สัญญาณ “อารยะ” พลิกเกมปะทะสู่โต๊ะเจรจา
ถึงแม้การเจรจาระหว่างรัฐบาล–แกนนำ นปช.ทั้ง 2 ครั้ง มีอันต้องล้มพับลง เพราะตกลงกันไม่ได้เรื่องระยะเวลายุบสภา ขณะที่หลายฝ่ายยังตั้งความหวังอยากให้มีการเจรจารอบ 3 เกิดขึ้นอีก ขอดูต่ออีกสักยก ไม่ว่าจะเจรจาแบบเดิมหรือเจรจาภายใน แบบไม่ต้องถ่ายทอดสดออกทีวีไปทั่วประเทศ
สำหรับบุคคลที่เฝ้าติดตามจะมีความคิดเห็นและความรู้สึกอย่างไร กับการถ่ายทอดสดบนโต๊ะเจรจาครั้งประวัติศาสตร์ ที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างแสดงบทบาทเพื่อให้เข้าตาประชาชน
ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
“ผมชอบมากในฐานะเป็นประชาชนคนหนึ่ง เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลก วันแรกที่รัฐบาลลงมาพูดกับคนที่กำลังเดินขบวนอยู่ เปิดเผยและให้เกียรติ ซึ่งกันและกัน หรือแม้กระทั่งวันที่ 2 ที่เข้าได้เข้าเข็ม แม้อารมณ์จะเริ่มรุนแรงขึ้น ก็ยังดี เป็นเทคนิคของเขา ได้เห็นกระบวนการเจรจา แม้ยังไม่ใช่การเจรจาที่แท้จริง เพราะการเจรจาที่แท้จริง คือต้องลงดิน ต้องดำดิน ขืนทำเช่นนี้ไม่ไปไหน
วันแรกที่เขาพูด ผมได้เห็นแกนนำเสื้อแดงได้พูดคุยกับคนของเขา จากที่ต้องแสดงความรู้สึกให้คล้อยตามเย้วๆ ของกลุ่มเสื้อแดง แต่ในวันนั้นเป็นการพูดให้คนที่ไม่ใช่เสื้อแดงฟังด้วย หากฟังดีๆ แม้กระทั่งนายจตุพร พรหมพันธุ์ นพ.เหวง โตจิราการ พยายามพูดให้คนอื่นรับฟัง ซึ่งได้อะไรหลายอย่าง เขาก็สามารถพูดให้กับคนอื่นรับฟังได้ ผมฟังผมก็ได้อะไรหลายๆอย่างที่ไม่เคยนึกมาก่อน เพราะผมไม่ใช่เสื้อแดง ไม่ใช่เสื้อเหลือง
มาถึงวันที่สอง เขาเริ่มไม่เอาแล้ว เพราะเริ่มรู้ตัวว่า ไปแนวนี้ก็แพ้ ก็เลยรวนเสียเลย เริ่มมีการแหย่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายกฯ ก็มีอาการโกรธ ด้วย ก็แสดงให้เห็นว่า เราได้บทเรียนหลายๆอย่างจากการถ่ายทอดสดการเจรจาครั้งนี้
การเจรจาเป็นเรื่องที่ดีมากๆ แต่ไปโฟกัสอยู่ที่คนๆเดียว ซึ่งการเจรจาต่อไปคงไม่ได้ แม้จะเป็นเรื่องยากผมก็ยังอยากเห็นนายอภิสิทธิ์ คุยกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี”
กรณีการปะทะคารมในเวทีการเจรจานั้น ดร.อัมมาร มองว่า การที่นายกฯออกมาโมโหเป็น เรื่องดี ที่ผ่านมาแสดงความสบายๆเกินไป เพราะเวลาโต้วาที ชนะได้ง่าย เพราะจะเฉยๆ ยิ้มไปเรื่อย พอออกมาโมโห แสดงว่า ซีเรียส และนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ใหญ่ขึ้น
สำหรับคนที่พูดดีที่สุด ดร.อัมมาร ยกให้ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี หนึ่งในคณะผู้เจรจาฝ่ายรัฐบาล ที่พูดว่า ถ้าหากเราไม่เชื่อใจกัน ก็ไม่ต้องพูดกันต่อ แต่ที่เรามานั่งเจรจากัน เป็นการแสดงออกถึงความเชื่อ และพูดออกมาว่า รายละเอียดเรื่องที่จะทำมีอะไรบ้าง
พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า
“วันแรกเริ่มเห็นแสงสว่างบ้างว่าจะเจอกันที่จุดไหน วันที่สอง ปรากฎว่า มีการเตรียมกันมาแล้ว มีอะไรเตรียมมาก่อนล่วงหน้า จึงเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการเจรจานำมาพูดมีถึง 80 % แต่เชื่อว่า เมื่อก้าวที่สองเริ่มเดินแล้ว มีโอกาสเดินไปถึง 400-500 ก้าว เชื่อว่าทำได้ หากมีการคุยกันนอกรอบ
จุดยืนของฝ่ายรัฐบาลต้องการใช้เวลาปรับสภาพสังคมต่างๆ ให้พร้อมก่อนยุบสภา ขณะที่ นปช.ไม่เชื่อ นักการเมือง ดูจากคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ คิดแก้รัฐธรรมนูญออกมา 6 ประเด็นสุดท้าย รัฐบาลไม่ได้นำไปทำอะไรเลย นปช. จึงเสนอยุบสภา นี่คือ แนวคิดที่ต่างกัน จุดยืนที่ต่างกันยังมีอีกหลายเรื่อง แต่ที่เหมือนกัน ทั้ง 2 ฝ่ายไม่ใช้ความรุนแรง เชื่อว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ต้องถูกปรับแก้ การยุบสภา แต่ช่วงเวลาอย่างไรต้องคุยกันอีกที”
