มอง"ความเหลื่อมล้ำ"ผ่านภาพ...ฉายความคิด
‘ความเหลื่อมล้ำ’ นับเป็นคำที่ถูกกล่าวถึงในหลายเวทีตลอดปีที่ผ่านมา ประเด็นของความเหลื่อมล้ำ อันจะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศก็ได้ยินจนคุ้นหู หากแต่ภาพของความเหลื่อมล้ำที่เรากล่าวถึงอยู่นั้น จะสามารถมองเห็นได้ชัดเจน เป็นรูปธรรม ได้มากน้อยเพียงใด กลายเป็นโจทย์ให้สำนักงานคณะกรรมการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และสำนักงานปฏิรูป (สปร.) คิดร่วมกัน
2 องค์กรจับมือร่วมกันจัดนิทรรศการภาพถ่ายประกอบคำบรรยายในหัวข้อ “ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ทำไมต้องปฏิรูปประเทศไทย” ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่เพิ่งจบไปหมาดๆ ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ เปิดพื้นที่ให้โซนเล็กๆ แสดงภาพถ่ายที่บันทึกความคิด มุมมอง และทัศนะของช่างภาพไว้อย่างครบครัน
“ภาพถ่าย 1 ภาพสามารถบรรยายความหมายได้ดีกว่าคำพูด ช่างภาพต่างก็สื่อความคิด ทัศนะในประเด็น ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ออกมาได้ชัดเจนว่า มีความเหลื่อมล้ำอย่างไรในประเทศเราบ้าง ทั้งปัญหาที่อยู่อาศัย ตลอดจนสภาพวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ที่ล้วนเดินสวนทางกับการพัฒนาและความก้าวหน้าในประเทศไทยเรามาตลอด”
นายวรนันท์ ชัชวาลทิพากร ศิลปินแห่งชาติ ปี 2552 สาขาทัศนศิลป์ด้านภาพถ่าย ในฐานะกรรมการพิจารณาภาพถ่าย กล่าวบนเวทีระหว่างมอบเกียรติบัตรแก่เจ้าของภาพถ่ายผู้ได้รับการคัดเลือกมาจัดนิทรรศการฯ
หลังจากเดินชมภาพจนทั่วแล้ว ศิลปินแห่งชาติ บอกว่า บรรดาภาพถ่ายเหล่านี้บรรยายความหมายได้เป็นอย่างดี และหากได้เผยแพร่ออกไปให้ผู้ใหญ่ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องได้ชมบ้าง ก็จะทำให้มองเห็นภาพความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งเราได้เห็นความพยายามของเจ้าของภาพที่ถ่ายทอด และบันทึกภาพ ในความคิดของเขานั้น ความเหลื่อมล้ำ เป็นอย่างไรกันบ้าง
กว่า 20 ภาพ ในนิทรรศการครั้งนี้ บอกอะไร …?
“ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำอยู่หลายเรื่อง บางเรื่องเราเห็นชัด บางเรื่องก็มองไม่เห็น ภาพชุดความแปลกแยกในเมืองใหญ่นี้ ผมต้องการนำเสนอสภาพที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกัน ความไม่เข้ากันของสิ่งปลูกสร้าง เพราะไม่มีการกำหนดโซนนิ่ง แต่การกั้นด้วยรั้วสูง หรือการปลูกต้นไม้ใหญ่เพื่อบังสิ่งที่เราไม่อยากเห็น ก็ไม่ใช่ทางออก"
คำอธิบายความภาพชุด ‘ความแปลกแยกในเมืองใหญ่’ ของนายจัตุชัย อิศรางกูร ณ อยุธยา (FOTOSIA Chief Director, Bangkok) ที่ต้องการนำเสนอเรื่องความเหลื่อมล้ำในที่อยู่อาศัย ว่า ในประเทศเรามีความเหลื่อมล้ำกันอย่างมาก
ทุกคนต้องเคยเห็นและสัมผัสกับริมถนนย่านที่พักอาศัยราคากว่า 30 ล้าน ในขณะที่เดินต่อไปไม่ถึง 100 เมตร ก็จะเป็นภาพของแฟลตและสลัม มันต่างกันชัดเจน แต่บางคนไม่ได้ใส่ใจ “ผมจึงอยากสื่อว่า เวลาเราจะพัฒนาอะไรควรจะให้สิ่งที่เสื่อมโทรมพัฒนาไปควบคู่กัน เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
จริงๆ แล้วงานนี้เป็นงานที่น่าสนใจ และมีหัวข้อดีที่ตั้งคำถามว่า ‘ทำไมต้องปฏิรูปประเทศไทย’ ภาพของผมก็กำลังตอบคำถามนั้น ว่า ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำอย่างไร และเราจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร
สิ่งที่ผมอยากเห็นต่อจากนี้คือ หลังจากงานนี้ไปน่าจะมีการจัดแสดงภาพถ่ายทั้งหมดนี้ให้ทั่วถึงมากขึ้น เพราะงานนี้คนทั่วไปจะไม่ได้เข้ามาชม หากคนได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ก็จะมองเห็นว่า ประเทศเรามีความเหลื่อมล้ำแบบนี้อยู่ด้วย” เจ้าของภาพ ‘ความแปลกแยกในเมืองใหญ่’ กล่าว ก่อนที่จะย้ำว่า
“ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย มีให้เห็นอยู่มากมายหลายปัญหา สิ่งเหล่านี้ยากจะบอกว่า มีคนผิดหรือไม่ หรือโทษว่า เป็นความผิดของใคร แต่สิ่งที่เราควรจะทำ คือช่วยกันกำจัดหรือลดช่องว่างตรงนี้ให้น้อยลง เพื่อความสุขอย่างเท่าเทียมกันของคนในสังคม”
ชื่อภาพ ‘แสงศิวิไลซ์’ ของ นายเกรียงไกร ประทุมซ้าย Art Director บริษัท โสลาส จำกัด ที่ใช้เทคนิคการเปรียบเทียบสีสันของภาพถ่ายระหว่างภาพด้านหลังกับด้านหน้า เพื่อฉายภาพความเหลื่อมล้ำผ่าน แสงสี และแสงไฟ ที่จะสื่อถึงสังคมเมือง ความศิวิไลซ์ ความร่ำรวย ส่วนฉากหน้า คือความจริงของชีวิตขอทาน
ความขัดแย้งที่ชัดเจนของภาพชี้ถึงความเหลื่อมล้ำกันอยู่ ซึ่งเรื่องนี้มองเห็นได้ง่ายบนท้องถนน และชีวิตประจำวันที่ควรต้องปลุกให้เกิดความใส่ใจกว่าที่เป็นอยู่
