แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
เจาะ "โลกไซเบอร์" วัดอุณหภูมิ "ไฟการเมือง"
“เรามาอยู่ที่บอร์ดประชาไทตั้งแต่หลังการปฏิวัติใหม่ๆ หลังห้องราชดำเนิน พันทิปถูกปิดไป
เราสิงสถิตอยู่ที่นี่ไม่ไปไหนไม่ได้อีกเลย เป็นเวลา 3 ปี 6 เดือนแล้ว
เสียใจ...ที่บ้านเราหายไป ทีนี้คงเร่ร่อนไปบ้านคนอื่นเรื่อยๆ
แต่ก็ดีใจ...ที่เว็บบอร์ดของเรามีความสำคัญมากมายจนต้องสั่งปิดเลยทีเดียว”
นายกานต์ ยืนยง ผู้อำนวยการ Siam Intelligence Unit (SIU) เริ่มต้นเพื่อต้องการสื่อเนื้อหาให้เห็นว่า การที่รัฐสกัดกั้นสื่อ ยิ่งสร้างสถานการณ์ให้เกิดการเคลื่อนไหว รวมตัวทางการเมืองในอินเตอร์เน็ตเพิ่มมากยิ่งขึ้น
“ก่อนรัฐประหาร ปี 2549 มีการต่อสู้ทางวาทกรรมทางการเมืองในเว็บไซต์พันทิป เว็บบอร์ดห้องราชดำเนิน มาก่อน จนกระทั่งเกิดรัฐประหาร พันทิปปิดให้บริการเว็บบอร์ด มวลชนในโลกไซเบอร์ก็ไหลไปเจอกันในบอร์ดไร้สังกัด
กระทั่งมีการตั้งกลุ่ม DCODE ขึ้นมา มีการตั้งรหัส เรียกขานคนตามโค้ดเนม ตามจังหวัดต่างๆ แต่ละคนล้วนไม่เปิดเผยชื่อจริง เวลาเข้าต้องมีรหัส กลุ่ม DCODE นี้เอง สุดท้ายเป็นรากฐานของกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ โดยสามารถรวมคนได้สูงสุด หมื่นต้นๆ
อีกทั้งยังแตกเป็นกลุ่ม คือ กลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งปัจจุบันโพสต์ได้เฉพาะข้อความ ไม่มีการโต้ตอบ ช่วงหลังความนิยมลดลงไปเรื่อยๆ มวลชนจึงมาที่เว็บไซต์ประชาไท และฟ้าเดียวกัน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น ฝั่งเสื้อเหลืองก็ไปเคลื่อนไหวในทวิตเตอร์และเฟชบุค ส่วนฝั่งเสื้อแดงค่อยๆ ตามมา และพอเกิดกลุ่ม 3 เกลอขึ้น ก็กลายเป็นคนเสื้อแดงในปัจจุบัน“
ผู้อำนวยการ SIU ไล่ให้เห็นภาพการเคลื่อนมวลชนในโลกไซเบอร์ (Cyber Citizen’s migration) ยิ่งกดยิ่งต้าน ยิ่งปิดกั้นยิ่งลุกลาม ไว้ในงานสัมมนา 3 ปีการบังคับใช้ พรบ.คอมฯ : หลักนิติรัฐกับความรับผิดชอบของภาครัฐ ณ โรงแรมโนโวเทล สยาม ที่จัดโดยเครือข่ายพลเมืองเน็ต คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส) และ Southeast Asia Press Alliance (SEAPA)
วาทกรรมในโลกไซเบอร์กับการปรองดองแห่งชาติ
โลกในยุคสังคมเปิด เราไม่สามารถปิดกั้นอะไรได้อย่างแท้จริง ประกอบกับเทคโนโลยีการสื่อสารมีความก้าวล้ำยิ่ง กลับเป็นตัวผลักกระจายข้อมูลให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ฉับพลัน ทั่วถึงกันทั้งโลก
