แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
เส้นทางสู่สังคมอุดมปัญญา กับเหยื่อ‘ลือผ่านจอ’ 24 ล้านคน
ในแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร ฉบับที่ 2 (2552-2556 ) ที่เร่งผลักดันให้ประเทศไทยเป็นสังคมอุดมปัญญาด้วยไอซีที หรือ Smart Thailand ตั้งเป้า ประชาชนอย่างน้อยร้อยละ 50 เข้าถึงไอซีทีได้อย่างมีวิจารณญาณ ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจพบ ปี 2551 มีประชาชนแค่ร้อยละ 8 ที่เข้าถึงและรู้ว่าตัวเองต้องการใช้อะไรในอินเทอร์เน็ต รู้วิธีค้นข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน
ท่ามกลางความแตกแยกของคนในสังคม ส่วนหนึ่งเกิดมาจากความเหลื่อมล้ำทางข้อมูลข่าวสาร แน่นอนว่า วิสัยทัศน์ Smart Thailand กับพันธกิจพัฒนาคนให้มีความสามารถในการใช้สารสนเทศอย่างมีวิจารณญาณและรู้เท่าทัน กลายเป็นสิ่งที่ท้าทาย
รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลไว้ในการประชุมเครือข่ายสถาบันทางปัญญา ปฏิรูปประเทศไทย เพื่อสุขภาวะคนไทย ครั้งที่ 22 เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมาว่า
“คนเกือบ 3 ล้านคนในประเทศนี้ อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ 12.6 ล้านคน เรียนชั้นประถม แต่ไม่จบ อีก 7.9 ล้านคน จบแค่ประถม เบ็ดเสร็จ เกือบ 24 ล้านคน มากกว่าครึ่งหนึ่งของคนมีสิทธิ์ออกเสียง กระทรวงไอซีทีจะให้คนเหล่านี้เข้าถึงและใช้ไอซีทีได้อย่างไร โดยคนกลุ่มนี้ เป็นมวลชนที่อยู่ในเป้าหมายการช่วงชิงทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ทางสังคมหรือการเมือง ในที่สุดจะกลายเป็นผู้ถูกกระทำ”
รศ.ดร.ณรงค์ มองว่า การทำสงครามชิงพื้นที่สมอง คนทำสงครามใครมีอาวุธดีกว่า วางแผนดีกว่า คนนั้นชนะ จึงต้องถามว่า ไอซีที จะเป็นเครื่องมือของใคร หากจะให้เป็นเครื่องมือของชาวบ้าน การทำสงครามความคิด ต้องคิดใหม่หรือไม่ พร้อมเปรียบเทียบการเข้าถึงไอซีที เหมือนกับการทำให้คนเข้าถึงอาหาร ทำอย่างไรให้รู้ว่าอาหารมีคุณหรือโทษ มิเช่นนั้นจะเกิดสภาพบริโภคได้ แต่ย่อยไม่ได้ สะท้อนถึงว่า เสียค่าใช้จ่ายแต่ไม่ได้ประโยชน์
“คน 24 ล้านคน คือกลุ่มเป้าหมายการลือผ่านจอ จอแดง จอเหลือง จอคอมพิวเตอร์ การลือถึงความขัดแย้ง เป็นการลือที่ค่อนข้างรุนแรง วันนี้พรึบเดียว สมัยก่อนมีข่าวอะไรด่วน ต้องเขียนจดหมายลูกโซ่ ใช้เวลานานเป็นปี กว่าจะได้คนสักแสน สมัยนี้หากจดหมายลูกโซ่ใช้เวลา 1 ปี ยุคไอซีทีแค่ 1 วัน” นี่คือดาบสองคม ที่อาจารย์เศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ว่า จะตกอยู่กับคนกลุ่มนี้เป็นหลัก
แล้วไอซีทีจะช่วยกลุ่มคน 24 ล้านคนนี้ได้อย่างไร หรือจะปล่อยให้เทคโนโลยีนี้อยู่ในกลุ่มคนชั้นกลาง ชั้นสูง ด้วยเหตุผลที่การเข้าถึงไอซีที การเข้าถึงแหล่งความรู้ โปรแกรม ซอฟแวร์ ส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษเกือบทั้งหมด รศ.ดร.ณรงค์ เชื่อว่า ถ้าต้องการให้คนกลุ่มใหญ่เข้าถึงความรู้จากไอซีทีจริง ๆ ต้องทำควบคู่กับอย่างอื่นด้วย เช่น ต้องยกระดับความคิดความอ่านของคน ผ่านวิธีการต่างๆ ให้สามารถรู้และต้องการสิ่งที่อยากจะรู้ได้ สามารถรับและย่อยข้อมูลได้ เหมือนกับการกินอาหาร
“ถ้า เราหิวกินแล้วต้องสามารถบอกได้ว่า อาหารชิ้นนี้กินแล้วมีประโยชน์ อันไหนกินแล้วมีโทษ ไม่ใช่สักแต่ว่าหิวแล้วกิน”
สอดคล้องกับพล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เสนอต่อกระทรวงไอซีทีว่า ก่อนนำแผนแม่บท ICT ชาติ ฉบับนี้ ไปสู่การปฏิบัติที่เห็นผลเป็นรูปธรรม ควรวางมาตรการป้องกัน เน้นให้ความรู้เชิงป้องกันก่อน มิเช่นนั้น สังคมอุดมปัญญาด้วยไอซีทีจะกลายเป็นสังคมอุดมความขัดแย้ง อย่างที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้