โซเชียลมีเดียกับการศึกษา"ยุคฟ้า บ่ กั้น"
“โซเชียล เทคโนโลยี ทำให้ข้อมูลทางการศึกษาถูกกระจายไปทั่วโลก
การศึกษาจะไม่ถูกจำกัดอยู่แค่ในหนังสือ ในห้องเรียน แต่อยู่ทุกที่...ที่มีอุปกรณ์ดิจิตอล มีอินเตอร์เน็ต
เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้....ที่นั่นมีการศึกษา”
“โซเชียลมีเดีย ทำให้ประโยคที่ว่า ความลับไม่มีในโลกเป็นเรื่องที่น่ากลัว โลกนี้จะเปลี่ยนไป ฟังนิดหน่อยจากนั้นไปหาข้อมูลต่อในอินเตอร์เน็ต จะเห็นว่า วันนี้ทั่วโลกมีการใช้เทคโนโลยีระบบ 3G กันอย่างแพร่หลาย นั่นหมายความว่า เครื่องมือที่เป็นเทคโนโลยี ไม่ว่าเป็น ไอแพด ไอโฟน ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ได้ จะมีขีดจำกัดในประเทศด้อยพัฒนา โดยประเทศพัฒนาแล้วจะได้เปรียบจากการเข้าถึงข้อมูลก่อนเรา เช่นเดียวกันคนในเมือง ก็เข้าถึงข้อมูลก่อนคนชนบท”
ให้ลองคิดเล่นๆ ว่า เราจะจัดการอย่างไร ในเมื่อประชากรส่วนใหญ่ มากกว่า 80 % ยึดอาชีพเกษตรกร ไม่ได้ใช้อินเตอร์เน็ต จำกัดอยู่กับคนเพียง 17 ล้านคนที่เข้าถึง ส่วนมากไม่ชอบอ่านหนังสือ ช่องว่างตรงนี้ ส่งผลอย่างไรต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต
ยิ่งเมื่อมีโซเชียลมีเดีย มีเฟชบุค ทวิตเตอร์ ทำให้ข้อมูลแพร่สะพัดเหมือนไวรัส มีทั้งข้อมูลจริงและไม่จริง ซึ่งการแพร่กระจายของข้อมูลแบบนี้ทำให้การศึกษาไม่ถูกจำกัดในห้องเรียน หรือในเฟชบุคอีกต่อไปแล้ว ที่ใดก็ตามสามารถเล่นอินเตอร์เน็ตได้ ที่นั่นคือมีการศึกษา
ผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชียลมีเดีย ชี้ไปที่ระบบการศึกษาของโลกที่กำลังจะเปลี่ยนไป ด้วยอุปกรณ์ดิจิตอล การสื่อสารสังคม ทั้งผ่านทาง Club Page, Youtube, Google Docs, Slideshare เป็นต้น เกิดอะไรขึ้น อีกมุมหนึ่งของโลก…. เมื่อสื่อบูรณาการเข้าหากัน ทั้งความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีการศึกษา การสื่อสาร เทคโนโลยีเครือข่ายสังคม โลกของการศึกษายุคฟ้าบ่กั้น กลายเป็นโลกาภิวัตน์ ขณะที่คนไทยยังอ่านออกเขียนได้ต่ำอัตราไม่ถึง 10 บรรทัดต่อปี
“ทั้งหมดเกิดมาจากที่คนไทยอ่านหนังสือน้อย พูดมาก ดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ มากกว่าอ่านหนังสือ หรือหากอ่านหนังสือแล้วก็คิดเอง สรุปเองจากความเชื่อของตนเอง ตีความโดยมีเหตุผลบ้างไม่มีเหตุผลบ้าง ใช้ทฤษฎีน้อยเกินไป และผลจากการอ่านน้อยนี่เอง ทำให้คนไทย บริโภคสื่อแบบ พวกใครพวกมัน”
อาจารย์พิเศษ มธ.มองลึกถึงรากเหง้า ปัญหาการศึกษาไทย พร้อมเสนอให้อ่านมากกว่าเดิม อ่านชนิดเข้าถึง และวิเคราะห์ ดูแหล่งข่าว ข้อมูล ดูสถิติ และอ้างอิง สุดท้ายยังฝากไปถึงรัฐบาลให้เข้ามาให้ความสนใจในการใช้สื่อด้านการศึกษาก่อนถูกครอบงำ และการล่าอาณานิคมทางการศึกษา โดยใช้หลักกาลามสูตร ทางสายกลาง ในการรับฟังความคิดเห็นด้วย
โซเชียลมีเดีย หรือเป็นแค่แฟชั่น !