แม้เราจะเห็นภาพความเคลื่อนไหวในโลกไซเบอร์ไปแล้ว แต่ในความเป็นจริงมีการเคลื่อนไหวในบริบทสื่ออื่นๆ อีก ที่ไม่ใช่สื่ออินเตอร์เน็ตจำนวนมาก ทั้งการทำใบปลิว ทำหนังสือพิมพ์แจกและกระจายไปตามต่างจังหวัด มีการไปเชื่อมต่อกับวิทยุชุมชน เป็นต้น “กานต์ ยืนยง” มองลักษณะการต่อสู้ด้วย “สื่อ” แบบนี้ มีมาตลอดตั้งแต่ในอดีต สมัย 2475 ก่อนและหลัง ตราบใดที่มีการต่อสู้ทางการเมือง ยังต่อสู้ทางอุดมการณ์ที่รุนแรง
พร้อมยกวาทกรรมทางการเมือง ในปี 2520 จากปกหนังสือ เลือดต้องล้างด้วยเลือด ตีพิมพ์โดย พคท. หรือบันทึกจากภูพานถึงลานโพธิ์ ของวิสา คัญทัพ กรณี 6 ตุลาฯ ขึ้นมาให้เห็นภาพ
“ก่อนพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะโดนรัฐประหาร พ.ต.ท.ทักษิณ จะต้องโดนตีให้น่วมก่อนด้วยวาทกรรมพวกนี้ เช่น การคอรัปชั่น การล้มเจ้า พอเรียบร้อยเสร็จก็เกิดรัฐประหาร คนจะรู้สึกว่า กำจัดความชั่วร้ายในสังคมไป ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ แพ้สงครามอุดมการณ์ ซึ่งก็คิดว่าจะแพ้ต่อไปเรื่อยๆ” นายกานต์ วิเคราะห์ผ่านวิธีคิดการขับเคลื่อนมวลชนผ่านสื่อสารมวลชนจากทฤษฎีกรัมชี่ และอรรถาธิบายวาทกรรมที่ถูกนำมาใช้ในการต่อสู้ทางการเมืองต่อว่า
“เรารู้มีคนตายเกิดขึ้นราชประสงค์ แต่เราต้องการลืม พยายามทำเป็นลืม มองไม่เห็น ผมอยากตีความว่า จริงๆ เราไปมองคนฝ่ายตรงข้าม หรือคนมีอุดมการณ์ตรงข้ามเรา เป็นผีหรือไม่ พอผีมาอยู่ด้วยกันก็ไม่สบายใจอยู่ด้วยกัน ในสังคมไทย พอเห็นเสื้อแดงก็มองว่า นี่ล้มเจ้า เป็นผู้ก่อการร้าย ต้องจัดการเอาไปอยู่ใต้ดินหรือสถานกักกัน ขณะที่คนเสื้อแดงก็มองคนเสื้อเหลืองเป็นพวกโบราณล้าหลัง”
อินเตอร์เน็ตแค่ส่วนหนึ่งของปัญหา
ผู้อำนวยการ SIU มองว่า การไล่ปิดเว็บไซต์ของรัฐบาล จริงๆ แล้ว อินเตอร์เน็ตไม่ใช่ปัญหา ไม่ใช่เพราะอินเตอร์เน็ต แต่เกิดมาจากความขัดแย้งทางการเมืองที่สะสมมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน แล้วทำให้คนไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร เผอิญที่อินเตอร์เน็ตมาตอบโจทย์ตรงนี้ ขณะที่สื่อกระแสหลักพึ่งไม่ได้
และหากมาดูบทบาทสื่อไทย มองในแง่ส่วนแบ่งทางการตลาด จะพบว่า โทรทัศน์ยังครองส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ถึง 58 % รองลงมา คือสื่อหนังสือพิมพ์ 17% วิทยุ 7% นิตยสาร 6% ภาพยนตร์ 5% ตามลำดับ ขณะที่สื่ออินเตอร์เน็ต น้อยมากแค่ 3% แสดงให้เห็นว่า บทบาทของอินเตอร์เน็ตสร้างผลกระทบทางสังคมยังมีไม่มาก
“ทีวี หนังสือพิมพ์ วิทยุ อยู่ในมือของรัฐหมด ส่วนที่คนเสื้อแดงใช้อยู่ สื่อที่เป็นเคเบิ้ลทีวี วิทยุชุมชน สื่อสิ่งพิมพ์ เป็นสื่อหลัก ถูกปิดหมด และอินเตอร์เน็ตสื่อรอง ก็ถูกปิดด้วยเช่นกัน” ผอ.SIU มองกลยุทธ์สื่อผสม ก่อนจะชี้ให้เห็นการค่อยๆ รุกคืบ ของเคเบิ้ลทีวี ที่ช่วงหลังๆ ถือได้ว่า เป็นสื่อที่กำลังมาแรง และเริ่มมีอิทธิพลต่อคนสูงขึ้นเรื่อยๆ
