แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
จินตนาการปฏิรูปสื่อ ยุค 2020
ลองนึกภาพย้อนหลังกลับไป 10 ปีที่แล้วมีเหตุการณ์บางอย่างที่เราไม่คิดว่าวันนี้จะเกิดขึ้น 10 ปีที่แล้วแม้จะมีโทรศัพท์มือถือใช้ แต่ก็เทียบไม่ได้กับไอโฟน แบล็กเบอรี่ (BlackBerry) ยุคปัจจุบัน
ส่วนหนังสือพิมพ์โดยเฉพาะฉบับสุดสัปดาห์รูปเล่มที่มีความหนา อัดแน่นด้วยข้อมูลมากมายสำหรับคนที่อยู่กับบ้านในวันหยุด ถึงวันนี้หดเหลือฉบับแท็บลอยด์ จากหนามากๆ เหลือบางนิดเดียว ขณะที่วิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ บริโภคข่าวสารทุกๆนาที ผ่านคอมพิวเตอร์ และมือถือ
จินตนาการปฏิรูปสื่อในทศวรรษหน้า สื่อไทยและสื่อระบบโลกจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ ภาพยนตร์ วิทยุโทรทัศน์ และอินเทอร์เน็ต
ยุคทองสื่อสิ่งพิมพ์ผ่านไปแล้วแต่ยังไม่ตาย
เริ่มต้นที่อนาคตวารสารศาสตร์และหนังสือพิมพ์ในทศวรรษหน้า อาจารย์พรรษาสิริ กุหลาบ จากภาควิชาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ด้วยข้อจำกัดของการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ยังไม่กระจายไปยังส่วนต่างๆ ของประเทศ ทำให้สื่อสิ่งพิมพ์จะยังคงอยู่ในสังคมไทยต่อไปได้อีก เนื่องจากยังมีผู้อ่านจำนวนหนึ่งนิยมเสพข่าวจากหนังสือพิมพ์ แต่อาจจะไม่ขยายตัวมากเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ขณะที่องค์กรสื่อขนาดใหญ่ จะอยู่ได้เนื่องจากมีช่องทางการนำเสนออื่นๆ เช่น เว็บไซต์ ส่วนองค์กรสื่อขนาดเล็กและขนาดกลางจะลดน้อยลงไป ตรงกันข้ามกับสื่อภาคประชาชน ภาคท้องถิ่นจะมีเพิ่มมากขึ้นด้วยต้นทุนการผลิตถูกลง
“สื่อสิ่งพิมพ์จะอยู่ได้ต้องมีการนำเสนอเนื้อหาข้อมูลที่มีการวิเคราะห์เจาะลึกเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือขององค์กร สร้างความแตกต่างจากช่องทางการสื่อสารอื่น ขณะที่นิตยสารจะอยู่รอดได้ต้องเน้นด้านสุนทรียภาพ ใช้ภาพออกแบบศิลป์เข้าช่วย สร้างอัตลักษณ์ของคนอ่าน และต้องสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนอ่านบนโลกไซเบอร์ให้มากกว่านี้”
เคยมีผู้เปรียบอำนาจของสื่อสิ่งพิมพ์ เสมือนนายประตูข่าวสารและผู้กำหนดวาระทางสังคม อาจารย์พรรษาสิริ ให้ความเห็นผ่านผลงานศึกษา โดยระบุว่า อีก 10 ปี จะมีผู้เล่นหน้าใหม่ๆ กระโดดขึ้นมาบนเวทีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของภาคประชาชนซึ่งสิ่งนี้จะไปลดทอนอำนาจสื่อสิ่งพิมพ์ในการเป็นผู้คัดเลือก และกำหนดวาระข่าวสาร
สอดคล้องกับความเห็นของผศ.ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ที่มองว่า ยุคทองของสื่อสิ่งพิมพ์ได้ผ่านไปแล้ว แต่ยังไม่ตาย ยังมีการดำรงอยู่ในวงจำกัดที่เล็กลงเรื่อยๆ อีก 10 ปีคนรุ่นอ่านหนังสือพิมพ์เป็นเล่มเป็นฉบับที่พิมพ์ออกมาจะค่อยๆ หดตัวน้อยลงไป