หากใครที่เคยเข้าไปดู วิดีโอคลิปยอดฮิต Social Media Revolution ของ Erik Qualman ผู้เขียนหนังสือ Socialnomics ที่กล่าวถึงการปฏิวัติอินเทอร์เน็ตจากโซเชียลมีเดีย จากบุคคลไปสู่การตลาด ซึ่งมียอดคนคลิกเข้าไปดูในเวอร์ชั่นแรกทะลุเกินกว่า 2 ล้านคนใน youtube แล้วนั้น ปีนี้ เขาได้ปล่อยเวอร์ชั่น 2 เพื่อตอบข้อสงสัย
“โซเชียลมีเดียเป็นแค่แฟชั่น หรือการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของอุตสาหกรรมออนไลน์“
พร้อมอัพเดทสถิติ รูปภาพ และข้อมูลใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ เช่น 50% ของประชากรที่อายุน้อยกว่า 30 ปี 96% ของทั้งหมด กลายเป็นสาวก Social Network , 1 ใน 8 คู่ของคนอเมริกันที่แต่งงาน พบรักกันผ่าน Social Media , ในสหรัฐฯ ยอดคนใช้ facebook แซง Google ทุกสัปดาห์, การเติบโตของ Social Media มีผู้ใช้ถึง 50 ล้านคนต่อปี เมื่อเทียบกับวิทยุที่ต้องใช้เวลาถึง 38 ปี โทรทัศน์ 13 ปี อินเตอร์เน็ต 4 ปี ไอพอด 3 ปี และช่วงเวลาไม่ถึงปี เฟชบุค มีผู้เข้าไปใช้มากกว่า 200 ล้านคน
นอกจากนี้ หากจัดหมวด “เฟชบุค” เป็นประเทศ ขณะนี้ก็มีขนาดใหญ่โต ไต่ขึ้นมาเป็นอันดับ 3 เป็นรองแค่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และอินเดีย เท่านั้น
ที่สำคัญ มีบริษัทกว่า 80% ใช้ Social Media ในการรับสมัครงาน บางมหาวิทยาลัยหยุดการกระจายอีเมล์ หรือเรียกว่า เกือบจะเลิกใช้อีเมล์ไปเลย
ขณะเดียวกัน ก็พบว่า เมื่อคนเข้าไปดูวิดีโอบน Youtube 100 ชั่วโมงขึ้นไป จะเริ่มมีการอัพโหลดวิดีโอขึ้น Youtube เองบ้าง อีกสิ่งที่น่าสนใจ มีบทความใน Wikipedia มากกว่า 15 ล้านบทความแล้ว 78% ของบทความทั้งหมดไม่ใช่ภาษาอังกฤษ...
ก่อนตบท้าย คลิปวิดีโอความยาวไม่ถึง 5 นาที มีบทสรุปให้ว่า โซเชียลมีเดีย ไม่ใช่แฟชั่น แต่จะเป็นพื้นฐานในการเปลี่ยนแปลงวิธีที่เราสื่อสารกัน....
ยุคการระเบิดของข้อมูล
“เรากำลังอยู่ในยุคการระเบิดของข้อมูล (Information Explosion) อะไรที่เคยเปลี่ยนภายใน 1 ปี จะเกิดขึ้นภายใน 1 วัน” คนในแวดวงการศึกษา อย่างศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ รองประธานกรรมการ คณะกรรมการอุดมศึกษา ก็มองเห็นถึงความท้าทายของโลกยุคไอที ที่การศึกษาบ้านเราจำเป็นต้องปรับการเรียนรู้ จากรูปแบบเดิมๆ ที่มีเพียงห้องเรียน ครูผู้สอน และกระดานดำ มาเป็นการใช้เทคโนโลยีและใช้สื่อที่ทันสมัย ใช้ e-Learning มาผนวกเข้ากัน โดยเชื่อว่า จะเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าการศึกษาไทยได้อีกทางหนึ่ง
วันนี้ คนเรียนกับคนสอนไม่จำเป็นต้องว่างตรงกัน การศึกษาเกิดได้ทุกที่ ไม่มีข้อจำกัด มีข้อมูลที่ชี้ชัดว่า การเรียนการสอนโดยใช้ e-Learning กระตุ้นผู้เรียนให้เปลี่ยนความสนใจไปเรื่อยๆ เปลี่ยนกระบวนทัศน์ ทำให้เกิดความรู้เพิ่มเติมอย่างน้อย 30 % ใช้เวลาเรียนน้อยลงถึง 40 % และ ลดค่าใช้จ่าย 30 % นอกจากนั้นยังทำให้เกิดความเพลิดเพลิน เล่นและเรียนรู้ไปด้วยกัน ที่สำคัญจะเป็นโอกาสในการปลดปล่อยผู้เรียนจาก “พันธนาการ” ของเวลาออกไป
