เปิด 4 มุมมอง พลังพลเมืองหญิง ร่วมพลิกโฉมประเทศไทย
หลังเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง คนในสังคมเห็นว่า รัฐบาลจะต้องแก้ไขปัญหาประเทศ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของรัฐ และนำมาด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อมุ่งสู่การแก้ไขปัญหาและการปฏิรูปประเทศไทย ทั้งคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.)คณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) คณะกรรมการปฏิรูประบบงานตำรวจ และคณะกรรรมการพัฒนาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบสื่อมวลชน” (คพส.)
นับดูคณะกรรมการทั้ง 6 คณะ พบสัดส่วนที่เป็นสุภาพสตรีเพียง 18 คน จากจำนวนกรรมการทั้งหมด 106 คน วันนี้ 4 หญิงเก่งและแกร่ง มาขอพื้นที่คืนเพื่อเปิดมุมมองพลังหยิน ตัวแทนเพศหญิง ที่แตกต่างจากพลังหยาง ตัวแทนเพศชาย ในมิติการปฏิรูปประเทศ.....
นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา อดีตผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กรรมการปฏิรูป ชุดนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน พูดถึงบทบาทของผู้หญิงกับการปฏิรูปประเทศไทยว่า ต่อไปนี้หากจะพัฒนาบ้านเมืองต้องทำให้เห็นว่า ผู้หญิงสามารถทำทุกอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ชายได้ โดยต้องลุกขึ้นมาร่วมคิดร่วมทำเพื่ออนาคต บ้านเมืองจะมีการพัฒนาอย่างสมดุล มีมิติทางสังคมจากความคิดของผู้หญิง
“ผู้หญิงมีมุมมองเรื่องมิติของสังคม ความสัมพันธ์ เรื่องคน เด็ก ซึ่งจะโยงทุกอย่างเข้ามาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ขณะที่ผู้ชายจะคิดเรื่องวัตถุ การเจริญเติบโต มีเพียงเรื่องของอำนาจอย่างเดียว ทำให้การพัฒนาประเทศช่วงที่ผ่านมาขาดมิติด้านสังคม เนื่องจากองค์ประกอบของผู้หญิงเข้าไปมีบทบาทน้อย ซึ่งในอนาคตควรให้ผู้หญิงมามีบทบาทร่วมบริหารด้วย ไม่เช่นนั้นประเทศจะดำเนินไปในทิศทางที่มีความเสี่ยงของการเกิดปัญหาอยู่ตลอดเวลา เพราะว่า หยิน-หยางไม่เท่ากัน ความสมดุลไม่ได้ไปด้วยกัน"
"เรื่องบ้าน ที่อยู่ เป็นเรื่องผู้หญิง บ้านจะเป็นบ้าน คนจะเป็นอย่างไรก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้หญิง คนที่เป็นแม่ทั้งหลายต้องลุกขึ้นมาเพื่อเป็นแกนกลางของการขับเคลื่อน และหากสามารถจัดพื้นที่เหล่านี้ให้เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ได้ กระบวนการที่เป็นดุลก็จะเกิดขึ้น”
ส่วนเรื่องที่สำคัญในเรื่องการปฏิรูป นางสมสุข มองว่า ต้องไม่ใช่ให้คนอื่นปฏิรูปเพื่อเราอย่างเดียว แต่ทุกๆจุดของสังคมต้องปฏิรูปตัวเองด้วย มีมิติในการมองว่ากระบวนการของเราเองต้องปฏิรูปอย่างไร ทำให้ปฏิรูปมีน้ำหนักที่คนปฏิเสธไม่ได้ ดังนั้น ทุกจุดต้องทบทวนบทบาทกระบวนการเองก่อน รวมถึงกระบวนการสตรี ที่ทรงพลังด้วย