“ไม่ควรไปตกใจหรือกังวลคนจะเลิกอ่านหนังสือพิมพ์ เพราะยังชื่นใจได้ ตราบใดที่คนเลิกอ่านหนังสือเล่ม แล้วหันไปอ่านมอนิเตอร์ มือถือแทน เท่ากับว่าวัฒนธรรมการอ่านยังมีอยู่ เพียงแต่การพิมพ์อาจจะน้อยลง” คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ให้แง่คิดด้านบวก และชี้ให้เห็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นสำหรับสื่อสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะเรื่องรายได้ที่ลดลงจากการที่โฆษณาเคลื่อนย้ายไปลงตามช่องทางสื่อใหม่ที่เจาะสู่กลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนมากกว่า
ผศ.ดร.อัศวิน กล่าวว่า หัวใจของสื่อสิ่งพิมพ์ คือเรื่องของความคิดและการเล่าเรื่อง คนอ่านอ่านแล้วได้ความคิดได้ทราบเรื่องราวต่างๆที่เกิด ฉะนั้นตราบใดที่ยังทำหน้าที่เหล่านี้วารสารศาสตร์จะยังอยู่ต่อไปได้ แม้จะไม่อยู่ในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นรูปเล่มก็ตาม
อีก3ปี DVD กลายเป็นของเก่า-ล้าสมัย
สำหรับหนังหรือภาพยนตร์ หลายคนคงเคยได้ยินมานานหลายๆ ครั้งว่า “ภาพยนตร์ตายแล้ว หนังไทยตายแล้ว ตายแน่ๆ” แต่ในความเป็นจริงจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ นายสัณห์ชัย โชติรสเศรณี มูลนิธิหนังไทย ฉายให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีภาพยนตร์ในอนาคต เริ่มตั้งแต่ระบบดิจิตอลจะเข้ามาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มีการส่งข้อมูลทางดาวเทียมแทนที่ใช้ฟิล์มหรือเทป และเมื่อระบบนี้มีความสมบูรณ์โรงภาพยนตร์จะมีการจัดกิจกรรมอย่างอื่นเข้ามาเสริม เช่น การจัดคอนเสิร์ต ถ่ายทอดสด การประกาศรางวัล การแสดงต่างๆ เป็นต้น
นักวิชาการด้านภาพยนตร์ เผยว่า แม้ระบบดิจิตอลจะสามารถลดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ แต่ระบบดิจิตอลก็มีข้อเสียเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นไฟล์ของระบบนี้ไม่ค่อยเสถียร อีกทั้งมีปัญหาเรื่องการจัดเก็บ ดังนั้นจึงต้องมีการคิดหาวิธีแก้ไขอีกครั้ง ขณะที่เทคโนโลยีด้านที่นั่งแบบ D-Box เป็นที่นั่งแบบเคลื่อนไหวและสั่นสะเทือนไปตามภาพบนจอภาพยนตร์จะกลายเป็นของเล่นชิ้นใหม่ของคนดูหนัง
ส่วนเครื่องเล่นระบบ Blu-ray disc จะเข้ามาแทนระบบ DVDในเมืองไทย อีก 3 ปี จะเห็นชัด DVD กลายเป็นของเก่า ล้าสมัย เหตุที่เครื่องดู Blu - ray disc แพร่หลายเนื่องจากราคาจะถูกลง ประกอบกับคุณสมบัติความละเอียดชัดเจนของภาพและการบรรจุข้อมูลที่มีมากกว่า
นอกจากนี้ นายสัณห์ชัย ยังเห็นว่า การใช้อินเทอร์เน็ตในการประชาสัมพันธ์หนังโดยตรงสู่กลุ่มเป้าหมายจะมีมากขึ้น 10 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมหนังไทยยังคงมีการผูกขาด ส่วนหนังแนวผีและหนังตลกจะครองความนิยมอยู่ หนังแนวแอคชั่นก็จะเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากต่างประเทศหันมาทำหนังแนวต่อสู้ด้วยมือเปล่า ทำให้หนังไทยแนวนี้จึงต้องเปลี่ยนแปลงหาจุดขายของตัวเอง ขณะที่หนังไทยอิงประวัติศาสตร์เชิดชูศาสนาชาติจะมีเพิ่มขึ้นและการโฆษณาแฝงก็ยังจะมี และแนบเนียนขึ้นเช่นกัน