“ผมคิดว่าอย่างน้อยๆ ภาพถ่ายเหล่านี้น่าจะกระตุ้นอะไรคนได้บ้าง ภาพเล็กๆ หลายๆ ภาพรวมกัน ก็น่าจะดึงคนให้หันมามองเรื่องนี้ และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาได้”
“ภาพหญิงชราที่เหม่อลอยเฝ้ารอคอยการกลับมาของลูกหลาน มีให้พบเห็นอยู่ทั่วไปในชนบท ความเจริญในเมืองใหญ่ที่เป็นแรงดึงดูดหนุ่มสาวให้ทิ้งเรือกสวนไร่นาของตนเข้ามาเสี่ยงโชค ภาพชีวิตทำนองนี้คงมีให้พบต่อไปอีกนานตราบเท่าที่ยังแก้ปัญหาที่ต้นตอไม่ได้”
นายนิพนธ์ เรียบเรียง ช่างภาพอิสระ และวิทยากรพิเศษ บอกเราถึงแรงบันดาลใจอันเป็นที่มาของภาพ ‘คอย’ อันสะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำที่เปรียบเหมือน "นิยาย" ถูกสร้างขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำอีก มีพล็อตเดิมตลอด แต่ก็ไม่เคยได้รับการแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด
โดยส่วนตัวเขาเชื่อว่าปัญหาเหล่านี้มาจากค่านิยมที่เราเชื่อว่า เมืองเป็นศูนย์รวมของความเจริญ ทุกคนก็มุ่งสู่เมืองใหญ่ สังคมเราเป็นสังคมที่ไม่นับถือตัวเอง คนรุ่นใหม่ที่เป็นความหวังก็ไม่เชื่อว่า สังคมที่เขาเกิดจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี สง่างาม การเข้ามาแสวงโชคในเมืองใหญ่เป็นหนทางเดียวที่เขาจะพัฒนาต่อไปได้
วิธีคิดแบบนี้ทำให้เกิดความห่างกันระหว่างเมืองใหญ่กับชนบทมากขึ้น คนที่จะถูกทอดทิ้งในตอนจบก็จะเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ หรือคนด้อยโอกาส
“ผลที่ได้จากนิทรรศการภาพครั้งนี้ ผมไม่แน่ใจว่าจะส่งผลในวงกว้างได้มากน้อยขนาดไหน แต่ก็เป็นการจุดประกายเล็กๆ ได้ เพราะงานนี้ก็มีน้องๆ นักศึกษามาร่วมด้วย ทำให้ได้เห็นว่า เขาก็มีมุมมองที่อยากถ่ายทอดออกมา ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เขารู้สึก ถ้าเยาวชนเริ่มมีมุมมอง มีทัศนะ และข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ในสังคมมากๆ ก็จะเป็นเรื่องดี และจะแผ่ออกไปเป็นวงกว้างเหมือนเวลาที่เราเขวี้ยงหินลงในบึงก็จะเกิดระลอกน้ำกระเพื่อม และส่งผลไป ซึ่งจะต้องใช้เวลาขนาดไหนก็ไม่มีใครรู้ แต่ก็คงต้องเริ่มต้นจากตัวเราก่อน เพราะทุกคนต้องร่วมกันดูแล”
“ผมใช้เวลาว่างกับการถ่ายภาพค่อนข้างบ่อย ออกไปค้นหาที่ต่างๆ วิถีชีวิตหลายๆ รูปแบบบันทึกเป็นรูปภาพ แต่สิ่งที่ได้มากกว่าภาพถ่าย คือได้รู้จักสถานที่ต่างๆ ได้เรียนรู้ชีวิต สิ่งเหล่านี้แหละที่ผมค้นหา และคงไม่หยุดถ้ายังมีลมหายใจ”
ความรักในการถ่ายภาพทำให้ นายสุริยะ ทองบุศย์ นักศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยปทุมธานี เข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอทัศนะผ่านภาพถ่ายของเขาในชุดภาพ ‘ห่วงโซ่เดียวกัน’ ที่มุ่งเน้นสะท้อนด้านความเป็นอยู่ เพราะเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดว่าเกิดความไม่เท่าเทียม และมีความเชื่อเหลือเกินว่าต้นตอของความเหลื่อมล้ำทั้งหมดนี้มาจากปัญหาการศึกษา
