ปากคำ หมอ-พยาบาล ....นาทีระทึก เสื้อแดงบุกค้น รพ.จุฬา
ภาพที่ต้องจดจำ ค่ำคืนวันที่ 29 เม.ย. ที่ผ่านมา นายพายัพ ปั้นเกตุ ยกพลบุกเข้าไปตรวจค้นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ด้วยการอ้างว่ามีทหารมาซ่องสุมกำลังอยู่ข้างใน
ทำให้วันรุ่งขึ้นคนไทยก็ได้เห็นภาพความทุลักทุเล เมื่อผู้บริหารโรงพยาบาลจุฬาฯ ตัดสิน ใจย้ายคนไข้จำนวนมาก ทั้งเด็ก คนแก่ ทั้งเจ็บมาก เจ็บน้อย บางคนยังอยู่ในห้องไอซียูไปรักษายังโรงพยาบาลอื่น และภาพที่สะเทือนใจที่สุด เชื่อว่า สังคมมิอาจรับได้ เมื่อได้รับรู้ว่า สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งอยู่ในพระอาการประชวร เป็นคนไข้รายสุดท้ายที่ย้ายออก
เช้าวันอาทิตย์ที่ผ่านมา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเสวนา "ปากคำแพทย์ พยาบาล ผู้ป่วย ที่ต้องมีชีวิตอยู่ท่ามกลางวิกฤตทางการเมือง" ต่อไปนี้เป็นคำบอกเล่าเหตุการณ์ที่บุคลากรทางการแพทย์ได้ประสบมา...
"การปิดโรงพยาบาลแค่ช่วง 2-3 วัน ก็เกิดความเสียหายมาก ไม่มีใครอยากปิดที่ที่เป็นโรงเรียนของตัวเอง ปิดที่ทำงาน " รศ.นพ.สมรัตน์ จารุลักษณานันท์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวยืนยันการตัดสินใจย้ายผู้ป่วยได้ไตร่ตรองอย่างสมเหตุสมผลแล้ว จากนั้นได้บอกเล่า ทุกๆเหตุการณ์มีขั้นตอน มีเรื่องราวที่เป็นเหตุให้เกิดความวิตกกังวล
"ในสายตาบางคนอาจจะมองว่า เรื่องแค่นี้ ถึงขั้นต้องปิดโรงพยาบาลเชียวหรือ ยืนยันไม่ได้เป็นการวิตกกังวลเกินเหตุ เพราะในความเป็นวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์หรือพยาบาล ไม่มีใครอยากปิดที่ที่เป็นโรงเรียนของตัวเอง ปิดที่ทำงานไม่มีใครอยากปิด การปิดโรงพยาบาลแค่ช่วง 2-3 วัน ก็เกิดความเสียหายมาก กรณีมีคนไข้คนหนึ่งเดินทางมาจากจ.นครพนม มารอการผ่าตัด มองในแง่ของประชาชน เขาเสียหาย และเราก็รับรู้ และก็อยากทำงานเช่นกัน
ถึงวันนี้ โรงพยาบาลจุฬาฯ รับรักษาคนไข้มาเป็นจำนวนกว่า 45 ล้านรายแล้ว ในจำนวนนี้ 3-6 คน เป็นผู้ป่วยนอก นับตั้งแต่มีการชุมนุมทางการเมือง คนไข้ลดลงไปถึง 10-20 % สิ่งที่เริ่มกังวล คือ หากเกิดเหตุการณ์ขึ้นอีกในช่วงที่มีคนไข้มาก ๆ บนตึกอาจจะต้องมีคนตายขึ้นเพราะความตระหนกตกใจ
สิ่งที่เลวร้ายที่พบในขณะนี้ คือ แพทย์หญิงบางคน โดนกระทืบรถ จนต้องย้ายบ้านไปแล้ว แม้กระทั่งคนไข้ก่อนเข้าโรงพยาบาลต้องถูกตรวจค้น เมื่อเจอของมีค่า ขอไปเลยก็มี เจ้าหน้าที่บางคน โดนปากระจกเวลาอาบน้ำ ซึ่งเมื่อตรวจสอบที่กระจก เชื่อว่าเป็นรอยกระสุน เพราะมีรอยทะลุและรอยแตกของกระจก เราก็ไม่ได้สรุปว่าเป็นฝีมือใคร แต่ท้ายสุด ต้องให้สถาบันนิติเวชพิสูจน์ ทั้งๆที่ตึก สก. และ ตึก ภปร.ที่เกิดเหตุนี้เป็นตึกที่ประชาชนชาวไทย สร้างขึ้นเพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ"
“เรากำลังจะเสียตึกในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น ได้คุยกับหัวหน้าตึก ญาติคนไข้ ไม่ต้องกลัว เพราะคนที่มาทำร้ายนั้นไม่ใช่คนปกติ แต่คนที่มาทำร้ายเป็นผู้ป่วย เวลาผู้ป่วยมาทำร้าย มาทุบตีหมอ เราไม่ถือสา ถือว่าเป็นผู้ป่วย ขออย่างเดียวว่า เราอย่าป่วยตาม และพยายามมองความดีของทุกคนให้ออก” นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่มีการย้ายผู้ป่วย ก่อนจะวิงวอนขอให้โรงพยาบาลจุฬาฯ เป็นแห่งสุดท้าย
"ก่อนสมเด็จพระสังฆราชฯ จะย้ายออก ผมได้มีโอกาสนอนเฝ้า จะมีเสียงไมโครโฟน ลำโพงรบกวนท่านทุกคืน ทำให้ท่านสะดุ้งตื่น ตรงนี้ อยากให้เราระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของท่าน เพราะท่านเป็นคนสุดท้ายที่ย้ายออกจาก ท่านทำหน้าที่ปกป้องพวกเรา เพื่อให้คนไข้คนสุดท้ายได้ย้ายออกไป และเป็นมิ่งขวัญและกำลังใจแก่ทุกคน ขณะนี้สิ่งที่เราต้องทำ คือ ต้องมาช่วยพูดความดีของกันและกัน เพื่อที่จะไม่ให้ทุกคนเกลียดกัน การชุมนุมครั้งนี้ ถือว่ามีข้อดี คือ ได้เห็นสิ่งที่ผู้ชุมนุมเป็นทุกข์ ซึ่งหากไม่เดือดร้อน พวกเขาคงไม่มานอนอยู่ตรงนี้ เป็นเดือน ซึ่งเราต้องเห็นความดีของทุกคน โดยเฉพาะรพ.จะลำเอียงไม่ได้ แล้วเอาความดีเหล่านี้ ให้ทุกคนรู้จักกัน มากกว่านี้”
"ผมรู้สึกเหมือนคนตกงาน" ความรู้สึกของนพ.ธรรมศักดิ์ ทวิชศรี วิสัญญีแพทย์ ดูแลผู้ป่วยในห้องไอซียู "เหตุการณ์การปะทะกันที่ถนนสีลม เมื่อวันที่ 22 เมษายน หลังจากเกิดเหตุการณ์ รู้สึกตกใจมาก วันนั้นผมได้ขับรถมาที่โรงพยาบาล ซึ่งไม่กล้าบอกคนที่บ้านว่า เข้ามาที่โรงพยาบาล เพราะน่ากลัวมาก พอเข้ามาที่เขตโรงพยาบาล ก็ได้ยินเสียงคล้ายเสียงประทัดยักษ์ตลอดทาง แต่ก็ได้เข้ามานอนที่โรงพยาบาลทุกคืน เพราะคนไข้ของผม เป็นคนที่อยู่ในไอซียูทั้งหมด ซึ่งอาการหนักทุกเตียง หากเกิดอะไรขึ้น งานทุกอย่างจะติดขัดหมด ทั้งการรักษา การส่งเลือด แต่สิ่งสุดท้ายจะเป็นผลเสียต่อชีวิตของผู้ป่วย
นอกจากบุคลากรจะถูกคุกคาม ยังมีคำข่มขู่ และการกระทำดังเช่นการล่วงละเมิดทางเพศกับน้องพยาบาล ทำให้ทุกคนอยู่ในอาการขวัญเสีย เพราะเวลาทำงาน พยาบาลจะอยู่ตามลำพังเพียง 5-6 คน ต้องดูแลผู้ป่วย ไม่สามารถหนีไปไหนได้ ขณะที่การเปลี่ยนเวรช่วงเที่ยงคืน หรือ ตี 1 ก็ได้รับผลกระทบ
