ชวนคนข้างกายส่งต่อพลังบวก กับ ‘Ignite Thailand 3’
…หากคน 1 คน คือตัวโน้ต 1 ตัว เพลงเพราะๆ สักเพลง อาจต้องการตัวโน้ต 2 ตัว 3 ตัว 4 ตัว หรือหลายๆ ตัวรวมกันเป็นบทเพลง
เช่นเดียวกัน สังคมจะดีได้ ถ้าทุกคนร่วมใจกัน จุดพลังบวกที่มีอยู่ในตัวเราทุกคน เริ่มต้นทำสิ่งดีๆ ตั้งแต่วันนี้ เมื่อตัวโน้ต ทุกตัวร่วมใจกัน เราทุกคนก็สามารถช่วยกันบรรเลงเพลงที่ไพเราะที่สุดเพลงหนึ่งได้
คำบรรยายประกอบการนำเสนอหัวข้อ ‘A Note to A Song’ ของ ดร.อาบทิพย์ ธีรวงศ์กิจ หรือ ‘ดร.อ้อม’ อาจารย์ประจำสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่มาพร้อมกับการร้อยเรียงตัวโน้ตเป็นบทเพลงด้วย ‘ขิม’ เครื่องดนตรีไทยๆ อย่างสร้างสรรค์ ทำให้ค่ำคืนแห่งการรวบรวมพลังบวก บนเวทีปลุกพลังบวก (Ignite Thailand) ครั้งที่ 3 ณ โรงภาพยนตร์ สกาล่า เมื่อวันที่ 13 มกราคม ที่ผ่านมาอบอวลไปด้วยความสุข
ดร.อาบทิพย์ Igniter หน้าเก่า 1 ใน 22 Igniter เล่าภายหลังบรรเลงเพลงเสร็จสิ้น ว่า เมื่อครั้งที่แล้ว ก็ได้มีโอกาสขึ้นมาพูดเรื่องแรงบันดาลใจที่ได้มาร่วมงานและได้นำเสียงดนตรีจากขิมมาแสดง และนำไปแบ่งปันต่อในโลกออนไลน์ แต่สำหรับครั้งนี้ นั่งคิดอยู่หลายวันว่าจะทำเรื่องอะไรดี เพราะครั้งที่แล้วอยากพูดอะไรก็พูดไปหมดแล้ว จึงได้นำแนวคิด “จุดพลังจากตัวเราเอง” ของงานมานำเสนอด้วย ‘ขิม’ ตัวเดิม แต่ 'ต่าง' ไปจากเดิม
“ครั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้เพื่อนๆ ในโลกออนไลน์ เสมือนได้มายืนอยู่บนเวทีแห่งนี้ด้วยกัน ซึ่งก็มีคนกว่า 110 คนที่ไม่เคยเจอหน้า เจอตากันมาก่อนส่งรูปเข้ามาร่วมทำคลิปประกอบบทเพลง ‘Man in The Mirror’ และเพลง ‘จับมือไว้’ ที่สามารถสื่อความหมายถึงการเริ่มต้นจากตัวเอง และสื่อถึงความสามัคคีได้”
ด้วยคำถามที่ว่า ถ้าคน 1 คนอยากทำสิ่งดีๆ คน 1 คนนี้จะทำอะไรได้บ้าง ??
