ลด “ขยะ” ปัญหาสังคม กับ “คนลดขยะ”
ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในวงกว้าง นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ระยะเวลาที่ผ่านมาการพัฒนาประเทศ การเพิ่มของประชากร การเจริญเติบโตของชุมชน สังคม เทคโนโลยีที่มีความทันสมัย ทำให้อัตราการใช้ทรัพยากรธรรมชาติก็เพิ่มตามไปด้วย
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2532 ณ ศาลาดุสิดาลัยพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าถวายพระพร เนื่องในวโรกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษา มีใจความเกี่ยวกับสถานการณ์และปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งที่เกิดกับโลกและในประเทศ ทรงเตือนให้พสกนิกรร่วมมือกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ด้วยความสุขุมรอบคอบ โดยให้ถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องปฏิบัติ มิใช่เพียงเพื่อประเทศไทยเท่านั้นหากเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของโลก
ปัญหาขยะมูลฝอย เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมเร็ว เป็นวิกฤตปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ขณะที่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคสังคม ต่างพยายามหาวิธีแนวทางโดยมุ่งเน้นการแก้ไขระดับชุมชน ตัวบุคคลเป็นหลัก รวมทั้งการนำขยะมารีไซเคิลใหม่
เก็บขยะสะสมเงินทองคุ้มครองอนาคต
สำหรับเทศบาลตำบลพังโคน ซึ่งมีพื้นที่ 6.6 ตารางกิโลเมตร มีประชาชนประมาณ 6, 000 คน ถือได้ว่าเป็นเทศบาลที่เล็กเมื่อเทียบกับเทศบาลอื่นๆแต่ปัญหาเรื่องขยะไม่ได้เล็กตามไปด้วย นายสุรพล นิติกิจไพบูลย์ นายกเทศมนตรีตำบลพังโคน จ.สกลนคร กล่าวว่า เมื่อช่วงเข้ามารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมื่อปี 2542 ตั้งใจไว้ว่าจะให้ความสำคัญกับปัญหาขยะเป็นอันดับแรก โดยการพาประชาชนไปศึกษาดูงานที่ต่างๆและนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ จนทำให้ได้รับรางวัลชมเชยโล่ประกาศเกียรติคุณเทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืนประจำปี 2550 ระดับประเทศ
นายกเทศมนตรีต.พังโคน เล่าถึงการรับซื้อขยะของทางเทศบาลฯ ว่า จะออกรับซื้อขยะสัปดาห์ละ 2 วัน คือวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ใน 11 ชุมชนเดือนละ 4 ครั้ง แต่ละครั้งที่ซื้อจะได้ขยะประมาณ 2,000 กิโลกรัมต่อวัน สำหรับจุดรับซื้อขยะคือที่ทำการชุมชนของแต่ละชุมชน หลังจากนั้นทางเทศบาลจะนำขยะไปคัดแยก จดบัญชี และได้ตั้งกติกาไว้ว่า ผู้ที่ขายขยะจะเบิกเงินได้เมื่อมีเงินฝากในสมุดบัญชี 300 บาท การขายครั้งแรกและครั้งที่ 2 จะไม่ได้รับเงินคืนจนกว่าจะขายครบ 300 บาท ขณะนี้เทศบาลมีเงินออมของผู้ที่มาขยะประมาณ 2 แสนกว่าบาท
“การดำเนินการตั้งแต่ ก.ย. 2551- ธ.ค. 2552 สามารถลดขยะได้ประมาณ 6 ตันต่อเดือน หรือวันละ 200 กว่ากิโลกรัม มีสมาชิก 320 ครัวเรือน จากผลกำไรที่ได้จาการรับซื้อและขายขยะจะมอบให้แก่สมาชิกที่เสียชีวิตศพละ 5,000 บาท แต่สมาชิกที่จะได้รับเงินนั้นจะต้องเป็นสมาชิกมาไม่น้อยกว่า 6 เดือน จนกลายมาเป็นโครงการเก็บขยะสมสมเงินทองคุ้มครองอนาคต”นายสุรพล กล่าว