แม่สมปอง เวียงจันทร์ แกนนำผู้ชุมนุมชาวปากมูลและตัวแทนคณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูล วัย 60 ปี ชาวบ้านเพียงคนเดียวในกรรมการปฏิรูป พูดถึงบทบาทการทำงานของผู้หญิงว่า การที่มีผู้หญิงอยู่ในคณะกรรมการปฏิรูป ไม่มีปัญหาในการทำงาน ไม่เกี่ยวกับเพศว่าจะเป็นผู้ชายผู้หญิง มีผู้ชายต้องมีผู้หญิงหนุนกันไป ปัญหาชีวิตครอบครัว ส่วนใหญ่เป็นหน้าที่ของผู้หญิงในการแก้ปัญหา เดิมอาจโดนเรียกว่า เป็นช้างเท้าหลัง แต่ปัจจุบันไม่ใช่ ต้องเดินไปพร้อมๆกัน เหมือนกับ สามีภรรยา หากสามีมีปัญหา คนที่เป็นภรรยาก็ต้องช่วย เรื่องของครัวเรือนในบ้าน ผู้หญิงมีหน้าที่ในการดูแลบ้าน แม้กระทั่งสู่ขบวนการชุมนุม ผู้หญิงก็ยังทำหน้าที่นั้น ในการดูแลเพื่อนคนอื่นด้วย เพื่อให้สะดวกสบาย เหมือนเป็นคนในครอบครัว เป็นหน้าที่หลักของผู้หญิงในการดูแลทุกเรื่อง
"ในอนาคตงานของผู้หญิง จะหนักขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องเศรษฐกิจ สังคม หากไม่มีการตื่นตัววันนี้ อีกหลายๆอย่างที่มองไม่เห็นจะเป็นปัญหา ทั้งกลุ่มทุนต่างๆที่มาล่าอาณานิคม คนต่างชาติ กำลังเข้ามาเอาภรรยาคนไทย หากไม่ตื่นตัวในฐานะที่เป็นผู้หญิง ลองคิดเล่นๆว่า คนในครอบครัวเราจะเป็นเช่นไร อีก 20-30 ปี จะเป็นอย่างไร ดังนั้น ผู้หญิงต้องช่วยกัน ดูแลบ้าน ดูแลประเทศ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวทำความเข้าใจข้อมูลข่าวสารต่างๆ ในสังคมอนาคต หากไม่ช่วยกันดูแลตั้งแต่ตอนนี้ สังคมแผ่นดินอาจลุกเป็นไฟ"
“ทุกวันนี้ผู้หญิงทำงานไม่แพ้ผู้ชาย เพราะเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีต่างๆมากมาย เพียงหากจะคิด ยึดติดเพียงเรื่องเพศ ว่า ผู้หญิงและผู้ชายไปด้วยกันจะเกิดสิ่งไม่ดีขึ้น ผู้หญิงต้องยอมผู้ชาย คงไม่ถูกแล้ว เพราะผู้หญิงและผู้ชายคู่กัน ไม่จำกัดเพศ ทำงานร่วมกัน จึงจะเกิดความก้าวหน้าในการงาน”
แม่สมปอง ผู้ที่ทำงานอยู่กับไร่กับนา ปลูกข้าวกินเอง แม้ว่าไม่ได้จบปริญญาตรี แต่ก็ไม่เคยดูถูกศักดิ์ศรีตัวเอง ในฐานะผู้หญิงที่มีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการปฏิรูป บอกว่า ตื่นเต้น แต่ก็ไม่ถึงขั้นปลื้มใจมาก เพราะยังไม่รู้ว่าเพื่อนร่วมงานคิดอย่างไรในการเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ รวมทั้งมีอีกหลายอย่างที่กังวล โดยเฉพาะกลัวผู้ที่มีอำนาจที่ไม่ทราบว่าอยู่ตรงไหนมาสั่งการอยู่เบื้องหลัง ซึ่งแม่สมปองขอให้ทุกคนในสังคมคอยดูแลช่วยเหลือกันในการพัฒนาประเทศ เชื่อว่า จะสำเร็จ ก่อนจะทิ้งท้ายไว้ว่า
"หากคนเราไม่ลดตัวเองลงมาสู่คนเล็กคนน้อย ก็เข้ากับคนอื่นลำบาก และขอเพียงไม่ลืมชาติ ลืมสกุล ก็สามารถทำหน้าที่อื่นๆต่อไปได้ดี"
นางรัชนี ธงไชย หรือ ครูแอ๊ว ครูใหญ่โรงเรียนหมู่บ้านเด็กและนักการศึกษาทางเลือก กรรมการปฏิรูป ผู้หญิงที่มีความสนใจพิเศษเรื่องการศึกษาที่มีผลต่อการพัฒนาสังคม สร้างวิธีคิด ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยที่เคยอยู่กันแบบเครือญาติ ขณะนี้ได้สูญหายไปแล้ว เนื่องด้วยการศึกษาที่เข้ามาตอกย้ำเป็นเครื่องมือให้มุ่งเพียงการเรียนในระบบและได้ทำงานเพื่อรายได้สูงสุด และคนทั่วไปรู้สึกว่า การเรียนเป็นการวิ่งแข่งเพื่อชนะ ยิ่งมีการศึกษามาก มักจะลืมเพื่อนและทิ้งเพื่อน วันนี้ประเทศไทยจึงมีคนทุกข์มาก และมองเห็นความรู้ในวิถีชีวิตเป็นความรู้ที่ไม่ได้สร้างปัญญากับมนุษย์ด้วยกัน โหยหา เพียงระบบการศึกษาในโรงเรียนที่สอนให้เก่ง แต่ไม่มีคุณธรรม
