฏิรูปสื่อ” ตั้งแต่ยุคแรกในเมืองไทย พ.ศ.2535-2553 จากนั้นย้อนไปดูตำราประวัติศาสตร์และพัฒนาการการสอน “นิเทศศาสตร์” ในบ้านเราเทียบกับนานาประเทศ ให้บรรดาผู้ฟังได้เรียนรู้พร้อมกันเป็นฉากๆ ว่า การปฏิรูปสื่อในประเทศไทยช่วงปี 2540 และก่อนหน้านั้น เป็นการปฏิรูปสื่อที่ตัวโครงสร้าง ขณะที่การปฏิรูปสื่อในต่างประเทศ คือ การปฏิรูปนโยบาย การกำกับดูแลสื่อ การปรับเปลี่ยนเนื้อหาทั้งคุณภาพ-ปริมาณ รวมถึงวิธีการปฏิบัติงานของสื่อมวลชน ซึ่งเป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปสื่อในต่างประเทศนั้นเพื่อสร้างบทบาทของสื่อมวลชนเพื่อสาธารณะ
หลักสูตร-รูปแบบการสอนสื่อสารมวลชนในสถาบันการศึกษาของไทย อ.พิรงรอง ยืนยันชัดต้องมีการเปลี่ยนแปลง บูรณาการการเรียนการสอนระหว่างศาสตร์ สาขาย่อยของนิเทศเข้าด้วยกัน รวมถึงปรับเปลี่ยนบรรจุเนื้อหาสอนเรื่องการปฏิรูปสื่อ การหลอมรวมเทคโนโลยี การสร้างพันธกิจหลักต่อการรับผิดชอบสังคมด้วย
“ปรัชญาการผลิตบัณฑิตนิเทศศาสตร์ ต้องผลิตบัณฑิตให้สอดคล้องกับตลาดงาน ผู้ปฏิบัติงานสื่อ ให้สอดคล้องตลาดงานยุคปฏิรูปสื่อ ยุคหลอมรวมเทคโนโลยีและยุคสื่อเพื่อสังคม อีกทั้งการสอนต้องทำให้ผู้เรียนรู้จักตอบแทนช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักศึกษาวารสารศาสตร์”
สอดคล้องกับรศ.ดร.อุษา บิ้กกิ้นส์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ คณะนิเทศศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ เห็นตรงกันว่า การเรียนการสอนวิชานิเทศศาสตร์จะทำการสอนแบบเดิมๆ ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว โดยเสนอการสอนหลักสูตรด้านสื่อสารมวลชน จะต้องบรรจุการสอนเรื่อง “วัฒนธรรมการทำงานของสื่อ” ที่เปลี่ยนแปลงไป ลงไปในหลักสูตรด้วย
“หลักสูตรนิเทศศาสตร์ไม่ควรแยกขาดจากกัน ต้องบูรณาการหลักสูตรให้เข้มแข็งขึ้น เช่น สาขาวารสารฯ ต้องเรียนควบคู่กับสาขาวิทยุกระจายเสียงโทรทัศน์-ดิจิตัลมีเดีย เพื่อให้นักศึกษาทำงานได้จริง นักศึกษาเมื่อจบหลักสูตรนิเทศศาสตร์แล้วควรจะเขียนข่าวและผลิตรายการได้ด้วย สถาบันการศึกษาต้องส่งนักศึกษาลงทำงานในพื้นที่ชุมชน พร้อมทำรายงานสรุปสิ่งที่ทำลงไป ”
สำหรับปัญหาหลักๆ ของการเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์ อ.อุษา มองไปที่ตัวมหาวิทยาลัย ที่ยังขาดความร่วมมือกับองค์กรสื่อหรือสมาคมวิชาชีพสื่อ พร้อมแสดงความแปลกใจที่มหาวิทยาลัยไทยกลับไม่ได้สนใจทำการศึกษาวิจัยงานด้านสื่อสารมวลชนมากที่ควร ทั้งๆ ที่เรื่องการวิจัยนี้มีความสำคัญมากต่อประเด็นการปฏิรูปสื่อ แต่มหาวิทยาลัย กลับไปให้ความสนใจกับรายงานศึกษาเรื่องสื่อมากกว่า
"สร้างกบฏทางความคิด" คือ หัวใจตำรานิเทศฯ
ฟากนักวิชาชีพ บรรยากาศยิ่งร้อนแรงขึ้น เมื่อมีการตั้งโจทย์การ “ผลิต” นักศึกษาด้านสื่อสารมวลชนของสถาบันการศึกษาในประเทศไทยว่า ได้ “ตอบโจทย์” ความต้องการของวงการวิชาชีพในปัจจุบันหรือไม่