ส่วนโครงการขยะพิษแลกแต้ม ที่รับซื้อขยะพิษจากประชาชนโดยไม่ใช้เงิน นั้น นายกเทศมนตรีต.พังโคน เล่าว่า จากการที่ได้เห็นขยะพิษในชุมชนมีมากพอสมควร ทั้งหลอดไฟนีออน กระป๋องสเปรย์ ถ่านไฟฉาย จึงคิดว่าควรจะมีการรับซื้อขยะพิษแลกแต้ม แต่เป็นการขายที่ปราศจากเงิน ให้มีการสะสมแต้มแทน ใครได้แต้มสูงสุด 5,000 แต้มจะได้รับเครื่องใช้ในครัวเรือนเป็นการตอบแทน ส่วนขยะจะนำไปฝังกลบไว้ในบ่อฝังกลบที่ได้จัดเตรียมไว้ หลังจากทำมาได้ 6 เดือนสามารถลดขยะพิษได้ นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ประชาชนนำเศษผัก ผลไม้ ใบไม้จากตลาดและในครัวเรือนมาทำปุ๋ยหมักชีวภาพ เทศบาลจะแจกบ่อวงขอบให้แต่ละครัวเรือนได้หมักน้ำปุ๋ยชีวภาพเพื่อให้ใช้การทำการเกษตรทั้งประหยัดเงินในการซื้อปุ๋ยและช่วยลดขยะได้อีกทาง
แยกขยะเป็นส่วนๆของนครนนท์
มาดูที่จังหวัดนนทบุรี น.ส.พรศรี กิจธรรม รองปลัดเทศบาลนครนนทบุรี เล่าถึงหลักดำเนินงานการจัดการเรื่องขยะของนครนนทบุรีว่า มีหลักง่ายๆ คือ แยกเป็นส่วนๆ ขยะที่ขายได้และขายไม่ได้ รวมทั้งนำเทคโนโลยีเข้าช่วย ใช้แนวคิด 3Rได้แก่ Reduce ลดการใช้ Reuse การใช้ซ้ำ Recycle การรีไซเคิล
“เทศบาลนครนนทบุรีมีประชากรหนาแน่นที่สุดในประเทศไทยรองจากกรุงเทพฯ มีประชากร 4 แสนกว่าคน 1 แสนหลังคาเรือน มีรถกวาดขยะ 4 คัน และรถในการจัดเก็บขยะ 45 คัน โดยใช้ระบบ GPS ติดรถขยะทุกคันสามารถติดตามพฤติกรรมพนักงานขับรถได้ตลอดเวลา เพื่อให้ประโยชน์ในการบริหารจัดการการเก็บขนขยะ เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและลดต้นทุนได้”น.ส.พรศรี อธิบาย
นอกจากนี้ เทศบาลนครนนทบุรียังมีการคัดแยกขยะมูลฝอยติดเชื้อ ซึ่งได้เริ่มขึ้นเมื่อปี 2547 มีคลินิกทั้งของคนและคลินิกของสัตว์ โรงพยาบาลที่อยู่ในเขตเทศบาลนนทบุรีเข้าร่วม จนสามารถจัดเก็บขยะมูลฝอยติดเชื้อได้เพิ่มขึ้นทุกปี ประมาณ 200 กว่าตันต่อปี เพื่อไม่ให้ไปปะปนกับขยะมูลฝอยทั่วไป และยังมีโครงการต่างๆที่ทางเทศบาลได้ลงมือทำจนได้ประสบผลสำเร็จ เช่น โครงการคลองสวยน้ำใส จะมีการซื้อเรือให้ชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำลำคลอง ชุมชนละ 1 ลำ ให้คนในชุมชนพายเรือเก็บขยะในแม่น้ำ จากนั้นจัดการประกวดชุมชนคลองสวยน้ำใจ เป็นการสร้างจิตสำนึกในชุมชน
วันนี้เทศบาลนครนนทบุรี เห็นผลแล้วว่า เรื่องใดก็ตามที่เริ่มจากจุดเล็กๆ เริ่มตั้งแต่ระดับชุมชนจะได้ผลที่ชัดเจนที่สุด คนในชุมชนก็จะทำด้วยใจรัก ไม่ใช่เพราะเงิน
รร.เกาะคากับบ้านเรียนรู้ 6 หลัง
ขึ้นเหนือไปที่จังหวัดลำปาง นายมานิตย์ ขอทะเสน ครูผู้ดูแลโครงการธนาคารขยะรีไซเคิล โรงเรียนเกาะคาวิทยาคม ซึ่งปีนี้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ในระดับมัธยมศึกษา ให้รายละเอียดว่า โรงเรียนเคยเข้าร่วมกิจกรรม 5 ส.และโครงการลดเมืองร้อนด้วยมือเรา มาก่อนจึงทำให้มีพื้นฐานในการบริหารจัดการ
