เติมพลังใจ ร่วมสร้าง "ฅน" ต้นแบบความดี
“ถ้าหากมีแต่คนปิดทองหน้าพระ องค์พระก็จะไม่งดงามสมบูรณ์ จึงต้องมีคนที่ปิดทองหลังพระ เพื่อให้องค์พระนั้นมีความสมบูรณ์สวยงาม เปรียบเช่นการทำความดี ถ้าหากมีแต่คนทำดีเพื่อเอาหน้า ไม่มีใครทำดีเพื่อความดีอย่างแท้จริง ประเทศชาติสังคมก็จะไปไม่รอด”
พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เห็นได้ว่าพระองค์ทรงให้ความสำคัญในการทำความดี และสนับสนุนคนที่ทำความดี เพื่อความดีอย่างแท้จริง ซึ่งหมู่คนที่ทำดีนี้เอง ที่จะเป็นผู้จรรโลงประเทศชาติ และสังคมไปสู่ความเจริญ
‘ความดี’ เปรียบเสมือน ‘คบไฟ’ ที่ส่องสว่างในสังคม ยิ่งความดีแผ่ไปได้มากเท่าใด สังคมก็จะยิ่งสว่างมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเชิดชูคนดี เปรียบเสมือนการเติมพลังใจให้ดวงไฟไม่มอดลง อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม กรรมการปฏิรูป พูดเปิดในงานประกาศรางวัล “คนค้นฅน อวอร์ด ครั้งที่ 2” ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยมองกระบวนการมองคนในแบบของ ‘คนค้นฅน’ ที่เป็นการมองจากข้างล่างสู่ข้างบน ถือเป็นกระบวนการสำคัญที่จะทำให้มองเห็นค่าความเป็นคน
"ทุกวันนี้เราอยู่ท่ามกลางกระแส ‘โลกาภิวัฒน์’ หรือเรียกอีกอย่างว่า ‘โลกาวิบัติ’ ที่มหาอำนาจทางการเมือง และการลงทุนกำลังบดขยี้คนในชาติให้ตกอยู่ในภาวะสับสน และหากเป็นอย่างนี้ต่อไปประเทศไทยจะไม่ได้มีแค่ไพร่ กับอำมาตย์ แต่จะมีทาสถูกกดขี่ด้วย
งานของคณะกรรมการปฏิรูปที่กำลังทำกันอยู่นี้ ค้นพบว่า คนในดินแดนประเทศไทยที่มีที่ดินทำมาหากินมีเพียง 10% แต่นักลงทุนข้ามชาติทั้งหลายมีพื้นที่ในการจัดการถึง 90% ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว ต่อไปคนที่อยู่ในดินแดนประเทศไทยจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก ‘ทาสที่ดิน’ ด้วยกระแสโลกาภิวัฒน์ที่มากับแนวคิดการพัฒนาจากข้างบนลงข้างล่าง ผ่านโลก ผ่านรัฐ ผ่านระบบทุนลงสู่ท้องถิ่น การมองแบบนี้นี่เองที่เป็นกระบวนการขยี้ทำลายคน ให้กลายเป็นเพียงกิ้งกือ ไส้เดือน ที่รู้ร้อนรู้หนาวแต่ไม่สามารถทำอะไรได้”
แล้วเราจะปล่อยให้กระแสโลกาภิวัฒน์มาทำลายความเป็นมนุษย์อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันเช่นนั้นหรือ อาจารย์ศรีศักดิ์ ทิ้งไว้เป็นคำถาม
‘ทัศนา’ หญิงนักสู้ ผู้ไม่แพ้
การประกาศให้เห็นถึงความพยายาม ของคนเล็กๆ คนแรกที่จะกล่าวถึง คือ ผู้หญิงนักสู้เรื่องที่ดินทำกิน "ทัศนา นาเวศน์" จากชุมชนทับยาง อ.ทับยาง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา กับ ‘รางวัลนักสู้ผู้ไม่แพ้’
เธอย้ัอนความให้ฟังถึงช่วงที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องกับสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า ภายหลังจากที่สำนักแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร.) พิจารณาเพิกถอนโฉนดที่ดินออกผิดกฎหมาย และมีกรณีพิพาทระหว่างเอกชนที่ฟ้องศาลขับไล่ชาวบ้านประมาณ 250 หลังคาเรือน ออกจากพื้นที่ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นเหมืองเก่า ผลกระทบจากข้อพิพาท ทำให้ชุมชนทับยางแตกสลาย ต้องแยกย้ายกันไปอยู่ถิ่นอื่น เพราะกลัวถูกดำเนินคดี
