นางสิงห์เฝ้าป่า "รตยา จันทรเทียร" ทำไมขวางพระปลีกวิเวก ?
แม้อายุจะล่วงเข้า 80 ปี แล้วในวันนี้ แต่ อ.รตยา จันทรเทียร ในตำแหน่งประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยังคงทำงานอย่างขันแข็ง ทุกเช้าจะขับรถจากบ้านพักย่านเอกมัย มายังสำนักงานมูลนิธิสืบ ซึ่งตั้งอยู่แถวคลองมหานาค ฝั่งตรงข้ามกับตลาดโบ๊เบ๊ และยังคงเข้าออกพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่ตะวันตก อันเป็นพื้นที่ทำงานของมูลนิธิสืบฯอย่างสม่ำเสมอ
ภารกิจเหล่านี้ ทำให้เธอได้มาซึ่งสมญานาม นางสิงห์เฝ้าป่า
วันที่ 1 กันยายน ปี 2533 ที่ประเทศไทยต้องสูญเสียวีรบุรุษผู้ทำหน้าที่ดูแลป่าอย่างเข้มแข็งที่สุดคนหนึ่งอย่างคุณสืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งไปอย่างไม่มีวันกลับ ผู้ใหญ่ที่เคยร่วมงานและมีอุดมการณ์เดียวกับคุณสืบ นัดคุยกัน และเห็นว่า ต้องตั้งมูลนิธิเพื่อสืบสานเจตนาการปกป้องป่าของคุณสืบต่อ ทุกคนเห็นว่า อ.รตยา เหมาะสมที่จะเข้าไปดูแลตรงนั้นมากที่สุด จึงมีมติให้เป็นประธานมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน ปีเดียวกัน
เธอทำหน้าที่อย่างแข็งขันควบคู่งานประจำ กระทั่งเกษียณอายุราชการจึงออกมาทำงานที่มูลนิธิเต็มตัวถึงวันนี้
ทำงานเต็มตัวของอาจารย์คือ ทำงานเต็มตัวจริงๆ มาทำงานแต่เช้า และกลับตามเวลา มีหน่วยงานต่างๆ เชิญไปพูด ไปบรรยายบ้าง แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับนางสิงห์คนนี้คือการลงพื้นที่ทำงานในป่า
"ลูกๆ เคยห้ามหรือเปล่าคะ ว่าแม่ 80 แล้วนะ หยุดอยู่บ้านบ้างเถอะ" มีคนสงสัย
"ไม่เคยห้าม มีแต่ปรามๆ บ้าง แต่เราก็รู้ตัวเราดีงานแบบนี้ไหว แบบนั้นไม่ไหว ทุกวันนี้โชคดีมากกว่าที่ยังมีงานทำอยู่ตลอด 20-30 ปีที่แล้วเป็นยังไงก็ยังรู้สึกอย่างนั้น การได้คิด ได้ไปนั่น มานี่ทำให้กระฉับกระเฉง ไม่เคยป่วย หรือเป็นลมเลยเวลาไปไหนมาไหน ลูกๆ เขาก็เข้าใจตรงนี้ มีแซวบ้างเวลาเราแสดงความคิดเห็นอะไรแรงๆ ผ่านสื่อ เช่น บอกว่าแม่เอาอีกแล้ว อะไรแบบนี้" ผู้อาวุโส ตอบแล้วหัวเราะ
อาจารย์บอกด้วยว่า หยุดทำงานไม่ได้ อยู่กับบ้านเฉยๆ แล้วกลัวตัวเองเฉา ถ้ายังมีแรงก็จะทำไปเรื่อยๆ น้ำเสียงมั่นคง หนักแน่น แต่ทว่าอ่อนโยนนัก
มรสุมรอบด้านที่กำลังรุมเร้าทรัพยากรในผืนป่า และคนที่ทำงานกับป่าที่ผ่านมา ล้วนเป็นเรื่องหนักอกที่คอยบั่นทอนความรู้สึกของผู้อาวุโสคนนี้นัก แต่ถึงกระนั้นก็หาได้ทำให้เธอหมดอาลัย หรือฉากหนีจากงาน ในทางตรงกันข้าม ยังคงมุ่งมั่นและทุ่มเทให้กับงานอย่างไม่กลัวเหนื่อย และไม่ยอมแพ้ต่อสังขาร
