มองมุมกลับ คุณูปการ...ปฏิรูปการศึกษารอบแรก
การปฏิรูปการศึกษาในระยะที่ผ่านมา ท่านเห็นอะไรที่เป็นข้อดีบ้าง
การปฏิรูปการศึกษาทำอะไรให้กับสังคม
คุณูปการที่ส่งผลก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจนถึงปัจจุบัน...มีอะไรบ้าง
ถามอย่างนี้ หลายคนอาจนึกไม่ออก บ้างก็ครุ่นคิด ส่ายหน้า หลายคนบอกไม่เคยมีเลย มีแต่ปัญหาตลอด โดยเฉพาะในมุม “การปฏิรูประบบอุดมศึกษาไทย” ไม่น่าจะถูก ที่นำทบวงมหาวิทยาลัยไปรวมกับกระทรวงศึกษาธิการ เพราะทำให้งานหลายเรื่องของมหาวิทยาลัยกลายเป็นเรื่องล่าช้า ขั้นตอนยุ่งยาก การตัดสินใจถูกรวมศูนย์
เหล่านี้เป็นมุมที่มีแต่ปัญหา
ผู้ถูกพาดพิง ในฐานะอดีตกรรมการปฏิรูปการศึกษา กับผลงานนำทบวงมหาวิทยาลัยมารวมกับศธ. ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมองกว้าง การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาก็มีมุมอะไรที่ดีๆ มีสิ่งที่ผู้คนไม่ค่อยจะพูดถึง ไว้ในงานประชุมวิชาการประจำปี พ.ศ.2553 เรื่อง การปฏิรูประบบอุดมศึกษาไทย: ฤาจะเป็นความฝัน? จัดโดย ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการ จัดขึ้น ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ หลักสี่ กรุงเทพมหานคร เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา
ความเป็นอิสระของมหาวิทยาลัย “ข้อดี” ที่เห็นชัด
ศ.ดร.สุรพล มองมุมที่ดีของการปฏิรูปการศึกษาในระยะก่อนหน้านี้ที่ส่งผลมาถึงอุดมศึกษา “ข้อดี” อย่างมากที่เห็นได้ชัดเจน คือ ความเป็นอิสระของมหาวิทยาลัย พร้อมกับยกตัวอย่าง มหาวิทยาลัยสามารถเปิดหลักสูตร หรือสอนอะไรก็ได้ ไม่ต้องถามใคร (บางคนบอกเป็นข้อเสีย ที่บอกว่า จ่ายครบ จบแน่ หรือมีหลักสูตรมากมาย) ซึ่งจริงๆ คือข้อดี มหาวิทยาลัยไม่ต้องเสียเวลารอทบวงมหาวิทยาลัยอีกแล้ว อิสระของมหาวิทยาลัย เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น เรื่องนี้นำไปสู่การเป็นนิติบุคคลของมหาวิทยาลัย
ที่ไม่ได้นึก อีกหนึ่งคุณูปการของการปฏิรูปการศึกษา อดีตกรรมการปฏิรูปการศึกษา ได้ชี้ให้เห็น คือ การเพิ่มคนเข้าสู่ระบบการศึกษามากมายมหาศาล แม้ผลจะมาจากหลายเรื่อง ทั้งการปฏิรูปการศึกษา การขยายการศึกษาภาคบังคับ จาก 6 ปี เป็น 9 ปี มาจากนโยบายที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ ที่ต้องให้การศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี รัฐต้องจัดให้โดยไม่คิดมูลค่า มาจากเงินค่าชุด ค่าเครื่องแบบ ค่าอุปกรณ์การเรียน ที่ผู้ปกครองรับจากโรงเรียนได้เมื่อพาลูกไปโรงเรียน 500 – 600 ต่อคน แม้ดูจะเป็นเรื่องเล็กสำหรับเด็กที่เรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สวนกุหลาบ สตรีวิทยา แต่สำหรับผู้ปกครองที่อยู่ในชนบท เรื่องเหล่านี้ใหญ่มาก
