เมื่อ “เสือ” ตกเป็น “เหยื่อ”
1. ร่าง หรือซากไร้วิญญาณ ของเสือลายพาดกลอน หรือเสือโคร่ง 3 แม่ลูก ถูกลำเลียงออกจากป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี ด้วยเฮลิคอปเตอร์ ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)ท่ามกลางความรันทดสลดใจของผู้พบเห็น
เสือโคร่งตัวแม่ ที่บัดนั้นถูกถลกหนังและอุ้งตีนออกไปหมด เหลือแค่โครงกระดูก
ส่วนลูกเสือวัยกำลังโตอีก 2 ตัว ทั้งตัวผู้และตัวเมีย ที่คาดว่า ตายมาแล้วประมาณ 5 วัน (ในตอนนั้น) อวัยวะยังอยู่ครบ แต่มีตัวหนอนไต่ยั้วเยี้ย พร้อมกลิ่นเน่าเหม็นคละคลุ้ง
“จากร่องรอยที่เจอรอบๆ เราพบว่า พวกมันดิ้นอย่างทุรนทุราย เจ็บปวดทรมาน ก่อนตาย ม่านตาขยาย คาต้าง กล้ามเนื้อผิวหนังมีจ้ำสีแดง ชักเกร็ง และมีรอยข่วนต้นไม้ใกล้ๆ เสือตัวใหญ่และตัวเล็กนอนตายห่างกันไม่เกิน 5 เมตร” นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน สัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้รายละเอียด หลังจากลำเลียงซากเสือทั้ง 3 ตัวไปไว้ที่สถาบันสุขภาพสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ผลการตรวจสอบซากเสือจากสถาบันสุขภาพสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่าคนร้ายใช้สารในกลุ่มคาร์บาเมท ซึ่งเป็นสารเคมีชนิดเกร็ดสีม่วง ใช้สำหรับฆ่าแมลงศัตรูพืชชนิดรุนแรงผสมกับเนื้อเก้ง เพื่อล่อให้เสือมากินโดยสารคาร์บาเมทเป็นวัตถุมีพิษรุนแรง หาซื้อได้ง่ายตามร้านเกษตรภัณฑ์ทั่วไป คาดว่าคนร้ายน่าจะซื้อมาจากร้านค้าเกษตรบริเวณห้วยขาแข้ง
ถือเป็นปรากฏการณ์สะเทือนใจอย่างหนึ่งสำหรับคนไทย เพราะเสือโคร่งถือเป็นสัตว์ใหญ่ และใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง หลายคนยกย่องว่า ป่าในเมืองไทยมีเสือโคร่งเป็นเจ้าแห่งป่า
การที่เจ้าแห่งป่า ถูกฆ่าอย่างทารุณและโหดร้ายอย่างนี้ย่อมไม่ใช่เรื่องปกติอย่างแน่นอน
ไม่ปกติ หมายถึง ความย่อหย่อนเรื่องการดูแลกวดขันการเข้าไปลักลอบล่าสัตว์ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะห้วยขาแข้งแหล่งที่พบซากเสือทั้ง 3 ตัว เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ขึ้นชื่อว่าเป็นป่าไข่แดงของประเทศไทย และเป็นป่าสำคัญที่เป็นที่พำนักอาศัยของเสือโคร่งชุกชุมที่สุดในประเทศไทย คือมีอยู่ราว 80-100 ตัว จากประชากรเสือโคร่งราว 250-300 ตัวในประเทศไทย
สถานการณ์เสือในโลกรอบ 100 ปีที่ผ่านมาพบว่า ประชากรเสือโคร่งได้ลดจำนวนลงมากจากที่เคยมีการแพร่กระจายกว้างขวางและมีประชากรในธรรมชาติมากกว่า 100,000 ตัว แต่ปัจจุบันพบว่ามีเหลืออยู่เพียง 4,000 ตัวเท่านั้น นอกจากนี้ 3 ใน 9 ชนิดพันธุ์ย่อยของเสือโคร่ง ได้แก่ เสือโคร่งสายพันธุ์ย่อยบาหลี เสือโคร่งสายพันธุ์ย่อยแคสเปียน และเสือโคร่งสายพันธ์ย่อยชวา ได้สูญพันธุ์ไปจากโลกแล้ว
ส่วนในประเทศไทย มีเสืออยู่ 2 สายพันธุ์ย่อย คือ เสือโคร่งอินโดจีน และเสือโคร่งมาลายู
