แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
ขอโทษ-อย่ากลัวความจริง คำขอจาก “เครือข่ายพลังบวก”
“เราทำอะไรผิดไปหรือเปล่า...รุนแรงไปหรือเปล่า...ฟังความข้างเดียวหรือเปล่า...ทำหน้าที่ของตัวเองหรือเปล่า... คิดถึงประชาชนหรือเปล่า...โกงหรือเปล่า..เอาเปรียบหรือเปล่า...ให้ปัญญาประชาชนหรือเปล่า..เสื่อมหรือเปล่า..รักเงินมากกว่าความถูกต้องหรือเปล่า...แล้วรอการช่วยเหลืออย่างเดียวหรือเปล่า...”
นี่เป็น 11 คำถามในโฆษณาชุด “ขอโทษประเทศไทย” โดยเครือข่ายพลังบวกที่ถูกคณะกรรมการเซ็นเซอร์ห้ามออกอากาศในฟรีทีวี หรือถูกแบนที่กำลังแรงเป็นกระแสอยู่ขณะนี้ โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ที่วินาทีนี้หลายคนต้องคลิกเข้าไปดูในยูทูปดอทคอม
ถึงแม้จะถูกแบนในจอกระจก แต่เวลานี้โฆษณานี้มีผู้เข้าชมไม่ต่ำกว่า 430,000 คลิกแล้ว และนี่คือคำตอบของ 11 คำถามข้างบนที่เครือข่ายพลังบวกพยายามจะบอกคนไทยทุกคน แต่ไม่มีโอกาสจะได้ออกอากาศ
“...ถ้าจะต้องมีคนผิด ก็คงเป็นเราทั้งหมดที่ผิด... ขอโทษประเทศไทย ... แล้วถ้าจะต้องแก้ไขก็คงจะต้องเป็นเราคนไทยที่ต้องลุกขึ้นมาแก้ ... จดจำความสูญเสียเอาไว้ในใจ แล้วเปลี่ยนให้เป็นพลัง.”
เพียงแค่ 11 คำถามและคำบรรยายที่กลุ่มพลังบวกพยายามจะสื่อสารออกมาในโฆษณา “ขอโทษประเทศไทย”นั้นก็อาจเกิดคำถามว่าแล้วยังไงทำไมต้องห้ามโฆษณานี้ด้วย แต่เมื่อมีภาพประกอบคำบรรยายที่กระทบใจคนไทย ที่ประมวลภาพเหตุการณ์อ่อนไหวในสังคมไทยตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาเพื่อสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น กระหน่ำภาพตั้งแต่คำถามแรกจนฉากสุดท้าย ไม่ว่าภาพเหตุการณ์เผาเมืองวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา ภาพทหารถือปืนเดินยิงใส่ประชาชน พันธมิตรฯ ชุมนุมยึดสนามบินสุวรรณภูมิ ฯลฯ
จนช่วงท้ายจบลงด้วยภาพธงชาติไทยขาดวิ่น ด้วยเหตุนี้จึงเกิดประเด็น “ห้ามออกอากาศ” ขึ้น โดยก่อนหน้านี้คณะกรรมการเซ็นเซอร์ ระบุว่า โฆษณามีภาพธงชาติไทยฉีกขาดซึ่งผิดพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 22 (4) ที่ห้ามไม่ให้แพร่ภาพสิ่งที่ทำให้เกิดความแตกแยก เสื่อมเสีย หรือความสามัคคีในหมู่ประชาชน อีกทั้งภาพในโฆษณาเข้าข่ายการนำเสนอความรุนแรงและตอกย้ำความแตกแยกในสังคม ส่วนภาพพระถูกจับกุม นักการเมืองในสภา การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งโดยมีเสียงบรรยายการรับเงิน โครงการโฮปเวลล์ ฯลฯ อาจเป็นการละเมิดสิทธิและสถานีที่ออกอากาศอาจถูกฟ้องร้องได้
ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ก.ค. คณะกรรมการเซ็นเซอร์จากทีวีช่อง 3 5 7 9 และตัวแทนจากสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย นักวิชาการนิเทศศาสตร์ ออกมาแถลงให้แก้ไขเนื้อหาโฆษณาโดยให้ตัด 6 ช็อตจำนวน 20 วินาทีออกก่อนออกอากาศ ได้แก่ ภาพเผาตึก, ภาพทหารเล็งปืนใส่ประชาชน, ภาพพระถูกจับ, ภาพชายที่ใส่กางเกงในตัวเดียว, ภาพการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อเหลืองและการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง และภาพสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยให้เหตุผลว่าภาพสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นการพาดพิงบุคคลที่ 3 อาจเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องได้
