คอร์รัปชั่น ‘ฆ่าไม่ตาย’ ตราบใดที่คิดแต่จะใช้กฏหมายสู้
ปัญหาคอร์รัปชั่นถูกพูดถึงกันมากและยาวนานในสังคมไทย เท่าที่ผ่านมาผู้คนหลายภาคส่วนพยายามโดดเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา
ทว่าในปี 2554 เมื่อดูผลการจัดอันดับดรรชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น ซึ่งจัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) กลับระบุว่า ประเทศไทยได้ 3.4 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน รั้งอันดับที่ 80 จาก 183 ประเทศทั่วโลก และอยู่ในอันดับที่ 10 จาก 26 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย
ตกเป็นรองเพื่อนบ้านอย่างสิงค์โปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย ฯลฯ
คำถามที่เกิดขึ้นคือ บ้านเราอ่อนด้อยกว่าต่างชาติตรงไหน ถึงปราบคอร์รัปชั่นไม่ได้ 'เอาไม่อยู่' ซักที ในเรื่องนี้ รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ อาจารย์สาขาวิชาการพัฒนาธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ผู้ศึกษาวิจัยเรื่องคอร์รัปชั่นในประเทศไทยมาอย่างโชกโชน แสดงทัศนะถึงสาเหตุที่บ้านเรายังแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นไม่ได้ ก็เนื่องจากวิธีการมองของคนไทย มองจากมุมกฎหมายเป็นหลัก
"เวลาจะบอกว่าใครทุจริตหรือไม่ทุจริต ก็พยายามเฟ้นหาหลักฐานเอกสาร ใบเสร็จต่างๆ อีกทั้งเวลาจะเอาผิดเอาถูก การกระทำต้องเข้าตามตัวบทกฎหมายเท่านั้นถึงจะผิด สิ่งเหล่านี้ทำให้หน่วยงานรัฐ คนไทยตกอยู่ใน ‘หลุมดำ’ เพราะคิดแต่จะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือสู้กับคอร์รัปชั่น ถ้ายังคิดแบบนี้ต่อให้ตายก็ไม่มีทางชนะ กฎหมายออกมาแล้วกว่าจะแก้แต่ละที ยากเย็นแสนเข็ญ ต่างจากกลโกงที่พัฒนาไปไกล"
พร้อมกับ ยกตัวอย่าง
...เวลาเราถามประชาชนว่า มีคนโกงการเลือกตั้งโดยใช้เงินซื้อเสียงกี่เปอร์เซ็นต์? บางคนบอก 80%-90% แต่เอาเข้าจริงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จับได้มีแค่ 1-2 คนเท่านั้น อีกทั้งพอให้ใบเหลือง ไปแข่งเลือกตั้งใหม่ก็ชนะกลับมาอีก จะเห็นว่า การใช้กฎหมายของ กกต. ในการควบคุมการเลือกตั้งไม่มีทางสำเร็จได้ เฉกเช่นเดียวกันกับ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เอากฎหมายไปจัดการคนโกงได้น้อยที่สุด
ฉะนั้น ถ้าคนไทย หน่วยงานรัฐคิดจะสู้กับคอร์รัปชั่นแล้วเริ่มจากกฎหมาย รศ.ดร.สังศิต บอกว่า กล้าเอาหัวเป็นประกัน ทั้งมิดเทอม ปลายเทอม สอบตกหมด
สิ่งที่ทำให้ต่างประเทศคุมคอร์รัปชั่นได้อยู่หมัด เป็นเพราะหลักคิดของเขาที่มองว่า คอร์รัปชั่นเป็นเครื่องมือของสังคม เป็นแนวคิดทางด้านคุณธรรม จริยธรรมที่สังคมนำมาใช้ควบคุมนักการเมือง ข้าราชการประจำ