เมื่อสัดส่วนการเข้าสู่ระบบการศึกษาที่เพิ่มสูงขึ้นมาก แล้วดีขึ้นสำหรับสังคมไทยอย่างไร คำถามนี้ ศ.ดร.สุรพล ตอบชัดว่า ดีกับสังคมไทยแน่ ไม่เป็นไร ถ้าจะตกงาน ถ้าไม่มีอะไรทำ ถ้าจะต้องไปขับรถแท็กซี่ ขี่มอเตอร์ไซต์รับจ้าง ขอให้มีความรู้ อ่านหนังสือพิมพ์ ฟังข่าว สนใจเรื่องรอบๆ ตัว ถือเป็นการยกระดับคุณภาพของสังคมไทยแล้ว นี่เป็นปรากฏการณ์จากการปฏิรูปการศึกษา ที่ขยายออกไปอย่างทั่วถึง และเห็นได้ในเชิงประจักษ์
อีกข้อที่ใหญ่มากประการหนึ่ง ที่เป็นคุณูปการของการปฏิรูปการศึกษาในระยะที่ผ่านมา ทำให้นักเรียนไม่หนีเข้าเมืองหลวง หนีเข้าหัวเมือง หรือหนีเข้าจังหวัด
วันนี้เด็กที่เก่งที่สุดในอำเภอก็เรียนอยู่ที่โรงเรียนประจำอำเภอ ปรากฏการณ์วันนี้ต่างไปจากอดีต ขณะนี้นักเรียนไม่ทิ้งพื้นที่ ไม่ทิ้งจังหวัดของตัวเอง
ศ.ดร.สุรพล บอกว่า ปรากฏการณ์ข้างต้น เป็นจริง มาประมาณ 5 ปีแล้ว แต่คนในแวดวงอุดมศึกษาไม่เห็น อาจเพราะไกลตัว อีกทั้งค่อยๆ เปลี่ยน ซึ่งกระบวนการที่เนื่องมาจากการปฏิรูปการศึกษา ได้เอาผลการเรียนมัธยมปลาย มาใช้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เด็กได้อยู่กับครอบครัว อยู่กับชุมชน ในวิถีสังคมแบบไทย เด็กอยู่กับบ้านกับครอบครัว เรียนจนกระทั่งจบมัธยมปลายในพื้นที่ เมื่อเทียบกับการมาเช่าหอพักอยู่ในกรุงเทพฯ ทำให้สังคมไทยมีปัญหาน้อยลง นี่คือ ผลพวงของการกระจายโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึงไปทุกภูมิภาค
และเมื่อมองเฉพาะ เรื่องการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก่อนจะมีการปฏิรูปการศึกษา การสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นคนละเรื่องกับการเรียนมัธยมปลาย เราจะได้ยินจนเป็นเรื่องปกติว่า เด็กสอบเทียบได้เรียบร้อยแล้ว จะไม่เรียนมัธยมปลาย เด็กไม่อยู่ระบบโรงเรียน กระบวนการที่รัฐลงทุนไปเป็นอันต้องสูญเปล่า
“การปฏิรูปการศึกษา ในระยะที่ผ่านมา คือการทำให้เรื่องสองเรื่องนี้ ต่อเนื่องสัมพันธ์กัน การเรียนในโรงเรียน ในชั้นเรียน มีความสัมพันธ์กับการเข้ามหาวิทยาลัย มีกลไกลหลายกลไกถูกสร้างขึ้น นำคะแนนมัธยมปลาย (จีแพค) ผลการสอบโอเน็ต 8 กลุ่มสาระมาวัดคนเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่ง 8 กลุ่มสาระ เป็นการตกลงกันของประเทศนี้ ว่าหลักสูตรพื้นฐานการศึกษาของชาติ ไม่ใช่เรื่องให้ความรู้คนไปเรียนต่อมหาวิทยาลัย เท่านั้น แต่คือกระบวนการสร้างคนให้เข้าสู่สังคมได้ ทำให้คนเป็นคนโดยสมบูรณ์
ต่อให้อยากจะเป็นหมอ วิศวกร ก็ต้องเรียนรู้ในเรื่องสังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ภาษาไทย ที่ผ่านมาเด็กไม่ได้สนใจวิชาหน้าที่พลเมืองหรือศีลธรรม สุขศึกษา วันนี้เด็กทุกคนถูกบังคับ ชอบไม่ชอบก็ตามต้องเรียน ต้องมีผลการสอบที่ดี บังคับให้ต้องตั้งใจเรียน เพราะคะแนนรวมอยู่ในคะแนนที่จะนำมาใช้คัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย เวลานี้นักเรียนไม่ทิ้งโรงเรียน ” อดีตกรรมการปฏิรูปการศึกษา ระบุ คุณูปการของการปฏิรูปการศึกษา ที่ทำให้โรงเรียน ครู กลับมามีความสำคัญมากขึ้น