หลังจากคณะกรรมการฯ ให้ปรับแก้เนื้อหาโฆษณา “ขอโทษประเทศไทย”กว่า 80% นั้น ล่าสุดนายภาณุ อิงคะวัต ประธานเครือข่ายพลังบวกถึงขั้นออกมาเปลือยใจว่า ไม่มีโฆษณาชิ้นไหนถูกใจคนได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งสำคัญต้องโดนใจคนได้จำนวนหนึ่งในการเสนอมุมมอง ซึ่งอยากให้ทุกคนได้ดูโฆษณาชิ้นนี้ เพราะการนำเสนออีกแง่มุมหนึ่งที่คนไทยไม่ได้ย้อนมองรากของปัญหาประเทศอย่างจริงจัง
“โฆษณานี้จะสะท้อนว่าสิ่งที่เกิดที่แยกราชประสงค์นั้นแท้จริงมีสาเหตุมายาวนานและเกิดจากหลายฝ่าย ซึ่งโฆษณาชุดนี้สะท้อนความจริงแต่ไม่สามารถเปิดเผยในที่แจ้งได้ คณะกรรมการฯ อาจเข้าใจว่าคนรับสารมีความรู้น้อย แต่ในความเป็นจริงคนที่สนใจเรื่องการเมืองมีจำนวนมากมีความรู้ มีวิจารญาณพอ ซึ่งหากให้ประชาชนได้ดูหนังโฆษณาเรื่องนี้จะช่วยให้มุมมองในแต่ละเรื่อง ซึ่งทุกคนเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้ ในบทบาทเล็กๆ ที่ทุกคนอยู่ร่วมกัน”
ผู้จัดการและโฆษกเครือข่ายพลังบวกออกมายอมรับว่ากำลังเร่งแก้เนื้อหาโฆษณาชุด “ขอโทษประเทศไทย” ให้ออกอากาศได้ โดยจะมีโฆษณาชุดต่อไป คือ ชุด “อย่ามองข้ามพลังบวกในตัวคุณ” ซึ่งจะมีเนื้อหาที่อ่อนลงเพื่อลดอาการสะอึกของคนไทย โดยจะชูประเด็นว่าใครๆ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้ จะพูดถึงมวลรวมไม่ได้พูดเพียงเสื้อเหลือง-แดง หากจะพูดทั้งกระบวนการทุกสังคม เน้นการปลุกพลังบวกในตัว โดยไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง
.................................................................................
หลังจากโฆษณา “ขอโทษประเทศไทย” ตกเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ รศ.ดร.ปาริชาติ สถาปิตานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาการประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาแสดงความเห็นต่อกรณีนี้ ว่า เหตุของปัญหานี้อาจเกิดจากขาดการสื่อสารกันที่ดีพอในการสร้างความเข้าใจระหว่างผู้ผลิตโฆษณากับคณะกรรมการฯ เครือข่ายพลังบวกอาจจะไม่มีโอกาสได้อธิบายต่อคณะกรรมการฯ ว่าโฆษณานี้จะมีเป็นซีรี่ย์ต่อไปเพื่อให้เห็นว่าผู้ผลิตมีเจตนาที่ดีต่อสังคมอย่างไร คิดว่าควรจะมีการนำโฆษณาในซีรี่ย์นี้ชุดต่อไปนำเสนอแก่คณะกรรมการด้วย จะได้อธิบายเจตนาดีของเครือข่าย และไม่อยากให้ทุกคนมองเรื่องนี้ว่าเป็นการปิดกั้นสื่อ เนื่องจากเห็นว่ากรณีนี้ทั้งสองฝ่าย ทั้งตัวผู้ผลิตและคณะกรรมการเซ็นเซอร์ต่างมีเจตนาที่ดีต่อสังคม