“ที่ผ่านมาผมมองเห็นความเหลื่อมล้ำ และไม่เท่าเทียมทางการศึกษา หลายคนยังไม่มีโอกาส หรือได้รับโอกาสทางการศึกษาน้อยมาก ด้วยเพราะปัจจัยเรื่องค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ทำให้หลายครอบครัวที่ต้องหาเช้ากินค่ำ ไม่สามารถแบกรับภาระได้ไหว อันเป็นที่มาของปัญหาความเหลื่อมล้ำในด้านอื่นๆ ที่ผุดตามมา
นิทรรศการภาพถ่ายในครั้งนี้ก็คงจะช่วยสะท้อนให้คนในสังคมมองเห็น หรือคิดได้บ้างเกี่ยวกับเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่ผมมองว่าการช่วยเหลือ หรือลดความเหลื่อมล้ำนั้นควรเป็นสิ่งที่เราทุกคนในสังคมจะหันมาช่วยเหลือกันเองมากกว่า แทนที่จะเฝ้ารอการช่วยเหลือจากภาครัฐทางเดียว”
หญิงสาวร่างเล็ก นางสาวกฤติยา สมันตรัฐ นักศึกษาจากคณะบริหารธุรกิจการตลาด มหาวิทยาลัยหอ การค้าไทย ที่เลือกนำเสนอภาพความเหลื่อมล้ำจากพื้นที่ใกล้บ้าน ภายหลังจากที่ปั่นจักรยานเจอสภาพบ้านเสื่อมโทรมใต้ป้ายโฆษณาสุดทันสมัย จึงบังเกิดภาพ ‘ป้ายทน…คนชรา’ ขึ้น
“กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงที่เกลื่อนด้วยป้ายโฆษณา ธุรกิจหลายอย่างเชิดชูตนบนป้ายขนาดมหึมา ซึ่งมักปักฐานอยู่บนสิ่งก่อสร้างที่เบื้องล่างเป็นชุมชนแออัด ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์อันทันสมัย ป้ายโฆษณาจึงคงทนและท้าทาย เป็นตัวกระตุ้นยอดขาย ผิดกับคนที่อยู่เบื้องล่างที่ห่างไกลสายตาและเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา”
เธอบอกว่า มุมมองจากภาพทุกภาพล้วนสะท้อนถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำออกมาแล้ว ซึ่งนั่นคือหน้าที่ของช่างภาพอย่างพวกเรา แต่หลังจากนี้ไปมุมมองความคิด และทัศนะเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในการลดความเหลื่อมล้ำ หรือการปฏิรูปประเทศไทยได้หรือไม่ อย่างไร ประเด็นนี้คงเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะลงมือ ลงแรงต่อไป
ณ วันนี้ ภาพความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยได้ถูกฉายจากมุมมอง ความคิด คนไทยหลากหลายกลุ่มคน เพศ วัย และอาชีพ สู่สายตาทุกคนแล้ว บางภาพได้เห็นก็คุ้นตา และเข้าใจ บางภาพสะท้อนมุมมองความเหลื่อมล้ำใหม่ๆ อย่างที่หลายคนเพิ่งเคยพบเห็น ซึ่งเชื่อว่า ภาพถ่ายทั้งหมดอาจพอจะเป็นเศษเสี้ยวในการจุดประกายความคิด หรือสร้างแรงบันดาลใจให้ใครสักคน สักกลุ่ม ทั้งระดับตำบล จังหวัด หรือระดับประเทศ ได้บ้างไม่มากก็น้อย....