ทัศนา เล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีชาวบ้านที่เลือกจะต่อสู้ ถูกออกหมายจับด้วยข้อหาบุกรุกที่ดิน บางครอบครัวก็เป็นผู้หญิงล้วนการต่อสู้ของชุมชนทับยาง เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในที่ดินทำกิน
"ทุกวันนี้ชาวนาไม่มีนา ชาวไร่ไม่มีไร่ คนจนไม่มีที่จะทำกิน สะท้อนให้เห็นปัญหาการปฏิรูปที่ดิน รางวัลนี้จึงขอมอบให้กับคนที่ไม่มีโอกาสได้รับ ทั้งพี่น้องชุมชนทับยางที่ต้องตรอมใจตายกับการต่อสู้ และเครือข่ายที่ดินพังงาทุกคน
วันนี้เรารู้สึกมีเกียรติในการต่อสู้ ถึงแม้การต่อสู้ในกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ดินจะเป็นประเด็นร้อน ที่หลาย ๆ คนไม่อยากทำ ไม่อยากสู้ แต่คนในชุมชนบ้านทับยางเป็นคนที่ยากจน ไม่มีโอกาสที่จะยืนอยู่ในสังคมที่เพียบพร้อมทุกอย่างอย่างคนอื่นเขา แต่ชาวบ้านกลุ่มนี้ก็ได้ลุกขึ้นมาต่อสู้ เพื่อความถูกต้อง เพื่อความเป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำในสังคม ต้องขอบคุณที่เปิดโอกาส ให้คนเล็ก ๆ ในสังคมที่แทบจะหาไม่เจอได้มายืนตรงนี้ และพวกเราจะสู้ต่อไปไม่ว่าโอกาสจะมีหรือไม่ เราก็จะขอเรียกร้องสิทธิ์ เรียกร้องความเป็นธรรม ให้เกิดขึ้นให้ได้ในสังคมไทย การแบ่งปัน ความเอื้ออาทรเท่านั้นที่จะทำให้เราอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข”
หมอชาวกระเหรี่ยง ผู้ปิดทองหลังพระ
‘ชาวกระเหรี่ยง’ ที่หลายคนเรียกว่าเป็นคนชายขอบ แตกต่างทั้งรูปร่างหน้าตา ภาษา การแต่งกาย พวกเขากลายเป็นคนอีกชนชั้นที่ไม่ได้รับความเท่าเทียม แม้กระทั่งสวัสดิการรักษาพยาบาล ‘สหายแสงเดือน’ หรือ พะโฉะ สิรินิพนธ์ หมอปฏิวัติแห่งลุ่มน้ำแม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก เจ้าของรางวัลผู้ปิดทองหลังพระ ได้เข้ามาอุดช่องโหว่ตรงนี้
หมู่บ้านหม่องกั๊วะ อ.อุ้มผาง ถือได้ว่าเป็นพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร กว่าชาวบ้านจะเดินทางมาโรงพยาบาลได้ก็กินเวลาไม่ต่ำกว่า 2 วัน บ่อยครั้งกว่าผู้ป่วยจะถึงมือหมอ สายเกินแก้เสียแล้วด้วย
เหตุนี้ทำให้เธอต้องใช้วิชาความรู้ที่ติดตัวมาตั้งแต่สมัยปฏิวัติ รักษาชาวบ้านตามอาการความเจ็บปวด ทั้งฉีดยา ฝั่งเข็ม ให้น้ำเกลือ ดูแลสุขภาพ หรือแม้ในยามฉุกเฉิน ผู้หญิงคนนี้ ก็สามารถทำคลอดได้
"เวลาอยู่ที่บ้านต้องเป็นทั้งหมอ และต้องทำนา ทำไร่ด้วย ก็เป็นเรื่องธรรมดา ที่ต้องทำให้ได้ทุกอย่าง ถ้าไม่ทำก็ไม่มีกิน การเป็นหมอที่อุ้มผาง ต้องกล้ารักษา เพราะไม่ได้อยู่ใกล้กับบ้านเมืองที่ใหญ่ๆ โตๆ เวลาทุกข์ยาก ก็ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างนี้"คำพูด หมอแสงเดือน ผู้เสียสละอุทิศตนทำสิ่งนี้อย่างเงียบๆ ระหว่างก้าวขึ้นไปรับรางวัลเชิดชูเกียรติ รูปหล่อพระโพธิสัตว์ ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความดีงามของมวลมนุษย์
‘3 เกลอ’ ฅนเล็กหัวใจใหญ่
"สด" หรือ คมกริช เทพา พิการด้วยโรคกล้ามเนื้อเกร็งตั้งแต่กำเนิด ทำให้ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ แม้เขาจะเดินเหินได้ไม่คล่องแคล่วนัก แต่ก็พอจะช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง
"เยล" หรือ สุริยา แสงแก้วฝั้น มีความพิการพิการด้วยโรคเดียวกันกับสด แต่มีระดับความพิการรุนแรงสูงกว่ามาก เยลเลยต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน ดังนั้นกิจวัตรประจำวันที่ง่ายดายสำหรับคนปกติ แค่การกินข้าว หรือดื่มน้ำ จึงไม่ใช้เรื่องง่ายๆ เลย สำหรับเยล
ส่วน "จอย" หรือ วาสนา เผ่าปัญญา เพื่อนคนที่ตัวเล็กที่สุด เธอป่วยด้วยโรคพันธุกรรม ทำให้ร่างกาย หยุดการเจริญเติบโต และแม้ตอนนี้จอยจะมีอายุ 19 ปีแล้ว แต่จอยก็มีความสูงเทียบเท่ากับเด็กอายุ 6 ขวบเท่านั้น มิหนำซ้ำ จอยยังมีโรคประจำตัว คือ โรคลิ้นหัวใจรั่ว และสายตาสั้นมากกว่าปกติ
3 เกลอ ผู้พิการแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ไม่ยอมปล่อยให้ความฝันพิการไปตามร่างกาย พวกเขาฝันที่จะเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อทำลายความเชื่อเก่าๆ ที่ว่า คนพิการอย่างพวกเขา ทำได้เพียงไม่กี่อาชีพที่สังคมเป็นผู้กำหนดให้ แม้ทั้ง 3 คนจะมีโอกาสได้รับการศึกษาเทียบเท่ากับเพื่อนรุ่นเดียวกันที่มีร่างกายปกติ แต่พวกเขาก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น ด้วยความเชื่อมั่น และกล้าหาญ ทั้ง 3 เลือกที่จะก้าวออกมายืนหยัดด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ผู้ไม่ยอมให้ข้อจำกัดทางร่างกายมาบั่นทอน หรือลดคุณค่าของตนเองไป
สด ตัดสินใจพาตนเองออกไปทดลองใช้ชีวิตนอกรั้วโรงเรียนสอนคนพิการเป็นคนแรก เพื่อพิสูจน์ให้เพื่อนทั้ง 2 คนเห็น และมั่นใจว่า แม้การใช้ชีวิตยังโลกภายนอก จะยากลำบาก แต่ก็ไม่ยากเกินจะพยายาม และเมื่อมั่นใจว่าสามารถประคับประคองชีวิตให้อยู่ได้แล้ว จึงได้ชักชวนเพื่อนทั้ง 2 คนออกมาใช้ชีวิตด้วยตัวเองร่วมกัน โดยมีสด ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง คอยให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ และให้กำลังใจ ฝึกฝนทำให้จอย และเยลกล้าที่จะก้าวออกมาจากโลกของคนพิการ
ทั้ง 3 ต้องใช้ชีวิตด้วยตนเองแบบเต็มรูปแบบ ทั้งอาบน้ำ แต่งตัว กินข้าว ทำความสะอาดบ้าน เทียบเท่ากับที่คนปกติสามารถทำได้ ด้วยเพราะ สด จอย และเยล ต้องการให้สังคมได้มองพวกเขาแบบคนปกติเหมือนกัน ที่มีความเทียมกัน
ความภูมิใจเล็กๆ ของทั้ง 3 เกิดขึ้นง่ายๆ เวลาที่สามารถทำอะไรได้ด้วยตนเอง เช่น เปิด – ปิดประตูบ้าน จนทุกวันนี้ 3 เกลอ สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติแล้ว
"ความกลัวทำให้เราไม่กล้า ผมเลยตัดสินใจ ออกมาสู้ชีวิตจริง ชีวิตที่เป็นของเรา ทำอย่างไรก็ได้ให้ตัวเราอยู่ในสังคมให้ได้ และมีความหมาย" นั่นคือความคิดของ เยล ที่เป็นแรงผลักให้เขาเปลี่ยนความกลัว ให้เป็นความกล้า ต่อสู้กับอุปสรรคมากที่ผ่านเข้ามาเป็นบททดสอบของชีวิต