แต่ประชากรเสือโคร่งทั่วประเทศได้ลดจำนวนลงไปเช่นเดียวกับแหล่งอาศัยอื่นๆ ในโลก คงเหลือประชากรเสือโคร่งที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 10 กลุ่มป่าโดยกลุ่มประชากรที่ยังคงมีความสมบูรณ์และมีความหนาแน่นมากที่สุดอยู่ในพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติทุ่งใหญ่ห้วยขาแข้งในกลุ่มป่าตะวันตก ซึ่งจากการประเมินประชากรเสือโคร่งในประเทศไทยคาดว่าจะเหลือเพียง 250-300 ตัวเท่านั้น
จากการเข้าไปคุกคาม ฆ่าเสือ 3 แม่ลูก ในป่า ที่ถือเป็นป่าไข่แดงอย่างในห้วยขาแข้ง แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สถานการณ์การคุกคามเสือในประเทศไทยนอกจากยังไม่น่าไว้วางใจแล้ว ยังมีความรุนแรงอีกด้วย
อาจจะเป็นเพราะ ชีวิตและร่างกายของเสือ ยังเป็นแรงบันดาลใจสำหรับผู้ล่าที่ยังไร้จิตสำนึกอยู่
ส่วนราคาหนังเสือในตลาดมืด ณ ปัจจุบัน ว่ากันว่า ราคาผืนละ 100,000-300,000 บาท ขณะที่ หัว เขี้ยว กระดูก เนื้อ และอุ้งตีน ก็ราคาสูงมาก เขี้ยวเสื้อ ซื้อขายกันเขี้ยวละ 5,000-20,000 บาท หัวเสือ หัวละ 50,000-70,000 บาท ทีเดียว
ขณะที่กระดูกเสือก็ยังมีความเชื่อกันว่า เป็นยาโป๊วบำรุงกำลังทางเพศได้
ความเชื่อดังกล่าวไม่เคยหายไปจากสังคมโลกใบนี้ แม้ทางวิทยาศาสตร์ และสาธารณสุขจะเอาหลักฐานนานาประการมายืนยันว่า อวัยวะของเสือทุกส่วนไม่มีคุณสมบัติในการเพิ่มพลังทางเพศก็ตาม
นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า การอนุรักษ์เสือนั้น นอกเหนือการเพิ่มพื้นที่อยู่อาศัยให้เสือ หรือเพิ่มพื้นที่ป่าแล้ว จำเป็นต้องลดความต้องการชิ้นส่วนต่างๆของเสือในตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการสร้างความเข้าใจว่าชิ้นส่วน อวัยวะต่างๆของเสือ ไม่มีคุณสมบัติทางยา หรือเป็นอาหารบำรุงร่างกายอะไรทั้งสิ้น ในทางตรงกันข้ามความต้องการสิ่งเหล่านี้ที่เพิ่มขึ้นยิ่งทำให้คุณภาพชีวิตที่ต่ำลง เพราะเสือถือเป็นจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศ
“ต้องยอมรับว่า ความต้องการบริโภคเสือเพื่อเป็นยาโป๊ว ยาชูกำลัง หรืออาหารเสริม ที่ทำจากร่างกายอวัยวะของเสือ ที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณเสือลดลง ผมมีแนวคิดว่า เราจะน่าบรรจุความรู้เรื่องนี้ลงไปในบทเรียนเป็นเชิงวิทยาศาสตร์ หรือสร้างเสริมประสบการชีวิต ให้นักเรียน นักศึกษาทราบว่าเรื่องนี้เป็นเพียงความเชื่อและการเข้าใจผิด ไม่ใช่เรื่องจริง ต้องทำให้คนรุ่นใหม่เข้าใจเรื่องนี้ ไม่เชื่อตามแนวทางของคนรุ่นเก่าอีกต่อไป”นายสุวิทย์ บอกถึงแนวทางในอนาคต
2. จากการที่ประชากรเสือโคร่งทั่วโลกลดลงเรื่อยๆ และยังอยู่ในสภาพที่ถูกคุกคามอย่างหนักนั้น ช่วงต้นปี 2553 ประเทศไทยก็ได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับรัฐมนตรีประเทศเอเชียด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง ครั้งที่ 1 มีรัฐมนตรี และตัวแทนรัฐมนตรีด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในภูมิภาคเอเชีย จำนวน 13 ประเทศ รวมทั้งประเทศ รัสเซียเข้าร่วมจำนวน และตัวแทนจากองค์การพัฒนาเอกชน(เอ็นจีโอ)ด้านการอนุรักษ์เสือจากภูมิภาคต่างๆ โดยมีธนาคารโลก สนับสนุนการประชุม