“แนวคิดของโฆษณาชุดแรกนี้ที่ตั้งคำถามแรงๆ สะท้อนสังคม เหมือนกับแม่ที่สอนลูก ที่ตีลูกทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บบ้าง เป็นการตั้งคำถามด้วยการกระตุ้นปัญหาเพียงช็อตเดียว ซึ่งจากนี้จะต้องทำให้เห็นว่าทุกคนในสังคมจะร่วมเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ลูกที่ถูกแม่ตีแล้วแม่จะสอนอะไรต่อไปบ้าง ซึ่งจะได้เห็นว่าเหตุผลที่แม่ต้องตีลูกเพราะอะไร และทำไมต้องทำให้ลูกเจ็บและร้องไห้ด้วย
ขณะนี้ทุกคนกำลังติดอยู่กับในอดีตซึ่งเหมือนยาขม แต่ก็เป็นเรื่องที่ดี หวังว่าคนที่ทำโฆษณาและเครือข่ายพลังบวกจะไม่หมดกำลังใจเสียก่อน เหตุการณ์ครั้งนี้จึงท้าทายการทำงานของเครือข่ายพลังบวกว่าจะสามารถนำแนวคิดหลักในการคิดบวกที่เครือข่ายยึดนั้นมาใช้มองเรื่องนี้ในแง่บวกเพื่อทำงานต่อไปได้หรือไม่”
อ.ปาริชาติ บอกด้วยว่า ตรงนี้ต้องเห็นใจคณะกรรมการฯ ด้วยว่าภาพที่ปรากฎนั้นเป็นภาพข่าวซึ่งบุคคลมีตัวตนจริงอาจหมิ่นเหม่ต่อการถูกฟ้องหมิ่นประมาทบุคคลได้ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าแม้โฆษณาชุดนี้จะไม่ผ่านการเซ็นเซอร์ แต่ก็ประสบความสำเร็จในการเกิดกระแสพูดถึงอย่างมากมายแล้ว
.................................................................................
ขณะเดียวกันอีกมุมมองหนึ่งจากนักวิชาการด้านการปกครอง อย่างรศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่าการที่คณะกรรมการฯ ให้ผู้ผลิตโฆษณาชุดนี้ตัด 6 ช็อต นั้น แสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการฯ ไม่ได้ยอมรับความจริงและปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งทุกภาพที่นำเสนอมาล้วนเป็นภาพข่าวที่เกิดขึ้นจริง
“ถ้าปฏิเสธภาพความจริงเหล่านี้ แสดงว่าตกลงเราอยู่กับความจริงไม่ได้เลยหรือ โฆษณาชุดนี้ไม่ได้บอกว่าใครเป็นคนผิดด้วยซ้ำ แค่บอกว่านี่เป็นบทเรียน ดังนั้นโฆษณานี้มีเนื้อหาที่สมดุลอยู่แล้ว ไม่ได้ตอกย้ำซ้ำเติมความรุนแรงและความแตกแยก แต่เป็นเครื่องเตือนใจที่ทุกคนจะต้องมีสติ ไม่เห็นว่าโฆษณาจะมีเนื้อหาที่แรงเกินไป คิดว่าสมเหตุและผลในตัวเองอยู่แล้ว ไม่ควรต้องปรับ สิ่งที่มีปัญหาคือคณะกรรมการที่กำลังกลัวไปหมด ทำให้ประชาชนต้องหวาดกลัวต่อไปด้วย”
รศ.ดร.ไชยันต์ วิเคราะห์การทำงานของคณะกรรมการฯ ให้เห็นถึงความกลัวในทุกเรื่อง โดยความกลัวของคณะกรรมการทำให้เห็นได้ว่าบ้านเมืองวิกฤตขนาดไหน ทำให้คนในสังคมต้องตกอยู่ในความหวาดกลัวต่อไป และที่เห็นชัดเจนคือขณะนี้คณะกรรมการห่วงตนเองมากกว่า กลัวคนอื่นจะไม่พอใจการทำงานของคณะกรรมการ จึงตัดปัญหาด้วยการให้ตัด 6 ช็อตออกไปซึ่งนี่ไม่ใช่การแก้ปัญหา
ส่วนกรณีที่ระบุว่าภาพธงชาติขาดวิ่นนั้นทำให้ประชาชนคนขาดความเชื่อมั่น มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาตินั้น อ.ไชยันต์ มองว่า ภาพนี้จะยิ่งตอกย้ำทำให้คนไทยเชื่อมั่นมากขึ้น ทำให้คนไทยได้กลับมาคิดอย่างมีสติอีกครั้ง โฆษณานี้เป็นการตอกย้ำตัวปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆ ฉุดอารมณ์ให้ทุกคนรู้ตัวเพื่อให้ทุกคนได้หันนมาใส่ใจบ้านเมือง ซึ่งทุกคนมีส่วนร่วมก่อให้เกิดปัญหาทั้งสิ้น
.................................................................................
