5 ทางออก สร้าง “หุ้นส่วน” จัดสรรทรัพยากรให้เป็นธรรม
"ยุทธศาสตร์" การปฏิรูป และกรอบการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ที่มีเป้าหมาย "สร้างความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม" นั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวกันกับการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ ระหว่างรัฐ เอกชน และภาคประชาชน ซึ่งปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม โดยเฉพาะการรวมศูนย์อำนาจรัฐที่ครอบคลุมไปทุกภาคส่วน มีผลให้บุคคล ชุมชน อ่อนแอ ง่อยเปลี้ย ไม่มีพลังพอในการจัดการชีวิต และทรัพยากรของตนเอง
โดยเฉพาะการบริหารจัดการทรัพยากรในประเทศไทยมีปัญหามาก ประชาชนได้รับผลกระทบในหลากหลายรูปแบบ ปฏิรูปครั้งนี้ถึงเวลาแล้ว ที่ต้องมีการ “จัดสรรอำนาจใหม่ เพื่อทรัพยากรไทยที่ยั่งยืน” มาฟังเสียงจากภาคประชาชนที่สะท้อนบนเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 “ลดอำนาจรัฐ ขจัดความเหลื่อมล้ำ” ณ หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อเร็วๆ นี้
จี้รัฐเปิดใจให้ชาวบ้านร่วมดูแลป่า
เริ่มต้นที่ภาคเหนือ “เรื่องป่าไม้” นายอนันต์ บัวแก้วเรือน ตัวแทนสมัชชาป่าชุมชนภาคเหนือ มองว่า อำนาจการบริหารทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องดิน น้ำ ป่า ถูกรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง มีกรมป่าไม้มา 100 กว่าปี แต่นับวัน “ไม้” ก็ยิ่งหมดไป ขณะที่พี่น้องประชาชนที่ลุกขึ้นมาจัดการ กลับถูกกล่าวหา เป็นผู้ทำลายป่า เป็นผู้ร้ายทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด
“ที่ผ่านมาสมัชชาป่าชุมชนภาคเหนือจะพยายามเรียกร้องให้แก้ไขจากอำนาจส่วนกลาง แต่ไม่สัมฤทธิ์ผล ดังนั้น การปฏิรูปครั้งนี้ อยากให้รัฐแบ่งปัน เปิดใจกว้าง ให้ชุมชนท้องถิ่นเข้ามาบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ต้องมากภาคละ 1 ที่ จังหวัดละ 1 แห่ง ให้ชุมชนได้ทำลองดูแลป่าเอง แล้วเปรียบเทียบกันว่า 100 ปีที่มีกรมป่าไม้บริหารจัดการ และ ไม่กี่ 10 ปีให้ชาวบ้านทดลองทำ แบบไหนจะยั่งยืนกว่ากัน”
มีตัวอย่างพื้นที่บ้านทุ่งยาว จ.ลำพูน หรือ ต.แม่ทา จ.เชียงใหม่ ที่คนต้นน้ำ ตัวแทนสมัชชาป่าชุมชนภาคเหนือ ได้ยกมาให้เห็นถึงการดูแลรักษาป่า ที่แตกต่างจากภาครัฐ ชาวบ้านแบ่งพื้นที่ป่าตามพื้นที่ทำกิน ยึดตามแนวสันเขาลุ่มน้ำ พื้นที่ใดจะใช้จะอนุรักษ์ ส่วนใดจะใช้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ไม่ได้ยึดหลักวิทยาศาสตร์ ตามระดับน้ำทะเล ซึ่งเรื่องนี้ก็ไปขัดกับความรู้ที่รัฐเข้าไปทำ
