แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
"สื่อ" สตาร์ท"ปฏิรูป"ชูกลยุทธ์ "ดีดนิ้วพร้อมกัน"
ปฏิเสธไม่ได้ว่า “สื่อมวลชน” เป็นอีกอาชีพที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553 ว่า มีส่วนสำคัญนำเสนอข่าวยุยง ปลุกปั่น และเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้บาดแผลแห่งความเกลียดชัง นับวันยิ่งถ่างขยายใหญ่ขึ้นในสังคมไทย
จึงเป็นที่มาแนวคิดการปฏิรูปสื่อ ที่เกิดจากดำริของรัฐบาล 1 ใน 5 ข้อ ในแผนปรองดองซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศ มีรศ.ดร.ยุบล เบ็ญจรงค์กิจ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับหน้าเสื่อประสานงานรวบรวมข้อมูลข่าวสาร รวบรวมความคิดเห็น
เวทีสาธารณะเปิดรับฟังความคิดเห็นจัดครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ณ โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส ในหัวข้อ “เสวนาโต๊ะกลมปฏิรูปโทรทัศน์เพื่อปฏิรูปประเทศไทย” งานนี้คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ระดมความคิดเห็นของนักวิชาการและนักวิชาชีพสื่อ เพื่อร่วมกันช่วยกันคิดโจทย์ ทำไมต้องปฏิรูปสื่อ อีกทั้งร่วมกันหาทางออก.....
ในช่วงแรก รศ.ดร.ยุบล เกริ่นนำ โดยเห็นว่า ไม่ควรปฏิรูปสื่ออย่างแยกส่วน ต้องทำไปพร้อมกับการปฏิรูปประเทศไทยควบคู่กัน
“วันนี้ความเข้มแข็งของสื่อไทยไม่สมดุลกัน ซึ่งความไม่สมดุลของสื่อนี้เอง เป็นสาเหตุสำคัญอันนำไปสู่สังคมประชาธิปไตยที่ไม่แข็งแรง”
จากนั้นอธิบายแนวทางการทำงานปฏิรูปสื่อของทีมนี้ว่า เป็นเพียงการรวบรวมปัญหาและความคิดเห็นในทุกแง่มุม ทั้งจากคนสื่อเอง องค์กรวิชาชีพ นักวิชาการด้านสื่อ รวมทั้งความเห็นจากองค์กรผู้บริโภคสื่อและผู้บริโภคสื่อ
หลังจากนี้จะลงพื้นที่เปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทุกช่องทาง ตั้งแต่การสัมภาษณ์แบบเจาะลึกรายบุคคล, เปิดเวทีสาธารณะเก็บข้อมูลในชุมชน, เปิดให้แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อออนไลน์ เป็นต้น ก่อนสรุปเป็นรายงานเสนอกลับไปที่รัฐบาล
ทีมรวบรวมความคิดเห็น ศึกษาข้อมูลปัญหาการปฏิรูปสื่อชุดนี้ รศ.ดร.ยุบล ยืนยัน จะไม่มีการจัดตั้งเป็นคณะกรรมการ และคาดว่า จะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนในการรวบรวมข้อมูลทั้งหมด ขณะนี้ได้เริ่มเดินสายไปพูดคุยกับสื่อกระแสหลักบ้างแล้ว จุดหมายต่อไป พุ่งไปที่ฟรีทีวีทุกช่อง หนังสือพิมพ์รายใหญ่ องค์กรวิชาชีพสื่อ
ส่วนผลสรุปจากเวทีเปิดรับฟังความคิดเรื่องปฏิรูปสื่อครั้งแรกนี้ รศ.ดร.