“ความยาวของหนังจะสั้นลง หนังจะออกฉายในหลายสื่อ นอกจากฉายในโรงภาพยนตร์ ภาพยนตร์ทางเลือกจะเป็นรูปเป็นร่างเข้าฉายและจำหน่ายในรูปแบบดีวีดีได้ มีผู้ผลิตมากขึ้น”นายสัณห์ชัย บอก พร้อมทั้งเสนอว่า หากเรื่องของการวิจารณ์ภาพยนตร์มีเพิ่มขึ้นก็จะมีส่วนช่วยให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์มีแนวคิดที่หลากหลายและก้าวหน้า รวมทั้งควรจะปล่อยให้มีการควบคุมกันเองในวงการวิชาชีพและสนับสนุนการตรวจสอบจากภาคประชาชน โดยต้องสนับสนุนภาพยนตร์ในฐานะเป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรมมากกว่าเป็นเครื่องมือทางธุรกิจ และมีการสนับสนุนการศึกษาทางด้านภาพยนตร์ด้วย
ระบบสัมปทานสื่อ10ปี สิ้นสุดลง?
มาถึงอนาคต “สื่อวิทยุ-โทรทัศน์ ในทศวรรษหน้า” ในสายตา น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) เห็นว่า ความตื่นตัวของประชาชนในการใช้สื่อจะสูงขึ้นมาก คลื่นความถี่ถูกเปิดเสรีเต็มที่ ถูกใช้เต็มที่แทบจะทุกตำบลของประเทศไทย ขณะที่การกระจายความเป็นเจ้าของคลื่นกว้างขวาง ประชาชนมีสื่อกระจายเสียงจำนวนมากให้รับจนเกิดภาวะสื่อสามเส้าคานดุลกันมากกว่าในอดีต
“สื่อกระจายเสียงมีส่วนสนับสนุนการเติบโตทางการเมืองสูง ตามมาด้วยจุดอ่อนมากมาย ขณะที่สื่อที่เกิดขึ้นใหม่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองสร้างความเกลียดชัง ท้าทายระเบียบสังคมในระดับหนึ่ง และเมื่อสื่อกระจายเสียงมีความเป็นธุรกิจสูงเน้นให้ความบันเทิงจึงมีการลดความสำคัญด้านเนื้อหาสาระที่จำเป็นลง ส่วนสื่อการเมืองทำให้ประชาชนแบ่งขั้วเลือกข้างแยกการรับฟังชัดเจนมากยิ่งขึ้น”
คณะกรรมการคปส. เห็นว่า ความขัดแย้งทางการเมืองจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสื่อไทยที่สร้างสรรค์มากขึ้น การพัฒนาไปสู่ระบบดิจิตอลจะช่วยให้การเข้าถึงและการเป็นเจ้าของสื่อกระจายเสียงมีความหลากหลายกระจายตัว คนเข้าถึงได้มากโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีองค์กรที่กำกับดูแลเกิดขึ้น อย่างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติช่วยให้การเริ่มต้นนับหนึ่งของการปฏิรูปโครงสร้างสื่อเป็นไปได้ มีการส่งเสริมสื่อชุมชน สื่อสาธารณะ การปิดกั้นข้อมูลข่าวสารและสิทธิเสรีภาพทำได้น้อยลง
ทั้งนี้ น.ส.สุภิญญา เชื่อว่า 10 ปีข้างหน้า ระบบสัมปทานในประเทศไทยจะสิ้นสุดลง และสร้างเงื่อนไขใหม่ๆได้ พร้อมมองว่า องค์กรกำกับดูแลสื่อจะเป็นเจ้าภาพในการส่งเสริมสื่อชุมชน สื่อสาธารณะ ขณะเดียวกันการพัฒนาของเทคโนโลยีจะทำให้คนไร้สิทธิ์ไร้เสียง เช่นคนพิการ เข้าถึงสื่อได้มากขึ้น การปิดกั้น-ข้อมูลข่าวสารและสิทธิเสรีภาพทำได้น้อยลง