“อะไรจะเป็นคอร์รัปชั่นหรือไม่เป็นคอร์รัปชั่น ฝรั่งในประเทศตะวันตก รวมถึงอีกหลายประเทศในเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงคโปร์ เริ่มจากหลักคิดที่ว่า ถ้านักการเมือง ข้าราชการประจำ ทำในสิ่งที่เสื่อมเสียทางด้านจริยธรรม คุณธรรมของความเป็นบุคคลสาธารณะ ต้องถือว่า คอร์รัปชั่น”
มีกรณีศึกษา เมื่อปี 2554 รัฐมนตรีกลาโหม ของประเทศเยอรมนี ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนถัดไป ถูกพบว่า วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขา ไปลอกงานผู้อื่นมาแล้วไม่มีการอ้างอิง รัฐมนตรีกลาโหมรายดังกล่าวถึงขั้นต้องขอลาออก และวางมือทางเมืองตลอดชีวิต
นี่แค่หนึ่งตัวอย่างประเทศที่ยึดถือในเรื่องคุณธรรม จริยธรรมเป็นที่หนึ่ง โดยคนของเขาคิดว่า เมื่อโกงได้แม้กระทั่งวิทยานิพนธ์ ก็แสดงว่า จริยธรรมมีปัญหา
แต่ถามว่า ถ้าเป็นนักการเมืองไทยเรื่องนี้ถือว่า ธรรมดา จิ๊บจ๊อยมาก
อีกกรณีหนึ่ง ลูกสาวรัฐมนตรีต่างประเทศของเกาหลีใต้ เข้าสอบแข่งขันและได้ตำแหน่งงานในกระทรวงต่างประเทศ คนเกาหลีใต้ไม่ยอมกันยกใหญ่ มองว่า พ่อต้องช่วยลูกแน่นอน แม้ข้อเท็จจริงจะช่วยหรือไม่ เราก็ไม่รู้ แต่รัฐมนตรีรายนี้ต้องประกาศวางมือทางการเมืองเช่นกัน
ลองคิดดู ถ้ากรณีนี้เกิดขึ้นในประเทศ คนไทยจะยอมรับได้หรือไม่ ?
“มาตรฐานตะวันตกเอาจริยธรรม คุณธรรมเป็นเรื่องแรก และถ้านักการเมือง ข้าราชการประจำ ทำในสิ่งที่ทำลายผลประโยชน์ของประชาชน หรือผลประโยชน์ของประเทศชาติ (Public interests) โทษสถานเดียวคือ ใบแดงออกจากเวทีราชการ เวทีนักการเมืองตลอดชีวิต เพราะโทษคอร์รัปชั่นไม่เหมือนกับโทษทั่วไป ผิดแล้ว ต้องไม่ให้แก้ตัว” อาจารย์สังศิต ย้ำชัด
พร้อมบอกด้วยว่า คนที่เที่ยวไปทำโครงการต่างๆ แล้วชาวบ้านไม่รู้เรื่อง ไม่เอา ไม่อยากได้ หรือคนที่พูดจาโกหกประชาชน ตอนหาเสียงพูดแบบหนึ่ง ได้เป็นรัฐบาลพูดอีกแบบหนึ่ง ในต่างประเทศก็เข้าข่ายต้องถูกชูใบแดงเช่นกัน เพราะถือเป็นการทุจริตรูปแบบหนึ่ง
"บ้านเราแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นไม่ได้ เนื่องจากยังใช้วิธีตีความกฎหมายแบบ common Law คือตีความตามตัวอักษร ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปตีความกฎหมายแบบ civil law ที่ตีความโดยไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย แต่ตีความตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และมีการนำเรื่องคุณธรรม จริยธรรมมาเชื่อมโยง"
ส่วนหมัดเด็ดที่จะปราบคอร์รัปชั่น ให้อยู่นั้น ในทัศนะของ ดร.สังศิต มองว่า การแพ้-ชนะคอร์รัปชั่น ไม่ได้อยู่ที่หน่วยงานภาครัฐ พร้อมกับไม่เชื่อด้วยว่า หน่วยงานภาครัฐจะสามารถเผด็จศึกคอร์รัปชั่นได้ เห็นได้จากบ้านเรามีองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นจำนวนมาก ไม่ว่าจะ ป.ป.ช. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งใช้งบประมาณมโหฬาร
แต่การทำงาน หากเปรียบเป็นมวย ก็ต้องบอกว่า ต่อยแล้วไม่ได้คะแนน เพราะใช้แต่กฎหมาย...
