แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
Peace Journalism สิ่งที่สื่อทีวีขาดหายไป
แม้การเจรจาแก้วิกฤติการเมือง 2 วัน ระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับแกนนำม็อบเสื้อแดง จะจบลงแบบที่หลายคนไม่ค่อยประทับใจ เพราะยังปลดล็อกวิกฤติการเมืองไม่ได้ แต่ก็ต้องบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ที่มีการเจรจาระหว่างหัวหน้ารัฐบาลกับคณะผู้นำในการชุมนุม ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ
ขณะที่ก่อนหน้านี้การนำเสนอข่าวสถานการณ์การชุมนุมของสื่อมวลชนไทย ถูกจับตามองเป็นพิเศษ บ้างก็ว่าสื่อกำลังเลือกข้าง นำเสนอข่าวเอนเอียง และไม่เป็นจริง รวมทั้งมุ่งไปสู่การก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง อีกทั้งยังมีการเปิดพื้นที่ในปริมาณไม่สมดุล
โครงการศึกษาเฝ้าระวังสื่อและพัฒนาการรู้เท่าทันสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม(Media monitor) ทำการศึกษาการเฝ้าระวังการรายงานข่าวของสื่อในสถานการณ์ชุมนุมในช่วงระยะวันที่ 12-15 มีนาคม 2553 และ 21-23 มีนาคม 2553 เฉพาะกลุ่มรายการข่าว จากสถานีโทรทัศน์ 24 ชั่วโมง จำนวน 10 ช่องจากฟรีทีวีและเคเบิลทีวี สามารถตอบโจทย์สื่อมวลชนปิดตาข้างหนึ่งจริงหรือไม่ ได้เป็นอย่างดี
มีเดียมอนิเตอร์ พบว่า การให้ความสำคัญและประเด็นการนำเสนอข่าวการชุมนุม แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ให้พื้นที่ข่าวปานกลางและประเด็นข่าวเหตุการณ์ ได้แก่ ช่อง 3 , 5 , 7, 9 และ 2. กลุ่มที่ให้พื้นที่ข่าวมากและเป็นประเด็นเชิงวิเคราะห์ เชิงลึก ได้แก่ ช่อง 11 ,ทีวีไทย ,ทีเอ็นเอ็น ,เอเอสทีวี นอกจากนั้นยังมีช่องที่ไม่เน้นการนำเสนอข่าว แต่เน้นการถ่ายทอดสถานการณ์การชุมนุมเพียงอย่างเดียว คือ ดีสเตชั่น
ฟรีทีวีเสนอสถานการณ์มากกว่าหาทางออก
นายธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการ โครงการศึกษาเฝ้าระวังสื่อและพัฒนาการรู้เท่าทันสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม บอกถึงผลการศึกษาจากการเฝ้าระวังติดตามการนำเสนอข่าวตลอด 24 ชั่วโมง โดยจำแนกการทำงานของแต่ละช่องให้เห็นดังนี้
ช่อง 3 เน้นนำเสนอบรรยากาศการชุมนุม การเคลื่อนพล เรื่องราวแนวโน้มที่จะทำให้เกิดความรุนแรง สภาพจราจร ภาพได้มาจากกล้องวงจรปิด แหล่งข่าวจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ นำเสนอข่าวโดยการสรุปข่าวเองของผู้สื่อข่าว ไม่ปล่อยเสียงปราศรัยจริงจากเวทีชุมนุม ไม่นำเสนอทางออกของความขัดแย้ง มีเพียงแนวทางการทำงานแบบสันติวิธี จะมีผังโครงสร้างรายการตายตัว ไม่ปรับเปลี่ยน
ช่อง 5 นำเสนอข่าวการชุมนุมในปริมาณน้อยที่สุด รายการต่างๆยังดำเนินการตามปกติ แหล่งข่าวเน้นไปที่เจ้าหน้าที่ของรัฐมาก แต่ยังปรากฏพื้นที่ในการนำเสนอเสียงความคิดเห็นจากประชาชนกลุ่มสาธารณะ
ช่อง 7 เพิ่มทางเลือกให้ผู้ชมเกาะติดสถานการณ์จากเว็บไซต์ แบบเกาะติดสถานการณ์ แต่ใช้ภาพจากกล้องวงจรปิด เน้นการทำข่าวเชิงเฝ้ารับ ให้น้ำหนัก 2 ฝ่ายใกล้เคียงกัน ส่วนการรายงานข่าวจะยังมีการใช้บทสคริป ภาษาสวยงาม เพราะสไตล์การรายงานข่าวของช่อง 7 ยังคงรูปแบบพื้นฐาน ไม่มีการเสนอความเห็นแทรกใส่แบบรายการคุยข่าว