ยุบล รับจะนำไปเป็นส่วนหนึ่งในการหาคำตอบเรื่องการปฏิรูปสื่อร่วมกันต่อไป ทั้งประเด็นเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ยังไม่สมบูรณ์ การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานราชการ เอกชน และองค์กรธุรกิจ มีเพียงพอในการนำเสนอต่อสาธารณชนหรือไม่ การนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อสังคมที่เป็นความจริงรอบด้านแล้วหรือไม่, สื่อต้องนำเสนอปรากฏการณ์ความจริงในสถานการณ์มากกว่าการนำไมโครโฟนไปสัมภาษณ์คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย หรืออ้างเพียงความเห็นจากนักวิชาการ, การดูแลสวัสดิการในการทำงานของบุคลากรในองค์กรสื่อดีเพียงใด,ประเด็นความเป็นกลางของสื่อ ,การรู้เท่าทันสื่อ และการปฏิรูปสื่อต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงสร้างสรรค์ เป็นต้น
และในความเห็นส่วนตัว รศ.ดร.ยุบล มุ่งมั่นและอยากเห็นเรื่องการยกระดับมาตรฐานการประกอบวิชาชีพสื่อ วาดฝันการทำงานของสื่อไทยมีมาตรฐานที่เทียบเท่าสากลในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเสรีภาพ ความรับผิดชอบ การพัฒนาศักยภาพสื่อมวลชน ทั้งการพัฒนาศักยภาพในการทำงาน สวัสดิภาพ การคุ้มครองคนทำงานสื่อ
“ในแง่เจ้าของสื่อ อุตสาหกรรมสื่อต้องปฏิรูปมาใส่ใจเรื่องนี้จริงจังจริงๆ เจ้าของสื่อต้องมารับรู้ร่วมกัน ต้องมาช่วยกันคิดว่าคุณนำคนมาทำงานแล้วดูแลคนเหล่านี้อย่างไร และมีแผนพัฒนาคนเหล่านี้อย่างไรบ้าง ที่สำคัญ อยากเห็นการทำข่าวแบบเชิงสืบสวนสอบสวนมากขึ้น มากกว่าการรายงานข่าวอย่างเดียว” คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ฝากความหวังทิ้งท้าย
“บุญรักษ์” ตอกแก้ปัญหาสื่อ ถอดวิธีคิดแบบนักการเมือง
สำหรับนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนคนสำคัญคนหนึ่งของไทย รศ.ดร.บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา อดีตคณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถอดบทเรียนจากวิกฤตการณ์สื่อปี 2553 โดยสะท้อนให้เห็นว่า ที่ผ่านมามีการแก้ปัญหาสื่อแบบแยกส่วน ไม่มีการพูดถึงตัวเนื้อหาของสื่อ ประกอบกับยังมีวิธีคิดที่ผิด ไปยึดวิธีคิดแบบนักการเมือง แยกคิดเฉพาะเรื่องเล็กๆ
“ เช่น เหตุการณ์ปี 2535 ที่ปฏิรูปสื่อโดยชนชั้นกลาง จนเกิดไอทีวี มีเงื่อนไขการถือหุ้นจำกัดทำให้ล้มละลาย เกิดการแก้ปัญหาแบบง่ายๆ ที่รัฐเอาใจประชาชนที่อยากเห็นทีวีแบบใหม่ กระทั่งปี 2551 เกิดทีวีสาธารณะไทยพีบีเอส แต่ก็ยังไม่มีการปฏิรูปสื่ออย่างจริงๆ จังๆ แม้กระทั่งการรายงานข่าวของสื่อมวลชนไทย ยังมุ่งเน้นที่การแข่งขันในเชิงธุรกิจ แบ่งแยกทีมใครทีมมัน”
ปัญหาสื่อมวลชนไทย นักวิชาการด้านสื่อท่านนี้ มองว่า อยู่ที่วัฒนธรรมสื่อไทยถูกสะสมสั่งสอนมาในรูปแบบของการชวนเชื่อมาตลอด ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสื่อมวลชนในสหรัฐอเมริกา จะให้ความสำคัญกับเรื่องการห้ามดำเนินการแบบโฆษณาชวนเชื่อในประเทศเด็ดขาด
ก่อนจะตอกย้ำว่า "สื่อโทรทัศน์ที่มีพลังมากกว่าสื่อประเภทอื่นแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน"