รองประธาน กกอ. ยกข้อมูลจริงผลทดสอบนักเรียนวิศวกรรมของมหาวิทยาลัย Stanford มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ที่เข้าเรียนในห้องเรียน กับพนักงานของบริษัท Hewlett-Packard ที่ใช้หลักสูตรเดียวกัน แต่เรียนด้วยระบบทางไกล และมีการฝึกอบรม จากนั้นมาสอบแข่งขัน พบว่า นักเรียนของ Hewlett-Packard มีประสิทธิภาพในการเรียนรู้สูงกว่า
ดังนั้น การใช้สื่อการศึกษากับการพัฒนาคนไทย จะอยู่แบบยุคเดิมๆ ไม่ได้อีกต่อไป เนื่องจากข้อมูลวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั้งห้องเรียนทั่วโลกก็เริ่มเปลี่ยนลักษณะไปจากเดิม ห้องเรียนต้องเปลี่ยนรูปแบบ เป็นห้องเรียนท้าทายปัญญา จุดประกายทางปัญญา
ศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิช บอกว่า แล้วอะไรที่เป็นการบอกเล่าถึงเนื้อหาตายตัว ไม่ใช่เรื่องที่จะมาพูดในห้องเรียนอีกแล้ว “เสียเวลา” อาจารย์สามารถใส่ไว้ในอินเตอร์เน็ต และให้เด็กค้นคว้าเองได้ ส่วนบทบาทครูจำเป็นต้องปรับมาช่วยกระตุ้นผู้เรียน นำทาง และชี้นำ แทนการเป็นผู้มาคอยบอกเล่า ( fact repeater ) เพียงอย่างเดียว
“ ขณะนี้ข้อมูลในโลกมีมาก จนกระทั่งหากใครมัวแต่เรียนรู้ให้หมดทุกอย่าง จะกลายเป็นผู้เรียนที่ล้าหลัง สิ่งที่สำคัญวันนี้เนื้อหาเปลี่ยนลักษณะมีมากขึ้น การเรียนหน้าแรกถึงหน้าสุดท้าย จะอยู่ในโลกสมัยใหม่ไม่ได้แล้ว เพราะความรู้ไม่ได้เกิดจากจุดเดียว แต่เกิดขึ้นในระบบของสังคม” ศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิช ชี้ให้เห็นมิติของข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไป ที่อาจารย์รุ่นเก่าๆ อาจไม่เข้าใจ และทำใจไม่ได้
รูปธรรมอีกอย่างที่รองประธาน กกอ. ยกมาให้เห็น คือ Wikipedia ที่มีศักยภาพสูงกว่าความกังวล ซึ่งหลายคนยังมีความกังวลเรื่องของความจริง ที่ใครสามารถเข้าไปใส่อะไรก็ได้
แต่ Wikipedia กลับกลายเป็นระบบการเรียนรู้อีกแบบหนึ่ง เป็นเวทีของความจริง ให้สิ่งที่ผิดและถูกไปต่อสู้กันเอง และกลายเป็นความถูกต้องได้ หรืออย่าง Youtube ปรากฏขึ้นมาแรกๆ นึกว่าเป็นของเล่น แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว
อนาคตอันใกล้ web 3.0 กำลังจะคืบคลานเข้ามา ทั่วโลกจะสนใจระบบนี้มากขึ้น และนับเป็นเรื่องที่น่าสะพรึงกลัว ยุคข้อมูลข่าวสารการเรียนรู้ที่เป็นภาษาอังกฤษ แต่ประเทศไทยติดกำแพงภาษา ทำให้เราขาดโอกาส
หากวันนี้ยังเอาชนะไม่ได้ การคิดหรือฝันจะไต่ขึ้นสู่ระดับแนวหน้าก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก ที่เห็นชัดๆ ใกล้บ้านเรา มีการคาดการณ์กันว่า อีก 10 ปีข้างหน้า คนจีนจะใช้ภาษาอังกฤษ จำนวนมากกว่าประชากรอเมริกาทั้งประเทศ
เรื่องนี้ยิ่งตอกย้ำ เราจะเรียนรู้และก้าวต่อไปให้ทันนานาประเทศได้อย่างไร
เทรนด์โลกการศึกษา เกิดได้ทุกที่ ไม่มีข้อจำกัด
เรียนฟรี กับ MIT Open Courseware
เรียนฟรี กับItunes University
Youtube Channel ของมหาวิทยาลัยดัง
Youtube ของมหาวิทยาลัย Harvard
Youtube ของ Harvard Business Publishing
Youtube ของมหาวิทยาลัย stanford