ระดม “วิทยุชุมชน” 4 ภาค ร่วมขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษารอบ 2
ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.2552-2560) ซึ่งครั้งนี้ รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์มุ่งเน้นในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา การเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้คนไทยทุกคนได้เรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียน และตามอัธยาศัยอย่างมีคุณภาพในทุกระดับชั้น
โดยมีเป้าหมายว่าภายในปี 2561 จะต้องปฏิรูปการศึกษา และการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ โดยเน้นเป้าหมายหลัก 3 ประการ ได้แก่
1.คุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและเรียนรู้ของคนไทย คือพัฒนาผู้เรียน แหล่งเรียนรู้ สภาพแวดล้อม หลักสูตรและเนื้อหา พัฒนาวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง เพื่อดึงดูดคนเก่ง คนดี และมีใจรัก เข้ามาเป็นครู
2.เพิ่มโอกาสทางการศึกษาและเรียนรู้อย่างทั่วถึง และมีคุณภาพ เพื่อให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา และเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต และ
3.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคม ในการบริหารและการจัดการศึกษา โดยเพิ่มบทบาทของผู้ที่อยู่ภายนอกระบบการศึกษา
ซึ่งประเด็นหลักๆ เหล่านี้ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี คาดหวังว่าจะส่งผลให้เกิดคนไทย “ยุคใหม่” ที่เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง รักการอ่าน และมีนิสัยใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต มีความสามารถในการสื่อสาร คิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีจิตสาธารณะ มีระเบียบวินัย เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ทำงานเป็นกลุ่ม รวมถึง มีศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม จิตสำนึก และความภูมิใจในความเป็นไทย ยึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข รังเกียจการทุจริต และต่อต้านการซื้อสิทธิ์ขายเสียง และก้าวทันโลก
นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องการที่จะยกระดับ “ผลสัมฤทธิ์” ของผู้เรียนในทุกระดับ และทุกประเภทการศึกษา ให้สูงขึ้น ขณะเดียวกันแรงงาน และผู้สูงอายุได้รับการศึกษา และเรียนรู้เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต เพื่อให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วย
และเพื่อให้การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง เดินหน้าไปในทิศทางที่วางไว้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐต้องการ “การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม” ไม่ว่าจะจากภาครัฐด้วยกันเอง ภาคเอกชน ภาคการสื่อสารมวลชน และอื่นๆ เพื่อช่วยผลักดันการปฏิรูปการศึกษาให้เดินหน้าต่อไป
โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา หรือ สกศ.ได้รับมอบหมายให้จัดประชุมสัมมนา “ผู้ประกอบการวิทยุชุมชน 4 ภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง” โดย สกศ.ได้จัดประชุมสัมมนาผู้แทนวิทยุชุมชน และเคเบิลทีวี ทั้ง 4 ภูมิภาคไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยครั้งแรกจัดในโซนภาคใต้ ที่ จ.นครศรีธรรมราช ครั้งที่ 2 โซนภาคกลาง ที่กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3 โซนภาคเหนือ ที่ จ.เชียงใหม่ และครั้งที่ 4 โซนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.ขอนแก่น
การจัดสัมมนาแต่ละครั้ง จะมีผู้แทนวิทยุชุมชน และเคเบิลทีวี เข้าร่วมไม่ต่ำกว่าครั้งละ 300-400 คน โดยผู้แทนเหล่านี้พร้อมที่จะร่วมเป็น “เครือข่าย” ในการสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง เนื่องจากเป็นหนึ่งในหน้าที่ที่วิทยุชุมชนจะต้องให้ความรู้ ให้การศึกษา นอกเหนือจากการให้ความบันเทิง และตรวจสอบและรักษาผลประโยชน์ให้กับชุมชน
อย่างนายบัณฑิต ตั้งประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์ เขต 1 จ.ขอนแก่น ระบุว่า วิทยุชุมชนมีความสำคัญ เนื่องจากสาเหตุหลัก 4 ประการ คือ 1.เกิดจากความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง 2.บริหารจัดการโดยชุมชน 3.เนื้อหาการนำเสนอ เกิดความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง และ 4.วิทยุชุมชน เป็นสื่อที่เรียกว่า “ครูทางอากาศ” โดยมีหน้าที่ 4 ประการ ได้แก่ 1.ให้ความรู้ 2.ให้ความการศึกษา พัฒนาคน 3.ให้ความบันเทิง และ 4.เป็นกระจกเงา ที่มีการตรวจสอบ รักษาผลประโยชน์ของชุมชน และประเทศชาติเป็นหลัก