ในฐานะนักวิชาชีพสื่อสารมวลชนอาวุโส ผู้คร่ำหวอดในวงการมานานและในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา นายสมหมาย ปาริจฉัตต์ รองประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กระแทกคำถามแรงๆ กลับว่า
“วิกฤติด้านนิเทศศาสตร์ เป็นวิกฤติของใครระหว่าง มหาวิทยาลัย นักศึกษา หรือวิชาชีพ วันนี้ทุกคนต้องช่วยกันเอาตัวรอดหรือไม่ ทั้งมหาวิทยาลัยก็ต้องปรับหลักสูตรการสอน การเปิดรับนักศึกษาที่ไม่มุ่งขยายตลาดนักศึกษาอย่างเดียว ตัวนักศึกษาก็ต้องพัฒนาสร้างคุณภาพศักยภาพของตนเอง ส่วนภาควิชาชีพก็ต้องยกระดับพัฒนาคงคุณภาพ เนื้อหาสาระไว้ด้วยหรือไม่” ประเด็นนี้สื่อมวลชนอาวุโส ย้ำหนักแน่นว่า การเรียนการสอนสื่อสารมวลชนต้องมีการ “ปฏิรูป” เพื่อเริ่มต้นสู่ “การปฏิรูปสื่อ” อย่างจริงจัง
ก่อนจะยกตัวอย่างการปรับปรุง การเรียนการสอนหลักสูตรนิเทศศาสตร์ เช่น กำหนดหนังสือให้นักศึกษานิเทศฯ ทุกคนต้องอ่านภาคบังคับด้วย นอกจากตำราด้านสื่อสารมวลชนแล้ว จะต้องมีองค์ความรู้พื้นฐานอะไรอีกบ้างที่จำเป็นต่อการเป็น “นักนิเทศศาสตร์” เช่น องค์ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ฯลฯ
ประเด็นสำคัญสุดในสายตาผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อท่านนี้ เห็นว่า ต้องทำให้นักศึกษานิเทศหันกลับมาให้ความสำคัญกับการอ่าน ขณะเดียวกันทักษะในการ คิด-วิเคราะห์ประเด็น การตั้งคำถาม การเขียน การสื่อความนั้นเป็นกลุ่มวิชาที่ต้องดำรงไว้และต้องเพิ่มน้ำหนักการสอนให้มากขึ้นอีก นอกจากนี้หลักสูตรต้องเพิ่มการสอนเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม จิตสาธารณะด้วย ขณะเดียวกันอาจารย์ผู้สอนก็ต้องมาร่วมมือกับองค์กรวิชาชีพในการสอนโดยใช้สนามการทำงานจริงให้มากขึ้นเช่นกัน
“บัณฑิตนิเทศต้องตอบโจทย์จิตสาธารณะให้ได้ไม่ใช่จบมาแล้วสนองทุนอย่างเดียว บัณฑิตนิเทศต้องชัดเจน เรื่องความจริง ความดี ความถูกต้อง ความเป็นกลาง เรื่องนี้ต้องถกเถียงกันให้ชัดตั้งแต่เรียน”
นี่คือ หลักของความเป็นนิเทศศาสตร์ หลักสูตรนิเทศศาสตร์ต้องสร้างคนเป็นกบฏทางความคิด ในมุม “สมหมาย ปาริจฉัตต์” และว่า หลักสูตรนิเทศศาสตร์นั้น สถาบันการศึกษาใดที่พยายามรักษาหลักสูตรวารสารศาสตร์เอาไว้ ต้องขอชื่นชม เพราะนั่นเป็นความพยายามรักษาเนื้อหาสาระของศาสตร์เอาไว้ ซึ่งการปฏิรูปโดยนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเดียวนั้นไม่พอ ต้องปฏิรูปที่ตัวเนื้อหา โดยตัวคอนเท้นท์ต้องการนำเสนอออกมาสู่ประชาชน สู่สังคม ซึ่งการนำเทคโนโลยี สื่อใหม่ สื่อออนไลน์มาใช้จะช่วยสร้างพลังคอนเท้นท์ ให้เกิดบนสื่อกระแสหลักได้
ปฏิรูปการสอน "เรียนรู้คู่สนามจริง"