ดังนั้นนักวิชาการท่านนี้ จึงเชื่อว่า มีแค่ ภาคประชาชนที่มีความเข้มแข็งเท่านั้น ที่จะทำให้คนโกงขนหัวลุกมากที่สุด ทั้งกลุ่มที่ติดตามความเคลื่อนไหวการทุจริต สื่อมวลชน ฯ ที่จะต้องสามารถเข้าถึงระบบข่าวสารข้อมูลของทางราชการ เอกสาร ผลการประชุมคณะรัฐมนตรี บอร์ดรัฐวิสาหกิจต่างๆ ได้มากขึ้น รวมถึงสนับสนุนเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนในการตรวจสอบโครงการต่างๆ ตั้งแต่ระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ทั้งหมดทั้งมวล เขาเชื่อว่า ถ้าเดินเกมรุกกันแบบนี้ นักการเมืองจะกลัว หนาว ตัวสั่นงันงก และทั้งโกรธทั้งแค้น "เป็นหนทางเดียวจริงๆ ในการสยบคอร์รัปชั่นได้"
ในฟากของประชาชนเอง ก็ต้องปรับตัวและเรียนรู้ที่จะลงโทษคนโกง ด้วยมาตรการนอกเหนือจากกฎหมาย หรือที่เรียกกันว่า มาตรการลงโทษทางสังคม คว่ำบาตรทางสังคม (Social Sanctions) เพื่อทำให้คนโกงอาย ไม่กล้าพบปะผู้คนในสังคม
“ประชาชนต้องเข้าใจว่า อาวุธของภาคประชาชน ไม่ใช้กฎหมาย แต่เป็นการลงโทษทางสังคม” รศ.ดร.สังศิต กล่าว และฝากการบ้านไปถึงภาคประชาชนต้องคิด จะบอยคอตคนโกงอย่างไร โดยเฉพาะคนที่โกงการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการโกงที่ร้ายแรงที่สุด เป็นจุดเริ่มต้นของการโกงบ้านโกงเมืองทั้งหลาย เพราะเมื่อเสือหลุดเข้ามาแล้ว เจอใครก็งับหมด
ขณะที่ รศ.วิทยากร เชียงกูล คณบดีกิตติคุณวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต มองปัญหาคอร์รัปชั่นนั้น ต้องพิจารณาสถานการณ์ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรมต่างๆ ควบคู่กันไป
"คนไทยมีคุณธรรม มีค่านิยมด้านคุณธรรมจริยธรรมต่างออกไป เนื่องจากอาจได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมแบบศักดินา ยกย่องคนรวย หรือคนรวยทำอะไรเล็กน้อยก็ไม่ถือ ซึ่งระบบเหล่านี้ล้าหลัง สะท้อนความรู้ ความคิดความเชื่อของคนไทย และกลายเป็นตัวปัญหาที่สำคัญ"
แต่กระนั้น อาจารย์วิทยากร กลับเห็นว่า มีสิ่งที่เป็นปัญหาร้ายแรงกว่า นั่นคือ การที่มีคนถูกทำให้คิดว่า คอร์รัปชั่นบ้างไม่เป็นไร ขอให้พัฒนาประเทศได้ก็แล้วกัน โดยทำให้มองเหมือนกับว่า การโกงงบประมาณแค่ 10%-20% ถ้าแบ่งให้ประชาชน โครงการประชานิยมต่างๆ หรือทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต ก็สามารถยอมรับได้
วิธีคิดเหล่านี้ เขาเห็นว่า เป็นวิธีคิดที่รัฐบาลพยายามปลูกฝังให้ประชาชนเชื่อ อีกทั้งยังมีวิธีการอธิบายที่ว่า พรรคการเมืองไหนๆ ก็โกงทั้งนั้น เพราฉะนั้น ควรเลือกพรรคที่โกง แต่บริหารเก่งดีกว่า
จนทำให้ทุกวันนี้คนไทยมองปัญหาคอร์รัปชั่นแบบเบาเกินไป ทั้งๆ ที่ปัญหาคอร์รัปชั่น ฉ้อฉล ไม่ใช่แค่การเบียดบังงบประมาณอย่างเดียว แต่ยังมีการใช้อำนาจ อิทธิพลในการแต่งตั้ง ทำให้คนเก่งๆ องค์กร ภาคธุรกิจไม่สามารถแข่งขัน กระทั่งกลายเป็นว่า พวกที่เติบโตได้ต้องผูกขาดการวิ่งเต้น เส้นสาย
ส่วนใครที่คิดว่า คอร์รัปชั่นไม่เป็นไร เศรษฐกิจจะดีขึ้นเอง นักวิชาการผู้นี้ ยืนยันหนักแน่นว่า "หลอกลวง ไม่จริง เป็นไปไม่ได้" โดยเล่าย้อน ให้คนไทยไปดู ประเทศสิงคโปร์ สมัยก่อตั้งประเทศใหม่ๆ คอร์รัปชั่นเกิดขึ้นมากมาย จนประเทศแข่งขันไม่ได้ แต่ในที่สุด สิงคโปร์ก็ปรับตัวแก้ปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่นได้ และทำได้จริงๆ