“การดูแลพื้นที่ป่า ชาวบ้านอาจทำได้ไม่ดี 100 % เพราะทั้งประเทศมีคนดีและคนไม่ดี แต่ 100 ปี ที่ให้รัฐจัดการ เราก็เห็นแล้วว่า ป่าสูญเสียไปมาก ดังนั้น รัฐและชาวบ้านต้องหันหน้าเข้าหากัน แบ่งพื้นที่ยืนให้ทั้งหน่วยงานรัฐและชาวบ้าน หน่วยงานรัฐมีความรู้ ชาวบ้านมีกำลัง ต้องบูรณาการดูแลป่าร่วมกัน”
ทางออกของการดูแลทรัพยากร นายอนันต์ เสนอว่า ควรรวมกฎหมายจากภาคประชาชน ทั้งเรื่องดิน น้ำ ป่าไม้ ให้เป็น "การจัดการทรัพยากรภาคประชาชน" รวมกัน สุดท้าย กระจายอำนาจขอให้กระจายอย่างจริงจัง เพราะตอนนี้ยังเป็นเพียงการกระจายอำนาจปกครองมากกว่าการกระจายอำนาจบริหารจัดการ และที่สำคัญอยากให้มีการเลือกตั้งในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็น กำนัน และผู้ว่าราชการจังหวัด
ฟ้องขับไล่-บุกรุกที่-โดนคดีอาญา ชาวบ้านไม่มีวันชนะ
สำหรับเรื่องที่ดิน ปัจจัยการผลิตและฐานชีวิตที่สำคัญสุดนั้น นายเหมราช ลบหนองบัว ชาวจ.ชัยภูมิ ผู้นำเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ถ่ายทอดสิ่งที่พบเจอกับตัวเอง คือ การถูกขับไล่ออกจากที่ดินตนเอง ,ถูกรัฐดำเนินคดีข้อหาบุกรุกที่ดิน ตั้งแต่รุ่นตา ต่อมายังรุ่นพ่อ และในไม่ช้าตนเองก็คงถูกดำเนินคดีด้วย
“ปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนทุกภูมิภาคของประเทศไทย พอเราเจอปัญหาได้ศึกษาเรียนรู้ เนื้อแท้ที่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน และราชการรู้สึกหนักอกหนักใจในการจัดการเรื่องที่ดิน คือ อะไร จนพบว่า รูปแบบการจัดการที่ดินของสังคมไทย เอื้ออำนวยการถือครองที่ดินให้คนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะเอกชนที่มีทุนทรัพย์ สามารถถือครองที่ดิน ที่เป็นปัจจัยพื้นฐาน นำที่ดินมาเป็นสินค้า มีราคา ให้ความสำคัญที่ดินผิดไปจากฐานคิดสำคัญ คือ ที่ดินเป็นแหล่งชีวิต แหล่งอาหาร กลับให้ความสำคัญไปใช้เป็นเครื่องมือค้าขาย
"เราจะเห็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า ไม่ทำประโยชน์ มีที่ดินใช้สร้างโรงงานอุตสาหกรรม ผิดวัตถุประสงค์ ชาวบ้านไม่มีที่ดินทำการผลิต ที่ดินที่ชาวบ้านเคยอยู่กลับถูกประกาศให้เป็นที่ดินของรัฐทับซ้อนที่ดินของชาวบ้านซ้ำดาบสอง และบางครั้งพื้นที่ที่ดินของชาวบ้านยังทับซ้อนกับพื้นที่ป่าอีกด้วย”นายเหมราชตัดพ้อ
ส่วนนโยบายการรักษาป่าของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยมาตรการที่เข้มข้น บังคับใช้ตัวบทกฎหมายทุกตัวบทที่มีอยู่ เริ่มตั้งแต่กระบวนการฟ้องขับไล่ในคดีอาญานั้น ผู้นำเครือข่ายปฏิรูปที่ดินอีสาน ยืนยันว่า ชาวบ้านไม่มีวันชนะ เพราะกระบวนการพิจารณาในชั้นศาลจะพิจารณาที่ดินเป็นของใครตามกฎหมาย ชาวบ้านที่อยู่ในที่ดินของรัฐจึงต้องเป็นผู้บุกรุก แม้ความเป็นจริงจะอยู่มาก่อน