เจ้าหน้าที่ ทำงานอย่างไร อ.รตยา ก็เฝ้าติดตามงานเหล่านั้นอย่างเอาใจใส่ทุกระยะ โดยเฉพาะการทำงานในภาคสนาม พูดได้อย่างเต็มปากว่า นับตั้งแต่ทำงานในมูลนิธิสืบนาคเสถียรมาไม่เคยมีปีไหนเลยสักปี ที่ผู้อาวุโสคนนี้ไม่เคยเดินทาง บุกป่าฝ่าดง ข้ามน้ำ ข้ามห้วยลงไปเยี่ยมและให้กำลังใจ
ครั้งที่ คณะทำงานของมูลนิธิสืบฯ ได้ลงพื้นที่ ป่าตะวันตกอีกครั้งก่อนเข้าฤดูฝนโดยมี ภารกิจคือ นำเอาเปลสนาม อุปกรณ์เดินป่า ยาสามัญประจำบ้าน อาหารแห้ง และขนม ไปฝากเจ้าหน้าที่พิทักษ์ ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อ.รตยา ก็ร่วมทางไปด้วยเช่นเคย พร้อมกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิอีก 6 คน
อ.รตยา บอกว่า สิ่งที่เธอและมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ทำให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าคราวนี้และครั้งที่ผ่านมานั้น ถือเป็นการตอบแทนเล็กน้อย และเป็นการให้กำลังใจสำหรับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย ที่ต้องทำงานหนักและเสี่ยงอันตรายอย่างยิ่งกับการดูแล ตรวจตราป่าลึก โดยเฉพาะพื้นที่ป่าตะวันตก ซึ่งเป็นป่ามรดกโลก
แล้วอาจารย์ไม่เหนื่อยบ้างหรือคะ กับการเดินทางครั้งละนานๆ และหนทางก็แสนจะลำบากขนาดนี้ คนที่ร่วมทางไปด้วยถาม
เธอยิ้มแล้วบอกว่า ก็เหนื่อย แต่ไม่มาก ที่สำคัญคือ เดินทางในป่าไม่เหมือนเดินทางในเมือง ในป่าอากาศดี นั่งในรถมองสองข้างทางเพลิดเพลินจำเริญใจกว่าขับรถในเมืองเยอะเลย
“อยู่กรุงเทพอาจารย์ขับรถมาทำงานเอง แต่เข้าป่ามีคนขับให้นะ อะไรมันสบายกว่าละ” พูดจบก็หัวเราะอย่างอารมณ์ดี
ตลอดระยะเวลา 4 วัน 4 คืน ที่รอนแรมอยู่ในป่า เพื่อนำของฝากไปให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทุกหน่วยในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรนั้น เราได้ประจักษ์ถึงแบบอย่างการดำรงตนของคนเมืองที่อยู่และทำงานในป่าแบบเรียบง่ายอย่างผู้อาวุโสที่ชื่อ รตยา จันทรเทียร คนนี้จริงๆ
ทั้ง กิริยา อาการ การวางตัว วิธีการกินอยู่ หลับนอน รวมไปถึงการทำงาน แทบไม่น่าเชื่อว่าเรากำลังพูดถึงหญิงชราวัย ย่างเข้า 80 ปี