นิทรรศการภาพถ่ายประกอบคำบรรยาย
@ ตั้งชื่อภาพ ‘ยาย’ ฝีมือของสาวสุพัชชา ล้อมสินทรัพย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยปทุมธานี (ภาพที่2 จากบนซ้าย)
“ภาพที่คนสูงอายุวัยขนาดนี้ออกมาทำมาหากินมีอยู่มากมายในสังคมไทย อาจมีสาเหตุจากหลายประการ วัยนี้น่าจะเป็นวัยที่อยู่ในบ้านอย่างสุข สงบ และพึ่งตนเองได้ด้วยระบบสวัสดิการของรัฐ แทนที่จะจบลงด้วยการขายของที่คนอุดหนุนก็เพราะความสงสาร”
@ นายนิรันดร์ บุญนาค คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยปทุมธานี มากับชื่อภาพ ‘คนจนหรือขอทาน’ (ภาพแรกจากล่างซ้าย)
“ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมไทย บางทีเราก็แยกไม่ออกว่า คนจนหรือเป็นขอทาน คนเราจนมากๆ ก็ต้องกลายมาเป็นขอทานเพื่อความอยู่รอด รัฐจะมีนโยบายแบบไหนที่จะดูแลคนเหล่านี้ได้ทั่วถึงบ้าง เพราะคนเหล่านี้ต่างมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกวัน”
@ ภาพ ‘ตาบอด’ ถ่ายโดยนายวัชระ แก้วเพ็งตรอ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยปทุมธานี (ภาพที่ 2 จากล่างขวา) กับคำบรรยาย
“คนตาบอดที่อยู่ในความมืดมิด ยังคงต้องทำมาหากินเพื่อช่วยเหลือตัว รัฐจะช่วยอะไรได้บ้าง”
@ ‘บาดเจ็บ’ ชื่อภาพตั้งโดย นางสาวระพีพรรณ พลชา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยปทุมธานี (ภาพขวาสุด)
“เมื่อไม่มีหนทาง ขนาดร่างกายบาดเจ็บ ยังต้องออกมาทำมาหากินเลี้ยงตัวเองเพื่อความอยู่รอด คนในสังคมจะช่วยอะไรได้บ้าง ที่สำคัญรัฐจะจัดหาสวัสดิการใดมาช่วยเหลือคนพวกนี้ได้บ้าง”
@ ชื่อภาพ ‘ความแตกต่าง’ ของนายจามิกร ศรีดำ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาลัยเพาะช่าง
“เย็นวันหนึ่ง ผมขึ้นไปถ่ายภาพมุมสูงในอาคารของมหาวิทยาลัย ระหว่างทางเดินขึ้นบันได จะมองเห็นท้องนา บ้านเรือนผู้คน แต่ที่ทำให้สะดุดตาก็คือบ้านพักคนงานก่อสร้าง ที่มีฉากหลังเป็นตึกสูง ผมรู้สึกได้ถึงความขัดแย้งในชีวิตความเป็นอยู่ของคนในเมือง”
@ นายขวัญชัย ประดิษฐสิน ผู้สื่อข่าวอิสระ เจ้าของภาพ ‘นกขมิ้นในดงคอนกรีต’
“ปัญหาเร่ร่อน ขาดที่อาศัยพักพิง ต้องอยู่ตามสะพานลอย หรือตามสถานที่สาธารณะเป็นสิ่งที่เราพบเห็นเสมอ ยิ่งวันยิ่งมาก โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่ผู้คนต่างเห็นแต่ตัวเอง ผมหวังว่าภาครัฐจะหาทางแก้ไขที่ต้นเหตุ โดยเฉพาะปัญหาเร่ร่อน ที่จะนำไปสู่ปัญหาสังคมรูปแบบอื่นๆ ที่เลวร้ายยิ่งขึ้น”
@ นายพรภวิษย์ โพธิ์สว่าง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาลัยเพาะช่าง เจ้าของภาพ ‘หัวหาย สำนึกหาย’
