ผลพวงจากเหตุการณ์ความรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา ได้กลายเป็นแรงกระเพื่อมให้ต้องมีการ "ปฏิรูปสื่อ" กันทั้งระบบ สื่อมีพลังทั้งเชิงบวกและเชิงลม ถือเป็นจิ๊กซอว์หนึ่งของสังคม เพื่อไม่ให้หน้าต่างแห่งโอกาสนี้ปิดไป คนในวงการสื่อเองก็ตื่นตัว เริ่มยอมรับและมีการพูดคุยกันในวงกว้างถึงสื่อในวิกฤต เริ่มมองเห็นสิ่งที่จำเป็นต้องแก้ไข
จากบรรทัดนี้ไป เป็นคำสัมภาษณ์ 2 ผู้บริหาร "ทีวีดาวเทียม -ทีวีสาธารณะ" เพื่อตอบโจทย์... ทำไมต้องปฎิรูปสื่อ และทำไมสื่อต้องปฏิรูปตัวเอง ?
"สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม"
กรรมการผู้อำนวยการ สำนักข่าวทีนิวส์
|
“เทพชัย หย่อง”
ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ทีวีไทย)
|
@ มองการปฏิรูปสื่อวันนี้อย่างไร
การปฏิรูปสื่อเป็นเรื่อง เหลวไหล สื่อจะรักษาตัวเขาเองอยู่แล้ว คุณ (รัฐ) ไม่ต้องมายุ่ง อนาคตบทบาทของสื่อต้องลดลง ไม่ต้องปฏิรูป เพราะกงล้อประวัติศาสตร์จะบดขยี้ตัวคุณเอง
สิ่งที่สังคมและรัฐบาลควร จะทำ คือ พัฒนาหรือไปยกระดับการรับรู้ของผู้บริโภคจากเทคโนโลยีที่มี หากผู้รับคิดเป็นจากข่าวสารที่เชื่อมโยงอย่างทั่วถึงทั้งประเทศ นั่นถึงจะสำคัญ
หากคุณมาปฏิรูปสื่อ แสดงว่า คุณต้องการมาให้ความสำคัญกับสื่อ ไม่ใช่ ผู้บริโภค การ แปลความจากสื่อ แปลความดีไม่ดีตอนนี้ผู้รับสื่อไม่สนใจอีกแล้ว ดังนั้น ไม่ต้องปฏิรูป แต่ไปเรียนรู้สังคม รัฐหรือคนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ต้องไปพัฒนาการรับรู้ข่าวสารของประชาชน กลับไปที่สถาบันการศึกษา ไปดูการสอนวิชาสื่อสารมวลชน หากยังสอน แบ่งเป็นภาควิชา วิทยุ โทรทัศน์หรือภาควิชาอื่นๆ หรือสอนเพียงเทคนิค การตัดต่อ ที่ปัจจุบันล้าสมัยไม่จำเป็น ก็ต้องช่วยกันพิจารณาปรับปรุงด้วย
กลุ่ม เสื้อแดงแข็งแรงอยู่ได้เพราะสื่อ ถือเป็นการพัฒนาการของสื่อดาวเทียม ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปสื่อแต่อย่างใด แต่เป็นการยกระดับการรับรู้ได้ ตามวิธีของเขา เนื้อหาถูกผิดไม่รู้ แต่เป็นยุทธศาสตร์ ในสิ่งที่เป็นอยู่ เนื้อหาไม่รู้ว่าถูกผิดอย่างไร แต่สื่อเดินไปถึงเช่นนั้นแล้ว
เราต้องเข้าใจ หากมัวต้องปฏิรูปหนังสือพิมพ์ที่พิมพ์เพียงน้อยนิด ที่คิดว่า ยังมีอิทธิพล ชาวบ้านไม่ฟัง ชาวบ้านเลือกตามทิศทางที่เขาคิด ทำแบบนี้ได้ เพราะเทคโนโลยีได้พัฒนาก้าวข้ามเชิงพาณิชย์ไปแล้ว
@ สื่อต้องปฏิรูปตัวเองแล้วใช่หรือไม่
ไม่... จะต้องเป็นไปตามทางของมัน ถ้าสื่อไม่ปรับตัว ก็ต้องตาย รัฐบาลไม่ต้องมายุ่ง สื่อมีอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน ไม่ได้หมายความว่า เขาด่ารัฐบาลแล้วเป็นคนไม่ดี ไม่ใช่ แต่เขาก็มีมุมคิดของเขา มุมคิดในแง่เจ้าของสื่อ ต่อมาเจ้าของสื่อก็ต้องดูอีกว่าคนในกองบรรณาธิการมีใครถูกแทรกแซงหรือไม่ แล้วคนนั้นจะมีบทบาทในการนำพาทิศทางขององค์กรพลิกเปลี่ยนไปหรือไม่ นี่ก็ต้องไปดูกันเอาเอง