“หากผู้หญิงได้นั่งคุยกัน เชื่อว่าจะเห็นตรงนี้ การปฏิรูปประเทศไทยต้องมองเห็นจุดเปลี่ยน จุดคานงัด ให้ประเทศเห็นการพัฒนาทุกส่วน ที่ต้องเป็นเชิงความสัมพันธ์ไม่ใช่เชิงอำนาจ ต้องเคารพสิทธิเสรีภาพของกันและกัน ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม ทำอย่างไรให้คนที่ลำบากก้าวขึ้นมาเคียงข้างกัน ทำให้คนทุกข์กลายเป็นสุขด้วยกัน
หากในแง่ของการมองภาพ แต่ละคนที่มาเข้ามาทำงานในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ครูแอ๊ว เห็นว่า ต่างกันที่การมองภาพเฉพาะในพื้นที่และประเด็นของแต่ละคนมากกว่าเรื่องเพศ โดยส่วนสิ่งที่อยากเห็นในฐานะผู้หญิงต่อการปฏิรูปนั้น คือ การลดความเหลื่อมล้ำของแรงงานและเกษตรกร ต้องคิดเรื่องสวัสดิการ โดยเฉพาะเด็กที่พ่อแม่มีอาชีพเกษตรกรและแรงงาน สมองจะต่ำมาก หากไม่ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ดูแล ก็จะไม่สามารถพัฒนาไปต่อได้
นางเรวดี ประเสริฐเจริญสุข สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง และกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในฐานะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ชุด ศ.นพ.ประเวศ วะสี มองบทบาทผู้หญิงแต่เดิมเป็นเพียงผู้ถูกกำหนด และเป็นผู้ถูกกระทำมาโดยตลอด ต่อไปนี้ผู้หญิงมีตัวตน มีบทบาทในเรื่องสำคัญต่างๆช่วยพลิกโฉมประเทศ
“ผู้หญิงทำได้หลายอย่าง เพราะผู้หญิงอยู่ในทุกด้าน ทุกระดับ ตั้งแต่หมู่บ้าน ดูแลความมั่นคงในชีวิต อาหาร ที่อยู่อาศัย ดูแลลูกหลาน สร้างชุมชนเข้มแข็ง ยกตัวอย่างผู้หญิงบางกลุ่ม แม้จะไม่มีบทบาทในการเพิ่มจีดีพี เช่น หญิงชาวบ้าน แต่สามารถสร้างความสมดุลและเสริมสร้างสังคมได้
ขณะที่การเมือง นโยบาย เห็นชัดเจนว่ามีคนบางกลุ่ม มีตัวแทนที่เข้ามาทำหน้าที่ต่างๆ เพราะฉะนั้น การที่ผู้หญิงจะลุกขึ้นมาและมีข้อเสนอต่อการกำหนดทิศทางของการบริหารประเทศ หรือในเรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งในบางแง่มุมที่ไม่เคยสมบูรณ์ ก็จะทำให้เป็นจริงขึ้นมาได้”นางเรวดี บอกเพิ่มเติม
ส่วนการทำงานในคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ที่มีทั้งหญิง-ชาย นั้น นางเรวดี ยังไม่เห็นความแตกต่างในการทำงาน เพราะ นพ.ประเวศ และคณะกรรมกาารชุดนี้ ส่วนใหญ่มีความคิดที่เปิดกว้าง ยอมรับ แม้มีบางกลุ่มที่ยังติดอยู่ในสังคมเดิมที่เห็นว่า การหยิบยกเรื่องผู้หญิงมาพูดคุยนั้นยังไม่สำคัญ แต่การมีคณะกรรมการชุดใหญ่ที่หลากหลาย จะเป็นการเปิดกว้าง และเป็นการพูดคุยให้ทุกคนได้รับฟังกัน เพิ่มมิติการสื่อสารและเป็นภารกิจร่วมในการหนุนเสริมเรื่องต่างๆท่ามกลางวิกฤตที่มากมาย