‘ดร.อ้อม’ ให้คำตอบว่า คน 1 คนทำสิ่งที่ตัวเองรักได้ เพราะเมื่อไหร่ที่ทำอะไรแล้วสนุก เราจะเหลือความสุขไว้เผื่อแผ่แก่คนรอบข้าง แต่อย่ามัวคิดว่าสิ่งที่ทำนั้นเล็กน้อย เพราะคุณค่าของสิ่งที่ทำอยู่ที่เจตนาและความตั้งใจ แม้เราอาจไม่ใช่คนเก่งที่สุด แต่อะไรที่ทำด้วยใจ มันยิ่งใหญ่เสมอ
“ด้วยหนึ่งกำลังเล็กๆ และหนึ่งความตั้งใจดีๆ คนหนึ่งคนนี้ ทำสิ่งดีๆ ให้แก่สังคมได้มากมาย เพียงร่วมกันสร้างสรรค์ เริ่มต้นนับ 1 ที่ตัวเรา แล้วชวนคนรอบข้างนับต่อ ส่งต่อความรู้สึกดีๆ 1 คนทำคนละ 1 อย่าง บวกรวมกันแล้ว เราทำได้ทุกอย่าง เพราะบ้านหลังนี้ เป็นของพวกเราทุกคน”
บทเพลงนี้ยังไม่จบ และโน้ตตัวนี้เป็นของคุณ Now, Are you ready to make a chance “Together”
‘ดร.อ้อม’ ทิ้งท้ายไว้ด้วยการส่งต่อให้ทุกคนมาบรรเลงบทเพลงที่ไพเราะที่สุดร่วมกัน
และสำหรับเรื่องราวพลังบวกคนต่อไป ที่นับว่าเป็น Igniter หน้าใหม่ ที่อายุน้อยที่สุด ‘เหมียว’- นางสาวจิราพัชร วงศ์ศรีแก้ว นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย ที่มาร่วมส่งต่อพลังบวกในหัวข้อ “บ้านนำ โรงเรียนหนุน จิตอาสาภูมิคุ้มกันชีวิต”
กิจกรรมพลังบวกที่เธอรับผิดชอบอยู่ตอนนี้ คือการเป็นประธานชมรม “คุยเปิดใจ รักปลอดภัย” เครือข่ายจิตอาสาชาวเลือดหมู - ดำ ประธานสภาเยาวชนเขตราชเทวี กรรมการสภาเยาวชนกรุงเทพมหานคร และแกนนำวิทยากรกระบวนการหยุดการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นและต่อต้านขบวนการค้ามนุษย์
เหมียว เล่าถึงคำแม่สอนในการช่วยเหลือคนอื่นเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง ครั้นเมื่อแม่ชวนไปเป็นอาสาสมัครดูแลผู้พิการ (อพมก.) เธอจึงไม่รีรอ เพราะถือเป็นการเปิดประตูก้าวสู่สังคมแห่งการอาสาอย่างเต็มตัว ซึ่งที่บ้านทั้งแม่ พี่สาว และยายต่างก็เป็น อพมก. เหมือนกันหมด เรียกได้ว่าเป็น “ครอบครัวจิตอาสา”
นับตั้งแต่นั้นมา เหมี่ยว ก็ทำกิจกรรมอาสามาโดยตลอด
“งานที่ภูมิใจมากคือการเป็นอาสาสร้างสุขในโรงพยาบาล แม้จะเป็นแค่เด็กคนหนึ่งที่ไม่มีอะไรเลย แต่อยากจะทำความดี สร้างความสุขเล็กๆ น้อยๆ ให้กับคนที่กำลังเหงา กำลังเศร้า เช่น น้องๆ ในโรงพยาบาล เพียงช่วงเวลาสั้นๆ ที่เราเข้าไปเล่น ไปเล่านิทานเขาให้ฟัง แลกกับรอยยิ้มของน้องๆ กลายเป็นความภูมิใจที่บอกไม่ถูก ถ้าใครไม่ได้ทำ”
การทำความดีไม่ใช่เรื่องยาก ใครที่คิดว่าการทำความดีเป็นเรื่องยาก ‘เหมียว’ บอกว่าให้มองมาที่เธอ เป็นแค่เด็กคนหนึ่งที่คิดอยากจะทำความดี และกล้าที่จะออกมาทำ ด้วยคิดว่าการทำความดีไม่จำเป็นต้องให้ใครเห็น เพียงแค่เล่าความรู้สึกดี ประสบการณ์ดีๆ ให้คนอื่นได้รับรู้ เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนที่อยากทำตาม
“จิตอาสา ไม่ได้กินเวลาของเราทั้งชีวิต แต่หมายถึงใจที่เราอยากจะทำ ว่างเมื่อไหร่ก็ค่อยทำ ไม่ต้องให้ใครมาบังคับ ทำด้วยใจของเราเอง อยากให้ทุกคนช่วยกันทำ ความดีทำง่าย ทำได้ทุกวัน”
ถัดไป ผู้บอกเล่าเรื่องราวพลังบวก โดยการนำความรู้ความสามารถด้านการ ‘ว่ายน้ำ’ มาสร้างสรรค์สังคม ช่วยเหลือผู้พิการด้านการได้ยิน ‘ครูพายุ’ หรือ นายพายุ ณัฐศักดิ์ ท้าวอุดม อดีตนักกีฬา ดีกรีเหรียญเงินกีฬาแห่งชาติ มากับหัวข้อ “พูดด้วยใจ”
หลังจากที่ ‘ครูพายุ’ เบนเข็มชีวิตจากนักกีฬามาเป็นครูสอนว่ายน้ำให้กับเด็กๆ ด้วยการจัดตั้งโครงการสอนว่ายน้ำให้กับเด็กหูหนวก และขยายการสอนไปยังเด็กออทิสติก – เด็กด้อยโอกาส หลายคนตั้งคำถามกับเขาว่า ทำไมต้องสอนว่ายน้ำ ความฝันของเขาไปอยู่ไหนหมดแล้ว…
อดีตนักกีฬาว่ายน้ำ อธิบายจุดเปลี่ยนของเขาเกิดขึ้นเมื่อได้เห็นสถิติการจมน้ำตายของ 1,500 คนต่อปี นั่นหมายความว่า ในแต่ละวันจะมีบุคคลอันเป็นที่รักของใครก็ตาม จมน้ำตาย 4 คน โดยไม่เลือกสาเหตุ เพศ หรือวัย
คำถามต่อมา คือ แล้วถ้าคนหูหนวกพูดไม่ได้ จมน้ำจะทำอย่างไร?