ขณะนี้ เยล เรียนอยู่ที่คณะนิติศาสตร์ ด้วยความมุ่งหวังที่ไม่ได้อยากจะเป็นทนายความ หรือผู้พิพากษา แต่เขามองแค่ว่า ในอนาคตเขาจะสามารถใช้หลักความรู้จากที่เรียนด้านนิติศาสตร์มาใช้ในสังคมของพวกเขาได้
สำหรับรางวัลฅนเล็กหัวใจใหญ่ ทั้ง 3 คน พูดตรงกันว่า "เป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่มีคุณค่าของความเป็นคนที่ให้โอกาส เพราะว่าโอกาสเท่านั้นสามารถเปลี่ยนชีวิตของพวกเราได้ ซึ่งพวกเราจะพิสูจน์ให้สังคมได้เห็นว่า ผู้พิการก็สามารถยืนหยัดและอยู่ได้ในสังคม”
แม้ปัจจุบันคนพิการจะได้รับโอกาสทางการศึกษา หรือสวัสดิการด้านอื่นๆ ดีขึ้นกว่าเดิมแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ 3 คนนี้เรียกร้องคือ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
การต่อสู้ของทั้ง 5 ฅน 3 รางวัลนี้ สะท้อนภาพเพียงบางส่วนให้เห็นว่า สังคมไทยยังมีความเหลื่อมล้ำ ที่ทำให้ต้องมีคนลุกขึ้นเดินผ่านเส้นกั้นที่เรียกว่า ความกลัวเจ็บ กลัวจน กลัวตาย มายืนอยู่ติดเส้นแห่งความกล้าหาญ ต่อสู้กับความไม่เท่าเทียม และพยายามสร้างความเป็นธรรมด้วย 2 มือของตัวเอง
พระไพศาลกับรางวัลเกียรติยศ
รางวัลเกียรติยศนี้ เป็นรางวัลที่มอบให้กับบุคคลที่มีผลงานโดดเด่น และได้รับการยอมรับจากสังคม หรือเป็นบุคคลสำคัญที่มีคุณูปการต่อการทำงานเพื่อสังคมและประเทศชาติ ที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการ ซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัลนี้ ได้แก่ พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ. ชัยภูมิ และหนึ่งในกรรมการปฏิรูป
พระไพศาล กล่าวขณะขึ้นรับรางวัล โดยเห็นว่า รางวัลนี้ มีค่าเกินกว่าที่จะรับเป็นรางวัลหรือเกียรติยศส่วนตัวได้ จึงขอน้อมรับรางวัลนี้ในฐานะที่เป็นสิ่งเชิดชูความดี เชิดชูธรรมะ สันติธรรม ความรัก และการให้อภัย
"การเชิดชูความดีเป็นสิ่งที่สำคัญในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในยุคที่ผู้คนเย้ยหยัน ความรัก เชิดชูความเกลียดชัง มองว่า การให้อภัยหมายถึงความอ่อนแอ หรือมีความเชื่อว่า กล้าทำชั่ว กลัวทำดี ในยามที่ผู้คนมีความเชื่อแพร่หลายเช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมจะได้ปลุก พลังแห่งความดีด้วยการเชิดชูธรรมะเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนและเพื่อให้ตระหนักว่า ไม่มีวิถีใดที่จะเอาชนะความชั่วได้นอกจากความดี ไม่มีอะไรที่จะเอาชนะความโกรธเกลียดได้ นอกจากความเมตตาและการให้อภัย"
ท่ามกลางสังคมไทยทุกวันนี้เต็มไปด้วยความทุกข์มาก ผู้คนมีความเดือดร้อน มีการกดขี่กัน มีความรุ่มร้อนภายในด้วยความโกรธเกลียด พระไพศาล บอกว่า มันได้ก่อรูปเป็นโครงสร้างที่สร้างความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรม อย่างกว้างขวาง ในสภาพเช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้คนจะได้รวมพลังแห่งความดี มาสร้างสรรค์สังคมที่ดีงาม ปลุกพลังแห่งความดีขึ้นมาในใจของตัวเอง ให้สามารถดับไฟแห่งความโกรธเกลียดภายในใจได้เป็นเบื้องต้น และไม่ควรจะพอใจเพียงเท่านั้น ควรจะนำความสงบเย็นของเราแผ่ออกไป เพื่อช่วยสร้างความสงบเย็นในสังคมด้วยแม้ว่าจะถูกกระทบกระแทกเพียงใดก็ตาม