เมื่อพูดถึงความเสี่ยงสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ ในทศวรรษหน้า นักกิจกรรมทางสังคมด้านการปฏิรูปสื่อ ไล่เรียงจากที่ได้ศึกษาออกมาให้เห็นถึง 17 ข้อ ตั้งแต่การไร้องค์กรกำกับดูแลอย่างยาวนานทำให้การกำกับอย่างเป็นระบบที่จะเกิดขึ้นโดย กสช. จะเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น, การผูกขาดโครงข่ายการสื่อสารจะเป็นปัญหา, ระบบอำนาจนิยมอุปถัมภ์ ทุนนิยมอภิสิทธิ์ 10 ปีข้างหน้าจะยังคงไม่หายไป ยิ่งสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งมากขึ้น, การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะส่งผลต่อการทำงานสื่อสูงมาก, การพัฒนาบุคลากรที่มีความเท่าทันสื่อ และมีศักยภาพไม่ทันกับเทคโนโลยีและตลาด, สื่อจะทำให้คนเลือกข้างมากขึ้น รวมทั้ง เด็กและเยาวชนจะประสบปัญหาการเลือกรับสื่อหากผู้ปกครองไม่ออกแบบการใช้สื่อของลูกหลานให้ดี เป็นต้น
เทคโนโลยีก้าวกระโดดเสียบปั๊กใช้เน็ตได้
สุดท้าย หลายคนจินตนาการอยากเห็นอินเทอร์เน็ตจะได้รับความนิยมแพร่หลายจนเป็นเหมือนสาธารณูปโภค จินตนาการอินเทอร์เน็ตในทศวรรษหน้า ของดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้อำนวยการวิจัยเศรษฐกิจยุคสารสนเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) บอกว่า อินเทอร์เน็ตจะแพร่หลายไปเรื่อยๆ ซึ่งจะแพร่หลายจะไปถึงได้ถ้าเกิด Inernet on Power line หรือเทคโนโลยีการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านสายไฟฟ้าเกิดขึ้น สามารถเข้าถึงทุกครัวเรือน หากตรงนี้ประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ ก็จะทำให้เทคโนโลยีก้าวกระโดดแน่นอน
ขณะที่ช่องว่างเรื่องภาษากับการใช้อินเทอร์เน็ตก็ยังไม่หมดไป “การที่เราเห็น แปลข้อความ หน้าเว็บไซต์กูเกิล นั้นก็ยัง แปลแบบใช้การไม่ได้ การที่จะหวังให้เทคโนโลยีทำเรื่องแบบนี้ ยังไม่เกิดขึ้นเร็ว สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยที่ทำให้คนไทยจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้”
ดร.สมเกียรติ เปรียบการใช้และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เหมือนการสังเคราะห์วัตถุดิบที่มีประโยชน์มาปรุงอาหารใหม่ ที่ทำอย่างไรให้อร่อยมากขึ้นมีคุณค่ามากขึ้น พร้อมตั้งคำถามว่า เมื่ออินเทอร์เน็ตไปถึงบ้าน รถไฟฟ้าไปหาคุณแล้วจะใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ "การใช้อินเทอร์เน็ต ( internet literacy) ไม่ใช่เรื่องยาก หลายคนใช้ได้โดยไม่รู้ตัว เด็กใช้กันเป็น เรื่องยากอยู่ที่ภาษา และนำความรู้ไปใช้ (information literacy) เป็นเรื่องยากกว่า"
ทั้งหมดนี้ทำให้เราเห็นโฉมหน้าการแพร่หลายของอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยทศวรรษหน้า จนสามารถต่อจิ๊กซอว์และเห็นภาพตลาดสื่อดั่งเดิม อย่างหนังสือพิมพ์จะอยู่ได้หรือไม่