ในที่ประชุมครั้งนี้ ทางกองทุนสัตว์ป่าโลกหรือ WWF ได้มอบรางวัล J.Paul Getty Aword for Conservation Leadership 2009 ให้แก่ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะที่มีผลงานด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเทศไทย และในระดับโลกด้วย
ภายหลังการประชุมทั้ง 13 ประเทศ เห็นชอบร่วมกันในการปกป้องเสือ โดยจะปฏิบัติตามพันธกรณี ที่เรียกว่า ปฏิญญาหัวหินว่าด้วยแผนอนุรักษ์เสือโคร่ง ให้เสือโคร่งเพิ่มปริมาณขึ้นอีก 1 เท่า นับจากวันนี้ไปถึงปี 2022 ดังนี้
1.จะต้องสร้างความสมดุลย์ระหว่างการอนุรักษ์ และการพัฒนา โดยพยายามให้เสือที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงไปอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัย ไม่ให้ได้รับผลกระทบจาการพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่ทำให้เสือลดจำนวนลง แต่ต้องทำให้ปริมาณมากขึ้นให้ได้ 2.เรื่องการค้า การบังคับใช้กฏหมาย จะต้องร่วมกัยปกป้องเสือจากการค้าที่ผิดกฏหมาย และจะต้องให้กฏหมายจัดการกับผู้กระทำผิดอย่างจริงจังทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ 3.เรื่องการจัดการ จะต้องนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาจัดการเรื่องการอนุรักษ์ และเพิ่มปริมาณของเสือในธรรมชาติอย่างเหมาะสม 4.ต้องรณรงค์ให้ชุมชน หรือประชาชนที่มีที่อยู่อาศัยใกล้กับบริเวณที่เสืออาศัยอยู่ สนับสนุนการอนุรักษ์เสือ และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์เสือ 5.สนับสนุนเงินทุนที่จะเอามาทำงานเรื่องการอนุรักษ์เสืออย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลอาจจะต้องติดต่อขอรับการสนับสนุนจากองค์กรการเงินระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก หรือ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย(เอดีบี) 6.จะมีการติดตามผลการหารือร่วมกันในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับประเทศ และระดับภูมิภาค ก่อนที่จะมีการประชุมสุดยอดเสือโคร่งโลกที่ ประเทศรัสเซีย รวมทั้งภายหลังการประชุมที่ประเทศรัสเซียเสร็จก็จะต้องติดตามผลการดำเนินการเรื่องนี้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด จนกว่าแผนการอนุรักษ์เสือโคร่งจะเป็นไปตามที่ตั้งเป้าเอาไว้
ทว่า หลังการประชุมผ่านไปไม่ถึง 3 เดือน เสือในประเทศไทยถูกฆ่าตายอย่างทารุณไปถึง 3 ตัวด้วยกัน
แม้วันนี้ทางกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จะออกมาบอกว่า ได้เบาะแสคนที่กระทำการอุกอาจในเรื่องนี้แล้วก็ตาม แต่ถึงเราจะจับผู้กระทำผิดได้ เสือทั้ง 3 ตัวก็ไม่ฟื้นคืนมาเหมือนเดิม
ความผิดพลาด บกพร่องที่เกิดขึ้นเกิดจากอะไร
กฏหมายละหลวม ผู้คุมกฏย่อหย่อน บกพร่อง ละเลย หรือ กำลังพลในการป้องกันดูแลมีน้อย หรือทั้งหมดรวมกัน
หากเป็นเช่นนี้ ปฏิญญาที่มีขึ้น จะมีประโยชน์อะไร...