เช่น วันหนึ่งหลังจากเราต่างเหนื่อยแสนเหนื่อยกับการเดินทาง บนถนนที่แสนจะขรุขระอย่างหฤโหดกลางสายฝนกลางป่า มาจนถึงด่านสกัดชั่วคราว ซึ่งเป็นหน่วยทำงานหน่วยเล็กๆกลางป่าทุ่งใหญ่ มีบ้านพักเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติหลังเล็กๆและป้อมยามหนึ่งหลัง มีลำธารไหลผ่านด้านหน้า พวกเราไปขออนุญาตเจ้าหน้าที่ (ที่มีอยู่ 3 คน) กางเต็นท์ ผูกเปลพักค้างคืน 1 คืน
เราได้ลงไปอาบน้ำในลำธารพร้อมกับ อ.รตยา ระหว่างที่นอนแช่น้ำอยู่ด้วยกันนั้น อ.รตยาพูดขึ้นมาคำหนึ่งว่า “นี่แหละคือรางวัลที่ได้รับในวันนี้”
พูดพร้อมกับหลับตาพริ้ม พลางบอกให้เราฟังเสียงนกและเสียงน้ำไหล และบอกอีกว่า ที่พยายามทำงานมาทั้งหมด เพราะอยากให้ธรรมชาติดีๆแบบนี้อยู่กับเรานานๆ ไม่ต้องการอะไรมากกว่านี้เลย
ตลอดระยะการเดินทางการนำของฝากไปให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่านั้น อ.รตยาขอให้รถจอดแวะทักทายชาวบ้านเป็นระยะ ผู้นำและบรรดาผู้อาวุโสของหมู่บ้านในป่าทุ่งใหญ่นเศวรซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยง ไม่มีใครไม่รู้จัก อ.รตยาเลย
การพบปะ พูดคุยระหว่าง ประธานของมูลนิธิสืบนาคเสถียรคนนี้กับผู้อาวุโสในหมู่บ้านต่างๆ ยิ่งทำให้เรามั่นใจว่า ตลอดเวลา 20 ปี หลังเกษียณอายุ กระทั่งวันนี้ เธอทำงานอย่างจริงจังและหนักแค่ไหน
นอกเหนือจากการทำงานวิชาการ และลงพื้นที่ทำงานกับชาวบ้านแล้ว กิจกรรมที่ค่อนข้างไปทางบู๊ของนางสิงห์เฝ้าป่าคนนี้ก็มีเช่นเดียวกัน หลังจากที่เคยนำชาวบ้านและเพื่อนๆคัดการการสร้างเขื่อนน้ำโจน สมัยที่ยังเป็นรองผู้ว่าการเคหะแห่งชาติเมื่อยี่สิบปีก่อน
เรื่องหนึ่งที่นางสิงห์เฝ้าป่าคนนี้ไม่เห็นด้วยเอาเสียเลยคือ การเข้าไปใช้ประโยชน์จากป่าโดยคนข้างนอกที่ไม่เกี่ยวข้องใดๆกับป่า
โดยเฉพาะประเด็นล่าสุดที่กำลังเป็นข้อถกเถียง และมูลนิธิสืบฯเองตกเป็นผู้ต้องหา ว่าด้วยการคุกคามขัดขวางพระไม่ให้เข้าไปปลีกวิเวกและบำเพ็ญตนในป่า
ประเด็นล่าสุดที่กำลังเป็นข้อถกเถียง และมูลนิธิสืบฯ เองตกเป็นผู้ต้องหา ว่าด้วยการคุกคามขัดขวางพระไม่ให้เข้าไปปลีกวิเวกและบำเพ็ญตนในป่า
"ในสมัยก่อน พระที่เข้าไปแสวงหา หรือบำเพ็ญภาวนาในป่า ท่านก็จะเข้าไปเพียงรูปเดียว หรืออาจจะมีลูกศิษย์ ผู้ติดตามเข้าไปด้วย ไม่เกิน 3 คน วันแต่สมัยนี้ไม่ได้เป็นแบบนั้น การเข้าไปแสวงหาความหลุดพ้นในป่า มักจะยกขบวนเข้าไปทีละมากๆ มีเครื่องมือเครื่องใช้อำนวยความสะดวกมากมาย ไม่มีแล้วที่จะเข้าไปแสวงหาความสงบเพียงลำพังเหมือนในอดีต"