นอกจากนี้ ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมสะท้อนมุมมองต่อเหตุการณ์นี้ด้วยว่า คณะกรรมการฯ ชุดนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่ากลัวความจริง มีเจตนาปิดกั้นสื่อ ไม่ยอมรับการที่สังคมจะสามารถตรวจสอบกระบวนการปฏิบัติงานของรัฐได้ กรรมการเลือกที่จะกวาดฝุ่นเก็บไว้ใต้พรม โดยไม่เก็บกวาดให้สะอาด
“ขณะนี้สะท้อนว่าสังคมหรือผู้มีอำนาจในสังคมไม่มีวุฒิภาวะในการเผชิญกับความจริงและความขัดแย้งที่เกิดขึ้น คณะกรรมการพยายามทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และเข้าใจว่าในคณะกรรมการชุดนี้ต้องมีนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน วารสารศาสตร์ นิเทศศาสตร์ร่วมด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นอีกว่ามาตรฐานทางวิชาการด้านนี้ในสังคมไทยอยู่ในระดับใด แสดงให้เห็นว่าอยู่ในระดับมาตรฐานของประเทศที่เป็นเผด็จการที่คิดและเชื่อว่าสื่อทีวีจะหว่านล้อมคนได้ทั้งหมดทั้งที่ไม่ใช่ เพราะเวลานี้โลกออนไลน์สื่อถึงกันได้หมดแล้ว”
ส่วนที่ระบุว่าโฆษณานี้จะยิ่งตอกย้ำความขัดแย้งแตกแยกในสังคม ขัดขวางบรรยากาศการสร้างความสมานฉันท์นั้น อ.ยุกติ มีความเห็นต่างไป การสมานฉันท์นั้นต้องไม่ใช่การกลบเกลื่อน ปกปิด หรือพยายามหลงลืมความเป็นจริงที่เกิดขึ้น อ.ยุกติเห็นว่าโฆษณานี้เพียงต้องการกระตุ้นให้สังคมได้เรียนรู้ความเป็นจริงอย่างซึ่งหน้าเท่านั้น ซึ่งไม่คิดว่า 6 ช็อตที่ต้องตัดออกไปนั้นจะนำไปสู่ความขัดแย้ง เนื่องจากความขัดแย้งในอนาคตไม่มีทางมากไปกว่านี้ได้แล้ว
สำหรับคำถามว่าเนื้อหาในโฆษณานี้กระแทกใจคนไทยรุนแรงไปหรือไม่ อ.ยุกติ ยืนยันว่าสังคมไทยพร้อมจะรับอะไรที่รุนแรงกว่าเนื้อหาในโฆษณา “ขอโทษประเทศไทย” เสียด้วยซ้ำ และบอกด้วยว่า ถ้าเกิดมีคนทะเลาะกันในบ้าน ในครอบครัว มันจะไม่ผิดเพี้ยนไปกันใหญ่หรือ หากไม่มีการพยายามเรียกร้องถามหาความจริง แบบนี้ เท่ากับว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงแค่ฝันร้ายเท่านั้นหรืออย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นการกดทับความจริง ซึ่งไม่วันใดวันหนึ่งความจริงๆ เหล่านี้ก็จะต้องถูกขุดคุ้ยขึ้นมา
เหตุการณ์ในวันนี้ไม่ว่า โฆษณาชุดนี้ จะ “ขอโทษประเทศไทย” หรือ “ประจานประเทศไทย” ตามที่หลายฝ่ายในโลกออนไลน์กำลังวิพากษ์ถึงอยู่ในขณะนี้ อย่างน้อยที่สุดยอดคลิกกว่า 430,000 ครั้ง ก็ได้ทำให้เห็น “พลัง” บางอย่างที่เกิดขึ้นของคนไทยแล้วว่าจะร่วมเปลี่ยนประเทศได้อย่างไรบ้าง.
............