มีพยานหลักฐาน มีใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ ก็ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเป็นของชาวบ้าน ซึ่งผลคำพิพากษาก็ต้องออกมาว่า ชาวบ้านบุกรุก แถมถูกฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหาย เหล่านี้เป็นมาตรการที่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน
มองคนจนเมืองมีคุณค่าทางสังคม
ชุมชนเมืองก็ประสบปัญหาการจัดการทรัพยากร ที่ดิน เช่นกัน โดยไปเกี่ยวพันกับความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นปัจจัย 4 ของมนุษย์ “นุชนารถ แท่นทอง” ตัวแทนจากเครือข่ายสลัม 4 ภาค เริ่มต้นที่ศักดิ์ศรีและความเท่าเทียม เมื่อพูดถึงคนจนในเมือง คนมักจะมีทัศนคติในแง่ลบ คือ บ้างก็ว่า คนในสลัมเป็นผู้ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม แหล่งซ่องสุมให้เกิดอาชญากรรม ผลิตยาเสพติด แต่รัฐไม่เคยมองเลยว่า “ทำไมเราไม่มีที่อยู่”
จากโครงสร้างการพัฒนาประเทศที่ไม่สมดุลนี่เอง ตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค บอกว่า อยากให้มองคนจนเมืองเป็นคนที่มีค่าในสังคมบ้าง ซึ่งการแก้ไขปัญหาลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมนั้นต้องกระจายการถือครองที่ดิน ให้มีการเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า คนที่มีที่ดินจำนวนมากจะได้คายที่ดินออกมา เพื่อให้คนในสังคมเข้าถึงที่ดินที่ทำกินได้ และภาษีนี้ก็เอามาสร้างสวัสดิการได้ เชื่อว่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้จริงๆ และนางนุชนารถยังฝากเรื่องในระยะสั้นด้วย
"การบังคับใช้กฎหมายกับคนจนที่มีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นั้นไม่ควรจะนำมาใช้ เพราะคดีคนจนไม่ได้ร้ายแรงถึงขนาดฆ่าคนตาย หากจะปฏิรูปประเทศไทย ควรหยุดซะ"
7 ข้อเรียกร้องจากประมงพื้นบ้าน
“ประเทศไทยมี 22 จังหวัดมีที่มีพื้นที่ติดทะเล มีประชากร 6 หมื่นครัวเรือน 92% อาชีพประมงพื้นบ้าน 8 % ทำประมงพาณิชย์ ผลผลิต 12% ก็มาจากประมงพื้นบ้าน อีก 88% เป็นผลผลิตของประมงพาณิชย์” นายสะมะแอ เจะมูด เลขาธิการสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้ เปิดตัวเลขก่อนจะนำเข้าสู่ปัญหาประมงที่เป็น “อมตะ” มี 3 ประเด็นหลัก คือ ปัญหาทรัพยากร สังคม และเศรษฐกิจ
นายสะมะแอ เริ่มที่ปัญหาทรัพยากร ณ วันนี้มีการทำลายล้างทรัพยากรค่อนข้างต่อเนื่อง ทำให้หอย ปะการัง หายไป ต้องทำปะการังเทียมขึ้นมา ปัญหาสังคมนั้นเราไม่มีสิทธิในการนำเสนออะไรต่างๆ เท่าที่ควร ส่วนปัญหาเศรษฐกิจ คือ เครื่องมือประมงสูญหายบ่อย และมีราคาแพง ส่งผลให้ต้องอพยพแรงงานเข้าเมืองบ้าง ส่งไปต่างประเทศบ้าง จนสุดท้ายเกิดปัญหาสังคมครอบครัวแตกแยก ขาดความอบอุ่น เยาวชนขาดการศึกษา ติดยาเสพติด เป็นต้น