ขณะเดียวกันนายเถกิง สมทรัพย์ อดีตนายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ก็ย้ำว่าการทำงานด้านสื่อสารมวลชนนั้น หัวใจสำคัญของวิชาชีพนี้ยังคงอยู่ที่ “สาระของเนื้อหา” หรือ “ตัวคอนเท้นท์” ที่ต้องการนำเสนอสื่อออกมาสู่ประชาชนสู่สังคม ซึ่งการนำเทคโนโลยี สื่อใหม่ สื่อออนไลน์มาใช้นั้นจะช่วยสร้างพลังคอนเท้นท์ หรือ “พลังของเนื้อหา” ให้เกิดบนสื่อกระแสหลักได้
อดีตนายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่นักศึกษานิเทศศาสตร์ที่จบออกมานั้นยังไม่สามารถพร้อมปฏิบัติงานในสนามจริงได้ทันที จึงอยากให้การเรียนการสอนนิเทศศาสตร์เน้นภาคปฏิบัติที่ทำให้นักศึกษามีทักษะ การทำงาน พร้อมปฏิบัติหน้าที่ลงสนามจริงได้ทันทีเมื่อจบการศึกษา ไม่ใช่แค่การส่งนักศึกษาไปฝึกงาน 3 เดือน
“การเรียนการสอนต่อจากนี้ต้องสร้างการเรียนการสอนเสมือนทำงานจริง เสมือนอยู่ในองค์กรสื่อจริงๆ จากนี้มหาวิทยาลัยควรสอนโดยยึดการปฏิบัติงาน เป็นตัวตั้ง”
นอกจากนี้ ในช่วงบ่ายยังมีการระดมความคิดเห็นย่อยจากนักศึกษา อาจารย์ และคนในสนามอาชีพสื่อ ต่อการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงหลักสูตรการสอนสื่อสารมวลชนนี้ ด้วย โดยคณาจารย์ผู้สอนต่างเสนอให้ หลักสููตรควรกำหนดการสอนที่ต้องทำให้นักศึกษารู้บริบทในชุมชนท้องถิ่นของตนเอง ,ทบทวนเรื่อง "สหกิจศึกษา" บูรณาการรายวิชาร่วมกันให้นักศึกษาได้ฝึกทำข่าวทั้งหนังสือพิมพ์ ข่าวทีวีในพื้นที่จริงๆ ระหว่างศึกษา, มหาวิทยาลัยควรแนะแนวให้นักศึกษาหันกลับมามอง "ตัวสื่อท้องถิ่น" บ้าง ไม่ใช่มุ่งการทำงานสื่อไปที่ตัวสื่อกระแสหลักอย่างเดียว , ควรมีการพิจารณาปรับปรุงความทันสมัยของหลักสูตรสื่อสารมวลชนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงเสนอให้มหาวิทยาลัยลองจับมือกับองค์กรวิชาชีพสื่อในการสอนนักศึกษา และทำโมเดลในสื่อมวลชนอาชีพให้ชัดเจนเพื่อเป็นต้นแบบให้นักศึกษาด้วย
ขณะเดียวกันก็มีเสียงสะท้อนจากมุมมองสื่อมวลชนผู้ปฏิบัติงานจริงในสนามข่าว ต่อหลักสูตรการเรียนนิเทศศาสตร์ ว่า ปัจจุบันไม่ว่านักศึกษาฝึกงานนิเทศศาสตร์ หรือแม้กระทั่งตัวผู้สื่อข่าวเองจำนวนไม่น้อย ต่างกำลังประสบปัญหาใหญ่ในการทำงาน คือ “จับประเด็น” ข่าวไม่เป็น และพบอีกว่าความเก่ง ความสามารถของผู้สื่อข่าวที่เห็นในทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกสะท้อนออกมาจากตัวหลักสูตรที่ร่ำเรียนกันมา แต่มาจากความเก่ง ความสามารถ ความพยายาม ขวนขวายของตัวผู้สื่อข่าวเองเสียมากกว่า และไม่อยากให้โทษกันไปมาระหว่างภาควิชาการที่ผลิตบัณฑิตกับภาควิชาชีพในการทำงานจริง ทว่าต้องร่วมกันแก้ปัญหา นักนิเทศศาสตร์ป้ายแดง ที่ “ทำงานไม่เป็น-จับประเด็นไม่ได้” !!! ร่วมกันต่างหาก
อีกด้านหนึ่งมุมของนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่นั้นต่างเห็นว่า มาตรฐานการสอนและหลักสูตรของทุกสถาบันที่สอนด้านสื่อสารมวลชนนั้นไม่ควรมี ความเหลื่อมล้ำกันมากนัก ระหว่างม.รัฐ ม.เอกชน หรือม.ราชภัฏ, การสอนในหลักสูตรควรกำหนดให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนักศึกษากับนัก วิชาชีพอยู่เป็นประจำอย่างจริงจัง ขณะเดียวกันสื่อมวลชนอาชีพก็ควรต้องสร้างบรรทัดฐานด้านจรรยาบรรณและจริยธรรม เพื่อเป็นต้นแบบการสร้างการทำงานที่ดีให้กับนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ด้วย เป็นต้น