เธอบอกว่า ค่อนข้างลำบากใจกับการที่คนแก่อย่างเธอ จะออกมาสนับสนุนการผลักดันสำนักสงฆ์ หรือที่พักสงฆ์ให้ออกจากป่า รวมทั้งกีดกันการเข้าไปปลีกวิเวกในป่าของเหล่าพระสงฆ์องค์เจ้า เพราะวัย 80 ปี ย่อมเป็นวัยที่ต้องเข้าหาพระหาเจ้ากันแล้ว พระต้องการจะทำอะไรเพื่อให้บรรลุธรรม ควรจะสนับสนุนตามประสาพุทธศาสนิกชนที่ดี ทั้งนี้มีพระสงฆ์ส่วนหนึ่งที่ยังมีความเชื่อและความต้องการที่จะเข้าป่า เพื่อฝึกจิตและบำเพ็ญตนให้บรรลุธรรม การแสดงความเห็นและมีจุดยืนแบบนี้ไม่เหมาะสมกับวัยเอาเสียเลย
"ป่า ก็ถือเป็นบ้านของสัตว์ ถ้าเราคิดให้ดีๆ ลองถามตัวเองเอาเถิดว่า กรณีของการเดินธุดงค์ของพระในป่านั้นเดินไปเป็นขบวน ป่าที่เคยสงบก็เหมือนมีผู้บุกรุก สัตว์ที่เคยอยู่ในที่ของเขาก็ต้องหนีไปอยู่ที่อื่น เพราะถูกคนบุกรุกบ้าน หากใครมาบุกบ้านเรา จนทำให้เราต้องหนีไปอยู่ที่อื่นเราจะชอบใจไหม คนซึ่งถือเป็นผู้เจริญแล้วควรจะทำไหม"
ผู้อาวุโส บอกว่า เธอก็เป็นพุทธศาสนิกชนคนหนึ่งที่ปฏิบัติธรรม ฝึกสมาธิอย่างสม่ำเสมอ และมีความเชื่อในวัตรปฏิบัติของครูบาอาจารย์ที่เจริญภาวนาสมาธิกลางป่าในอดีต นำเอาประสบการณ์และความรู้ที่ได้จากการศึกษาเหล่านั้นมาสั่งสอนคนรุ่นหลังจนมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน การใช้วิธีการแบบเดิมย่อมไม่เหมาะสมอีกแล้ว
ถ้าจะมีคนตั้งคำถามว่า มีคนพาล หรือคนไม่หวังดีต่อป่าเข้าไปทำร้ายป่า ล่าสัตว์ ตัดไม้อยู่เยอะแยะทำไมไม่ไปจัดการตรงนั้น กลับมาค้านเล็กค้านน้อยกับพระซึ่งมีอยู่น้อยมากๆ ทำไม อาจารย์จะตอบคำถามนี้อย่างไรคะ
เธอยิ้มอย่างมีเมตตา ก่อนจะบอกว่า ใครก็ตามที่ทำไม่ถูกคนที่มีหน้าที่จะต้องทำอะไรกับคนเหล่านี้ก็ต้องเคลื่อนไหว ต้องเข้าไปจัดการทั้งสิ้น
"ลองคิดอีกที ในแง่ของศีล 5 การที่เราต้องการจะแสวงหาความสงบ หรือต้องการบรรลุธรรม แต่ต้องแลกกับความสูญเสียของผู้อื่น ต้องทำให้สัตว์ป่าเดือดร้อน เขาต้องหนีไปอยู่ที่อื่น ซึ่งอาจถูกสัตว์อื่นกิน หรือทำร้าย แต่เราบรรลุธรรม เราได้คำตอบในสิ่งที่เราแสวงหา ถามว่า การได้มาของสิ่งเหล่านี้มีวิถีที่ถูกต้องแล้วหรือยัง"
เป็นคำถาม ที่ทิ้งไว้ให้ เชื่อว่าหลายคนคงมีคำตอบในใจอยู่แล้ว
ขอบคุณภาพประกอบ
- ตราสัญลักษณ์ของ “มูลนิธิสืบนาคะเสถียร” : http://logosociety.blogspot.com/2009/11/blog-post_5923.html
- พระธุดงค์ : http://www.212cafe.com/freewebboard/view.php?user=chaba50&id=29