เป็นที่มาของโครงการสอนว่ายน้ำเพื่อเด็กหูหนวก โครงการสอนว่ายน้ำเพื่อเด็กตาบอดครั้งที่ 1 และโครงการลอยน้ำเป็น เล่นน้ำฟรี เพียงมุ่งหวังว่าความรู้ ความสามารถบวกด้วยความพยายามของเขาจะช่วยลดสถิติ การจมน้ำของเด็กไทยลงได้บ้าง
“ผมเป็นครูสอนว่ายน้ำ สิ่งที่ทำได้สิ่งเดียวก็คือสอนว่ายน้ำ ผมก็เอาสิ่งนี้ไปช่วยเด็กหูหนวก ช่วยเด็กพิการ และช่วยเด็กที่เขาไม่มีโอกาส ถ้าวันนี้คุณเป็นโปรแกรมเมอร์ คุณก็เอาอาชีพของคุณไปสร้างอะไรบางอย่างเพื่อช่วยสังคม วันนี้สิ่งที่คุณสร้างได้ก็สร้างจากตัวคุณเอง และถ้าใครก็ตามในที่นี้ยืนยันว่า จะพูดอะไรบางอย่างเพื่อสังคม แล้วมีคนต่อว่า ผมขอให้ทุกคนยืนหยัดและอดทนที่จะพูดต่อไป
ผมไม่รู้ว่าวันนี้ใครจะได้ยินผมบ้าง แต่อย่างน้อยๆ คนใน Ignite Thailand กว่า 1,300 คนก็ได้ยินเสียงของผมแล้ว อยากให้ทุกคนเชื่อว่า คนพิการทำอะไรได้มากกว่าที่เราคิด เพียงแต่เขาไม่ได้รับสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า โอกาส ดังนั้น หากผมสามารถขอพรได้ 1 ข้อ ผมคงจะขอให้เด็กหูหนวกได้ยินเสียง”
พรข้อนั้นของ ‘ครูพายุ’ นับเป็นสิ่งมีค่ามหาศาล ด้วยเพราะเป็นการร้องขอเพื่อผู้อื่น
ความคิดเผื่อแผ่เพื่อผู้อื่นนี้เอง เป็นสิ่งเดียวกันกับ ‘พยาบาลแอ้’ หรือ นางพรวรินทร์ นุตราวงศ์ พยาบาลวิชาชีพ 7 วช.ฝ่ายการพยาบาล คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร ที่เลือกจะใช้อ้อมกอดของเธอแบ่งปันให้กับผู้ป่วย ด้วยหัวข้อ “พลังกอด”
“ฉันเป็นพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยทั่วไป แล้ววันหนึ่งสามีก็เป็นผู้ป่วย แต่ฉันก็เสี่ยงที่จะรักษาและให้ยา หลังจากให้ยาได้ 3 ครั้งภายในเวลา 3 เดือน น้ำหนักของสามีก็ลดไป 25 กิโล ผมร่วงหมดศีรษะและคิดฆ่าตัวตาย ฉันตัดสินใจพาเขากลับบ้าน และหยุดการรักษา”
‘พยาบาลแอ้’ บอกเล่าวินาทีที่พลิกผันในชีวิตเธอ จากที่เคยต้องดูแลผู้ป่วยที่เป็นญาติ พี่น้องคนอื่น บัดนี้ เธอกลับต้องมาพยาบาลสามีตัวเอง ซึ่งวิธีการที่เธอใช้ คือ ‘การกอด’ เพื่อเพิ่มพลังให้กันและกัน
ไม่น่าเชื่อว่าพลังจากการกอด จะทำให้สามีของเธอกลับมีชีวิตอยู่ได้จนถึง 6 ปีผ่านมาแล้ว
ด้วยเหตุนี้เอง เธอจึงใช้แขนสองข้างที่ใช้กอดสามี นำพลังกอดไปใช้กับคนไข้คนอื่นๆ
"ยิ่งมาเป็นอาสาสมัครที่ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็ง ฉันสอนให้คนไข้และญาติได้กอดกัน ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น และยืดระยะเวลาการเสียชีวิตได้ ที่สำคัญผู้ป่วยจะมีความสุขกับช่วงชีวิตที่เหลืออยู่”