“ผมเล่นกับสัญญะสูทสากลเพื่อสะท้อนแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจที่อยากก้าวทันโลก เขายืนอยู่กลางซากปรักหักพังยวดยานทันสมัย มีคนส่วนใหญ่อยู่ชั้นกลาง มีคนอาศัยใต้สะพานด้านล่าง เป็นเรื่องราวความขัดแย้งและช่องว่างที่มีอยู่ในสังคมไทย ซึ่งผมมองว่า สาเหตุหนึ่งก็มาจากปัญหาคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นในองค์กรทุกระดับ และหลายๆ คนก็ ‘ยอม’ ให้มันเกิดขึ้น”
@ ชื่อชุดภาพ ‘เวลาที่เหลืออยู่’ ของนายพงศ์กฤษฏิ์ พละเลิศ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
“ในวัยเด็ก ผมเติบโตในครอบครัวชนบท (สุพรรณบุรี) สมัยนั้นคำว่า บ้าน หรือ ครอบครัว มักจะมีปู่ ย่า ตา ยาย อาศัยอยู่ร่วมด้วยเสมอ วันนี้ ผมแยกครอบครัวออกมาเป็นของตนเองแล้ว แต่คราวใดที่มองดูภาพของคนแก่ ผมมักนึกถึงบรรยากาศเก่าๆ สำหรับผม ท่านเหล่านั้นเป็นปูชนียบุคคลที่มีค่า”
@ ภาพ ‘Same RULE. Same Right. Same Road.’ เป็นฝีมือของนายวงศกร ช่วยไผ่ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ
“ความเสมอภาค และความยุติธรรมไม่จำเป็นต้องไปเรียกร้องจากรัฐสภา บนถนนเส้นหนึ่งเราทุกคนสามารถช่วยกันสร้างเรื่องนี้ได้ ถ้าเคารพกฎหมายเดียวกัน ใช้ถนนด้วยความเท่าเทียมกัน และเคารพสิทธิที่มีเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นคนเดินถนน จักรยาน รถเมล์ รถส่วนตัว แท็กซี่ หรือแม้แต่ซาเล้ง”
@ ภาพ ‘บดบัง’ ฝีมือนายชฎาธาร ฉายปุริยานนท์ ช่างภาพอิสระ
“การตระเวนถ่ายภาพในหลายสถานที่ ทำให้ผมได้พบเห็นเรื่องราวมากมาย การถ่ายภาพจากที่สูงก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่ผมชอบ เพราะได้มองไกล เกิดจินตนาการกว้าง ผลงานชุดนี้ทำให้ผมเห็นความเป็นอยู่ของผู้คนในเมืองหลวงที่แตกต่างกันอย่าง กับฟ้าดิน”
@ นายวงศกร ทองเนื้อดี คณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต และช่างภาพอิสระ เจ้าของภาพ ‘ชีวิต หนทาง และโอกาส’ ให้คำบรรยาย
“นักการเมืองมองคนจนสำคัญก็ต่อเมื่อต้องการเครื่องหมายกากบาทจากพวกเขาในวันเลือกตั้ง ที่เหลือโอกาสเป็นของคนมีการศึกษาและคนมีสตางค์”
@ ช่างภาพสำนักงานข่าว AFP ประจำประเทศไทย นายพรชัย กิตติวงศ์สกุล มากับภาพ ‘มองต่างมุม’
“บรรยากาศบ้านเมืองช่วง 2-3 ปีนี้ มีแต่เรื่องเหลือง-แดง ซึ่งผมรู้สึกว่าเป็นเวรกรรมของประเทศ ทำให้เราสนใจเรื่องอื่นๆ น้อยลง ทั้งๆ ที่บ้านเมืองก็มีสารพัดปัญหาที่จะต้องแก้ไข ผมก็คิดว่าประชาชนต้องลุกขึ้นมารวมกันเป็นกลุ่มก้อนหาหนทางแก้ไขปัญหาใกล้ๆ ตัวกันเองก่อน”
@ สถาปนิกหนุ่ม นายปฐมพงศ์ โลหะวิจารณ์ เจ้าของภาพ ‘หนึ่งชีวิต…เหมือนกัน’
“ผมคิดว่าการถ่ายภาพไม่ใช่เป็นแค่การบันทึกภาพเหตุการณ์ แต่เป็นการบันทึกเรื่องราว อารมณ์ ความรู้สึก ทั้งตัวภาพเอง และผู้ถ่ายทอดเรื่องราวนั้น ผมรวมกลุ่มกับเพื่อนอีกสองคนเรียกว่า Remake Dreams เราช่วยกันมองสภาพปัญหาในประเด็นความเหลื่อมล้ำ”