เช่นเดียวกับฮ่องกง เมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว ตำรวจฮ่องกงยังมีการโกงเหมือนกับเมืองไทย แต่เขาก็สามารถแก้ปัญหานี้ได้เช่นกัน เพราะไปทำให้คนในประเทศรู้สึกว่า ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องปลอดคอร์รัปชั่น เพื่อประสิทธิภาพ ความเป็นธรรม และเพื่อให้ทั้งประเทศไปรอด
"บ้านเราเน้นพัฒนาแบบฉาบฉวยให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนมากๆ แล้วคิดว่า จะเกิดการกระจายไปสู่ประชาชน แต่ในความเป็นจริงกลับเกิดความต่ำสูงมากขึ้น คนต้องติดยึดระบบอุปถัมภ์ พึ่งอำนาจ พึ่งเงิน เพื่อความอยู่รอด ส่วนใครที่มีอำนาจมีเงิน ก็ยิ่งมีช่องทางในการเอาชนะมากขึ้น ฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่เราต้องมองว่า คอร์รัปชั่นเป็นปัญหาสำคัญจริงๆ ที่ทำให้ประเทศชาติเสียหาย เศรษฐกิจเสียหาย เด็กๆ เสียหาย
บ้านเราต้องปฏิรูประบบ โครงสร้างทั้งทางเศรษฐกิจการเมือง การศึกษา จิตสำนึก ค่านิยมของคน ให้มีความรู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของทรัพยากร เป็นคนเสียภาษี เราจะไม่ยอมได้ ขณะเดียวกันต้องเลี้ยงดูลูกให้รู้จักเคารพตนเอง ไม่ใช่เอาตัวรอด หรือเข้าข้างคนรวย ไม่เช่นนั้นสังคมจะแย่ ไม่สามารถพัฒนาความเข้มแข้งได้ ”
ที่สำคัญ ต่อไปเราอาจเห็นการตีความคอร์รัปชั่น "บิดเบี้ยว" เข้าข้างตนเองหน้าตาเฉยว่า สิ่งที่คอร์รัปชั่น เป็นสิทธิที่ควรได้อย่างชอบธรรม
สำหรับแนวทางในแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นนั้น อาจารย์วิทยากร มองว่า นอกจาก "ไล่ล่า" ผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีแล้ว สิ่งที่ประเทศไทยต้องพยายามปรับปรุงคือ ‘ตัวระบบ’ ต้องทำให้ ป.ป.ช. ไทยมีความเข้มแข็งเหมือนกับฮ่องกง เช่น กฎหมายต้องให้อำนาจ ป.ป.ช. ในการค้นหาข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เพราะนำข้อมูลไปใช้เล่นงานผู้กระทำความผิดในเรื่องที่เป็นสาธารณะ และเพื่อให้ ป.ป.ช. มีบทบาทที่สูงขึ้นในสังคม ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงไปตรงมา บ้านเราควรให้เงินเดือน ป.ป.ช. ในระดับสูง สามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องโกง ขณะเดียวกันต้องแลกกับการตรวจสอบ และการระวางโทษที่หนักกว่าบุคคลทั่วไปถึง 2 เท่า
ส่วนในเรื่องการตรวจสอบการใช้งบประมาณต่างๆ นั้น ยกตัวอย่างโครงการฟื้นฟูหลังน้ำลด คณบดีกิตติคุณวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต เห็นว่า ไม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่รัฐมนตรี หรือข้าราชการแบบเก่าๆ แต่ต้องให้คณะกรรมการซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา รับผิดชอบในการติดตามเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ขณะที่การโอนงบฯ ควรให้มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ อาทิ ป.ป.ช. สตง. เข้ามาร่วมด้วย
"แม้จะอ้างว่าเป็นโครงการเร่งด่วน แต่สมัยนี้เร่งด่วนอย่างไรก็สามารถตรวจสอบได้" รศ.วิทยากร ย้ำชัด
ก่อนจะทิ้งท้ายด้วยว่า การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปอย่างจริงจัง ให้คนมีคุณธรรม จริยธรรมนั้น ไม่ได้หมายความว่า เราต้องการให้คนทำดี เพื่อไปขึ้นสวรรค์ แต่ต้องการให้คนทำดี เพราะว่ามันจำเป็น สังคมอยู่ร่วมกัน "ถ้าโกงกัน คอร์รัปชั่นกัน ประเทศจะพัง สู้คนอื่นไม่ได้"