ร่วม “ปลุกพลังบวกเปลี่ยนประเทศไทย” กับ Positive Networks
เครือข่ายพลังบวก (Positive Networks) คือ กลุ่มคนไทยหลากอาชีพ อาทิ นักเขียน นักโฆษณา นักประชาสัมพันธ์ สื่อสารมวลชน ภาคธุรกิจ เจ้าของธุรกิจสื่อออนไลน์ นักวิชาการ ฯลฯ ได้ร่วมใจกันก่อตั้ง "เครือข่ายพลังบวก" ขึ้นเพื่อตอกย้ำจุดยืนบทบาทคนไทยในการช่วยเยียวยาสังคมหลังผ่านพ้นวิกฤตความแตกแยกเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 โดยมีจุดประสงค์หลักมุ่งกระตุ้นคนไทยเข้าใจปัญหาและเปลี่ยนอคติเป็นพลังบวกเพื่อฟื้นฟูและพัฒนา สังคมไทยให้เดินหน้าต่อไปอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ยึดแนวคิดหลักในการจุดประกายคนไทย “ปลุกพลังบวกเปลี่ยนประเทศไทย”
“เครือข่ายพลังบวก” ได้เปิดตัวเครือข่ายเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ณ สวนลุมพินี ภายใต้การนำของนักโฆษณา และนักสื่อสารมวลชน ซึ่งมีนายภาณุ อิงคะวัต นักสร้างสรรค์งานโฆษณาชื่อดัง เป็นประธานเครือข่ายพลังบวก, นายชัยประนิน วิสุทธิผล นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย เป็นรองประธานเครือข่าย ,นายปรเมศวร์ มินศิริ กรรมการผู้จัดการบริษัท บัณฑิตเซนเตอร์ จำกัด หรือเจ้าของเว็บไซต์กระปุกดอทคอม เป็นผู้จัดการเครือข่าย และมีนายพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทโชว์ไร้ขีด (Show No Limit) เป็นโฆษก
สำหรับรูปแบบกิจกรรมปลุกพลังบวกนั้น ระยะเริ่มแรกจะเน้นการสื่อสารรณรงค์ชวนสังคม “ปลุกพลังบวกในตัวคุณเปลี่ยนประเทศไทย” โดยมีแผนจะออกอากาศโฆษณาเป็นซีรี่ย์ “ต่อไปนี้ถ้าเธอพูด ฉันจะฟัง” ซึ่งโฆษณาชุดแรกที่วางแผนจะออกอากาศชื่อตอนว่า “ขอโทษประเทศไทย” ความยาว 149 วินาที มีเนื้อหาหลักเพื่อกระตุ้นให้คนไทยหันมารับฟังและทำความเข้าใจข้อเท็จจริงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นร่วมกันเพื่อรู้บทบาทหน้าที่ของตนเอง แล้วใช้พลังบวกสร้างสรรค์แนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งขณะนี้ถูกแบนไม่ให้ออกอากาศเนื่องจากเสี่ยงต่อการเกิดความแตกแยกในสังคมเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการจัดเวทีอิกไนท์ (Ignite) ซึ่งเป็นการเชิญชวนคนไทยทุกอาชีพ ไม่จำกัดอายุ ไม่ต้องเป็นนักพูดแต่มีความสนใจมาร่วมขึ้นเวทีพูดปลุกกำลังใจกระตุ้นให้เกิดการคิดบวกและทำสิ่งดีๆ ร่วมกันในสังคม รวมถึงเพื่อเป็นเวทีร่วมแลกเปลี่ยนความคิดของคนทั้งประเทศในการเปลี่ยนประเทศไทยให้น่าอยู่ ผลักดันสู่พีเพิ้ลโพล์ (People Poll) ของคนทั้งประเทศว่าอยากเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไรต่อจากนี้ เพื่อพัฒนาไปสู่โรดแมปของชาติร่วมกันจากเสียงแท้จริงของประชาชนโดยไม่ผูกติดกับรัฐบาลใดๆ เพื่อเป้าหมายระยะยาวร่วมสร้างชาติให้น่าอยู่แบบไม่ยุ่งการเมือง โดยมีแผนจะจัดเวทีอิกไนท์ทั่วประเทศตามหัวเมืองใหญ่ ในอีก 2-3 สัปดาห์หน้าที่อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จ.เชียงใหม่ จ.ขอนแก่น ตามลำดับ
การจัดเวทีอิกไนท์ครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นในวันเปิดตัวโครงการซึ่งมีผู้ร่วมพูดสร้างแรงบันดาลใจคิดบวก 21 คน เช่น ท่านเจ้าคุณพระศรีญาณโสภณ (ปิยโสภณ), นางสาวขัตติยา สวัสดิผล, รศ.ดร. ปาริชาต สถาปิตานนท์, นายดนัย จันทร์เจ้าฉาย, นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม, นายสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ (นิ้วกลม), นายทรงกลด บางยี่ขัน เป็นต้น ซึ่งโดยมีการถ่ายทอดสดผ่าน www.ignite.in.th ให้คนทั้งประเทศร่วมชม นอกจากนี้เครือข่ายพลังบวกยังมี www.facebook.com/PositiveNetwork เป็นอีกพื้นที่หนึ่งในร่วมกันปลุกพลังบวกคนไทยด้วย.