ปัจจุบันทั่วโลกมีโทรทัศน์กว่า 4 พันล้านเครื่อง ตัวเลขปีนี้ประเทศไทยมีเครื่องรับโทรทัศน์กว่า 30-40 ล้านเครื่อง เป็นระบบโทรทัศน์ดาวเทียมจำนวนกว่า 12 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ที่มีเพียง 9 ล้านเครื่อง นี่คือ เหตุผลหลักในการทำให้ธุรกิจโทรทัศน์จานดาวเทียมเติบโตอย่างรวดเร็ว สนองความต้องการของคน ที่ชอบบริโภคข่าวการเมือง
“วันนี้ สื่อโทรทัศน์มีอิทธิพลสูงมากต่อสังคม สื่อสารมวลชนเป็นเครื่องมือในการสร้างชาติ ถ้าเราเปลี่ยนวิธีคิดในการทำงานของโทรทัศน์ไทยได้ ประเทศก็สามารถเปลี่ยนเป็นประเทศใหม่ได้เลย” รศ.ดร.บุญรักษ์ สะท้อนให้เห็นพลังของสื่อทีวีในบ้านเรา
ชูโมเดล 9 ลูกตุ้ม ปฏิรูปสื่อ
แนวคิดการปฏิรูปสื่อไทยในอุดมคติ ที่เรียกว่า โมเดลอุดมคติแบบ Media Social System ของรศ.ดร.บุญรักษ์ ได้เสนอ 9 ลูกตุ้มในการทำงานของสื่อมวลชน ซึ่งจะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างสื่อที่ดี และควรทำไปพร้อมๆ กับการปฏิรูป ได้แก่
1.องค์กรต้นสังกัดสื่อ องค์กรจัดสรรคลื่น ต้องสร้างค่านิยมที่ถูกต้องพึงปรารถนาให้สังคม
2.สร้างจุดคานงัดสื่อ ระหว่างสื่อกระแสหลักกับสื่อกระแสรองให้ทำงานแบบมีความแตกต่างแต่ไม่แตกแยก ซึ่งสื่อกระแสรองนี้กำลังสร้างปัญหากับระบบสื่อไทยเสมือนสิ่งรบกวนการสื่อสารของสื่อกระแสหลัก (noise) และเนื่องจากสื่อกระแสหลักมีอำนาจมากเกินไปที่ขณะนี้กำลังถูกท้าทายโดยโทรทัศน์ดาวเทียม
3.ระบบองค์กรวิชาชีพสื่อต้องมีมาตรฐานในจริยธรรมและเสรีภาพ
4.บุคลากรคนทำงานสื่อต้องได้ รับการพัฒนา
5.วิชาชีพสื่อต้องมีการพัฒนา พัฒนาวิชาชีพสื่อสารมวลชนไทย เสนอให้มีการดูแลสวัสดิการให้สื่อ ได้มีโอกาสพัฒนาตนเอง เช่น ให้มีเวลาพักร้อนของนักข่าวอย่างน้อย 2 เดือนต่อปี เพื่อให้นักข่าวได้มีเวลาพักและคิดพัฒนาผลงานของตน เป็นต้น
6.องค์กร เอ็นจีโอผู้บริโภคสื่อต้องสนับสนุนพัฒนาองค์กรสื่อ และหนุนภาคประชาชนให้รู้เท่าทันสื่อ
7.ส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ สู่ประชาชนอย่างจริงจัง
8.ผู้บริโภคสื่อต้องร่วมส่งเสริมให้สื่อต้องอัพเกรดตัวเอง ต้องทำให้ประชาชนในฐานะผู้สื่อบริโภคสามารถลุกขึ้นมาท้าทายตรวจสอบอำนาจสื่อได้ ไม่ใช่เข้าใจว่าสื่อแตะต้องไม่ได้
และ 9.สร้างการดุลยอำนาจระหว่างภาครัฐและภาคทุน กับอำนาจจากภาคประชาสังคมในเรื่องของสื่อ
“การปฏิรูปสื่อไทยในอุดมคตินี้ ถ้าทำได้จะเสมือนการเล่นกีฬาที่ทุกคนเคารพกติกา สุดท้ายแล้วก็ไม่มีใครสามารถนำเสื้อสีต่างๆ ไปใส่ให้ประชาชนได้ คาดว่า อนาคตอีก 30 ปี งานด้านสื่อสารมวลชนและการปฏิรูปประเทศไทยจะดีขึ้น”รศ.ดร.บุญรักษ์ กล่าวอย่างเชื่อมั่น
นักวิชาการชี้ สื่อโทรทัศน์ยังผูกติดกับนักการเมือง
เมื่อดูการทำงานของสื่อโทรทัศน์กับการเมือง: ระหว่างความจริงกับอุดมคติ รศ.ดร.กุลิสรา กฤตวรกาญจน์ คณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองว่า ปัจจุบันการตีแผ่ความจริงของสื่อโทรทัศน์ มีการใช้สำหรับการโฆษณาชวนเชื่อ และเป็นทางเลือกให้กับการเมือง กลายเป็นสื่อเลือกข้างเพื่อให้อยู่รอด ผู้นำองค์กรที่เป็นนักธุรกิจหวังผลกำไรมากกว่าความต้องการสื่อสารข่าวสารผ่านช่องทางโทรทัศน์