“เหตุการณ์นองเลือด ก็ได้สร้างความสะเทือนใจกับผู้คน และทำให้คนจำนวนไม่น้อยมองว่า นี่เป็นความล้มเหลวของความรัก ของเมตตา ของสันติวิธี แต่ที่จริงแล้วมันเป็นสิ่งที่บอกว่า เรายังปลุกพลังแห่งความรัก แห่งความดีไม่เพียงพอ ไม่ใช่ความล้มเหลวของธรรมะ แต่เป็นความล้มเหลวของเราเองที่ยังไม่สามารถที่จะดึงความรัก ดึงธรรมะจากใจของเราให้มาช่วยระงับความรุ่มร้อนได้ แต่ก็หวังว่าเหตุการณ์นั้นจะไม่ทำให้เราท้อแท้ท้อถอย แต่เห็นความจำเป็นที่จะสร้างความดีงามเริ่มต้นจากใจของตัวเอง โดยที่ไม่กลัวอุปสรรค”
จากนั้น พระไพศาล ได้เล่าถึงการทำงานกับเครือข่ายสันติวิธี เพื่อเรียกร้องให้ผู้คนได้ใช้สันติวิธีในการแก้ไขปัญหา เมื่อช่วงเดือนเมษายน พฤษภาคม ว่า ถูกผู้คนที่ไม่เข้าใจจากสองฝ่ายได้กล่าวร้าย แต่ก็ถือคติ ทนคำด่าว่า อย่ากลัวเปลืองตัว
"สำหรับผู้ที่ต้องการที่จะสร้างความดี เพื่อให้เกิดความสงบสุขในสังคม เราต้องไม่กลัวเปลืองตัว และเราก็ควรยินดีถ้าหากว่าตัวตนจะสึกหรอ เพรา้ะว่านั่นยิ่งทำให้จิตใจโปร่งเบาสบายมากขึ้น แน่ละว่าการทำงานเพื่อสังคมคงไม่ใช่มีแต่คำด่าว่า แต่จะต้องเจอปัญหาต่างๆ มากมาย อาจจะสูญเสียอิสรภาพ หรือสูญเสียสิ่งอื่นที่มีค่า แต่ถ้าเราตระหนักถึงความไม่เที่ยงของชีวิต และเชื่อในความดีงามว่าจะมั่นคงยั่งยืน ไม่มีอะไรที่เราจะต้องหวาดกลัว ดังนั้นควรดึงความดีออกมาจากใจของตนเพื่อสร้างความดีงามร่วมกันในสังคม"
9 รางวัล ตนผู้เป็นแบบอย่างให้คนไทย
1. รางวัลเกียรติยศ ได้แก่ พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต 2. รางวัลผู้สร้างแรงบันดาลใจ ได้แก่ กลุ่มเครือข่ายผู้ติดเชื้อ HIV / AIDS แห่งประเทศไทย 3. รางวัลผู้ปิดทองหลังพระ ได้แก่ สหายแสงเดือน หมอปฏิวัติแห่งลุ่มน้ำแม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก 4. รางวัลฅนเล็กหัวใจใหญ่ ได้แก่ 3 เกลอ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 5. รางวัลฅนนอกกรอบ ได้แก่ นายชัยพร พรหมพันธุ์ ชาวนาเงินล้าน และ นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและพัฒนาเด็กและเยาวชน บ้านกาญจนาภิเษก กระทรวงยุติธรรม 6. รางวัลนักสู้ผู้ไม่แพ้ ได้แก่ นายสุทธิ อัชฌาสัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกและ นางทัศนา นาเวศน์ นักต่อสู้เรื่องที่ทำกิน อ.ทับยาง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา 7. รางวัลฅนไทยหัวใจสีเขียว ได้แก่ กลุ่มธนาคารต้นไม้ และ ทีม 4 จอมป่า เจ้าหน้าที่ภาคสนาม มูลนิธิสืบนาคะเสถียร 8. รางวัลเยาวชนต้นแบบ ได้แก่ กลุ่มรักษ์สัตว์ รักษ์สังคม จ.ชลบุรี 9. รางวัลฅนต้นเรื่องแห่งปี ได้แก่ หมอเขียว - ใจเพชร กล้าจน ศูนย์บาทรักษาทุกโรค