อย่างไรก็ตามผลการสัมมนาในวันนั้นนักศึกษานิเทศศาสตร์ยังได้ทิ้งคำถามสะท้อนการทำงานของสื่อมวลชนอาชีพไว้ด้วยว่า "สื่ออาชีพจะปรับตัวอย่างไรบ้าง ? เพื่อเป็นต้นแบบให้แก่น้องๆ นักศึกษาที่กำลังศึกษาด้านสื่อสารมวลชน ซึ่งกำลังจะจบออกมาสู่สนามสื่อจริงๆ ได้บ้าง ?" ซึ่งคำถามนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนในวงการสื่อต้องร่วมกันหาคำตอบ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปสื่อที่ต้นทางอย่างแท้จริง ให้เริ่มต้นการถ่ายโอนเลือดใหม่นักนิเทศศาสตร์น้ำดีกับสังคมต่อไป.
"หลากทัศนะปฏิรูปการสอน นิเทศศาสตร์ยุคใหม่"
นายสมหมาย ปาริจฉัตต์ ในฐานะอดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ปี พ.ศ.2538-2539 และฐานะรุ่นพี่นิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นที่ 8
Q: ความแตกต่างของนักศึกษานิเทศศาสตร์ในเชิงคุณภาพการเรียนรู้ของยุคก่อน-ยุคปัจจุบัน ?
ความแตกต่างของนักศึกษายุคก่อนถึงยุคปัจจุบันในเชิงคุณภาพการเรียนรู้ นักศึกษาปัจจุบันส่วนใหญ่ไม่ชอบทำงานหนัก หรือเรียนเรื่องทีมีสาระหนักๆ ดังเช่นจะพบว่า แนวโน้มการเลือกเรียนหนังสือพิมพ์หรือวารสารศาสตร์น้อยลง เพราะต้องอ่านมาก เขียนมาก ขบคิดตั้งประเด็น
"งานหนังสือพิมพ์เป็นงานหนัก แต่ผลตอบแทนทางการเงินน้อยกว่า ในแง่นี้ผมอาจจะมีความโน้มเอียง เพราะมุ่งมาทางงานด้านหนังสือพิมพ์เป็นหลัก ตั้งแต่ต้น ขณะที่นักศึกษาปัจจุบันเลือกที่จะทำงานสบายกว่า ได้รายได้มากกว่า ที่จะต้องไปคอยติดตามเฝ้าแหล่งข่าว รบเร้าถามแหล่งข่าว ขบคิดหาประเด็นต่างๆ มาตามรายละเอียดให้มากกว่าคนอื่นๆ"
ส่วนความสนใจในเรื่องราว ความเป็นไปของสังคมส่วนรวม ลดลงจากแต่ก่อน ซึ่งสาเหตุนอกจากสภาพสังคม การเมือง เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปก็จริง แต่หากการเรียนการสอนทำให้มีคุณภาพ นักศึกษารักที่จะเรียนรู้ก็น่าจะมีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสนใจในประวัติศาสต์ของวิชาชีพ การต่อสู้ของนักวิชาชีพในอดีต ซึ่งน่ายกย่องเป็นอย่างยิ่ง ตั้งแต่ยุค เทียนวรรณ กสร.กุหลาบ เซียว ฮุดเส็ง พระยาศราภัยพิพัฒน์ หลุย คีรีวัตร กุหลาบ สายประดิษฐ์ อุทธรณ์ พลกุล วิถีชีวิตของท่านเหล่านี้จะเป็นปัจจัยให้นักศึกษามีความแน่นในเนื้อหา สาระ สนใจปัญหาสังคมส่วนรวม รักเสรีภาพ รักความเป็นธรรม ผมไม่แน่ใจว่า นักศึกษาปัจจุบันมีมากน้อยเท่าไหร่ที่สนใจเรื่องของคนเหล่านี้
Q: ถ้าต้องปรับปรุงปฏิรูปการเรียนการสอนหลักสูตรนิเทศศาสตร์ใหม่ ควรต้องเพิ่มการสอนเรื่องใดบ้าง เพื่อคงคุณภาพของบัณฑิตนิเทศศาสตร์ รวมถึงเพื่อปูทางการปฏิรูปสื่อในระยะยาวด้วย ?