“ขณะนี้ นักธุรกิจเข้าสู่วงการนักการเมืองมากขึ้น โทรทัศน์จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่การเมืองเข้ามาใช้เพื่อหาผลประโยชน์ และสร้างค่านิยมใหม่ในสังคม หากย้อนกลับไปในอดีต ประชาธิปไตย คือความเท่าเทียม สื่อสารมวลชนกับการเมือง ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็น แต่ปัจจุบัน มักหลงใหลอยู่เพียงผู้ประกาศข่าว สีสัน อารมณ์ และอาจจะรู้จริงหรือไม่จริง จึงเกิดเป็นความเชื่อ ที่ผิด ผลิตข่าวเป็นท่อน ขาดสาระที่แท้จริง ทำให้การเมืองเข้าแทรกแซงได้ง่าย”
ส่วนโทรทัศน์ “สี” โทรทัศน์ดาวเทียม ช่อง ASTV ที่ประกาศชัด ทีวีสีเหลือง และ DTV ช่องสีแดง ดร.กุลิสรา ก็เห็นว่า เป็นสื่อที่ “ทิ้ง” ประชาชน ตีตัวออกห่างการทำหน้าที่ “สื่อ” ที่แท้จริง “หากปล่อยปละละเลย ไม่มีการควบคุมต่อไป จะทำให้การรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ผิดไป โดยเฉพาะหากไม่มีลูกตุ้มสำคัญมาช่วยจัดการการทำหน้าที่บิดเบือนนี้”
ไม่ต่างจาก รศ.ปิยะกุล เลาวัณย์ศิริ อดีตคณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองปัญหาเรื่องการสื่อสาร เป็นปัญหาเดิมๆ ในสิ่งแวดล้อมใหม่ โดยมีต้นเหตุ คือ มนุษย์อยู่โดยผลประโยชน์ ความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ธุรกิจ สื่อ ประชาชน รัฐ กลายเป็นสื่อไม่มีเสรีภาพ และจะแก้ไขไม่สำเร็จ หากไม่สอนให้รู้เท่าทันสื่อ เข้าใจในสิ่งที่กำลังพูด เขียน นำเสนอ และรับรู้ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นอาจารย์ ต้องรู้เท่าทันสื่อให้เร็วขึ้น
“ความห่วงใยเกินเหตุ อาจจะทำให้การปฏิรูปสื่อช้าไป ทางออกอีกอย่าง คือ ต้องให้ประชาชนได้เรียนรู้จากความจริง ทุ่มเทสร้างความเข้มแข็งกับประชาชน ต้องพูดเรื่องสื่อในโรงเรียนควบคู่กับการศึกษา สอนตั้งแต่อนุบาล จะไม่มีคนเห็นเด็กกระโดดตามสื่อไป จะได้ไม่มีการโทษสื่อ เวลาใครทำอะไรผิด” รศ.ปิยะกุล เสนอทางออก
“สื่อ” 1 ใน 2 สถาบันที่เป็นความหวัง
นอกจากความเห็นของนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์แล้ว ในสายตาศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ "เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์" มองว่า ประเทศไทยมี 2 สถาบันที่เป็นความหวัง คือ สถาบันการศึกษา และสถาบันสื่อ ดังนั้น การให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับสังคมเป็นสิ่งจำเป็น เพราะถือเป็นตัวกำหนดสังคม โดยเฉพาะโทรทัศน์ที่เป็นโหมดใหม่ของสังคมไทย ทุกคนดูแล้วเชื่อ จากวาทกรรมผู้พูดที่ปรากฏบนทีวี เป็นศาสดา กลายเป็นสร้างสังคมแห่งความเชื่อมากกว่าสังคมแห่งการคิดตรึกตรอง
“ระหว่างวิกฤตการณ์ 2-3 ปีที่ผ่านมา ความไม่เป็นธรรม สื่อมักมองด้านเดียว ต่อไปนี้ สื่อควรมีการวินิจฉัยมากขึ้น ไม่เพียงนำเสนอปากคำเพียงสองฝ่ายมาเสนอ บางเรื่องเสนอปรากฏการณ์ไม่ได้ บางเรื่องอ่อนไหว ต้องเสนอรอบคอบมากขึ้น” ศิลปินแห่งชาติ ระบุ