หลายคนชี้นิ้ว โทษ ระบบแอดมิชชั่น
ปัจจุบันนี้ระบบโรงเรียนมีความสำคัญ ต้นทุนที่รัฐลงทุน อย่างมหาศาลกับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีวัตถุดิบป้อนเข้าสู่ระบบอุดมศึกษา ทั้งหมดเป็นผลของกระบวนการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมา ที่มีความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัย ขณะคนในแวดวงอุดมศึกษาเอง มีการกล่าวถึงวัตถุดิบเหล่านี้เข้ามาไม่ดี บ้างก็ว่า การปฏิรูปการศึกษาแล้ว “ล้มเหลว” ทำให้เด็กเรียนอ่อนลง
หลายคนชี้นิ้ว โทษ "ระบบแอดมิชชั่น" เป็นจำเลยอย่างเดียวกับแก๊สโซฮอล์ จริงหรือไม่ เพราะการปฏิรูปการศึกษาได้เปลี่ยนระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ จากเอ็นทรานซ์ เป็นแอดมิชชั่น ส่งผลให้เด็กเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยมีการเรียนอ่อนลง ในฐานะที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษา มาก่อน ศ.ดร.สุรพล ยืนยันว่า ไม่จริง
“มหาวิทยาลัยของท่าน คณะของท่าน ขยายสาขาเพิ่มขึ้นกี่สาขา เปิดหลักสูตรนอกเวลากี่หลักสูตร เพิ่มจำนวนรับนักศึกษากี่เท่า หลายมหาวิทยาลัยไม่เคยเปิดก็เปิด ผมสงสัยมหาวิทยาลัย 27 แห่งของรัฐ ยังไม่พูดถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏ ราชมงคล มีที่ไหนไม่เปิดคณะวิศวะฯ แม้กระทั่งมหาวิทยาลัยเปิดก็มีวิศวะฯ ได้ เพิ่มจำนวนรับ ถามว่า ระบบรับเข้าของท่านเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเอ็นทรานซ์หรือระบบแอดมิชชั่น โดยเนื้อหาเป็นระบบการสอบแข่งขัน ไม่ใช่ระบบการสอบคัดเลือก
มหาวิทยาลัยต้องดูตัวเองบ้าง เปิดคณะ เปิดสาขามากแค่ไหน เพิ่มจำนวนรับเพิ่มขึ้นหรือไม่ ทำแบบนั้นแล้ว บอกว่าเด็กของเราต้องเก่งที่สุดเหมือนเดิม ฝันโดยไม่คำนึงถึงสภาพความเป็นจริง หากรับในข้อเท็จจริง ต้องบอกว่า เด็กแน่นอนว่า เส้นมาตรฐานความสามารถทางวิชาการต่ำลง เพราะจำนวนที่เข้ามามากขึ้น เรารับข้อเท็จจริงตรงนี้กันหรือไม่”
อดีตกรรมการปฏิรูปการศึกษา ตั้งคำถามให้คนในแวดวงอุดมศึกษาได้กลับไปคิด
ทิศทางอุดมศึกษาไทย ต้องถูกกำหนดให้ไม่เหมือนกัน
บริบทของอุดมศึกษาไทยในวันนี้มี 168 แห่ง แบ่งเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ 78 แห่ง ที่เหลือมหาวิทยาลัยเอกชน เฉพาะในกลุ่มมหาวิทยาลัยของรัฐเอง 78 แห่ง ก็ไม่เหมือนกัน ชื่อเสียงของแต่ละแห่ง จำนวนอาจารย์ก็ไม่เท่ากัน มาตรฐานและการยอมรับทางวิชาการก็ไม่เหมือนกัน ที่สำคัญได้รับทรัพยากรจากรัฐไม่เท่ากันด้วย
มหาวิทยาลัยใหญ่ที่สุดมีอาจารย์ประจำ 4 พันคน มหาวิทยาลัยเล็กสุดมีอาจารย์ประจำไม่ถึง 100 คน ฉะนั้น การที่มหาวิทยาลัยไม่เหมือนกัน แต่กลับพบว่า มหาวิทยาลัยของรัฐมีแนวโน้นเดินไปในทิศทางเดียวกัน พยายาม พัฒนาไปในรูปแบบเดียวกัน เปิดคณะใหม่ๆ ขึ้นมากมาย