ควรหันไปสอนวิชาบางวิชาที่ขาดหายไป ถูกลดความสำคัญลง อาทิ 1. ประวัติศาสตร์สื่อตั้งแต่ยุคสิ่งพิมพ์จนถึงยุคนิวมีเดีย 2. การวิเคราะห์สถานการณ์ 3. การเมืองการปกครองเปรียบเทียบ 4. เศรษฐศาสตร์มหภาค-จุลภาค 5. การพัฒนาสังคม ส่วนหนังสือที่นักศึกษาควรอ่าน เทียรวรรณ งานของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ งานเขียนของสถิตย์ เสมานิล งานเขียนของนิธิ เอียวศรีวงศ์ งานของบุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา อดีตคณบดีคณะวารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ งานของรังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ซึ่งแต่ละท่านมีหลายเล่ม เสนอให้นักศึกษาควรไปค้นคว้าหามาว่า ท่านเหล่านี้มีงานเขียนอะไรบ้าง แล้วมาเลือกเอาเฉพาะทื่เกี่ยวกับเนื้อหา ความคิดด้านสื่อสารมวลชนก็ได้ ส่วนใหญ่มีเกือบทุกท่าน ยกเว้นของรังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ที่หนักไปทางเศรษฐศาสตร์ แต่ก็มีงานเขียนเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ วงการสื่อสารมวลชนเหมือนกัน ที่วิพากษ์ไว้น่าคิดทีเดียว ลองให้นักศึกษาพยายามหาก่อน เขาอาจจะสนใจอ่านเล่มใดที่เขาพบเลยก็ได้
Q: ปัจจุบันการผลิตบัณฑิตนิเทศศาสตร์ของสถาบันการศึกษาในประเทศไทย ยังคงตอบโจทย์ตลาดแรงงานในวิชาชีพหรือไม่ ?
การผลิตนักศึกษานิเทศศาสตร์ปัจจุบันตอบโจทย์ตลาดแรงงานระดับหนึ่ง ระดับหนึ่งแค่ใดนั้นตอบยาก ก็ยังพอมีงานทำอยู่ ยิ่งมีโอกาสฝึกงานก่อนก็มีโอกาสมากขึ้น แต่ประเด็นที่น่าคิด คือ เมื่อให้ผู้จ้างงานเลือกระหว่างสาขานิเทศศาสตร์ กับสาขาอื่นที่เป็นวิชาชีพเฉพาะ เช่น นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ เขาเลือกใคร ใครมีคุณภาพกว่า เวลาออกไปปฏิบัติงานใครทำงานได้ดีกว่า
สิ่งที่บัณฑิตนิเทศศาสตร์น่าจะโดดเด่นกว่า คือ ความสามารถในการจับประเด็น สรุปประเด็น การเขียนให้อ่านง่าย ลึกซื้ง แยบคาย ทั้งลีลาและเนื้อหาสาระ แง่มุม น่าจะเป็นอัตลักษณ์ของนักนิเทศศาสตร์ ซึ่งตรงกับคุณสมบัติ ความคิดสร้างสรรค์ ความกล้าหาญ กล้าถาม กล้าวิพากษ์วิจารณ์ รักความถูกต้อง เป็นธรรม แต่อ่อนน้อมถ่อมตน.
.........................................................................................................
นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในฐานะรุ่นพี่นิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นที่ 16
Q: ความแตกต่างของนักศึกษานิเทศศาสตร์ในเชิงคุณภาพการเรียนรู้ของยุคก่อน-ยุคปัจจุบัน ?