หลังจากที่มีเหตุการณ์ที่ดอนเมืองเกิดขึ้น เวลาต่อมาเหตุที่เกิดที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ผมก็ได้ยินเสียงปืน 2 นัด ดังขึ้นที่หู ไม่ได้ตื่นเต้นเท่าไร แต่ไม่ได้หนีไปไหน ปรากฏว่าพยาบาลไม่สามารถเปลี่ยนเวรเช้าได้ และวิ่งขึ้นมาบนอาคาร โดนขังที่ห้องไอซียู เสียขวัญกันไปหมด ผมก็เริ่มตระหนักว่าโดนภัยคุกคามใกล้เข้ามาเรื่อยๆ แต่ก็ต้องดำรงไว้ซึ่งการทำงานที่เหมาะสม
ทุกวันนี้ ผมรู้สึกเหมือนคนตกงาน ไม่รู้จะทำอะไร มองไปมองมา ที่โรงพยาบาล อยู่ในสภาพที่เหงาๆ เพราะโรงพยาบาลไม่เคยเป็นเช่นนี้ และนั่งน้ำตาไหล รับไม่ได้กับสภาพโรงพยาบาลเช่นนี้ ก็ได้แต่หวังว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ ขอเพียงโอกาสในการทำงาน คนไข้เราได้เสียโอกาสไปเยอะแล้ว"
"ผมนอนไม่หลับ ผมร้องไห้ เกิดอะไรขึ้นกับประเทศนี้ ที่นี่โรงพยาบาล" นพ.ธีรโชติ จองสกุล หัวหน้าภาควานิติเวช "วันนั้นผมกลับจากทำธุระข้างนอกแล้วมานอนที่ตึก ผมขับรถมา และพบว่าไฟที่ส่องทางผู้ชุมนุม ผมรู้สึกว่ามีแสงสีเขียวพุ่งตรงมาที่หน้าผม รู้สึกได้ว่าคุ้นๆนะ ว่าเคยเห็นในวีดีโอคลิป ซึ่งผมรู้สึกว่า ผมกำลังถูกทดสอบความกล้า ผมรู้สึกว่าในสถานการณ์เช่นนี้ ยังมีการล้อเล่นแบบนี้อยู่ หรือจะโดนทำร้ายอย่างไร เพราะผมเป็นเพียงแค่หัวหน้าภาควิชาเล็กๆ ยังโดนคุกคามเช่นนี้ แต่เพราะผมเป็นบุคคลที่อยู่ในโรงพยาบาล
ผมมองว่า โรงพยาบาล เป็นที่บุคลากรทางแพทย์ต้องแบกรับภาระในการตัดสินใจ แล้วจะพยายามตัดสินใจจากหลักวิชาการที่เรามีเพื่อที่จะช่วยคน แต่กำลังถูกเพิ่มภาระเข้าไป พะวงว่าวิถีชีวิตกำลังถูกรบกวน เป็นเหตุทำให้แต่ละคนมีแรงกดดันต่อสิ่งเหล่านี้ต่างกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิด เพราะโรงพยาบาลจำเป็นต้องใช้ความละเอียดอ่อนในการแก้ไขปัญหา หากถูกรบกวนจะลำบากใจมากขึ้น
อีกสิ่งหนึ่งคือ เรากำลังถูกบังคับให้เลือกข้าง ว่าตัดสินใจมีปฏิกิริยากับเรื่องที่เกิดขึ้นกับเรื่องที่เกิด ทุกคืนที่ผมนอน ผมผวาทุกครั้ง ได้ยินเสียงตลอด วันที่ 29 เมษายน ผมนอนไม่หลับ ผมร้องไห้ ว่า เกิดอะไรขึ้นกับประเทศนี้ ที่นี่โรงพยาบาล และสิ่งที่คุณกำลังทำ คือคนที่ตอบโต้คุณไม่ได้เลย เพราะไม่สามารถออกไปประท้วง ว่ากำลังเดือดร้อน ซึ่งเราต้องหาวิธีการให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น อยากให้รับรู้เอาไว้ว่าโรงพยาบาลเป็นสถานที่ทำเพื่อคนส่วนรวม และขอร้องว่าให้โรงพยาบาลเป็นสถานที่ปลอดจากความขัดแย้งทางการเมือง"