ความเคลื่อนไหว “กระแสปฏิรูปสื่อ”
สำหรับกระแส “ปฏิรูปสื่อ” มีความเคลื่อนไหวในหลายส่วนหลักๆ เช่น
คณะกรรมการปฏิรูปสื่อภาครัฐซึ่งมี รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธานคณะกรรมการนั้น ล่าสุด รศ.ดร.วรากรณ์ยืนยันว่าได้ทำหน้าที่เสร็จสิ้นแล้วในการเสนอข้อสรุปทั้งหมดต่อรัฐบาลเกี่ยวกับแนวทางปฏิรูปสื่อในส่วนการทำงานของสถานีโทรทัศน์ช่องเอ็นบีที, ช่อง 3 และช่อง 9 รวมถึงในส่วนของสื่อวิทยุทหาร โดยเสนอรัฐบาลแล้วตั้งแต่ช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบที่ผ่านมา และย้ำว่าได้เป็นหน้าที่หลักที่รับมอบหมายแล้วเนื่องจากคณะกรรมการฯ ชุดนี้ไม่มีอำนาจใดๆ ต่อการนำไปปฏิบัติ
ส่วนด้านรศ.ดร.ยุบล เบ็ญจรงค์กิจ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานรวบรวมปัญหาและความเห็นในการปฏิรูปสื่อ ได้เปิดฉากระดมความคิดเห็นการปฏิรูปสื่ออย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 1 ก.ค. แม้บรรยากาศในวันนั้นค่อนข้างเงียบเหงาพอสมควรจากจำนวนนักวิชาการที่มาเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น และจากจำนวนนักวิชาชีพด้วยกันเอง
ขณะเดียวกันฝ่ายองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน โดย 4 องค์กรหลัก สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ออกตัวในเรื่องนี้ชัดเจนประกาศตั้ง “คณะกรรมการพัฒนาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบสื่อมวลชน” (คพส.) ขึ้นเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ซึ่งมีกรรมการจำนวน 11 คน เพื่อระดมความคิดและหาแนวทางปฏิรูปสื่อ ภายใต้แนวคิด “ปฏิรูปสื่อภาครัฐ-พัฒนาสื่อเอกชน” ล่าสุดคพส.จะประชุมนัดแรกเพื่อหากรอบการทำงานในวันที่ 6 ก.ค.นี้
ขณะที่ฝั่งผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ ผู้ประกอบวิชาชีพในสายงานวิทยุโทรทัศน์ ได้ริเริ่มการปฏิรูปและพัฒนาเพื่อสังคมมาโดยตลอด ทำในลักษณะของการสอดแทรกภายใต้ความบันเทิง เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ นำโดย จำนรรค์ ศิริตัน หนุนภักดี นายกสมาพันธ์ ออกโรงแถลงข่าวเรื่อง ''การปฏิรูปสื่อในความเห็นนักวิชาชีพ'' พร้อมแสดงจุดยืน เห็นด้วยกับแนวทางภาครัฐในการปฏิรูปสื่อ แต่ต้องการความมีอิสระในการปฏิรูปตัวเองของผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ อีกทั้งรู้สึกเป็นกังวลหากจะมีการปฏิรูปโดยผู้อื่นที่ไม่ได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์
อีกฟากหนึ่งกระแสปฏิรูปสื่อในภาคประชาชนนั้น ล่าสุดมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมร่วมกับสสส. กำลังจะจัดระดมความเห็นเรื่องนี้ภายใต้แนวคิดหลัก “ปฏิรูปสื่อ...ประชาชน...สู่...ปฏิรูปประเทศไทย” ในวันที่ 9 ก.ค.นี้ โดยเน้นการพัฒนาสื่อภาคประชาชน เช่น วิทยุชุมชน สื่ออินเตอร์เน็ต เป็นต้น
เกาะความเคลื่อนไหว “กระแสปฏิรูปสื่อ”