นายโชคชัย ลิ้มประดิษฐ์ ผู้ใหญ่บ้านหนองกลางดงหมู่ที่ 7 ต.ศิลาลอย อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์
“เห็นด้วยกับการเจรจาเช่นนี้ แต่ขอให้เป็นเวทีของการพูดความจริงโดยการนำภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมมาร่วมเสวนาด้วย และถ้าเป็นไปได้ก็เจรจาออกอากาศต่อหน้าประชาชนทุกวันเลยยิ่งดี เพื่อที่จะหารือ หาข้อตกลงร่วมกันว่าจะนำความจริงซึ่งเป็นพื้นฐานของปัญญานี้เผยแพร่สู่ประชาชนได้อย่างไร เพื่อให้เกิดลักษณะการทำสร้างจิตสำนึกใหม่แบบป่าล้อมเมืองที่ต้องนำชุมชนที่เข้มแข็งแล้ว มีระบบวิถีประชาธิปไตยชุมชนเป็นการรวมภาคพลเมือง รวมไปถึงต่อจากนี้อาจจะมีการปฏิรูปสื่ออย่างไร โดยการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ”
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา
“ส่วนตัวสนับสนุนการเจรจาดังกล่าว แต่เห็นว่า การเจรจาระหว่างรัฐบาลกับแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ควรเป็นการเจรจาลับเพื่อหาข้อตกลงร่วมกันระดับหนึ่งก่อน เพราะหากปล่อยให้การเจรจาดำเนินไปเช่นนี้อาจส่งผลให้ไม่ประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้ยังเห็นว่า การเจรจาจะต้องไม่พูดเพียงเรื่องการยุบสภา แต่ต้องพูดว่า หลังจากนี้ปัญหาต่าง ๆ จะจบลงอย่างไร และจะหยุดยั้งเรื่องการพูดล่วงละเมิดสถาบัน การโจมตี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี การยิงระเบิดในหลายจุด ทั้งระเบิดเอ็ม 79 และระเบิดอาร์พีจีได้อย่างไร
“ขณะนี้กำลังมีขบวนการล้างสมองมวลชนอยู่ รัฐบาลจึงควรใช้สื่อในการเผยแพร่ข้อมูล เท็จจริงให้ชัดเจน ก่อนถึงการยุบสภาซึ่งอาจเกิดขึ้นใน 6 เดือนข้างหน้า และเห็นว่ารัฐบาลจะต้องประกาศกฎหมายที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ความมั่นคง 1 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ประกอบวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เพื่อควบคุมการใช้สื่อ”
เครือข่ายสันติวิธี แถลงการณ์"สนับสนุนการเจรจา"
เครือข่ายสันติวิธี ออกแถลงการณ์"สนับสนุนการเจรจา" แสดงความยินดีและชื่นชมต่อการเจรจาหารือกันระหว่างนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคณะ กับแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) และคณะที่สถาบันพระปกเกล้า เมื่อวันที่ 28 และ 29 มีนาคม 2553 ที่ผ่านมา แม้ว่าการเจรจาจะยังไม่ได้ข้อยุติ แต่ถือได้ว่านี่ป็นนิมิตหมายที่ดีของบ้านเมืองที่ทั้งฝ่ายรัฐบาลและนปช. ได้นำประเด็นที่มีความเห็นไม่ตรงกันมาขึ้นโต๊ะเจรจา เครือข่ายสันติวิธีมีความเชื่ออย่างบริสุทธ์ใจว่าการเจรจาครั้งนี้จะสามารถนำไปสู่ความสงบสุขของบ้านเมืองซึ่งเป็นชัยชนะของประเทศชาติที่ทั้งสองฝ่ายปรารถนาได้อย่างแน่นอน
เครือข่ายสันติวิธีมีข้อเสนอเพื่อให้กระบวนการเจรจาสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ดังนี้
1.การระงับการก่อการรุนแรง ทั้งสองฝ่ายต้องช่วยกันสอดส่องดูแลไม่ให้เกิดการก่อความไม่สงบด้วยวิธีการที่รุนแรงขึ้นในบ้านเมือง
2.การสื่อสารกับประชาชน ต้องช่วยกันลดความแตกแยกของผู้คนในสังคมด้วยการควบคุมการสื่อสารที่บิดเบือนความจริงและปลุกเร้ามวลชนให้มีความเกลียดชังฝ่ายที่มีความคิดเห็นตรงข้ามกับตน
3.การพบปะพูดคุยกันเป็นประจำนอกรอบ นอกจากการเจรจาของตัวแทนอย่างเป็นทางการแล้ว ขอเสนอให้มีเวทีย่อยเพื่อพบปะพูดคุยกันระหว่างทีมงานของรัฐบาลกับทีมงานของ นปช. เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์และลดช่องว่างระหว่างกัน โดยทั้งสองฝ่ายจัดทีมงานหมุนเวียนกันมาพูดคุยปรึกษาหารือในประเด็นต่างๆ