"เอาป้ายสภากาชาดไทยให้ดู ทางแกนนำบอกว่า ไม่รู้จัก" นพ.อรรถพล สุคนธ์ธาภิรมย์ ณ พัทลุง ผู้ช่วย ผอ.โรงพยาบาลจุฬาฯ เล่าว่า "เราไม่เคยคาดคิดว่านักการเมืองที่เป็น ส.ส. จะทำพฤติกรรมน่าละอายใจมาก และไม่มีหลักประกันอะไรว่าจะไม่ทำอีก ในวันที่ทางกลุ่ม นปช.เข้ามา ทางเจ้าหน้าที่ได้เอาป้ายสภากาชาดไทยให้ดู ทางแกนนำบอกว่า ไม่รู้จัก เพราะกรณีที่ทำตรงนี้ เกิดจากคนที่ไม่รู้เรื่อง แต่สิ่งหนึ่งที่ได้เห็นคือ แกนนำคุมฝูงชนไม่ได้ ซึ่งอยากบอกกับทางกลุ่มผู้ชุมนุมว่า พวกเราไม่ได้เล่นการเมือง และขอให้ท่านไปเล่นในสภา พวกเราไม่เล่นกับท่าน ขอให้เอาความจริงมาพูดกัน อย่าโกหก โดยมื่อวานที่เกิดเหตุการณ์ ก็ยังมีการพูดสิ่งที่ไม่เป็นจริงกันอยู่ ซึ่งอยากของร้องให้พูดความจริงให้มาก อย่าปิดบัง อย่างวันนี้ ผมใส่เสื้อสีส้มมา เพราะเป็นส่วนผสมของสีเหลืองกับสีแดง อยากให้สีแดงแทนด้วยความรัก สีเหลือง แทนด้วยปัญญา เมื่อเอาปัญญาและความรักมาบวกกัน จะเกิดสิ่งที่ดีขึ้นมากกว่านี้"
"ย้ายคนไข้ทั้ง น้ำตา ร้องไห้มา 2 วันเต็ม" นางสุภาภรณ์ ศรีตั้งศิริกุล ผู้ชำนาญการพิเศษพยาบาล 7 ถ่ายทอดให้ฟังถึงวันที่เสื้อแดงยกพลเข้าไปตรวจค้น รพ.จุฬาฯ ด้วยอาการเศร้าซึม และน้ำเสียงที่สั่นเครือ ว่า
"วันนั้นมีคนจำนวนมากอยู่ชั้นล่างของตึกจงกลณี ภายในห้องพยาบาลก็มี นปช. ผู้อำนวยการรพ. ทีมผู้บริหารของรพ. พูดคุยกันอยู่ที่ห้องทำงาน ระหว่างนั้นในตัวตึก ก็ได้ยินเสียงคล้ายปืนดังขึ้น จนทุกคนต้องมอบลง ตนถูกดึงให้ไปหลบซ่อนตัวที่ห้องพักพยาบาล รู้สึกกลัวมาก เพราะไม่รู้ว่าเป็นเสียงปืนหรือเสียงอะไร แม้จะเป็นเวลาสั้นๆ แต่ในความคิดเป็นเวลายาวนานมาก และระหว่างที่รอก็ได้ยินเสียงคนไข้กดเรียก พยาบาลต้องค่อยๆ เดินออกมาจากห้องพัก กว่าจะถึงห้องคนไข้ ทั้งๆที่ไม่รู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรบ้าง แต่ต้องไปทำตามหน้าที่ แล้วก็เดินกลับมาที่ห้องพัก มาแอบดูตรงหน้าต่าง ว่าข้างนอกเกิดอะไรขึ้นบ้าง หากจะบอกว่า ตื่นเต้นเกินกว่าเหตุหรือไม่ ก็คิดว่า ไม่ใช่ เพราะทุกคนต้องการความปลอดภัย หากเจ้าหน้าที่เองยังไม่มีความปลอดภัย ก็จะไม่มีสมาธิ มีความคิดที่ไปช่วยคนอื่นได้”
"เราถูกปลูกฝังมาว่า คนของสภากาชาดไทย เป็นคนที่ได้รับการปลูกฝังให้เป็นคนที่เสียสละอดทน มุ่งมั่น นั่นคือ สิ่งที่เราต้องปฏิบัติ เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเรื่องที่เศร้ามาก ต้องย้ายคนไข้ทั้งน้ำตา เราไม่ได้ดูแลคนไข้แค่เพียงร่างกาย แต่เราดูแลคนไข้ทั้งจิตวิญญาณ มีความรักความผูกพันกับคนไข้ มีความรัก ความรู้ ความตั้งใจ ศักยภาพอย่างตั้งใจ แต่เราขาดอย่างเดียว คือ โอกาส อย่างตนเองได้ร้องไห้มา 2 วันเต็ม" สุภาภรณ์กล่าวถึงเหตุการณ์ในวันนั้นทั้งน้ำตา
การเสวนาครั้งนี้ นอกจากจะเปิดเวทีให้บุคลากรทางการแพทย์ เล่าถึงเหตุการณ์ที่ได้ประสบมาแล้ว ช่วงท้ายได้เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมาร่วมแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเชื้อเอดส์ (HIV) เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบหนัก
นายไพศาล (ไม่เปิดเผยนามสกุล) อาสาสมัครชมรมเพื่อนวันพุธ คลินิกนาม กล่าวว่า "ผู้ป่วย HIV ไม่สามารถไปรับยาได้เช่นเดิม หลังจากที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ต้องปิดการให้บริการ คลินิกนิรนาม ก็ได้ถูกปิดไปด้วย ทำให้ขาดโอกาสในการมีชีวิตในช่วงสั้นๆ ต่อไป เพราะยาของผู้ป่วย HIV ต้อง ได้ยาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะไม่มีผลกระทบในชีวิตอย่างกะทันหัน แต่จะมีผลกระทบต่อชีวิตในระยะยาว ส่งผลให้เกิดการดื้อยา"
"อย่าให้คนป่วยต้องรักษากันด้วย ยา RPG หรือวิตามิน M79 เลย" คำขอร้องจากนายสุบิล นกสกุล ชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย "เหตุการณ์ครั้งนี้ กระทบกับผู้ป่วยโรคไต เพราะผู้ป่วยโรคไตไม่เหมือนผู้ป่วยโรคอื่น หากไม่ได้ฟอกเลือดก็อาจถึงแก่ชีวิตได้ ผู้ป่วยโรคไต รับบริการที่โรงพยาบาลไม่ต่ำกว่า 500 ราย หลังจากเกิดเหตุการณ์ชุมนุม ทำให้ผู้ป่วยโรคไตเสียโอกาสการเปลี่ยนถ่ายไตใหม่ 1-2 ราย จึงเรียกร้อง นปช.ให้ขยับการชุมนุมมา ให้นึกถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยด้วย ของประชาชนทั่วไปด้วย ไม่ใช่นึกถึงแต่เรื่องของท่านแต่เพียงฝ่ายเดียว อย่าให้คนป่วยต้องรักษากันด้วย ยา RPG หรือวิตามิน M79 เลย"
สุดท้าย นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวถึงการลุกขึ้นมาพูดของผู้ป่วยว่า ไม่ใช่เรื่องการเมือง เป็นสิ่งที่เราเลี่ยงมาตลอด ไม่ใช่เป็นเพราะเรากลัวหรือขี้ขลาด แต่การที่ผู้ป่วยถูกละเมิด ถูกทุบตี เป็นสิ่งที่ไม่สมควร
"ในสนามรบ คนที่ได้รับการบาดเจ็บ ห้ามถูกทารุณ การที่โรงพยาบาลจุฬาฯถูกคุกคามเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ ถือเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่เราจำเป็นต้องลุกขึ้นมาพูด การรบกวนโรงพยาบาลจุฬาฯ ครั้งนี้ทำให้เกิดปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยจำนวนมาก การที่ผู้ป่วยจองคิวโรงพยาบาลขนาดใหญ่เป็นเรื่องยาก อาจจะยาวนานเป็นเดือน สถานการณ์เช่นนี้ ทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสและเดือดร้อน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจที่จำเป็นจะต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จึงขอเรียกร้องในนามกลุ่มผู้ป่วย ให้กลุ่ม นปช. ถอยร่นออกห่างจากโรงพยาบาล ตามข้อเรียกร้องของโรงพยาบาลในระยะ 100 เมตร ตามหลักสากล เพื่อขวัญและกำลังใจในสถานการณ์เช่นนี้"