มีตัวเลขที่น่าสนใจช่วงที่ Siam Intelligence Unit ทำการวิจัยเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ( เฟชบุคยังไม่ดัง) พบว่า เรื่องกิจกรรมทางการเมือง พอคนเราเกิดความไม่สบายใจ และได้รับการปลุกเร้าจากสื่อในอินเตอร์เน็ต กิจกรรมที่จะทำต่อไป คือ การโพสต์ข้อมูลต่อตามเว็บไซต์ อันดับสอง คือ ไปร่วมชุมนุม แถมยังมีกิจกรรม ซื้อเสื้อ ซื้อสินค้ามือตบ ตีนตบ ตามด้วยเผยแพร่ข่าวตามเว็บไซต์
"หลังจากมีปะทะทางความคิด มีการถกเถียงในสื่อไปสักระยะหนึ่ง สุดท้ายจะปรากฏเป็นสถานการณ์จริงเกิดขึ้นมา และถ้ารัฐยังมีการปิดกั้น ก็จะเกิดสถานการณ์แบบนี้ขึ้นอีก" นายกานต์ นำเสนอมุมมองเพิ่มเติมไว้ช่วงท้าย
วาทกรรมทางการเมืองมีเกลื่อนในเน็ต
อีกหนึ่งงานวิจัยเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่ Media Monitor Thailand ทำการศึกษา โดยเน้นไปที่เฟชบุค ทวิตเตอร์ เว็บบอร์ด และฟอร์เวิร์ดอีเมล์ทางการเมือง ช่วงการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่เดือนเมษายน –พฤษภาคม 2553 นั้น นายธาม เชื้อสถาปนกิจ ผู้ประสานงาน Media Monitor Thailand บอกวัตถุประสงค์ของงานวิจัยต้องการชี้ให้เห็นว่า กลุ่มทางการเมืองหันมาใช้สื่อใหม่มากขึ้น ในหลากหลายรูปแบบเกี่ยวข้องกับทางการเมือง มีทั้งการประชดประชัน และขำขัน
นักวิจัยของ Media Monitor นั่งเฝ้าหน้าจอ และล้วงลึกเข้าไปดูเนื้อหา ในเฟชบุค กว่า 1,308 แฟนเพจ นอกจากดูแล้วยังคัดแยกแบ่งกลุ่มทางการเมือง ว่า มีวัตถุประสงค์ เนื้อหา กิจกรรม ความเคลื่อนไหวทางใดบ้าง จนพบว่า 95% คนใช้เฟชบุค มากที่สุด คือ การต่อต้านคนเสื้อแดง ที่สำคัญทั้งหมดมีการเลือกข้างทางการเมืองแล้วอย่างชัดเจน
กลุ่มที่มีสมาชิกมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มมั่นใจคนไทยเกิน 1 ล้านคนต่อต้านการยุบสภา (ตัวเลข ณ วันที่ 30 พ.ค. สมาชิกอยู่ที่ 556,339 คน) และที่มีคนสนับสนุนคนเสื้อแดงเพียง 9% ในเฟชบุค นายธาม ตีความให้หายสงสัย คนเสื้อแดงอาจไปใช้สื่ออื่นแทน เช่นเคเบิ้ลทีวี หนังสือพิมพ์ วิทยุชุมชน มากกว่าใช้อินเตอร์เน็ต
ส่วนฟอร์เวิร์ดเมล์การเมือง Media Monitor Thailand ได้แบ่งวาทกรรมหลักๆ ออกเป็น 6 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มวาทกรรมสร้างความรู้ ความจริง จากเหตุการณ์การชุมชุม โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง 2.กลุ่มวาทกรรมรักชื่นชมเทิดทูนในหลวงและบุคคลอื่น 3.มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มวาทกรรมตลกล้อเลียนทางการเมือง และกลุ่มวาทกรรมประณาม ประจาน ตรวจสอบเปิดเผย 4.กลุ่มวาทกรรมล้มเจ้า และวาทกรรมโน้มน้าวรณรงค์ทางการเมือง