"ในโอกาสที่เป็นวิกฤต หลายคนมีการตั้งคำถามถึงที่ไปที่มาของการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นการช่วยกันผลักดันตรวจสอบ ไม่ให้เผลอเรอ ลืมตัว ซึ่งจำเป็นว่าต้องตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลาว่า เมื่อคุณมีโอกาส มีบทบาท มีหน้าที่ คุณได้ทำงานในสิ่งที่คุณตั้งใจไว้ว่าอย่างไร เป็นการท้าทายของประเด็น สภาพของปัญหา เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเชื่อว่า เพียงคณะกรรมการไม่เพียงพอ หากไม่ได้รับการยอมรับจากภาคประชาชน และแต่ละคนทำหน้าที่ของตนเอง การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้จริง" นางเรวดี ยืนยัน
เป็นเรื่องที่น่ายินดี สำหรับพลังพลเมืองหญิงที่เข้ามามีส่วนร่วมพลิกโฉมประเทศไทย แม้จะเป็นเพียงเสียงคนเล็กคนน้อย แต่เสียงที่เบาบางนี้เอง หากคณะกรรมการทุกชุดนำมุมมองของสตรีใส่เข้าไปอยู่ในทุกมิติของการปฏิรูปประเทศไทย เชื่อว่า จะทำให้การพัฒนาประเทศพบจุดสมดุลในที่สุด
ต้นแบบที่สร้างแรงบันดาลใจ
แม่สมปอง เวียงจันทร์:
“แรงบันดาลใจที่ผลักดันให้มาทำงานในครั้งนี้ คือ คุณ วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ เอ็นจีโอ ที่ต่อสู้เพื่อคนทุกข์ เป็นคนแรกๆ ที่เข้ามาเชิญชวนให้ชาวบ้านได้เข้ามาสู่เวทีวิชาการ ให้ชาวบ้านมีคุณค่าเทียบเท่าคุณหญิงคุณนายในเมือง คุณวนิดา จะคอยบอกว่า ทำไมชาวบ้านจะไม่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และพูดเปรียบเทียบผู้หญิงให้เห็นว่า ผู้หญิงเป็นคนสำคัญ เพราะหากเมื่อกลับบ้าน ลูก และภรรยาก็ต้องเป็นหัวหน้าครอบครัว ดูได้จากว่า หากสามีกลับบ้าน ต้องเป็นภาระการดูแล การจัดการเรื่องเงิน ภรรยาเป็นผู้กำกับ ดูแลช่วยกัน เป็นหน้าที่ ”
สมสุข บุญญะบัญชา:
“บุคคลที่เป็นต้นแบบ ไม่มีใครเป็นพิเศษ แต่สำหรับงานปฏิรูปประเทศครั้งนี้ มีแรงบันดาลใจจากท่านอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ดึงเข้ามาให้ทำงาน เป็นคนคอยช่วยจุดประกายความคิดต่างๆ”
รัชนี ธงไชย หรือ ครูแอ๊ว :
“ต้นแบบสำคัญ คือ นพ.ประเวศ วะสี เนื่องจากความคิดของท่านน่ายกย่องและชวนให้คิดตาม เช่น เรื่องการศึกษา ชุมชน ทำให้ได้นำไปคิดต่อในเรื่องการศึกษาทางเลือก ตลอดจนสู่ชุมชนทางเลือก ส่วนตัวต้นแบบที่เป็นผู้หญิงคนแรก คือ คุณแม่ เพราะท่านสอนว่าลูกศิษย์จะเป็นอย่างไร ต้องคิดด้วยใจ จึงทำให้เรารู้สึก เมตตาและปัญหา ให้ไปด้วยกัน”
เรวดี ประเสริฐเจริญสุข:
“แรงบันดาลใจ เกิดจากปัญหารูปธรรมที่ได้เจอในชุมชน การที่ได้เห็นชีวิตผู้คนในชนบทมากมาย ที่ถูกกระทำ มีชีวิตที่ยากลำบาก ถูกละเมิดเอารัดเอาเปรียบไม่มีหลักประกัน และด้วยสิ่งดีๆที่ชาวบ้านอยากมีเรื่องดีๆ ถือเป็นหัวใจของแรงบันดาลใจหลักๆในการทำงาน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ทำงานด้านการจัดการทรัพยากร เป็นพลังที่สื่อสารที่ส่งใจแก่กันในรูปธรรมปัญหา และสิ่งที่ปรารถนาดี ที่ร่วมสร้างสรรค์ในเครือข่าย”