ช่อง 9 มีความรวดเร็วพอสมควร แต่ข่าวมุ่งไปที่การจราจร การท่องเที่ยว ยังขาดมิติด้านอื่น เนื่องด้วยผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ เป็นกระทรวงการคลัง แต่พื้นที่ข่าวของทั้ง 2 ฝ่าย มีน้ำหนักเท่ากัน แต่สิ่งที่ขาด คือ การนำเสนอพื้นที่ของกลุ่มนักวิชาการ การทำสกู๊ปทางการเมือง
นายธาม วิเคราะห์การนำเสนอข่าวของกลุ่มฟรีทีวี ว่า มีรายได้หลักมาจากค่าโฆษณา อีกทั้งมีโครงสร้างการบริหารจากองค์กรเอกชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงทำให้ยังมีขาดการนำเสนอเชิงลึก วิเคราะห์ข่าว สกู๊ปข่าว หรือรายงานพิเศษ แผนผังรายการยังดำเนินไปเป็นปกติ เน้นเฝ้าระวังสถานการณ์ทั่วไปที่กำลังอยู่ในกระแส เพื่อเรียกความสนใจและเรตติ้งจากผู้ชมมากกว่าการนำเสนอข้อมูลข่าวสารครอบคลุมทุกด้าน
ทีวีไทย ครองแชมป์ความเป็นกลาง
สำหรับช่อง 11 และทีวีไทย บทบาทในการนำเสนอข่าวมีความหลากหลายเพิ่มขึ้น เน้นเสนอสื่อเชิงลึก การวิเคราะห์ข่าว และเปิดพื้นที่ในการเสนอความคิดเห็น โดยช่องทีวีไทย ครองแชมป์ความเป็นกลางในการนำเสนอข่าวสาร และให้ความสำคัญกับแหล่งข่าวจากผู้เห็นเหตุการณ์จริง มากกว่าเสียงเรียกร้องจากเสื้อแดงและท่าทีการทำงานของรัฐบาลที่ถูกเรียกว่าเป็นฝ่ายเสื้อเหลือง
ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการ โครงการมีเดียมอนิเตอร์ กล่าวว่า ช่องทีวีไทย เป็นช่องที่เปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่าย เสนอข่าวสารในปริมาณที่เท่าเทียมมากที่สุด ผังรายการยังคงดำเนินการตามปกติ แต่เนื้อหาของรายการเพิ่มมิติทางการเมืองให้เห็นในอีกมุมของสังคม ผ่านสารคดี และรายการเชิงสร้างสรรค์ อีกทั้งมีเรื่องราวของสำนักข่าวต่างประเทศ ท่าทีพรรคร่วมรัฐบาล เสนอในมุมสันติภาพ โดยไม่ใช้คำถามชักนำไปสู่การเกิดสงคราม
“โดยเฉพาะช่อง 11 ที่เป็นสื่อของรัฐบาล สื่อที่ถูกกำหนดบทบาทว่าต้องเป็นกลางในการนำเสนอข่าวสารที่เป็นกลาง ทั้งภาครัฐและประชาชน แต่กลายเป็นสื่อที่เสนอข้อมูลจากฝ่ายรัฐบาลเพื่อออกมาตอบโต้และเสนอทัศนะ ท่าทีต่างๆ จนกลายเป็นสถานีข่าวเพื่อนำเสนอข่าวสันติภาพเฉพาะช่วงกลางวัน และนำเสนอข่าวเชิงสงครามในเวลากลางคืน จากรายการข่าวที่มีการเชิญเอานักวิชาการ ที่เอียงข้างไปฝ่ายรัฐบาลยุคนี้เป็นพิเศษ”
เคเบิลทีวี เน้นแนวทางเสนอข่าวจากโครงสร้างผู้บริหาร
เมื่อมาเฝ้าดูการนำเสนอข่าวกลุ่มเคเบิลทีวี สถานีข่าว 24 ชั่วโมง อย่างเนชั่นแชนแนล และ ทีเอ็นเอ็น มุ่งเสนอข่าวในทิศทางที่คล้ายกัน คือ เน้นเสนอผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เกาะติดสถานการณ์การทุกช่วงเวลา โดยเนชั่นแชนแนลจะสามารถเกาะติดทักษิณได้อย่างรวดเร็ว และใช้นักข่าวเป็นตัวกลางเสนอข่าวผ่านทวิตเตอร์ และ ตั้งคำถามเพื่อสืบหาข้อเท็จจริง
ขณะเดียวกัน ที่สื่อนำเกาะติดสถานการณ์การชุมนุม อีก 2 สื่อที่ถูกขนานนามว่า สื่อเลือกสี และเป็นช่องทางการเมือง เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของฝ่ายตน ให้แก่กลุ่มที่มีความเห็นทางการเมืองอย่างสุดโต่ง โดยเน้นหลักการโจมตีข้อมูลของฝ่ายตรงกันข้าม
“ดี สเตชั่น สถานีข่าวของกลุ่ม นปช. นำเสนอข่าวที่โจมตีฝ่ายรัฐบาล การทำงานของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พันธมิตรฯ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ อำมาตย์ ใช้เสียงปราศรัยจากแกนนำและการถ่ายทอดสดบรรยากาศการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง โดยไม่มีการนำเสนอข่าวอื่น และทำสกู๊ปข่าวเพิ่มเติม” นายธาม นำเสนอให้เห็นภาพ และว่า เอเอสทีวี นำเสนอข่าวด้านลบของกลุ่มเสื้อแดง รัฐบาลทักษิณ เปิดพื้นที่ข่าวแก่คณะรัฐบาลและนักวิชาการที่เข้าข้างฝ่ายพันธมิตรฯ และบอกถึงการฝักใฝ่ฝ่ายโดยชัดเจน
และเพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ให้สื่อมีความรับผิดชอบ มีเสรีภาพการทำงานอย่างอิสระ และช่วยก่อให้เกิดความสมานฉันท์ในการรายงานนั้น โครงการมีเดียมอนิเตอร์ ได้เสนอการทำงนของสื่อ ดังต่อไปนี้ 1.ควรให้ความสำคัญกับการรายงานข่าวเหตุการณ์ชุมนุมในสัดส่วนพื้นที่เหมาะสม 2. สื่อควรเน้นการรายงานข่าวเชิงลึก มากกว่าการเฝ้าระวัง 3. เพิ่มน้ำหนักการสร้างความสมดุลของแหล่งข่าว 4. ควรเสนอข่าวเชิงสร้างสรรค์และปราศจากอคติ 5.ไม่เสนอภาพข่าว ภาษาที่มีความรุนแรง ซ้ำไปมาเพื่อก่อให้เกิดการชี้นำไปในด้านความรุนแรง 6. สื่อควรตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนนำเสนอข่าว ตระหนักในผลกระทบที่จะสร้างความแตกแยก
7. เน้นการรายงานข่าวเชิงสันติภาพ (Peace Journalism) หลีกเลี่ยงการตราหน้าว่าเป็นคนดีหรือผู้ร้าย, ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชัดเจน, ใช้ภาษาเป็นกลางไม่แสดงอารมณ์ความรู้สึก หลีกเลี่ยงคำที่แสดงอารมณ์เกินจริง, เน้นแนวทางประนีประนอมทั้ง 2 ฝ่าย เป็นต้น และ 8.สื่อควรคำนึงถึงบทบาทและหน้าที่ของตนในการรายงานข่าว ตามหลักจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อมวลชน
สื่อกับวิกฤตการเมือง
ด้านนายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ อดีตเลขาธิการสมาคมนักข่าวและหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มองว่า จากนี้ไป สื่อต้องมีบทบาทร่วมกัน แสดงความรับผิดชอบต่อประเทศไทย นำเสนอข่าวสารโดยการเปิดพื้นที่สาธารณะเพื่อสร้างพื้นที่เหตุผลร่วมกันอย่างเท่าเทียม
“สื่อมวลชนไทยกำลังทำหน้าที่ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้ง ข้อมูลจะเกิดอยู่ตลอดเวลา จึงต้องนำเสนอข่าวรอบด้าน เป็นธรรม ปราศอคติ เพราะในพื้นที่ของทั้งสองครั้งจากพันธมิตรฯ และ นปช.เป็นเวทีการต่อสู่ทางการเมือง มีทั้งข้อมูลที่ชวนเชื่อ และมีข้อมูลที่โคมลอย นักข่าวที่อยู่ในสนามน้อยมากที่จะนำมาเขียนข่าวทั้งหมด ดังนั้น การทำข่าวขัดแย้งจึงต้องระมัดระวังในการนำเสนอ”
ส่วนนายสุเทพ วิไลเลิศ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ กล่าวว่า แนวปฏิบัติการทำข่าวของสื่อ มุ่งไปที่เนื้อหาที่ขาดได้ คนติดตามชม แต่ต้องตระหนักว่าการสร้างข่าวในเชิงที่ดี นั้นเป็นอย่างไร และการใช้แนวคิดว่า สื่อทีวีควรมุ่งเน้นข่าวเพื่อสันติภาพ หรือนำเสนอไปเพื่อช่วยลดความขัดแย้ง ทำให้เกิดข้อมูลทั้งสองด้าน รวมไปถึง สื่อจากทั้ง 2 สี คือ เอเอสทีวีและดีสเตชั่น ก็ควรมุ่งเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นกลาง มีความยุติธรรม มิใช่ใช้สื่อไปในทางที่ปิด ด้านที่เป็นศัตรูทางความคิดกันอย่างโจ่งแจ้ง มุ่งเน้นเพียงการนำเสนอเรื่องราวให้ฝ่ายของตนถูกต้องมากที่สุด โดยไม่คำนึงถึงจรรยาบรรณด้านวิชาชีพที่พึงมี
“หากเหตุการณ์ปกติ และมีความคลี่คลายลง ควรต้องถึงเวลาที่ต้องนำเสนอถึงข้อมูลที่หลากหลาย ความคิดเห็นที่เป็นกลางให้พื้นที่ถกเถียงกัน โดยใช้สื่อรัฐมากขึ้น ขณะที่รัฐบาลต้องถอยความคิด ปรับว่านี่เป็นสื่อของรัฐ ที่จะให้เป็นพื้นที่ของรัฐในการเข้ามาพูดคุย ให้ฝ่ายต่างๆมาใช้พื้นที่ในสื่อของรัฐมากขึ้น”