@ หน้าที่ของรัฐบาลเรื่องปฏิรูปสื่อคือ
ไม่ ใช่เรื่องรัฐบาลจะมีหน้าที่บอกปฏิรูปสื่อ หน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องทำในเรื่องนี้คือ ไปเพิ่มโอกาสและยกระดับการรับรู้ของประชาชนต่างหาก โดยใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ทำให้คนในชนบทได้มีโอกาสเหมือนคนชั้นกลาง แล้วเขาจะรู้ข่าวสารของตัวเอง จะรู้ข่าวสารอย่างเท่าเทียมกัน เขาจะสื่อสารกันเองได้ เขาจะยกระดับตัวเองโดยอัตโนมัติ และสังคมไทยก็จะยกระดับโดยตัวของเขาเอง นักการเมืองก็จะมาหลอกประชาชนไม่ได้
@ ปฏิรูปสื่อในมุม สนธิญาณ เริ่มตรงจุดไหน
ใน วิชาชีพอื่น หากจะเข้ามาทำงาน ต้องมีสถาบันผ่านการรองรับ เข้ารับการอบรม มีใบประกอบวิชาชีพ หากไม่มีใบประกอบวิชาชีพ ต้องปลดถอน ออกไป อย่างอาชีพหมอหรือทนายความ หากทำไม่ดี ต้องพิจารณา หรือการที่จะเป็นครู มีวิชาชีพครู จึงจะสอนได้
สำหรับอาชีพสื่อ ทุกวันนี้ดูเหมือนว่า สื่อเป็นผู้วิเศษ ไม่ต้องอบรม ไม่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ ขณะที่บัณฑิตสื่อสารมวลชน ที่เรียนจบมาใหม่ๆ ก็ไม่มีความรู้พื้นฐานทางเศรษฐกิจ การเมือง แต่ยังสามารถไปยืนด่านักการเมืองได้ ซึ่งการจะทำแบบนั้นได้ ต้องมีพื้นความรู้ แต่ที่ทำไปเพราะความจองหองในอาชีพที่ถูกปลูกฝังมา อยากทำอะไร สามารถทำได้ มีอิทธิพลมาก จนนำไปสู่การขาดจริยธรรมและความไม่เป็นมืออาชีพ
“ผู้สื่อข่าว หากผิดวิชาชีพ ผิดจรรยาบรรณ ร้ายแรงกว่าหมอ คนที่เป็นหมอทำผิด ทำให้คนตายเพียงคนเดียว แต่ผู้สื่อข่าวทำข่าวบิดเบือน หรือทำอะไรลงไป ที่ไม่สอดคล้องกับความจริง จะทำให้สังคมตายทั้งสังคม”
เราเป็นสื่อ เป็นผู้ทำให้สังคมขับเคลื่อนตัว เมื่อเราทำให้สังคมขับเคลื่อนตัว แต่เราไม่รู้ว่าสังคมที่ผ่านมาคืออะไร ก็เท่ากับว่าเราทำสะเปะสะปะ เหมือนเราพายเรือออกไปกันคนละทีที่ตีน้ำกันให้วุ่นวาย ซึ่งมีส่วนทำให้บ้านเมืองฉิบหายวายวอดได้
ดังนั้นการเรียนการสอนใน สถาบันการศึกษา ต้องเรียนเรื่องจิตวิญญาณในวิชาชีพ เรียนให้รู้ลึกซึ้งในประวัติศาสตร์ ไม่ ใช่แค่ความรู้เชิงเทคนิคตัดต่อ การเขียนรายงานข่าว ซึ่งต้องกำหนดเลยว่านักข่าวต้องเรียนประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก ประวัติศาสตร์การเมืองโลก ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย ประวัติศาสตร์การเมืองไทย กระบวนการทางสังคมของไทยและของโลก ต้องจำแนกออกมาเป็นรายวิชา
@ มองสื่อในวันนี้อย่างไร
สื่อ เกิดขึ้นอย่างกับดอกเห็ด สื่อตอนนี้กำลังเก็บเกี่ยวดอกผลจากคนรุ่นเก่าที่เขาสร้างมาไว้ ที่สร้างชื่อ สร้างเกียรติภูมิไว้ สำหรับคนรุ่นหลังซึ่งกำลังมาเก็บกิน เก็บเกี่ยวดอกผลแบบไม่บันยะบันยังกันอยู่ จนระเนระนาดไปหมด