“ที่ผ่านมา เราต่อสู้จนได้ 1.กฎหมายห้ามใช้เครื่องมืออวนรุน เกิดพื้นที่นำร่องจ.ปัตตานี ขณะนี้ภาครัฐยังไม่ได้ขยับไปยังพื้นที่อื่น 2.ขยายเขตชายฝั่งจาก 3,000 เมตร เป็น 3 ไมล์ทะเล ประสบผลสำเร็จไปแล้ว 8 จังหวัด ซึ่งจะเห็นว่าทรัพยากรทางทะเลฟื้นขึ้นมา แต่ยังเหลืออีก 14 จังหวัดที่ยังไม่ขยับ 3.เกิดการฟื้นฟูทรัพยากรอย่างต่อเนื่อง มีโครงการพระราชดำริ จนหลายหน่วยงานแย่งกันทำปะการังเทียม ซึ่งการวางปะการังเทียมนั้น ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย อีกทั้งขณะนี้ได้แผนแม่บทของกรมประมงที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่าง และสุดท้ายสิ่งที่เราได้ คือ พระราชบัญญัติประมง ที่ร่วมกันร่าง แต่เมื่อเข้าสู่คณะรัฐมนตรี กลับมีการตัดแขนตัดขาออกหมด”
ดังนั้นเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคม เครือข่ายประมงพื้นบ้านจึงมี 7 ประเด็นเสนอ ดังนี้
1.ขอให้มีการทบทวนและยกเลิกการใช้เครื่องมือประมงที่ไม่เหมาะสม ที่ประเทศเพื่อนบ้านไม่ใช้แล้ว
2.ขยายเขตชายฝั่งจาก 3,000 เมตร เป็น 3 ไมล์ทะเลทั่วประเทศ
3.ให้รัฐประกาศให้ป่าชายเลนเป็นพื้นที่เขตป่าชายเลนชุมชน โดยให้ชุมชนดูแล ส่วนรัฐแค่ให้การสนับสนุน
4.ให้ทบทวนเขตอุทยานแห่งชาติที่ทับที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน
5.ให้ทบทวนโครงการที่สนับสนุนจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นโครงการน้ำมันราคาถูก ซึ่งประมงพื้นบ้านไม่ได้รับประโยชน์จากการอุดหนุนตรงนี้ ควรเป็นมาเป็นสวัสดิการชุมชนแทน
6.โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งขนาดใหญ่ซึ่งมีมากมาย ต้องทบทวนมิเช่นนั้นชุมชนประมงพื้นบ้านอยู่ไม่ได้
และ 7.พ.ร.บ.ประมงฯ ขอให้ชะลอ เนื่องจากขัดเจตนารมณ์ในการร่าง ขัดในเรื่องสิทธิชุมชน เพราะหมวดเหล่านี้ถูกตัดออกหมด ทั้งเรื่องโครงสร้าง อำนาจ และการตั้งกองทุนสนับสนุนและพัฒนาชุมชนประมงก็ถูกตัดออก
สามเหลี่ยมกลับหัวกลับหาง ความไม่สมดุลการใช้ทรัพยากร
การได้รับสมญานามที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต ด้วยข้อหา ถ่วงความเจริญ และชักจูงต่างชาติมาทำลายประเทศไทย นายสุทธิ อัชฌาศัย เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เล่าถึงความพยายามที่ทำมาหลายอย่าง จนรู้ว่าความรู้สึกเหนื่อยจากการพยายามผลักดันเรื่องที่ดีๆ นั้น เหนื่อยเพียงใด
“กรณีมาบตาพุด ผมคิดว่าคนไทยทั้งชาติคงไม่อยากเห็นการพัฒนาแบบพื้นที่มาบตาพุดเกิดในบ้านของท่าน และคนไทยทั้งประเทศก็ไม่อยากเห็นการพัฒนาแบบมาบตาพุดนั้นเป็นคำตอบของการพัฒนาประเทศไทย คำตอบของการพัฒนาประเทศไทยต้องมีสิ่งที่มากกว่า และดีกว่า ที่เกิดในมาบตาพุด”
