ก้าวข้ามความขัดแย้ง ร่วมเปลี่ยน ‘สำนึก’ ประวัติศาสตร์ ไทย-กัมพูชา
จริงอยู่ ไทย-กัมพูชา ถือเป็นเพื่อนบ้านกันอย่างใกล้ชิด ชนิดที่ไม่สามารถยกรั้วบ้านหนีจากกันได้
แต่แล้วมีเหตุผลอะไรที่ทำให้เรามีปัญหากับ “เพื่อน” (บ้าน) ใน “กลุ่ม” (ประเทศอาเซียน) เดียวกัน ? เป็นเพราะ “เพื่อนนิสัยไม่ดี” “เพื่อนขี้โกง” หรือ “เพื่อนเอาเปรียบ” หรือเพราะเราไม่รู้จัก ไม่เข้าใจ ซึ่งกันและกันดีพอ !?!
ใช่...สาเหตุนี้หรือไม่ ที่เป็นต้นเหตุของความขัดแย้งแบบไม่มีวันสิ้นสุด ยิ่งหากให้พูดในแง่ประวัติศาสตร์ หรือพูดถึงความสัมพันธ์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านด้วยแล้ว โดยเฉพาะความรู้สึกของคนไทยที่มีต่อกัมพูชานั้น ย่อมที่จะแตกต่างกับที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้านแถบอื่นๆ
ในมุมมอง ศ.ดร.นิธิ นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์ชั้นนำคนหนึ่งของสังคมไทย ณ วันนี้สวมหมวกอีกใบ นั่งในคณะกรรมการปฏิรูป บอกว่า คนไทยถูกสอนให้ดูถูกเพื่อนบ้าน ยิ่งกับกัมพูชา มีอะไรมากกว่าการดูถูก
ทั้งหมดนั้นมาจาก “สำนึกทางประวัติศาสตร์”
ให้ไล่เรียงประวัติศาสตร์ไทย อาจารย์นิธิ ลงความเห็นว่า เราเริ่มเขียนอย่างจริงๆ จังๆ ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มากกว่าเหลืออะไรจากก่อนหน้านั้นขึ้นไป ยิ่งตอนต้นรัตนโกสินทร์ สถานะของกัมพูชาเปลี่ยนไปแล้ว เช่น ในพงศาวดารที่เขียนขึ้นสมัยพระเจ้าอู่ทอง สถานะกัมพูชาไม่ได้เป็นอย่างที่เรารู้จักในพระราชพงศาวดารทุกวันนี้ ตอนนั้นกัมพูชาเป็นศูนย์กลางอารยธรรม
“ผมคิดว่ารัฐ หรืออาณาจักรลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง คิดว่าตัวเองอยู่ในโลกการเมืองของกัมพูชาด้วยซ้ำไป พอมาถึงต้นรัตนโกสินทร์ กัมพูชามิใช่อย่างนั้น สถานะที่ตกต่ำลงของกัมพูชา ถูกถ่ายทอดในพงศาวดารและสืบทอดมาในประวัติศาสตร์ที่เป็นแบบเรียน
ผมมีข้อสังเกต ในสมัยรัชกาลที่ 4 เคยมีพระราชสาส์นถึงฝรั่ง บอกว่า คนไทยเป็นประเทศที่มีอารยะ แต่คนเขมรกึ่งอารยะ การที่เราต้องปกครองเขมรต่อไปเพื่อเราจะได้สามารถนำอารยธรรมไปให้แก่ กัมพูชา”
ภารกิจอย่างเดียวกับที่อังกฤษต้องปกครอง "อินเดีย"
สำนึกประวัติศาสตร์เช่นนี้ อาจารย์นิธิ บอกว่า ได้ก่อให้เกิดวาทกรรม เกี่ยวกับกัมพูชาขึ้นมา วาทกรรมแรก คือ แปรพักตร์ แปลว่า ขี้หักหลัง คบไม่ได้ วาทกรรมอันที่สอง สมัยต้นรัตนโกสินทร์ มองกัมพูชาเป็นสะพานเชื่อมอำนาจที่ปฏิปักษ์กับเรา เข้ามาหาตัวเรา ซึ่งเราไม่เคยมองมลายู อย่างนั้น วาทกรรมอันที่สาม ขาดระเบียบ ขาดความเจริญ ต่ำต้อย และน่าขำ สุดท้ายทำให้คนไทยรู้สึกว่า เราปล่อยเขมรไม่ได้ ต้องคุมไว้เพราะเป็นอันตราย
มองมุมกลับกัน...ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ กัมพูชา อาจารย์นิธิ เห็นเพิ่มเติมว่า ไม่ได้รวบรวมเอาเรื่องราวเกี่ยวกับอดีตในความจำของประชาชนทั่วไปไว้ แต่เอามาจากพระราชพงศาวดารกัมพูชาที่เป็นลายลักษณ์อักษร และเขียนขึ้นภายใต้อิทธิพลของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเป็นการเอามาจากงานวิชาการของนักวิชาการฝรั่งเศส ซึ่งจบลง เมื่อจบอาณาจักรพระนคร