คณะนิติศาสตร์ยอดนิยม มีมหาวิทยาลัยของรัฐเกินครึ่ง เปิดคณะนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฎ เกินครึ่งเปิดคณะนิติศาสตร์เรียบร้อยแล้ว บริหารธุรกิจ วิศว-วิทยาศาสตร์ ทุกมหาวิทยาลัยเดินไปในทิศทางเดียวกัน
แม้อธิการบดีมธ. ตอบแบบไม่ค่อยแน่ใจทิศทางเดินตามๆ กันนี้ จะเหมาะสมหรือไม่ แต่หากดูทรัพยากร ดูคน ดูพื้นที่ที่ต่างกัน ดูการยอมรับจากสังคมภายนอก ก็เห็นว่า การเดินทางนี้ไม่น่าจะถูกต้อง “ผมคิดว่า ทิศทางของอุดมศึกษาไทย อาจต้องถูกกำหนดให้ ไม่เหมือนกัน”
สภามหาวิทยาลัย ปฐมบทการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย
ตอกย้ำ มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งไม่ควรเหมือนกัน ในพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 มาตรา 36 กฎหมายเขียนชัด ให้สถานศึกษาของรัฐที่จัดการศึกษาระดับปริญญา เป็นนิติบุคคล อาจเป็นส่วนราชการหรือหน่วยงานในกำกับของรัฐ (นอกระบบ) โดยให้สามารถดำเนินการได้อย่างอิสระ สามารถพัฒนาระบบบริหารและการจัดการที่เป็นของตนเอง
ศ. ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แปลความให้ว่า กฎหมายนี้อยากเห็นการพัฒนาระบบการบริหารจัดการแต่ละแห่ง เหมาะสมกับแต่ละแห่ง ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้อง “ลอก” และ “เลียน” แบบกัน เสมือนหนึ่งมีมหาวิทยาลัยเดียว
“นี่เป็นการยืนยันว่า จะมีอิสระ มีเสรีภาพ มีความคล่องตัว จะเป็นรูปแบบไหนก็แล้วแต่ ในที่สุดองค์กรที่สำคัญที่สุด ที่จะเป็นผู้กำกับดูแล คือสภามหาวิทยาลัย หากจะปฏิรูปอุดมศึกษา ต้องพูดถึงสภามหาวิทยาลัยด้วย”
อดีต รมว.ศธ. มองว่า การปฏิรูปมหาวิทยาลัยให้มีความเป็นเลิศ จำเป็นต้องปฏิรูปสภามหาวิทยาลัยให้มีความเป็นอิสระ คล่องตัว มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะมีความสัมพันธ์อันดีกับอธิการบดี ผู้บริหารระดับสูงที่ดีขึ้น เราไม่ได้ปฏิรูปให้ 2 สายตีกัน หากปฏิรูปสำเร็จ ก็คือ สภามหาวิทยาลัยก็จะเข้มแข็งขึ้น อธิการบดีก็เข้มแข็งขึ้น แล้วเป็นความสัมพันธ์ที่ดี ไม่ใช่เป็นศัตรู หรือทะเลาะกัน ซึ่งการบริหารงานของสภามหาวิทยาลัยที่ดี ต้องรักษาสัมพันธ์ภาพ รักษาการบริหาร 2 สาย ไว้ให้ได้ด้วย เป็นศิลปะ ซึ่งใครทำได้ถือว่ายอดเยี่ยม
ที่ผ่านมากระบวนการที่เราปฏิรูปการศึกษาด้วยกฎสมมติ ทำให้การปฏิรูปการศึกษาไปๆมาๆ กลายเป็นปฏิรูปกระทรวงศึกษา แม้แต่การปฏิรูปอุดมศึกษา ก็กลายเป็นปฏิรูปสถาบันอุดมศึกษา เรื่องนี้นายโสภณ สุภาพงษ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา พาไปเริ่มต้นดูที่คำนิยาม แล้วจะเข้าใจ ว่า การศึกษา คือกระบวนการเรียนรู้เข้าถึงกฎธรรมชาติ ซึ่งกฎธรรมชาติ “ปฏิรูป” ไม่ได้ เราปฏิรูปได้แต่ “กระบวนการ”เข้าถึงสิ่งที่ปฏิรูปเท่านั้น