ความไม่สมดุลการใช้ทรัพยากร คนรวยซึ่งมีเพียง 10% ของประเทศ กลับครอบครองฐานทรัพยากรมากถึง 60% ของประเทศ ขณะที่คนจนมีมากที่สุด กลับได้ครอบครองทรัพยากรเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกโชว์ภาพสามเหลี่ยมกลับหัวกลับหาง คือ ความเป็นจริงของประเทศไทยที่ยังไม่สามารถทะลุทะลวง หรือให้ฐานกลับมาเท่ากัน หรือสมดุลได้
ผู้นำเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ยกตัวอย่างที่ระยอง แต่ว่า ฉายภาพใหญ่ให้เห็นทั้งสังคม ว่าเรากำลังประสบปัญหาอย่างเดียวกัน แค่เรื่องการบริหารจัดการน้ำ เรื่องเดียว
“อุตสาหกรรมใช้น้ำ 1 ล้านคิวต่อวัน ชุมชนใช้น้ำ 4 หมื่นคิวต่อวัน ท่องเที่ยวใช้ 3 หมื่นคิวต่อวัน ขณะที่ภาคการเกษตรกรใช้น้ำ 6 แสนคิวต่อปี พอเวลาเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำขึ้น รัฐบาลก็จัดการน้ำโดยนำมาสู่การสร้างบริษัทจัดการน้ำ ส่งผลทำให้น้ำมีต้นทุนและมีผลประโยชน์ เกิดการบริหารจัดการโดยอาศัยหลักเศรษฐศาสตร์ มองความคุ้มค่ามูลค่าการผลิตของภาคอุตสาหกรรมมากกว่า แต่ไม่ได้มองหลักความสมดุล ไม่มองหลักหุ้นส่วนการจัดการน้ำร่วมกันในชุมชน จนเกิดการแย่งน้ำขึ้น”
ความไม่เป็นธรรมเรื่องการใช้ทรัพยากร ที่เป็นผลพวงจากการพัฒนา รัฐผูกขาดการบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำก็สร้างด้วยภาษีของประชาชน ขณะที่ผู้ใช้น้ำมีหลายส่วน ดังนั้น การจัดสรรอำนาจใหม่ เพื่อทรัพยากรไทยที่ยั่งยืน นายสุทธิ อยากให้ปรับความคิด คิดแบบหุ้นส่วน ให้ทุกคนเป็นหุ้นส่วนของการพัฒนาประเทศร่วมกัน ซึ่งหากคิดแบบนี้แล้ว เชื่อว่าการพัฒนาประเทศจะมีทิศทางที่ดีกว่าที่เป็นอยู่
สุดท้ายนายแก้ว สังข์ชู ประธานเครือข่ายแผนชุมชน ย้อนอดีตว่า เวลาคนมีปัญหาไม่ได้ลุกขึ้นมาจัดการตนเอง ขณะที่คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีส่วนร่วมคิดทำแผนพัฒนาประเทศ ฉะนั้นจึงกลายเป็นแผนของหน่วยงาน ที่ได้เพียงรูปแบบ แต่ไม่ได้ “หัวใจและวิญญาณ”ในการพัฒนา อีกทั้งความเป็นเจ้าของร่วมก็ไม่มี ณ วันนี้เครื่องมือที่สำคัญที่สุดของกระบวนการจัดทำแผนชีวิตชุมชน จึงควรใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางของพัฒนาจริงๆ
“การปฏิรูปทำอย่างไรให้เป็นของคนไทยทุกคน ทุกกลุ่ม อยากเห็นการปฏิรูปจากล่างสู่บน เชื่อว่าเป็นการปฏิรูปอย่างยั่งยืน รัฐต้องคืนอำนาจในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้องค์กรท้องถิ่น” นี่คือ คำอธิบายที่กระจ่างที่สุดของประธานเครือข่ายแผนชุมชน ที่มีต่อกระบวนการปฏิรูปประเทศไทยในเวลานี้.