“ที่ผ่านมา กรมประชาสัมพันธ์ได้ร่วมกับวิทยุชุมชนจัดให้การศึกษา ฝึกอบรมให้ความรู้ และมีเครือข่ายชมรมวิทยุชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ซึ่งเน้นให้การศึกษา ให้ความรู้ และพัฒนาบุคลากรร่วมกัน ฉะนั้น กรมประชาสัมพันธ์พร้อมจะร่วมกันปฏิรูปการศึกษา สร้างคุณภาพ ให้โอกาส และมีส่วนทำให้เด็กเก่ง ดี มีสุข และธำรงไว้ซึ่งความเป็นไทย”นายบัณฑิตกล่าว
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์ เขต 1 จ.ขอนแก่น ยังได้ยกผลการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระหว่างปี 2546-2551 ที่พบว่า รายการวิทยุที่พี่น้องประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนิยมมากที่สุด คือ รายการบันเทิง โดยช่วงเวลาที่มีผู้รับฟังมากที่สุด ได้แก่ ช่วงเช้าจนถึงเวลา 10.30 น.ผลสำรวจยังพบอีกว่า คนไทย “อ่อนภาษาไทย” ซึ่งส่งผลต่อการศึกษาในด้านอื่นๆ จึงจำเป็นที่รายการวิทยุจะต้องจัดสรรเวลาให้กับเนื้อหาสาระที่เป็นความรู้ โดยแทรกเข้าไปในรายการบันเทิงต่างๆ
ขณะที่นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง คณะทำงานด้านกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชน บอกว่า ปัจจุบันวิทยุชุมชนมีจำนวนมากถึง 5,000-6,000 สถานี โดย พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ได้แบ่งประเภทวิทยุออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.กิจการบริการสาธารณะ 2.กิจการบริการชุมชน และ 3.กิจการบริการธุรกิจ
ดังนั้น วิทยุชุมชนจึงถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการขยายโอกาสทางการศึกษา เพื่อให้คนที่ไม่ได้เรียนอยู่ในระบบ หรือแม้แต่ไม่มีโอกาสเรียนการศึกษานอกระบบ อาทิ คนที่เลี้ยงวัวอยู่ในทุ่ง หรือทอผ้าอยู่ที่บ้าน ฯลฯ จะได้มีโอกาสเรียนรู้
ด้านผู้ประกอบการวิทยุชุมชน FM 95 Mhz. อ.หนองนาคำ จ.ขอนแก่น อย่างนายสมภาร วิถีเทพ กล่าวว่า ปัจจุบันวิทยุชุมชนไม่ได้มุ่งไปในเรื่องของธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่มุ่งให้ความรู้กับเยาวชน ให้ผู้ที่มีโอกาส และไม่มีโอกาส ได้ฝึกฝนทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัตินอกห้องเรียน รวมถึง เผยแพร่ข่าวสารให้ประชาชนรับรู้ โดยเฉพาะข่าวสารเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งปัจจุบันทาง FM 95 Mhz. ได้ให้เวลาฟรีแต่ผู้บริหารสถานศึกษาในชุมชน รวมถึง กระทรวงศึกษาธิการ
พร้อมกันนี้ ผู้แทนวิทยุชุมชน และเคเบิลทีวี ยังประกาศว่ายินดีที่จะเป็น “เครือข่าย” และ “สนับสนุน” การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้แทนวิทยุชุมชน และเคเบิลทีวี ได้เรียกร้องจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และกระทรวงศึกษาธิการ คือ ข่าวสารเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา เพื่อใช้สำหรับเผยแพร่ในรายการต่างๆ พร้อมกันนี้ ยังอยากให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาสนับสนุนงบประมาณบางส่วนให้ด้วย
ปิดท้ายที่รองเลขาธิการสภาการศึกษา นางสุทธิศรี วงษ์สมาน ที่ระบุว่า จะนำความคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่ได้จากการระดมความคิดจากผู้ประกอบวิทยุชุมชน และเคเบิลทีวีทั่วประเทศ ไปวิเคราะห์ และสังเคราะห์กัน เพื่อที่จะให้ได้ข้อสรุป และนำไปเป็นพลังในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง
สำหรับความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ ที่วิทยุชุมชน และเคเบิลทีวีได้นำเสนอในเบื้องต้นนั้น ค่อนข้างมีหลากหลาย อาทิ การเสนอให้มีหน่วยงานกลาง หรือจัดตั้งเครือข่ายในการจัดกิจกรรม นำข้อมูลในการปฏิรูปการศึกษาที่เป็นปัจจุบันมาใช้ในการประชาสัมพันธ์ เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาให้เดินหน้าต่อไป รวมถึง เสนอให้มีศูนย์กลางเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากวิทยุชุมชน
ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ เมื่อสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้ประมวล และวิเคราะห์ข้อเสนอแนะต่างๆ แล้ว จะต้องนำข้อเสนอทั้งหมดเสนอที่ประชุมองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง และคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
ซึ่งนับเป็นการระดม “ภาคส่วน” ต่างๆ ของสังคม มาช่วยในการขับเคลื่อน “การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง” ที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดแจนครั้งแรก
ส่วนจะบรรลุวัตถุประสงค์มากน้อยเพียงใด ต้องติดตาม!!