เราน่าจะต้องกลับมาทบทวนบทบาทของตัวเองในเรื่องการอนุรักษ์สัตว์ป่าหายาก โดยเฉพาะเสือโคร่ง ว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้น ทำเต็มที่ และทำอย่างเพียงพอแล้วหรือยัง ???
ทำไมเราต้องอนุรักษ์เสือ ?
ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเสือในประเทศไทย
“สถานการณ์เสือโลก ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมาพบว่าประชากรเสือโคร่งได้ลดจำนวนลงมาก จากที่เคยมีการแพร่กระจายกว้างขวางและมีประชากรในธรรมชาติมากกว่า 100,000 ตัว แต่ปัจจุบันพบว่ามีเหลืออยู่เพียง 3,500-4,000 ตัวเท่านั้น”
“นอกจากนี้ 3 ใน 9 ชนิดพันธุ์ย่อยของเสือโคร่ง ได้แก่ เสือโคร่งสายพันธุ์ย่อยบาหลี เสือโคร่งสายพันธุ์ย่อยแคสเปียน และเสือโคร่งสายพันธ์ย่อยชวา ได้สูญพันธุ์ไปจากโลกแล้ว
สำหรับประเทศไทย มี 2 สายพันธุ์ย่อยได้แก่ เสือโคร่งอินโดจีน และเสือโคร่งมาลายู โดยประชากรเสือโคร่งทั่วประเทศได้ลดจำนวนลงไปเช่นเดียวกับแหล่งอาศัยอื่นๆ ในโลก คงเหลือประชากรเสือโคร่งที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 10 กลุ่มป่าโดยกลุ่มประชากรที่ยังคงมีความสมบูรณ์และมีความหนาแน่นมากที่สุดอยู่ในพื้นที่มรดกโลกทางธรรมาติทุ่งใหญ่ห้วยขาแข้งใกลุ่มป่าตะวันตก เท่านั้น ซึ่งจากการประเมินประชากรเสือโคร่งในประเทศไทยคาดว่าจะเหลือเพียง 250-300 ตัวเท่านั้น”
“สาเหตุสำคัญของการลดลงของประชากรเสือโคร่งคือ การลดลงของเหยื่อและพื้นที่ที่อยู่อาศัย คือป่านั่นเอง พบว่าเสือโคร่ง 1 ตัว ต้องการเหยื่อ 500 ตัวต่อปี
เสือโคร่งต้องอาศัยในพื้นที่ที่เหมาะสม มีเหยื่อที่เหมาะสม และมันต้องไม่ถูกล่า ถ้ามันถูกรบกวนปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ เราจะเห็นผลกระทบที่เกิดกับเสือได้ง่าย จากการศึกษาของเราพบว่าตัวผู้ใช้พื้นที่เกือบ 300 ตารางกิโลเมตร ภายในพื้นที่จะมีตัวเมีย 2-3 ตัว ถ้าเราต้องการรักษาพันธุกรรมของเสือโคร่งให้เสถียรจึงต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ ดังนั้น
การรักษาเสือโคร่งไม่ได้หมายความว่าเรารักษาเสือโคร่งอย่างเดียวแต่การรักษาเสือโคร่งเป็นเหมือนตัวแทนของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด”
หากเราไม่ทำอะไรเลย ปล่อยให้พื้นที่ป่า ถูกทำลายลง เหยื่อของเสือมีน้อยลง
เสือก็จะค่อยๆลดจำนวนลงเรื่อยๆ
และจะหมดไปในที่สุด