ถ้าในบริบทของนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ นักศึกษาวารสารศาสตร์นั้น ส่วนมหาวิทยาลัยของรัฐจะมีการเปิดให้นักศึกษาสามารถเรียนรวมนิเทศศาสตร์ 2 ปีก่อน จากนั้นปี 3 จะเลือกสาขาย่อย เช่น วารสารศาสตร์ วิทยุโทรทัศน์ อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะที่มหาวิทยาลัยเอกชนนั้นจะบังคับให้นักศึกษาต้องเลือกเรียนสาขาย่อยตั้งแต่ปี 1 ถือว่าเป็นการบังคับมาก ซึ่งนักศึกษายังไม่มีโอกาสได้รู้จักตนเองก่อน
นักศึกษาในอดีตจะมีความตั้งใจเรียนรู้มาตั้งแต่ต้นด้วยตนเอง ขวนขวาย มีความพยายาม มีองค์ความรู้ติดตัวในแต่ละเรื่องมาพอสมควรมากกว่านักศึกษาในปัจจุบัน ขณะที่นักศึกษาในปัจจุบันมีพื้นความรู้ในเรื่องต่างๆ น้อยลง ทำให้รายงานข่าวอย่างไม่ค่อยมีพื้นความรู้ของสิ่งที่ทำนัก
และความแตกต่างในเรื่องความตั้งใจเป้าหมายแน่ชัดในการเลือกเข้ามาเรียนวารสารศาสตร์ในอดีตมีเป้าหมาย มีใจรักที่จะเข้ามามากกว่าปัจจุบัน ซึ่งผ่านการบังคับให้ถูกเรียนวารสารฯ เนื่องจากนักศึกษาส่วนใหญ่ต้องการเรียนด้านวิทยุโทรทัศน์ ฯลฯ นี่จึงเป็นเหตุผลส่วนหนึ่ง เรื่องความตั้งใจ และฐานวิธีคิดที่ต่างกัน รวมถึงปัจจัยสังคมที่เปลี่ยนไปที่นักศึกษาสมัยนี้ชอบการทำข่าวบันเทิงมากกว่า การทำข่าวเศรษฐกิจ การเมือง แม้กระทั่งนักศึกษาระดับปริญญาโทก็มีพฤติกรรมเสพข่าว อ่านข่าวน้อยมาก
Q: ถ้าต้องปรับปรุงปฏิรูปการเรียนการสอนหลักสูตรนิเทศศาสตร์กันใหม่นั้น ควรต้องเพิ่มการสอนเรื่องใดบ้าง เพื่อคงคุณภาพของบัณฑิต รวมถึงเพื่อปูทางการปฏิรูปสื่อในระยะยาวด้วย ?
คิดว่าไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนตัวหลักสูตร ตัวกระดาษ ตัวรายวิชา หัวข้อวิชา แต่ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงกระบวนการสอน การเรียนรู้ที่นักศึกษาต้องมีใจรักที่จะเรียนรู้ทางนี้ก่อน ต้องทำให้เกิดกระบวนการสอนที่ทำให้นักศึกษามีกระบวนการคิด รู้จักค้นคว้า หาข้อมูลความรู้ต่างๆ แล้วเชื่อมโยงฐานความรู้ ฐานข้อมูลที่มีที่ได้มา นำมาใช้เป็น ไม่ใช่แค่ตัวหลักสูตร แต่การเรียนนิเทศศาสตร์ต้องทำให้นักศึกษาคิดเป็น ซึ่งการสอนช่วงหลังๆ มักนิยมสอนที่ตัวเทคนิค เทคโนโลยีมากกว่าการสอนที่ตัวฐานความรู้ ความคิด
Q: ปัจจุบันการผลิตบัณฑิตนิเทศศาสตร์ของสถาบันการศึกษาในประเทศไทย ยังคงตอบโจทย์ตลาดแรงงานในวิชาชีพหรือไม่ ?
นั่นไม่ใช่ประเด็นหลัก ไม่เกี่ยวกับการตอบโจทย์หรือไม่ ถ้านักศึกษาคิดเป็นก็สามารถจะทำอาชีพอื่นได้ ประเด็นสำคัญต้องสอนให้คนมีกระบวนการวิธีคิดเป็นก่อน สำคัญกว่า.