ผู้ประสานงาน Media Monitor Thailand บอกด้วยว่า งานวิจัยต้องการหาวาทกรรมหลักๆ คืออะไรบ้าง ภาพสามารถหาได้ในอินเตอร์เน็ต ช่วงที่เกิดการโต้แย้งทางการเมือง จะมีฟอร์เวิร์ดเมล์โต้ตอบกันค่อนข้างมาก เป็นการต่อสู้ทางข้อมูลข่าวสาร ใช้วาทกรรม สติกเกอร์ แบนเนอร์ ก็ถือเป็นวาทกรรมประเภทนี้เช่นเดียวกัน เช่น คนรักทักษิณไม่เอาเผด็จการ ไม่ร่วมไม่ร่างไม่รับ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการใช้คลิปวีดิโอ ที่ไม่ค่อยพบเห็นจากสื่อกระแสหลัก เพราะภาษาที่ใช้จะรุนแรง และแม้แต่ในกลุ่มเดียวก็ไม่ได้มีความคิดเห็นทางเดียวกันก็มี
การเกิดกลุ่มขัดแย้งทางการเมืองหรือกลุ่มที่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ไม่เว้นใน “ทวิตเตอร์” นักวิจัยของ Media Monitor พบอีกว่า ทวิตเตอร์ ก็เป็นพื้นที่ความขัดแย้งทางการเมือง ในช่วงการชุมนุมทางการเมืองเช่นกัน มีการตั้งกลุ่มทวิตเตอร์ขึ้นมาในลักษณะเป็นกลุ่มก้อน ทางการเมืองเหมือนในเฟชบุค
“ทั้งหมดของงานวิจัยต้องการชี้ว่า พื้นที่ที่จะใช้พิสูจน์ข้อเท็จจริงมีน้อย เต็มไปด้วยการแสดงความคิดเห็นโจมตี มีขบวนการล่าแม่มด มีขบวนการของการประณาม และมาตรการลงทัณฑ์ทางสังคม ช่วงชุมนุมทางการเมือง แค่เว็บไซต์พันทิป เฉพาะห้องราชดำเนิน มีกระทู้เกือบ 7,000 กระทู้ ส่วนใหญ่ใช้โจมตี และด่ากัน เกิดกระบวนการนักข่าวไซเบอร์เกิดขึ้นมาเพื่อพิสูจน์ความจริง” นายธาม ระบุ
พร้อมสรุปสิ่งที่ได้จากการศึกษาวาทกรรมหลักๆ ของกลุ่มทางการเมือง ในเฟชบุค ทิ้งท้ายไว้ว่า คนไทยขาดสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม ขาดการรู้เท่าทันสื่อ เสรีภาพถูกใช้แบบขาดความรับผิดชอบ ผู้ใช้งานส่วนมากที่ไม่สามารถระบุได้ว่าใคร ทำให้เนื้อหาที่พบโดยรวมถูกใช้ไปในลักษณะสร้างความแตกแยกทางการเมือง ขยายวงมากขึ้น มากกว่าการสร้างความสมานฉันท์หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริง
แม้สื่อใหม่ อย่างอินเตอร์เน็ตจะมีส่วนขยับขยายพรมแดนของการแสดงออก ทำลายความคิดความเชื่อเรื่องต้องห้ามทั้งหลาย
แต่วันนี้หากเรายังไม่เข้าใจข้อจำกัดของเสรีภาพ ว่า มีแค่ไหน แถมยังใช้เสรีภาพเกินขอบเขต แบบไม่รับผิดชอบ ถึงที่สุดแล้ว ดังที่ปรากฏ ตลาดเสรีของความคิด ก็จะถูกรัฐมากำหนดกรอบที่นับวันขอบเขตจะขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