“ปี 2550ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการลดเมืองร้อนด้วยมือเราร่วมกับเทศบาลเกาะคา ของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยและบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด โดยการทำกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ เช่น การลดปริมาณขยะ เพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และปี 2551โรงเรียนและเทศบาลได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการลดเมืองร้อนด้วยมือเราเป็นปีที่ 2 ทั้งโรงเรียนและเทศบาลได้ดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง และในปี 2551 นี้เองได้เข้าร่วมโครงการธนาคารขยะรีไวเคิล ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จนได้รับรางวัลชนะเลิศระดับจังหวัด และในปี 2552 ก็ได้เข้ามาแข่งขัยระดับประเทศได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ1 ระดับมัธยมศึกษา”นายมานิตย์ กล่าว
สำหรับแนวความคิดของโครงการธนาคารขยะรีไซเคิลของโรงเรียนเกาะคา ที่ไม่เหมือนใคร คือ การใช้บ้านพักครูร้าง 6 หลังมาทำเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนนั้น นายมานิตย์ บอกว่า บ้านพักครูทั้ง 6 หลังนั้นจะแบ่งออกเป็นบ้านเรียนรู้ต่างๆ ได้แก่ บ้านธนาคารขยะซึ่งเป็นบ้านหลังใหญ่เป็นแหล่งเก็บขยะที่ได้จากพื้นที่ต่างๆ แล้วนำขยะจากบ้านหลังนี้ไปสู่บ้านต่างๆ เช่น บ้านนักประดิษฐ์ บ้านปุ๋ยอินทรีย์ บ้านกระดาษรีไซเคิล
“ในบ้านแต่ละบ้านจะมีการแบ่งนักเรียนรับผิดชอบดูแลและมีการทำวิจัย ทำโครงการงานของบ้านแต่ละหลัง เช่น บ้านขยะรีไซเคิล นักเรียนได้ไปสืบค้นจนเจอปราชญ์ท้องถิ่นและปราชญ์ท่านนั้นได้ให้เครื่องปั่นกระดาษมาเพื่อให้ใช้ในโรงเรียน และนักเรียนก็ไปเอาขยะจากบ้านธนาคารขยะมาปั่นเป็นกระดาษสา สำหรับส่วนผสมที่ทำก็มีการวิจัยเช่นกันว่า จะทำอย่างไรให้มีคุณภาพเหมือนในท้องถิ่น ผลผลิตที่ได้ก็จะเอามาทำเสื่อ หมวก กระเป๋า สำหรับบ้านปุ๋ยอินทรีย์จะมีการทำปุ๋ยน้ำชีวภาพ และเอาปุ๋ยที่ได้ไปใช้ในบ้านต้นไม้ และบ้านพืชผักสมุนไพร ซึ่งจะเห็นได้ว่า บ้านเรียนรู้ทั้ง 6 หลังจะมีความสอดคล้องกัน”ครูรร.เกาะคา กล่าว
ครูรร.เกาะคา กล่าวอีกว่า จากการเข้าร่วมโครงการธนาคารขยะ ทำให้นักเรียน ครูทุกคนมีส่วนร่วมและนำความรู้ที่ได้ไปบูรณาการให้เข้ากับ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ นอกจากนี้โรงเรียนเกาะคาได้สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกับ 4 อีกโรงเรียน และวันที่ 19 ธันวาคมนี้จะมีการเข้าค่ายปฏิบัติการกู้โลก โดยการเอาแกนนำของแต่ละโรงเรียนมารวมที่โรงเรียนเกาะคา มีวิทยากร ปราชญ์ชาวบ้านในท้องถิ่นมาช่วยให้ความรู้ เพื่อเอาความรู้ที่ได้จากการเข้าอบรมไปเผยแพร่ต่อในโรงเรียน ชุมชนและจะมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะได้มีการพัฒนาต่อไป
หลักขยะ 4 ประเภทของรร.บ้านกรวด