การส่งต่อ ‘พลังกอด’ ของ ‘พยาบาลแอ้’ เป็นการจุดประกาย ‘ความกล้า’ เล็กๆ ให้คนในครอบครัวแสดงความรัก ความห่วงใย และความอบอุ่นให้กันและกัน
เฉกเช่นเดียวกับที่ รศ.ดร. ปาริชาต สถาปิตานนท์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เคยได้รับความสูญเสียคนในครอบครัวไปกับมหัตภัยสึนามิ แต่วันนี้เธอมาพร้อมกับความแข็งแกร่งและแนวคิดบวกสร้างสังคมด้วยหัวข้อ “สุขใจที่ได้กล้าทำดี”
“Think of an idea to change the world and put it into action” “คิดเรื่องแนวคิดที่จะเปลี่ยนโลก และลงมือกระทำ” จากภาพยนตร์ เรื่อง Pay It Forward (2000)
มุมหนึ่งในชีวิตที่อาจารย์ปาริชาต ได้แรงบันดาลใจจากคุณครู ในภาพยนตร์เรื่อง Pay It Forward เธอเลือกที่จะสอนหนังสือ เลือกที่จะ “กล้า” ท้าทายบรรดาลูกศิษย์ ด้วยกิจกรรมกระตุ้นให้พวกเขากล้าคิด กล้ารวมตัว กล้าทดลองทำความดี ทั้งปลูกป่า ปลูกปะการัง ไปเยี่ยมให้กำลังใจทหาร ระดมหนังสือสำหรับพระเณร ระดมทุนช่วยน้องหมา ระดมฝาจีบทำขาเทียม และระดมพลังแรงทาสีอาคารเรียนให้เด็กในชนบท
“ในสายตาคนนอกบางกลุ่มผลงานโดดเด่นมาก บางกลุ่มผลงานโดดเด่นน้อย แต่บอกลูกศิษย์เสมอว่า แค่เรา “กล้า” ที่จะเริ่มต้นคิดจะทำดี และพยายามลงมือทำเท่าที่ทำได้ อย่างน้อยในใจเราก็เป็นสุขที่ได้กล้าทำดี ด้วยเจตนาที่มุ่งมั่นส่งความปรารถนาดีให้กับผู้อื่น
ดังนั้น ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร สำเร็จหรือล้มเหลว ตราบใดที่เรากล้าเปิดใจพร้อมเรียนรู้ กล้าให้อภัยกับสิ่งที่ผิดพลาด และให้กำลังใจกันและกัน รวมทั้งไม่ย่อท้อที่จะมุ่งมั่นคิดและทำดีกันต่อไป ตราบนั้นหัวใจก็จะมีความสุขแล้ว เป็นความสุขใจที่ได้กล้าทำดี”
อีกหนึ่ง ‘พลังแห่งความดี’ ที่ต้องขอ นมัสการท่าน ที่มาร่วมแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และเติมพลังใจให้เหล่าคนพลังบวก ในครั้งนี้ พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จังหวัดชัยภูมิ และในฐานะกรรมการปฏิรูป ร่วมเสนอแนวคิดจุดไฟก่อพลังบวกด้วยหัวข้อ “สมานใจด้วยความดี ปลูกไมตรีในผองชน”
“คนเราไม่ได้มีแต่กิเลศ ความเห็นแก่ตัวแต่เพียงอย่างเดียว เรายังมีความงามทางจิตใจด้วย เป็นสิ่งที่ทรงพลังที่สุดในหัวใจ หากเราเปิดโอกาสให้ความดีภายในจิตใจได้เบ่งบานขึ้นมา เปิดจิตใจของเราให้พลังแห่งความดีงามนี้ขับเคลื่อนชีวิตของเราเพื่อเป็นไปอย่างเกื้อกูลผู้อื่น สิ่งนี้จะทำให้เรามีความสุข”