ดังนั้น ปฏิรูปสถาบันอุดมศึกษา อดีตสมาชิกวุฒิสภา เสนอต้องทำมหาวิทยาลัยให้เป็น "บ้าน" ให้ได้ เพราะที่บ้านใช้ความจริงและกฎธรรมชาติไม่ได้สมมุติเอา ไม่ต้องใช้เหตุใช้ผล สถาบันอุดมศึกษาต้องเปลี่ยนเป็นมีชีวิตพร้อมจิตใจ ไม่ใช่แค่มีชีวิต หากมหาวิทยาลัยไม่เดินมาสู่ทางนี้ ก็จะพบกับความทุกข์ไปเรื่อย ๆ
ทิศทางอุดมศึกษาไทยในอนาคต
ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีข้อเสนอ มหาวิทยาลัยไทยควรจะปรับตัวอย่างไรในอนาคต เริ่มต้นต้องแยกมหาวิทยาลัยออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ มหาวิทยาลัยเล็ก มหาวิทยาลัยใหญ่, มหาวิทยาลัยที่มีอายุยาวนาน กับที่เพิ่งเกิดขึ้น
1.สำหรับมหาวิทยาลัยที่เพิ่งเกิดใหม่ ทิศทางที่ควรจะเป็น ไม่ควรเดินตามมหาวิทยาลัยเก่า ทิศทางที่ถูกต้องควรเลือกแนวทางเฉพาะการเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มุ่งไปที่บางเรื่องบางประเด็นที่สร้างศักยภาพ สร้างการยอมรับ ไม่มีประโยชน์ไปตั้งคณะแข่ง เพราะจะเป็นได้แค่มหาวิทยาลัยดีวิชั่น หนึ่ง ดีวิชั่นสอง ไม่ได้อยู่ในพรีเมียร์ลีก
“ความสำเร็จของมหาวิทยาลัย ไม่ใช่มีคณะมาก หรือมีนักศึกษามาก แต่คือการได้รับการยอมรับในสาขาที่มหาวิทยาลัยนั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญ มีความชำนาญ ผลิตบัณฑิตที่ทักษะ มีความสามารถ ตอบโจทย์ของสังคม ของพื้นที่นั้นๆ ได้”
2. กลุ่มที่โตมาก่อนแล้ว ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ รัฐมีเงินให้จำนวนมาก สำหรับมหาวิทยาลัยเหล่านี้ ทิศทางข้างหน้า ไม่ใช่เรื่องการขยายจำนวนรับนักศึกษา หรือการเปิดสาขาใหม่ๆ ไม่ใช่การแย่งมหาวิทยาลัยเพิ่งเกิดขึ้น มหาวิทยาลัยราชภัฎ ในการรับนักศึกษา
“10 มหาวิทยาลัยแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่จำเป็นต้องผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรีเพิ่มขึ้น แต่ควรทำในสิ่งที่ประเทศขาด คือการ ไปสู่บัณฑิตศึกษาและการวิจัย ไม่รับนักศึกษาปริญญาตรีเพิ่มขึ้นอีกแล้ว แต่ควรลดการรับนักศึกษาปริญญาตรีลง เพื่อให้เวลาและโอกาส สำหรับอาจารย์ บุคลากร จดจ่อไปที่ปริญญาโท และปริญญาเอก ไปทำวิจัย โดยวันข้างหน้าต้องเปิดให้มหาวิทยาลัยเกิดขึ้นใหม่รับคน
เมื่อไหร่ก็ตามที่มหาวิทยาลัยเก่าแก่ ยังคงพยายามเพิ่มจำนวนรับนักศึกษาปริญญาตรี พัฒนานักศึกษาปริญญาตรีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายมหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นทีหลังจะไม่มีโอกาสโต อาจารย์ในมหาวิทยาลัยเก่าแก่ ก็จะไม่มีเวลาไปทำงานวิจัย ไปสอนนักศึกษา ไปผลิตมหาบัณฑิต หรือดุษฎีบัณฑิต ดังนั้นมหาวิทยาลัยที่มีอายุ 40-50 ปี มีทิศทางเดียว ที่ตอบสนองเป้าหมายของการพัฒนาประเทศ เพื่อไปแข่งขันประเทศอื่นๆ เรื่องการค้นคว้าวิจัย การผลิตผลงานระดับสูง และการผลิตบัณฑิตที่มีศักยภาพ สูงกว่าปริญญาตรี”