โรงเรียนบ้านกรวดวิทยาคาร จ.บุรีรัมย์ ถือได้ว่าเป็นอีกโรงเรียนหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับปัญหาของขยะอย่างจัดเจน น.ส.เสาวณิต แป้นกระโทก ครูผู้ดูแลโครงการธนาคารขยะ เล่าว่า ขยะที่โรงเรียนสามารถแบ่งงออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล ขยะที่ย่อยสลายได้ และขยะพิษ
“ขยะทั่วไปจะมีการคัดแยกเพื่อทำสิ่งประดิษฐ์ นำไปตกแต่งบอร์ด ทำบัตรอวยพร ใช้ประดิษฐ์สื่อการเรียนการสอน ขยะรีไซเคิลจะคัดแยกเพื่อนำไปทำสิ่งประดิษฐ์ และฝากธนาคารรีไซเคิล ขยะที่ย่อยสลายได้ เช่น เศษผัก ผลไม้ เศษอาหารจากโรงอาหารนำไปทำปุ๋ยหมักชีวภาพไว้ใช้ประโยชน์ในโรงเรียน ใช้รดน้ำต้นไม้ ดับกลิ่นห้องน้ำ และเผยแพร่สู่ชุมชน เอาเศษผัก ผลไม้และเศษอาหารอีกส่วนไปเลี้ยงเป็ด หมูหลุม สำหรับขยะพิษก็จะคัดแยกออกจากประเภทอื่น เพื่อให้เทศบาลนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี”
น.ส.เสาวณิต บอกว่า จากการดำเนินการโครงการธนาคารขยะทำให้ทั้งครู นักเรียนมีส่วนร่วม จนทำให้โรงเรียนสะอาดเรียบร้อย การที่ทุกคนมีส่วนร่วม เช่น นักเรียนทุกคนจะต้องส่งขยะรีไซเคิลที่คุณครูที่ปรึกษาไม่น้อยกว่า 20 ครั้งต่อภาคเรียน และบันทึกการส่งลงในแบบบันทึก ของห้องเรียน ถือว่ากิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมสร้างสรรค์สังคม นำความรู้ที่ได้รับจากโรงเรียนไปใช้ที่บ้านและชุมชน และได้มีการจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้เพื่อให้ประชาชน นักเรียนจากโรงเรียนอื่นได้เข้ามาศึกษาและนำข้อมูลไปปฏิบัติต่อไป
ขณะที่น.ส.ศุภลักษณ์ ปะโปตินัง “น้องมายด์” นักเรียนชั้นม.4โรงเรียนบ้านกรวดวิทยาคาร บอกว่า จากการเข้าร่วมโครงการนี้ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นม. 2 จนถึงปัจจุบันนี้ทำให้รู้สึกว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่มีประโยชน์ทั้งตัวของนักเรียนเอง ครอบครัว ชุมชน
“ทำให้เรียนรู้ถึงวิธีบริหารจัดการการทำงานอย่างเป็นระบบและการทำงานร่วมกันเป็นทีม กล้าคิดกล้าทำ นำความรู้ไปต่อยอด ได้รู้ว่าขยะจากที่เราเห็นไม่มีค่าเป็นของที่ทิ้งแล้ว ถ้าดูดีๆจะรู้ว่ายังมีประโยชน์นำกลับไปใช้ใหม่ได้ ไปประดิษฐ์เป็นกระเป๋า หมวก สามารถนำไปขายได้ช่วยประหยัดเงิน นำความรู้ที่ได้จากโรงเรียนไปใช้ต่อที่บ้านและชุมชนได้ รวมทั้งยังสร้างจิตสำนึกที่ดีไม่ทิ้งขยะพร่ำเพรื่อ ช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกทางด้วย”น้องมายด์กล่าว
จะเห็นว่าปัญหาขยะไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ขนาดกทม.เมืองใหญ่ ยังต้องออกมาตรการ ทิ้ง – จับ – ปรับ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 52 เป็นต้นมา โดยไม่ได้หวังยอดจากเงินค่าปรับ แต่หวังให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาความสะอาดพื้นที่สาธารณะ แม่น้ำลำคลอง รวมทั้งดูแลบ้านเรือนของตนเองให้สะอาดน่าอยู่ ฉะนั้น เมื่อเราเป็นผู้ที่ทำให้เกิดขยะมูลฝอยขึ้นมา ก็ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสามารถเป็นผู้ลดขยะได้เช่นกัน