พระไพศาล กล่าวถึงความดีงาม ว่าจะมาจากใจของเราอย่างเดียวคงไม่พอ จะต้องพยายามดึงความดีงามออกมาจากใจของผู้อื่นด้วย ทั้งคนใกล้ตัวและคนไกลตัว เพราะคนทุกคนมีความดีอยู่ในจิตใจ แม้จิตใจเขาจะแข็งกระด้าง ก็มีความอ่อนโยนอยู่ภายใน
"เหมือนก้อนหินที่ยังมีพื้นที่ให้แก่ความอ่อนโยนให้กับต้นกล้าต้นเล็กๆ เราสามารถที่จะดึงความดีงามออกมาจากใจเขาได้ ด้วยการที่เรานิ่งสงบเมื่อเขากราดเกรี้ยว ยื่นไมตรีให้แก่เขาในยามที่เขาหันหลังให้ หยิบยื่นความช่วยเหลือเมื่อเขาประสบทุกข์ และยิ้มให้เขาเมื่อเขามีความสุขหรือได้ทำความดี การที่เราระดมความดีงามออกมาจากจิตใจของผู้คนมากเท่าไหร่ก็จะกลายเป็นพลังในการที่จะขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า" นี่คือพลังอันยิ่งใหญ่ที่ พระไพศาล เชื่อว่า จะสามารถทำให้สังคมเกิดความสงบสุขได้ ไม่ว่า จะมีความแตกต่างกันเพียงใดก็ตาม ความแตกต่างกัน ไม่เป็นอุปสรรคหากว่าเรามีความดี ใช้ความดีประสานใจให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เมื่อเราทำความดีต่อกันก็จะทำให้เราเห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน สามารถก้าวข้ามความแตกต่าง หรือความเกลียดชังกันได้
จุดเปลี่ยนชีวิตที่เกิดขึ้นกับ หนุ่มเมืองผู้ดีเลือกที่จะเปลี่ยนชีวิต ย้ายหัวใจมาเป็นไทย และดำรงชีวิตเป็นเกษตรกร มาร์ติน วิลเลอร์
มาร์ติน เป็นชาวอังกฤษ จบปริญญาตรีเกียรตินิยม ภาษาละติน จาก London University ที่อาศัยอยู่ประเทศไทยมา 18 ปีกว่า วันนี้เขามีอายุ 49 ปี แต่กลับมาใช้ชีวิตเป็นเกษตรกรร่วมกับภรรยาและลูก 3 คน ณ หมู่บ้านเล็กๆ ในภาคอีสาน เขาได้นำมุมมองพลังบวกจากแนวพระราชดำริในหัวข้อ “การดำรงชีวิต แบบพอเพียง” มาร่วมแลกเปลี่ยน
ชาวต่างชาติหัวใจไทย หรือที่ใครเรียกเขาว่า ‘ผู้ใหญ่มา’ เปิดบทสนทนาด้วยการออกตัวว่า “ผมพูดภาษาไทยไม่ชัด เพราะว่าปกติพูดแต่ภาษาอีสาน ใครฟังออกก็ฟัง ฟังไม่ออกก็ต้องฟัง” เรียกเสียงฮาให้ชาว Ignite ได้ไม่น้อย
มาร์ติน สัมผัสผืนแผ่นดินไทยที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีทั้งดิน น้ำ แสงแดด ทำการเกษตรต้องอยู่รอดแน่ๆ เพราะอาชีพเกษตรกรนั้นช่วยให้เรามีกินทุกวัน
วันแรกที่เขาก้าวไปสู่ผืนแผ่นดินอีสาน เขาได้เจอสิ่งที่ดีใจที่สุด 2 เรื่องที่ไม่เคยได้ และอยากได้ในชีวิต คือ ‘อิสรภาพ’ การใช้ชีวิตแบบพอเพียง พออยู่พอกิน พึ่งพาอาศัยกัน และหาไม่ได้จากที่ไหน เพราะคำว่า ‘ไท’ ที่ไม่มี ‘ย’ แปลว่า อิสระ
อีกสิ่งที่เขาพบก็คือ ได้ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมที่มีความยุติธรรม มีที่ดินอาศัย มีอาหารที่สุดยอด สด สะอาด และฟรี รวมทั้งยังมีวัฒนธรรมที่ดี