เพราะ ฉะนั้นการจะอยู่รอดในวิชาชีพนี้ องค์กรของสื่อเอง องค์กรกลาง สภาวิชาชีพหรืออะไรก็ตาม จะต้องมีมาตรการที่เข้มแข็ง เด็ดขาด เอาจริง มีกฎหมายมารองรับ คนที่ทำงานอาชีพนักข่าวควรจะต้องมาผ่านสถาบัน ผ่านการอบรบ ผ่านการสอบเป็นวิชาชีพ มีการถอนใบประกอบวิชาชีพได้ ต้องทำเหมือนสภาทนายความ
“เพราะหมอรักษาคนตายยังตายคนเดียว แต่ถ้านักข่าวรายงานบิดเบือนแล้วทำให้สังคมมีปัญหาก็ตายกันทั้งสังคม นักข่าวนี้สำคัญกว่าหมออีก”
|
@ ทำไมต้องปฏิรูปสื่อ
การปฏิรูปสื่อ จริงๆ ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พูด เพราะพูดทุกครั้งที่มีปัญหาการเมือง และจริงๆ ก็ไม่เคยเกิดขึ้น ยังไม่เห็นภาพชัดเจน
หากการปฏิรูปสื่อที่เคยพูดถึงกันมาก่อนหน้า นี้ ทั้งเรื่อง กสทช. กทช. ชัดเจนว่าปฏิรูปเรื่องของโครงสร้าง ว่าทีวีทุกช่อง วิทยุทุกคลื่น รัฐบาลเป็นเจ้าของ ปฏิรูปใหม่ ให้เสรีมาขึ้น โดยให้ประชาชนเป็นเจ้าของร่วม แต่ทางด้านเนื้อหา ยังนึกไม่ออกว่า จะปฏิรูปอย่างไร ใครจะเป็นคนเริ่ม บริบทเช่นไร ยังสงสัยอยู่
การ ปฏิรูปสื่อในปัจจุบัน ไม่มีใครพูดถึง คือ การรู้เท่าทันสื่อ หากนายกประกาศว่า รัฐบาลชุดนี้จะทำเรื่องการรู้เท่าทันสื่อในรัฐบาลชุดนี้ ผมคิดว่าคนยอมรับได้ โดยครอบคลุมทั้งหมด ของทุกสื่อ เว็บไซต์ เป็นส่วนหนึ่ง สำคัญที่ความคิด ในการเชื่อ เรื่องนี้สำคัญกว่า เพราะการรู้เท่าทันสื่อ สื่อจะเลวอย่างไร ก็จะไม่สำเร็จ ประเด็นที่อยากย้ำ คือ หากจะปฏิรูปสื่อ ต้องสร้างการรู้เท่าทันสื่อแก่สังคมไทย
@ รู้เท่าทันสื่อ มีความจำเป็นอย่างไร
การ รู้เท่าทันสื่อ เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง และเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมไทย เมืองไทยไม่เคยสนใจ อย่างประเทศเยอรมนี ตั้งแต่ในโรงเรียนประถม จะให้นักเรียนเอาบทวิเคราะห์ ข่าวในหนังสือพิมพ์มาอ่าน และมานั่งวิเคราะห์ว่าอะไรเป็นข้อเท็จจริง หรือโฆษณา ต้องการอะไร ข่าวชิ้นนี้ เชื่อได้ไหม นับเป็นทักษะในชีวิตที่สำคัญมาก ซึ่งในยุคใหม่ควรปรับเรื่องการศึกษา
@ ปฏิรูปสื่อในมุมมองของคุณเทพชัย
สื่อ มีทิศทางการเดินอยู่แล้ว ด้านเนื้อหาตัวสื่อรู้ว่าจะทำอย่างไรให้เป็นสื่อที่ดี แต่ต้องมาร่วมหาคำตอบว่า การปฏิรูปสื่อกว่า 10 ปี สื่อเคยถามตัวเองหรือไม่ว่า จะปฏิรูปอย่างไร ตัวสื่อเองต้องเป็นตัวปรับที่จะปฏิรูป
ในตำรา มีการทำสื่อที่ดีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปหาวิธีปฏิรูปจากที่ใด เป็นการสอนให้ผลิตสื่ออย่างเที่ยงตรง เป็นธรรม หลักการมีอยู่แล้ว ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลที่เดินสายไปบอกให้องค์กรช่วยแก้ไข และไม่แน่ใจว่าข้อมูลที่ได้ไปจะทำได้แค่ไหน สื่อเป็นเรื่องของเอกชนของวิชาชีพ ไม่ใช่รัฐบาล หากรัฐบาลจะทำ ก็ต้องไปทำในช่องของตนเอง
@ สิ่งสำคัญในการปฏิรูปครั้งนี้