หมายความว่า ประเทศกัมพูชาหลังอาณาจักรพระนคร ฝรั่งเศสสนใจเพียงแค่นี้ ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของกัมพูชา จึงมีแกนเรื่องผสมระหว่างหลักฐานของชนชั้นนำกัมพูชา กับข้อสรุปของนักวิชาการฝรั่งเศส
แกนเรื่องก็จะเป็นว่า มีอาณาจักรยิ่งใหญ่แข็งแกร่งอันหนึ่ง ต่อมาก็ถูกประเทศเพื่อนบ้าน เวียดนาม และไทย มาทำให้พังสลายลง
ที่อาจารย์นิธิ สังเกตและพบความประหลาด นั่นก็คือ ประวัติศาสตร์ทั้งสองชาติ ทั้งไทย-กัมพูชา ไม่มีความสัมพันธ์ทางด้านอื่นเลย
ไม่มี...ความสัมพันธ์ด้านการค้า
ไม่มี...ความสัมพันธ์ในเรื่องการอพยพของผู้คน
และไม่มี...ความสัมพันธ์ในเรื่องของเครือญาติของคนอยู่แถวนั้น
ทั้งไทย-กัมพูชา มีอยู่เรื่องเดียว คือ การเมืองและสงคราม
“ทั้งๆ ที่เวลาเราเล่าถึงความสัมพันธ์กับคนทิเบต กับจีน กับอะไรตั้งเยอะแยะ พบว่า ไม่ได้เป็นมิติเดียวแบบที่เราจะจดจำ หรือเล่าเหมือนกับความสัมพันธ์ระหว่างเรากับกัมพูชา เป็นมิติเดียวทางการเมืองและสงคราม” อาจารย์นิธิ ระบุ และเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า ต้องเปลี่ยนสำนึกประวัติศาสตร์ของทั้งสองฝ่าย เปลี่ยนเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ ให้เป็นเนื้อหาที่มี “สำนึกใหม่” ได้ด้วย
ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา ที่นอกจากสำนึกประวัติศาสตร์จะมีปัญหาแล้ว ครั้นหันมาดู สำนึกความเป็นชาติของทั้งสองฝ่าย ก็ยังเป็นปัญหา
ในทัศนะอาจารย์นิธิ สะท้อนออกมาว่า ทั้งไทยและกัมพูชา พัฒนาความเป็นชาติขึ้นมาอย่างไม่สมบูรณ์ สำนึกเรื่องชาติของไทย กระจุกอยู่กับ “ชนชั้นนำ” จำนวน เล็กๆ ก่อน จึงขาดลักษณะของรัฐชาติหลายๆ อย่าง ขาดสำนึกความเป็นพลเมือง ที่มีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่มาพร้อมคำสอนเกี่ยวกับความรักชาติ ชาตินิยม รัฐชาติแบบไทย และไม่นำไปสู่ความคิดเรื่องเสมอภาค ไม่นำไปสู่ความคิดเรื่องเสรีภาพ
“แน่นนอนว่า จึงไม่นำไปสู่ความคิดเรื่องของการเมืองในระบบตลาด เพราะประชาธิปไตย คือการเมืองในระบบตลาดที่ ทำให้ทุกคนเข้ามาต่อรองได้อย่างเท่าเทียมกัน่”
กอรปกับสำนึกชาตินิยมของกัมพูชาในช่วงเดียวกัน “ชนชั้นนำ” ของกัมพูชาที่นำเอาสำนึกชาตินิยมเข้ามา ก็มีความหลากหลายกว่าชนชั้นนำไทย เช่น พระภิกษุ เนื่องจากฝรั่งเศสอยากให้กัมพูชา หลุดออกจากอิทธิพลพุทธศาสนาของไทย มีความพยายามสร้างวิทยาลัยทางสงฆ์ ซึ่งหนึ่งในกลุ่มคนที่ฝรั่งเศสดึงมาช่วย ก็เบนไปสู่ความคิดของชาตินิยมด้วย
และแม้ว่า กัมพูชาจะไม่สามารถแพร่ความคิดเรื่องชาตินิยมผ่านการศึกษาได้เท่ากับไทย แต่ทว่า ความที่กัมพูชาได้ผ่านการปฏิวัติมวลชน ทำให้สามารถจะแพร่ความคิดเหล่านี้ออกไปได้อย่างกว้างขวาง ชาตินิยมจึงถูกส่งจากข้างบนลงมา...เช่นกัน
ชาตินิยมกับรัฐชาติแบบนี้ เขาเห็นว่า มีปัญหาเพราะไม่ได้พัฒนามาจากประชาชนในวงกว้าง ดังนั้นความหมายจึงค่อนข้างแคบ และทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา
โดยสิ่งที่เหมือนๆ กัน คือ ทั้งสองฝ่ายไม่มีความคิดเรื่องเกี่ยวกับชายแดนมีชีวิต มีความคิดแต่เรื่องพรมแดน เขตแดน ทั้งๆ ที่เส้นที่สองประเทศมาชนกันเป็นเส้นสมมติขึ้น เกิดขึ้นไม่นานนี้
"ทั้งไทยและกัมพูชา สร้าง “รัฐชาติ” ในแบบที่ไม่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไปขัดขวางประชาธิปไตย “ชาตินิยม” ของ ทั้ง 2 ประเทศ และได้กลายเป็นเครื่องมือของเผด็จการ ที่ใช้แย่งอำนาจ ใช้เพื่อเอาเปรียบคนเล็กคนน้อย รวมทั้งปลุกเร้า สำนึกชาตินิยมเพื่อประโยชน์การเมืองภายใน โดยเบื้องหลังความขัดแย้งทุกครั้งมีผลประโยชน์ และมีการเมืองภายในของคนบางกลุ่ม ไม่ใช่เป็นเรื่อง “ชาติไทย” กับ “ชาติกัมพูชา” ทะเลาะ กัน เป็นเรื่องชนชั้นนำกลุ่มเล็กๆ บางกลุ่มทะเลาะกันเอง และใช้ประโยชน์เรื่องของพรมแดนก่อความขัดแย้งขึ้น” อาจารย์นิธิ ยืนยัน พร้อมกับทิ้งท้ายไว้อย่างนั้น
ฉะนั้น ตราบใดเรายังไม่สามารถพัฒนาชาติไทย สู่ความเป็นรัฐชาติที่สมบูรณ์ได้ ให้เป็นสมบัติของประชาชนอย่างแท้จริง สถานการณ์ความตึงเครียดที่พรมแดน และชายแดน ก็จะเกิดขึ้นเสมอๆ เป็นน้ำหล่อเลี้ยงสำนึกประวัติศาสตร์ที่ผิดๆ ตลอดไป
ขณะที่ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ประเทศสหรัฐอเมริกา มีมุมมองไม่แตกต่างกันนัก โดยได้แสดงความเห็นแบบฟันธงเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งไทย-กัมพูชา เอาไว้ว่า ไม่ใช่เรื่องเขตแดน แต่เป็น “โรค” ของอาการจากปัญหาอื่น
“โรค” ที่เกิดจากการเมืองไทย มีรากปัญหามาจากการเมืองไทยเอง…
ขณะที่อุดมการณ์ชาตินิยมกับ การเสียดินแดน เราก็ถูกบ่มเพาะมาว่า ไทยเป็นชาติที่น่าภูมิใจ ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใคร มีเอกราชมาตลอด อาจารย์ธงชัย บอกว่า เหรียญมีอีกด้านหนึ่งที่อยู่คู่กันเสมอ คือ เราถูกรังแก เราเสียดินแดน และให้เราโกรธแค้นตลอดเวลา ดังนั้น ทั้งหมดจึงเป็นเรื่องความเชื่อทางประวัติศาสตร์ ที่ยังหาข้อพิสูจน์ทางประวัติศาสตร์เด่นชัดเด็ดขาดไม่ได้
“เป็นเรื่องที่สังคมไทยเลือกเชื่อมาร้อย กว่าปี “ไม่เสียดินแดน” และยากที่จะสลัดให้ออกได้” นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสันฯ วิเคราะห์ถึงอคติ มายาคติที่ยังคงอยู่
หากให้ขยายมุมมองที่มีต่อเพื่อนบ้าน ในประเด็น “การเสียดินแดน” – “การได้ดินแดน” นั้น ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยพูดไว้ในหนังสือ “สยาม-ขะแมร์ คู่รัก คู่ชัง คู่กรรม คู่เวร” ไว้อย่างน่าคิด
โดยเขาเห็นว่า ทุกประเทศในอุษาคเนย์ ไม่มีใครเขียนเรื่องได้ดินแดน มีแต่เขียนเรื่องเสียดินแดน ดังนั้น ต้องมีนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ เปลี่ยนวิธีคิดแล้วเขียนใหม่ ในที่สุดรัฐมนตรีศึกษาธิการของอาเซียน ก็ต้องมานั่งคิดด้วยว่า
เขียนประวัติศาสตร์อย่างไร ให้ไม่ทะเลาะกัน
เพราะถ้าไม่เขียนประวัติศาสตร์แบบ ใหม่ให้เหมือนในยุโรปแล้วล่ะก็ เชื่อว่า คงดีกันไม่ได้ ด้วยต่างคนต่างจดจำความรู้สึกที่เป็นบาดแผล จนปล่อยให้ปัญหาคาใจข้ามศตวรรษแบบนี้ไปเรื่อยๆ