“คนอีสานเป็นเรียบง่าย ไม่รวยก็จริง ลำบากก็จริง แต่คนคุยกันรู้เรื่อง”มาร์ติน ยืนยัน และพูดทิ้งท้ายในฐานะที่เป็นคนนอก ว่า ปีที่แล้วในประเทศไทยมีปัญหากันเยอะ จึงขอพูดเรื่องประชาธิปไตย ประเทศอังกฤษมีประชาธิปไตยมา 350 ปี ทุกอย่างเหมือนเดิม คนรวยก็รวยเหมือนเดิม คนเป็นชาวบ้านก็ยังเป็นชาวบ้านเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นอย่าเอาเป็นเอาตายกับเรื่องนี้
"พวกคุณโชคดีแค่ไหนที่เกิดในแผ่นดินไทย แผ่นดินทอง แผ่นดินธรรม ผมไม่ได้เป็นคนไทย แต่เมียผม ลูกผมเป็น ซึ่งผมดีใจและภูมิใจที่สุด สิ่งที่สำคัญที่สุดที่อยากฝากไว้ คือ ขอให้คนไทยรักตัวเอง รักกันไว้ อย่าฆ่ากันอีกนะ มันไม่จำเป็น"
บนความเส้นทางของความขัดแย้ง เห็นต่าง ประชาธิปไตย และการรบราฆ่ากันเองที่ มาร์ติน พูดถึง เป็นเส้นทางเดียวกันกับที่ Igniter ที่ขึ้นเวที่เป็นคนสุดท้าย ศจ.ระพี สาคริก นักวิชาการด้านกล้วยไม้ ก็เห็นว่า
"ผมก็ไม่ได้เก่งไปกว่าใคร ผมยืนอยู่บนความหลากหลายของเพื่อนมนุษย์ โดยรักษารากฐานจิตใจตนเองให้เป็นหนึ่ง ถ้าเราเคารพตนเองก็ย่อมเคารพผู้อื่นเป็นธรรมดา ถ้าคนทุกคนรู้จักตัวเอง ก็เท่ากับว่าเรารู้จักผู้อื่นด้วย รู้จักยกย่องผู้อื่นเอาไว้เหนือตนเอง พลทหารกับนายพลก็สามารถเป็นเพื่อนกันได้ หากเราคำนึงถึงจิตใจผู้อื่น สังคมก็จะเป็นสังคมที่ดี
ร้ายที่สุด คือดีที่สุด และใหญ่ที่สุดคือเล็กที่สุด เวลาที่ใครร้ายกับผมมากๆ ผมว่าที่จริงเขาดี เพราะถ้าเรายังไม่เห็นว่าเขาดี แสดงว่าเรายังดีไม่พอ เรายังเอาชนะใจเขาไม่ได้ และครูที่ไม่เห็นว่าลูกศิษย์เป็นครูเรา วิญญาณความเป็นครูยังไม่เกิด
แผ่นดินผืนนี้เป็นของเรา เกิดก็เกิดที่นี่ ตายก็ตายที่นี่ ถ้าเราไม่ซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินถิ่นเกิดแล้ว ความเป็นมนุษย์มันจะอยู่กับเราหรือเปล่า” ก่อนจบการนำเสนอแนวคิดพลังบวก ศจ.ระพี และปิดเวที Ignite Thailand ด้วยการขับกล่อมบทเพลง ‘บ้านเรา’ ของสุเทพ วงศ์กำแหง
“บ้านเรา แสนสุขใจ แม้จะอยู่ที่ไหน ไม่สุขใจเหมือนบ้านเรา คำว่าไทย ซึ้งใจมิใช่ทาสเขา ด้วยพระบารมีล้นเกล้า คุ้มเราร่มเย็นสุขสันต์ทุ่งทิพย์…”
ทั้งหมด...เป็นแค่ส่วนย่อย จากเวที Ignite Thailand ครั้งที่ 3 ที่คนหนึ่งคน ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจ เป็นพลังใหม่ที่ยิ่งใหญ่ให้สังคมอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ระยะเวลากว่า 110 นาทีที่แต่ละท่านบอกต่อ ส่งต่อพลังบวกที่สร้างสรรค์ ได้เติมเชื้อไฟให้ลุกโพลงขึ้นในตัวใครหลายๆ คนไปเสียแล้ว....