การปฏิรูปสื่อ คือ การปฏิรูปสังคมมากกว่า เพราะหากปฏิรูปตรงนี้ได้สังคมก็จะดีขึ้น เพราะสื่อเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
การ ปฏิรูปสื่อมีตั้งแต่ปี 2540 เรื่องโครงสร้าง สำหรับครั้งนี้เป็นเนื้อหา ซึ่งองค์กรสื่อเป็นตัวหลักในการควบคุม แต่อยากให้กลับมา เรื่องการรู้เท่าทันสื่อ จะดีกว่า มาปรับการทำงานของสื่อ ซึ่งหากประชาชนแยกแยะได้ หนังสือพิมพ์ที่ไม่ดี ทีวีที่ไม่ดี คนก็จะไม่บริโภคเอง แต่ตอนนี้ ตัวสังคมอ่อนแอ หากประชาชนรู้เท่าทันสื่อมากขึ้น แยกแยะเป็น สิ่งที่เป็นเรื่องด่าอย่างทุกวันนี้จะไม่เกิดขึ้น ผู้บริโภคสื่อมีภูมิต้านทาน
@ บทบาทคนไทย นักข่าว องค์กรวิชาชีพสื่อ กับการปฏิรูปสื่อ
คน ไทยในสังคมต้องมีความรู้สึกว่า สื่อไม่ใช่เรื่องของคนทำสื่อหรือนักวิชาการ แต่สื่อเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและกำหนดทิศทางของสังคม
การซื้อหรือไม่ซื้อ การดูหรือไม่ดู เป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินสื่อได้ คนดู คนฟัง มีปฏิกิริยาต่อสื่อได้ ตอนนี้เป็นเพียงด้านเดียวไม่เคยตอบโต้ เขียนจดหมาย ไปวิจารณ์แสดงความคิดเห็น ดังนั้น ต่อไปสังคมต้องเป็นส่วนหนึ่งของสื่อ ตรวจสอบการเขียนข่าวที่ไม่ได้ความ ต้องมีปฏิกิริยาออกมา
สำหรับคนที่ ทำงานในวิชาชีพสื่อ ต้องหวังว่าต่อไป การเข้ามาทำอาชีพนี้ ไม่ใช่เหมือนอาชีพทั่วไป ที่ทำงานแล้วมีเงินเดือน แต่สื่อมีภารกิจต่อสังคมด้วย
แน่นอนมี เงินเดือน แต่สังคมจะคาดหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่ง เป็นตัวแทนของสังคม ทำหลายอย่าง ตรวจสอบสังคมแทนประชาชน ให้สังคมเข้าสู่สังคมข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือมากที่สุด หากทำได้แค่นี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่มากเพียงพอ ไม่ต้องถึงขั้นต่อสู้ถึงขั้นเสียชีวิต เพียงรายงานข่าวที่รอบด้าน ก็เป็นการช่วยสังคม
ส่วนองค์กรสื่อ ก็ต้องพยายามช่วยให้นักข่าวสามารถทำงานตามจริยธรรมสื่อ ก็ถือว่าองค์กรสื่อก็ได้ทำหน้าที่เรียบร้อยแล้ว และต้องตระหนักให้มากว่าเป็นเจ้าของสื่อไม่เหมือนกับบริษัทขายสินค้าทั่วๆไป ต้องรู้ว่าสิ่งที่มีอยู่มีอำนาจต่อสังคมมากเพียงไร โดยมีวิธีการดูแลอย่างไรและสิ่งที่รายงานนั้นทำให้ชีวิตดีขึ้นแค่ไหน
@ ฝากถึงผู้บริโภคสื่อยุคนี้อย่างไร
ดีใจ ด้วยที่ได้รับสื่อมากขึ้น มีทางเลือกในการรับสื่อ แต่ต้องดูไปและคิดไปด้วย อย่าเชื่อทุกอย่างที่เห็น ควรรับสื่อและไตร่ตรองพิจารณาจากแหล่งอื่นๆ ไม่ดูจากแหล่งเดียว จะแคบและเข้าใจผิด
|
*** ติดตามอ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ "หนังสือรายงานประจำปี 2553 สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย : สื่อในวิกฤติ หรือ วิกฤติในสื่อ (Media in Crisis or Crisis in the Media)***